สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วาระรำลึกการเมือง 2475 ทรรศนะประชาธิปไตยเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์

จากประชาชาติธุรกิจ

รายงานพิเศษ

เวทีโฆษณาชวนเชื่อ คือวาระการเมืองของคนการเมือง

แม้ กระทั่งกิจกรรมรำลึกประชาธิปไตย ยุคเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 2475 ถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2555

เวที-วาจา ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ยังจัดวาระ "โฆษณา" ตอกย้ำ เกาะกุมความคิด แบบมวลชนของใครของมัน

พรรคประชาธิปัตย์ จัดเวที "2575 เจาะเวลาสู่อนาคต ขึ้นไทม์แมชชีนสำรวจอดีตการเมืองไทย 2475 สู่อนาคต 2575"

พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง จัดเวที "80 ปียังไม่มีประชาธิปไตย"

ประชาชาติธุรกิจ คัดทรรศนะ 3 คนการเมือง พูดเรื่องการเมือง และคู่อาฆาต

ชวน หลีกภัย

ทรรศนะของ "ชวน หลีกภัย" อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ยังมองภัยของ "ธุรกิจการเมือง" ควบคู่ "ภัยจากทักษิณ"

เขา บอกว่า 80 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ ผมมีส่วนผ่านรัฐธรรมนูญ 11 ฉบับ แต่ได้ใช้ในฐานะเป็น ส.ส. นักการเมือง รัฐมนตรี ประมาณ 6 ฉบับ ที่เหลือคือรัฐธรรมนูญที่ออกหลังการปฏิวัติ ประสบการณ์ที่เห็นคือรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติเป็นธรรมนูญที่เขียนให้คณะ ปฏิวัติได้เป็นรัฐบาลต่อรัฐธรรมนูญปี 2511 ที่ผมสมัครเป็น

ผู้แทน ราษฎร เป็นฉบับที่ร่างยาวที่สุด 10 ปี เขียนไว้เลยว่า ส.ส.เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ ทำให้นักการเมืองสมัยนั้นมีเฉพาะที่รักการเมืองจริง ๆ นักธุรกิจน้อยคนที่จะเข้ามา แต่รัฐธรรมนูญต่อมาภายหลังเปิดกว้างมากขึ้นตามลำดับจนถึงปี 2540 คนที่อยากมาทำธุรกิจดี ๆ จึงหันมาเล่นการเมือง เพราะคนเหล่านี้มองเห็นว่าใช้อำนาจได้

เมื่อมีธุรกิจการเมืองเข้ามา เกี่ยวข้อง พรรคการเมืองที่ใช้เงินก็เข้าไปหานักธุรกิจ นักธุรกิจที่สนใจทำงานการเมืองก็ให้เงินพรรคการเมืองเหล่านี้มาสู้กับพรรค ประชาธิปัตย์

ผลจากการที่ธุรกิจการเมืองเข้ามาทำให้อุปสรรค ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขใหม่จากเดิมคือการรัฐประหาร เหมือนอหิวาตกโรค โรคเรื้อน โรคมาลาเรียไม่มีแล้ว แต่ไม่มีใครนึกว่าโรคเอดส์เกิดขึ้นมาใหม่

ธุรกิจ การเมืองที่ร้ายแรงก็คือระบอบทักษิณ เป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจ แล้วนำวิธีการที่เรียกว่าระบอบทักษิณมาใช้ คือการแทรกแซงองค์กรทั้งหลาย มีการไปซื้อวุฒิสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่คัดสรรองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. คนเหล่านี้จะเลือกคนดีได้ต้องมีความอิสระ แต่ถ้ามาจากพรรคการเมืองก็ทำเพื่อพรรคการเมืองนั้น

ในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ การแทรกแซงองค์กรอิสระจึงเกิดขึ้นมากมาย และเริ่มวิธีการนอกกฎหมายอันเป็นวิกฤตอันหนึ่ง ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ต้องมีการเพิ่มย่อหน้าที่ 2 ในมาตรา 3 ซึ่งเขียนต่างจากรัฐธรรมนูญทั้ง 18 ฉบับที่ผ่านมาว่า

"การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม" ที่ต้องเขียนเพราะรัฐบาลช่วงระบอบทักษิณใช้วิธีการนอกหลักนิติธรรม

การ บริหารบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีหลักคานอำนาจกันนั้น แต่ละฝ่ายต้องเคารพอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 8 นักการเมืองไม่ให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกอำนาจ และปฏิบัติการนอกกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นี่คือสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหา

วันนี้ใช้วิธีการทุกอย่างที่ทำ ได้เพื่อเอาชนะ เพราะมองประชาธิปไตยการเมืองเป็นธุรกิจการเมืองต้องมีกำไร ต้องทำทุกอย่างให้ได้กำไร ไม่สนใจว่าถูกต้องหรือไม่ การเมืองมีคู่แข่ง เมื่อมองเป็นธุรกิจก็ต้องเอาคู่แข่งตายให้ได้

ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ว่าความหมายแต่ละเรื่องคืออะไร ไม่ใช่สภาไปพูดเองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อคิดไม่เหมือนเขาก็เอามันให้ตาย คุกคาม ข่มขู่ศาล อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นี่คือปรากฏการณ์ใหม่ในช่วงปลายของปีที่ 80

อนาคต ถ้าเราไม่แก้จุดอ่อนที่เป็นตัวปัญหาเหล่านี้ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ถ้าเราไม่ย้ำการเคารพหลักนิติธรรม ประชาธิปไตยของเราก็ไม่สามารถเดินไปบนเส้นทางที่ถูกต้องชอบธรรมได้ ประเทศนี้เป็นประเทศที่ให้โอกาสคนอย่างน่าภาคภูมิใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่ายอมย่อหย่อนให้กับคนเหล่านั้น องค์กรทั้งหลายรวมทั้งศาลอย่ากลัว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27

เขาทำสถิติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 3 สมัย เท่ากับนายชวน หลีกภัย

แต่ทรรศนะประชาธิปไตยของเขาไม่ห่างจากนายชวนมากนัก

เขา อภิปราย วาระ 80 ปี ประชาธิปไตยว่า "ใน 20 ปีข้างหน้า มีอยู่ 3 ทางที่ให้ตัดสินใจว่าจะไปทางไหน 1.เป็นเส้นทางที่นำไปสู่สงครามกลางเมือง ผมเชื่อว่าใครพูดเรื่องสงครามกลางเมืองในประเทศไทย สัก 10 ปีที่แล้ว ไม่มีใครเชื่อ จริงอยู่ที่เราเคยผ่านวิกฤตที่ทำให้พาเราไปสู่วังวนของความขัดแย้ง มีการต่อสู้ การสูญเสีย 80 ปีที่ผ่านมา ใครจะคิดว่าภาพที่เกิดขึ้น 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะที่มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีสภา ไม่ใช่คนภายนอกเข้ามาแทรกแซง แต่เป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเองที่ก่อเหตุขึ้นมา"

เพราะวันนี้ ความคิดสองขั้วเป็นความคิดที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำให้สังคมไทยเข้ามาสู่ความขัดแย้งมากขนาดนี้คือกระบวนการสร้างความ เกลียดชัง เอาความทุกข์ ปัญหาของประชาชนมาใส่กรอบความคิดให้เกิดความเกลียดชังว่ามีศัตรูที่ต้องไป ทำลายล้าง แต่วันนี้ฝ่ายที่สร้างความเกลียดชังไปไกลกว่าคู่แข่งทางการเมืองอย่างพรรค ประชาธิปัตย์มานานแล้ว เขาถึงไปสู้กับศาล ผลิตวาทกรรมอำมาตย์ และทำให้เกิดความกระทบกระเทือนสถาบันหลักของชาติ

