สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

3.4แสนล้านแก้น้ำท่วม จุดเสี่ยง ? ยิ่งลักษณ์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ลุ้นระทึก!!! น้ำท่วมระลอกใหม่ที่นักวิชาการบางสำนักประเมินความเสี่ยง อาจท่วมซ้ำรอยปีที่แล้ว ที่สำคัญโอกาสนี้จะถือเป็นด่านทดสอบฝีมือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ซึ่งไม่อาจพลาดพลั้งได้อีกรอบ

อีกไม่กี่เดือนจะรู้ผลว่า “เอาอยู่” หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายค้านคอยกระทุ้งถามถึงความคืบหน้ามาตรการป้องกันน้ำท่วมระลอกใหม่ ที่ยังไม่มีวี่แววความคืบหน้า ไม่นับรวมกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอุทกภัยครั้งก่อนที่มีแต่เสียงวิพากษ์ วิจารณ์ถึงความล่าช้า ไม่ทั่วถึง

การเดินสายลงพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ช่วงที่ผ่านมาของ “ยิ่งลักษณ์” ไม่อาจกระตุ้นฟันเฟืองต่างๆ ให้ขับเคลื่อนผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้ จน “ยิ่งลักษณ์” ต้องเล่นบทโหดกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งเครื่องการลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัยที่ล่าช้ากว่าแผนมาก

โค้งสุดท้ายจึงเกิดการเร่งตีปี๊บเมกะโปรเจกต์แก้น้ำท่วมกับงบประมาณก้อนมหึมา!!!

ทว่าอีกด้านหนึ่งกลายเป็น “ดาบสองคม” ที่อาจย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐบาล หากบริหารจัดการไม่ดี ปล่อยให้รั่วไหล โดยเฉพาะการแก้ไขระเบียบเบิกจ่ายล่าสุด ที่กังขาว่าเปิดช่องให้ทุจริตได้ง่ายขึ้น

ล่าสุดที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีมติเห็นชอบแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการวางระบบบริหารจัดการ น้ำและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย แห่งชาติ 2555

 

สาระสำคัญที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงอยู่ที่การให้อำนาจคณะกรรมการ บริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งหากเห็นว่าโครงการใดมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้ทัน สถานการณ์ หรือเป็นโครงการที่มีลักษณะพิเศษ กบอ.มีอำนาจพิจารณา ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ปี 2535 และระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2549

รวมไปถึงสามารถเสนอหลักเกณฑ์อื่นที่แตกต่างจากระเบียบพัสดุทั้งสองฉบับ ได้ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างรวดเร็ว โดย กบอ.ระบุว่ายังสามารถจัดทำโครงการจัดการน้ำและอุทกภัย หรือโครงการอื่นใดที่มีความจำเป็นเพื่อเสนอ ครม.อนุมัติได้ ไม่ว่าโครงการนั้นจะดำเนินการก่อนมีแผนปฏิบัติงานก็ตาม

นั่นหมายความว่า การให้อำนาจยกเว้นปฏิบัติตามระเบียบพัสดุฯ และอีออกชัน ที่กำหนดขึ้นมาตีกรอบป้องกันการรั่วไหล ย่อมสุ่มเสี่ยงให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ยากต่อการตรวจสอบ ทั้งที่เป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน มองว่าเปิดช่องให้เกิดการรั่วไหล และที่ผ่านมารัฐบาลจะพ่วงคำว่าการสร้างอนาคตของประเทศเข้าไปกับเรื่องน้ำ ท่วมเสมอ แสดงให้เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะใช้เงินในโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่ใช่กระบวนการและระเบียบงบประมาณ

“ถ้ามีความจริงใจเรื่องแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องเปลี่ยนแนวทาง”

บทเรียนจากน้ำท่วมครั้งก่อน แค่การจัดซื้อจัดหาถุงยังชีพหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย ที่เปิดช่องให้ใช้ระเบียบวิธีพิเศษจนนำมาสู่ปัญหาทุจริตที่เรื่องยังคาอยู่ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ไม่ต่างจากข้อมูล “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภตค.) เปิดเผยข้อมูลจากการตรวจสอบโครงการขุดลอกคูคลองใน จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 164 ล้านบาท ที่ดำเนินการไปแล้วบางส่วน แต่ไม่มีความชัดเจนการจัดสรรงบ จนเกิดส่วนต่างการจัดสรรงบประมาณและจัดซื้อจัดจ้างจริงถึง 18,091,012 บาท

ยิ่งน่าเป็นห่วงว่างบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ในโครงการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเดินซ้ำรอยวังวนนี้หรือไม่

เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีแผนรายละเอียดแจกแจงว่า งบประมาณดังกล่าวนำไปใช้ในโครงการอะไรบ้าง จนวันแรกที่เปิดให้เอกชนยื่นหลักฐานรับเอกสารชี้ชวนโครงการ ถึงเห็นแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ แยกเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 8 โครงการ และลุ่มน้ำอื่นๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้อีก 6 โครงการ วงเงินงบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท

ยังไม่รวมประเด็นเสียงต้านเสียงค้านในการหมกเม็ดเตรียมก่อสร้าง 21 เขื่อน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ทั้งอ่างเก็บน้ำแก่งเสือเต้น แม่วงก์ ฯลฯ ไปจนถึงการสร้างทางน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรับน้ำหลากส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก ไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ย่อมเป็นอีกประเด็นที่จะสร้างแรงเสียดทานให้รัฐบาล หากจะเร่งเดินหน้าโดยไม่สอบถามความคิดเห็นคนในพื้นที่ หรือสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ประเมินว่าจะกลับมา “ดุเดือด” อีกครั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมสภา 1 ส.ค.นี้ เมื่อมีกฎหมายร้อนจ่อคิวรอพิจารณา ทั้ง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ที่ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ถอน ไม่ถอน ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เตรียมดันร่าง พ.ร.บ.ใหม่อีกรอบ หากมีการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าศุกร์นี้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน อย่างไร

ขณะที่ปัญหารุมเร้าอื่นๆ ยังแก้ไม่ตก ไม่ว่าจะเรื่อง “ของแพง” ความปั่นป่วนแตกแยกในเพื่อไทยและเสื้อแดง ไปจนถึงปมร้อนใหม่ๆ ทั้งผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา นับวันมีแต่จะสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลเสี่ยงต่อการล้มครืนลงไป

โดยเฉพาะชนวนปัญหาทุจริตที่ถือเป็น “จุดตาย” ของทุกรัฐบาล เมกะโปรเจกต์แก้น้ำท่วมครั้งนี้จึงเป็นด่านทดสอบสำคัญ นอกเหนือจากว่าจะสกัดกั้นน้ำท่วมรอบสองได้หรือไม่


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 3.4แสนล้าน แก้น้ำท่วม จุดเสี่ยง ยิ่งลักษณ์

view