ถ้าเรามีกฎกติกา ที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ทุกคนต้องมีที่ยืน ต้องมีสถาบันที่เป็นหลักประชาธิปไตย แต่ลำพังการมีรัฐสภาไม่พอ นับแต่ปี 2544 คุณทักษิณ และนายกฯของคุณทักษิณ ทำให้เวทีสภาเป็นเวทีที่เป็นปัญหา ไม่ใช่เวทีที่แก้ปัญหา โดยเอาเรื่องการตลาดเข้ามาจับ ทำให้ภาพในสภาวุ่นวายมากที่สุด

คนที่เป็นนายกฯ ก็ให้ไปทำกิจกรรมที่ออกทีวีแล้วคนเห็นว่ากำลังทำงานอยู่ เป็นการลดความสำคัญของสภา ให้ประชาชนรู้สึกว่าฝ่ายค้านเป็นอุปสรรคของรัฐบาล เป็นการทำลายค่านิยมพื้นฐานประชาธิปไตยในรัฐสภาอย่างรุนแรง

เส้น ทางที่ 2.เป็นความเสี่ยงของประเทศอีกด้านหนึ่งคือ ประชานิยม เศรษฐกิจล่มสลาย ทำลายประชาธิปไตย ทั้งนี้ ปัญหาประชานิยมคือเมื่อทำแล้วเริ่มเสพติด ฝึกให้ประชาชนหวังพึ่งผู้นำและรัฐบาล สุดท้ายผู้นำสามารถชี้นิ้วได้ว่าจะให้อะไร ปัญหาก็จะตามมาควบคู่กับระบอบประชาธิปไตย และระบบธุรกิจการเมือง การคอร์รัปชั่น

การทุจริตที่ใหญ่ที่สุดเวลานี้คือเริ่มตั้งแต่การ ออกนโยบาย ออกมาแล้วรู้เลยว่าปลายทางใครได้ แล้วเอาประชาชนมาอ้าง ใครคัดค้านก็ไม่ได้ เพราะบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์ ดังนั้นถ้าสร้างค่านิยมให้ถูกต้อง ยึดปรัชญาพอเพียง เอาพอเพียงเข้ามาจับ เป็นทางเลือกที่เราจะหลีกเลี่ยงเหล่านี้ได้

เส้นทางที่ 3.แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก้าวข้ามวิกฤตวันนี้ สู่ฟ้าวันใหม่ประชาธิปไตยไทย ขณะนี้เราอยู่ในสภาเหมือนกับประเทศของเราถูกจับเป็นตัวประกัน มีการบอกว่าให้ยอมคุณทักษิณจะได้ไม่วุ่นวาย นี่เป็นบททดสอบสูงสุด ถ้ายอมได้ครั้งหนึ่ง สังคมไทยจะถูกจับเป็นตัวประกันตลอดไป

ดังนั้น เราต้องมาผนึกกำลังในวันนี้ อย่าให้การข่มขู่คุกคามจับประเทศเป็นตัวประกันประสบความสำเร็จ เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า ไม่ให้เกิดความรุนแรง

เรา จะกลับมาตั้งหลักกันใหม่ เอาบทเรียน 80 ปีประชาธิปไตยที่เป็นจุดอ่อนมาแก้ไขปัญหา ถ้าให้ความสำคัญกระบวนการประชาธิปไตยตรงไปตรงมาเปิดที่ยืนให้ประชาชน ไม่ทำให้ฝ่ายใด

ฝ่ายหนึ่งตกขอบไป เราก็จะเริ่มกลับมาสู่ภาวะความปรองดองที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยแรก

แสดงทรรศนะประชาธิปไตย ในความหมายที่พาดพิงการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์

ณัฐ วุฒิกล่าวว่า "เราเดินทางไกลมา 80 ปี จึงพบว่าเรายืนอยู่ที่เดิมตั้งแต่วันแรกที่มา แท้จริงโครงสร้างหลักทางการเมืองของประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยในสาระ สำคัญ ยังคงย่ำอยู่กับที่อยู่เช่นนั้น เป็นที่เพียงว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน คือในปี 2475 ผู้ก่อการอภิวัตน์เป็นแกนนำที่เป็นนักศึกษารุ่นหนุ่มอย่าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ นายทหารหัวสมัยใหม่ กับพระยาพหลพลพยุหเสนา"

พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวน นายอภิสิทธิ์ จัดงานใหญ่ขึ้นมาประชันกับการชุมนุมของประชาชน จัดทอล์กโชว์ มีจำนวนคนแย่งกันไปฟัง จำนวน 800 คน ปรากฏว่าเนื้อหาไม่ได้มีอะไรใหม่ กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงจะกดดันตุลาการ ล้มล้างการปกครอง จะยึดเอาบ้านเมืองนี้ เอาไว้เป็นของตัวเอง

"ผมบอก ไปยังนายชวน หลีกภัย อายุอานามป่านนี้แล้ว ให้มันรู้ความบ้าง ไม่ใช่เด็กพาไปเลอะเทอะที่ไหนก็ไป เด็กเขวี้ยงสมุดใส่ประธานสภา บีบคอ ส.ส. ลากเก้าอี้ ลากแขนก็ไม่เตือน แต่เด็กพาไปขึ้นเวทีก็เอากับเขาด้วย นี่เลอะเทอะเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่"

ผมเชื่อว่าในใจลึก ๆ ที่ออกมาขึ้นเวทีไปไหนไปหมด นาทีนี้คุณชวนแอบแทงหวยนายกรัฐมนตรี สิ่งที่เขากำลังคิด คือเมื่อเห็นสถานการณ์รุกเร้านายกฯยิ่งลักษณ์ อ่านเกมทันทีว่ารัฐบาลจะถูกยุบพรรค และมีเกมบังคับให้นักการเมืองเปลี่ยนขั้วย้ายข้าง สนับสนุนประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ฉะนั้นเป็นที่แน่ใจได้ว่า นายชวนแอบนึกในใจ ถ้าเกมพลิก ฝ่ายอำนาจนำ คงไม่หยิบอภิสิทธิ์มาวางบนเก้าอี้ ก็น่าจะถึงเวลาของชวน หลีกภัย

เป็นไปได้หรือไม่ได้ไม่รู้ มันเสี้ยมเราได้ เราเสี้ยมมันบ้าง อภิสิทธิ์ต้องดูบ้างว่า นายชวนจะปาดหน้าเอาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

สถานการณ์ ทางการเมือง ยืนยันว่าเข้าสู่สถานการณ์สู้รบเต็มรูปแบบ ฝ่ายตรงข้ามเปิดเกมรุกเป็นระลอกตลอดเวลา เราอยู่ในท่าตั้งรับ และถอยมาแล้วหลายก้าว การถอยทางยุทธวิถีต้องมีจังหวะที่จะเปิดเกมรุกเข้าตอบโต้ เวลานี้รัฐบาลเลือกที่จะถอย ประชาชนต้องใช้วิธีรุกและเดินออกไปข้างหน้า

ประมาณ วันที่ 7 กรกฎาคม 55 ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 291 จะเห็นสัญญาณชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าตัดสินว่าอาจจะล้มล้างระบอบการปกครอง ให้ล้มเลิกการแก้ไขนี้เสีย รัฐบาลต้องเปิดเกมรุกโดยทันที ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประชาชน สถานการณ์แบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

หลัง เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตั้งแต่ 2475 วันนี้หนังเรื่องเดิมกำลังกลับมาฉายอีกครั้ง ในอดีตประชาชนอยู่ในฐานะผู้ดู แต่หลัง 19 กันยายน 49 ประชาชนอยู่ในฐานะผู้แสดง พ.ศ 2555 ไม่ใช่ตัวประกอบ แต่เป็นพระเอก นางเอกกันแล้ว

หากเขาจะคิดว่าฉายหนังเรื่องเดิม ผมยืนยันว่าทำไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่มันกำลังจะเกิด เขาจะล็อกการแก้รัฐธรรมนูญ

เลยเถิดไปถึงยุบพรรค และเล่นงานนายกฯ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การคัดค้านรัฐธรรมนูญ แต่เป้าหมายอยู่ที่การล้มรัฐบาล


ทายาทพระยาพหลฯชี้ปฏิวัติที่แท้จริงมีครั้งเดียว

"พ.ต.พุทธินาถ"ชี้ปฏิวัติที่แท้จริงมีครั้งเดียวทำเพื่อความมุ่งหมายสูงสุด แนะประเทศเจริญหากเน้นให้ความรู้ประชาชน
สหพันธ์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายองค์กรนักศึกษา จัดเวทีเสวนา "80 ปี ประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดยังไม่เป็นของราษฎรทั้งหลาย" ที่ชั้นใต้ดินอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการบรรยายพิเศษคณะราษฎรในความทรงจำ โดย พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรีคนที่2ของประเทศไทย

ช่วงหนึ่ง พ.ต.พุทธินาถ กล่าวว่า การปฏิวัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีเพียงครั้งเดียวที่ถือว่าเป็นการทำเพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองคือในปี2475 ซึ่งแตกต่างจากการทำปฏิวัติครั้งต่อมา

“ผมไม่คิดว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุดแต่ครั้งต่อๆมาเนี่ยเป็นการทำเพื่อสูบเลือดสูบเนื้อประเทศชาติ ทั้งหลายที่ทำปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ3จบ 1.คือประเทศชาติมันย่ำแย่ 2.คือประชาธิปไตยมันสั่นคลอนไม่มั่นคง 3.คือประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่ปฏิวัติ 3 ประนี้ไม่เคยมีใครได้ประโยชน์เลย"พ.ต.พุทธินาถ กล่าว

พ.ต.พุทธินาถ กล่าวต่อว่า "ทหารสมัยนั้นเลิสประเสริฐศรีแต่แต่งตัวเชยใส่ผ้าฝ้าย ไม่เหมือนสมัยนี้เหรียญตราเต็มหน้าอกไปหมดเลยไม่รู้ไปรบกันที่ไหนมา เขาเป็นทหารด้วยเลือดเนื้อและวิญญาณ เขาบุกไปรบถึงจีนไปถึงยูนนาน"

ขณะเดียวกัน พ.ต.พุทธินาถ เปิดเผยว่า การศึกษาอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติเจริญแต่ต้องเป็นการศึกษาที่ให้ความรู้และปัญญาไม่ใช่ให้แต่ปริญญา


สิ่งดีๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของการเมืองไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

ผาสุก พงษ์ไพจิตร


การเมืองวันต่อวัน สร้างความอึดอัดและความหดหู่ใจให้แก่เรามาก เพราะจะเห็นแต่ความขัดแย้ง มีผู้วิจารณ์ว่า พรรคการเมือง "อาละวาดแย่งของเล่น" ในสภา ศาลก็ถูกวิจารณ์ว่า "เหาะเหินเกินลังกา" หรือถูกสงสัยว่าอาจจะทำตาม "คำขอร้องของใคร" การเมืองไทยในระยะสั้นคงต้องเป็นเช่นนี้ไปสักระยะหนึ่ง คงจะเป็นเพราะกระบวนการเจรจาต่อรองทางการเมืองต้องใช้เวลา

หากเราจะมองไปยาวๆ และสำรวจตรวจดูความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ณ ระดับรากหญ้า และการเมืองท้องถิ่นด้วย เราจะได้อีกภาพหนึ่งที่พอจะทำให้ใจชื้นขึ้นได้บ้าง เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวกเกิดขึ้นหลายประการ ล้วนแต่บอกให้เห็นว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเมืองเป็นวงกว้าง (อ่านประชาธิปไตย) ได้ลงรากแน่นหนามากขึ้นและน่าจะชี้หนทางสู่เสถียรภาพในระยะยาวแก่สังคมไทย

หนึ่ง คือ ผลการเลือกตั้งทั่วไปทั้ง 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 ได้ตอกย้ำว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการระบบรัฐสภาประชาธิปไตย (อย่ามัวไปตระหนกตกใจว่าทั้ง 5 ครั้ง พรรคทักษิณชนะแทบจะขาดลอย) จากมุมมองของพัฒนาการสู่กระบวนการประชาธิปไตย เราอาจวิเคราะห์ว่าผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้ข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านพรรคการเมืองที่ว่าพรรคทักษิณชนะเพราะการซื้อเสียงนั้น หมดน้ำยาหรือเสื่อมมนต์ขลังไป

แบบแผนการออกเสียงเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพมากขึ้นนั้นเป็นเพราะว่า มวลชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งมากขึ้น เนื่องจาก พวกเขาได้รับประโยชน์จากการเมืองดังกล่าว การซื้อเสียงขายเสียงยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่ก็ได้ลดความสำคัญลงมาก

การเมืองเลือกตั้งมีความสำคัญยิ่งขึ้นในระดับท้องถิ่น ตรงนี้เราเห็นได้ แม้ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะยังต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการจากภาคราชการก็ตาม แต่ได้มีพัฒนาการทางบวกเกิดขึ้นมากมาย กิจการที่เคยทำที่ส่วนกลาง เริ่มมีการโยกย้ายมาทำที่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก หมายความว่า องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และในระยะยาว น่าจะช่วยลดภาระของรัฐบาลส่วนกลางลงไป ทำให้สามารถให้เวลากับการทำงานในประเด็นระดับชาติอื่นๆ ที่ยุ่งยากกว่าได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

สองคือ สื่อสารมวลชนมีความหลากหลาย และได้ช่วยสร้างเสริมสังคมไทย ให้มีความตื่นตัวทางการเมืองเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารได้ช่วยลดทอนภาวะที่รัฐบาลไทยเคยผูกขาดสื่อโทรทัศน์ และวิทยุเกือบจะเด็ดขาดลงไปบ้างขณะนี้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นผ่านสื่อสาร ออนไลน์หลายรูปแบบ (Social network) อีกทั้งเคเบิลทีวี และวิทยุชุมชน ทำให้พวกเขามีโอกาสรับรู้ข่าวสารที่หลากหลาย และเปิดช่องการอภิปรายถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น

สามคือ ยุทธศาสตร์การอิงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อการเมืองถึงคราวต้องทบทวน และยังได้ส่งผลสะท้อนกลับที่ไม่เป็นคุณ ความน่าเชื่อถือของกลุ่มที่พยายามใช้ยุทธศาสตร์นี้ลดลงโดยตลอด โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ อีกทั้งไม่อาจก่อตั้งพรรคการเมืองที่เป็นชิ้นเป็นอันได้กองทัพยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเมืองไทย แต่กองทัพเองก็เสี่ยงเหมือนกันถ้าจะทำรัฐประหารอีก ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีสถานการณ์พิเศษจริงๆ อย่างไม่คาดฝันเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยเองก็ดูเหมือนตระหนักดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันให้กองทัพอยู่อย่างสบายๆ โดยไม่แทรกแซงหรือแซะเก้าอี้ เป็นกลยุทธที่ดีที่สุด

สี่คือ รัฐบาลที่โอบรับโลกาภิวัตน์เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนระดับล่างมีรายได้สูงขึ้นเพื่อเป็นฐานของตลาดภายในควบคู่กับตลาดภายนอก ล้วนเป็นผลดีกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น (ดังที่กล่าวมาข้างต้น) ได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นผลดีกับนักธุรกิจและเศรษฐกิจมากเท่านั้น

โดยสรุป พัฒนาการทางการเมืองดีๆ หลายประการได้ลงรากลึกในสังคมไทยแล้ว แม้ว่า "อุบัติเหตุ" อาจเกิดขึ้นได้อีก แต่สิ่งดีๆ ที่กล่าวมา ส่อว่าการเมืองไทยมีแนวโน้มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว และจะเป็นผลดีกับนักธุรกิจและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วาระรำลึกการเมือง 2475 ทรรศนะประชาธิปไตย เพื่อไทย ประชาธิปัตย์

view