สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐอ่วมแบกสต็อกจำนำข้าว10ล้านตัน ล้น500โกดัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รัฐแบกสต็อกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์10ล้านตัน เม็ดเงินจำนำ 2.56 แสนล้าน ล้นโกดังเก็บ 500 แห่ง ผู้ส่งออกประเมินระบายออกยาก ส่อขายขาดทุนยับ
โครงการรับจำนำข้าวเป็นหนึ่งในโครงการประชานิยม ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือสร้างรายได้ให้กับชาวนาสูงขึ้น แต่ภาระที่เกิดจากการจำนำตามมาอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการกำหนดราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก เป็นเหตุให้ข้าวทั้งหมดไปอยู่กับรัฐบาล ทำให้แบกสต็อกสูงสุดเป็นประวัติการณ์นอกจากภาระงบประมาณสูงแล้ว ยังเกิดกรณีโกดังสำหรับเก็บสต็อกข้าวไม่เพียงพอ

นายสุรชัย สุขถาวรพันธุ์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวจ.สุพรรณบุรี ยอมรับว่า เริ่มหนักใจกับโกดังเก็บข้าวที่อาจไม่เพียงพอต่อผลผลิตของเกษตรกรที่นำข้าวมาเข้าโครงการรับจำนำข้าวตันละ15,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้เริ่มประสบปัญหาโกดังล้นและมีการแบ่งผลผลิตจากพื้นที่อื่นมาเก็บสต๊อกในจังหวัดสุพรรณบุรีมากขึ้น เช่น จากจ.นครปฐม จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากในพื้นที่จ.สุพรรณ ถือว่ามีคลังเก็บข้าวมากที่สุดในประเทศ

สำหรับผลผลิตนาปีที่ปิดโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณข้าวที่รัฐบาลรับจำนำมีทั้งสิ้น 3.8 ล้านตัน ขณะที่ข้าวนาปรังปี 2555 มีประมาณ 8 ล้านตันข้าวสารและจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15 ก.ย. คาดว่าจะมีผลผลิตมาเข้าโครงการเดือนละ 1 แสนตัน คาดว่าจำนวนข้าวที่รัฐบาลรับไว้ในโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน

"การเก็บสต๊อกข้าวสารหากเก็บไว้นานประมาณหนึ่งปี ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของข้าวที่สภาพเริ่มเปลี่ยน ขณะที่ปัญหาสต๊อกไม่สามารถระบายได้ ก็ต้องหาโกดังเพิ่ม ซึ่งหากเก็บนานคุณภาพของข้าว ก็จะด้อยคุณภาพ เพียงไม่กี่เดือนคุณภาพสีก็จะเปลี่ยนเป็นสีขุ่น "

ทั้งนี้ ปัญหาที่ทำให้เกษตรกรนำข้าวโครงการปริมาณมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ส่งผลทำให้เกษตรกรหันมาเร่งปลูกข้าวมากขึ้นโดยเฉพาะข้าวมีช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของข้าว

โรงสีรับข้าวสต็อกรัฐล้นโกดัง

นายวินิจ เลาห์ทวีรุ่งเรือง ผู้จัดการโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล กล่าวว่า  ภายหลังการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลสัดส่วนของชาวนาผู้ปลูกข้าว ที่นำข้าวมาจำนำที่โรงสี มีประมาณ 70-80%ซึ่งทำให้ข้าวที่ต้องเก็บไว้มีปริมาณเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลตั้งข้อกำหนดห้ามนำข้าวไปเก็บสต๊อกในโกดังริมน้ำ เนื่องจากเกรงปัญหาน้ำท่วมและส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งทำให้มีการขนข้าวเพื่อเก็บไว้ในคลังภาคกลาง เช่น ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรีมากขึ้น ดังนั้น เมื่อจำนวนโกดังถูกจำกัดและผลผลิตมีจำนวนมาก จะเกิดปัญหาไม่มีโกดังเก็บข้าว

"ตอนนี้เราก็อยากให้รัฐสั่งสีแปรให้เร็วขึ้น  ต้องยอมรับว่าโกดังที่มีอยู่เก็บไม่ไหว เพราะข้าวเข้าสู่สต็อกรัฐทั้งหมด โกดังส่วนใหญ่ก็อยู่ริมน้ำเพื่อสะดวกในการขนส่ง รัฐบอกเก็บไม่ได้ ก็ต้องไปเก็บโกดังริมภูเขาน้ำท่วมไม่ถึง ตอนนี้โกดังที่มีอยู่ขนาดจ.สุพรรณบุรีมากสุดก็แทบเต็มแล้ว ยังมีข้าวนาปรังที่เหลืออีก จะปิดโครงการก็กลางเดือนก.ย. ไม่ใช่เรื่องง่ายจะสร้างโกดังใหม่ ก็ต้องใช้เวลา 7-8 เดือน และเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทในแต่ละแห่ง"นายวินิจ ระบุ

การรับจำนำราคาข้าวส่งผลทำให้ข้าวขาวไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ส่งออกและโรงสี เพราะ ไม่สามารถส่งออกข้าวขาวได้เลย เพราะตั้งราคาไว้สูงที่ 15,000 บาทต่อตัน จึงต้องรับไว้ทั้งหมด


อ.ต.ก.ยันข้าวเต็มโกดังทุบสถิติจำนำ

นายโอวาท อภิบาลภูวนาท รองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก. ) ว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปี2554/55 และนาปรัง ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.นี้ อ.ต.ก.รับจำนำข้าวมาแล้ว 3.8 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นข้าวนาปี 1.8 ล้านตันข้าวเปลือกและข้าวนาปรัง 2 ล้านตันข้าวเปลือก หลังจากนี้ไปในส่วนของข้าวนาปรังคาดว่าปริมาณจะเริ่มลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวเหลือเพียงในส่วนของภาคใต้ ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก

อย่างไรก็ตามปริมาณข้าวในโครงการรับจำนำ ตามที่อ.ต.ก. รับไว้ดังกล่าว ถือว่าเป็นปริมาณมากที่สุด เมื่อเทียบกับการรับจำนำครั้งก่อนๆหน้านี้ ที่มีข้าวในโกดังของอ.ต.ก. สูงสุดเพียง 1.7 ล้านตันเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการรับจำนำที่ไม่จำกัดปริมาณ โดยข้าวทั้งหมดถูกแปรสภาพเก็บไว้ในโกดังในพื้นที่ เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ สุพรรณบุรี เป็นต้น

เอกชนแห่สร้างโกดังรับข้าวรัฐ

ในส่วนของโกดังเก็บข้าว เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ทำให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีเงื่อนไขห้ามใช้โกดังที่มีประวัติการถูกน้ำท่วม ส่งผลให้การเลือกโกดังจัดเก็บข้าว ต้องพิถีพิถันมากขึ้น ส่วนใหญ่จึงไม่อยู่ติดกับแม่น้ำ ซึ่งจากที่รัฐบาลมีนโยบายจะรับจำนำข้าวในปี 2555/56 ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มก่อสร้างโกดังใหม่ๆกันบ้างแล้ว เพื่อปล่อยให้รัฐบาลเช่าเก็บสต็อก  ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลยังไม่มีนโยบายระบายข้าวในสต๊อก แต่อ.ต.ก.ก็พร้อมจะดำเนินโครงการต่อไป

“ปีนี้อ.ต.ก เต็มที่แล้วในการรับข้าว ถือว่าเป็นมากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะเรารับปากกับรัฐบาลไปแล้ว ที่จะร่วมดำเนินโครงการ ดังนั้นเมื่อข้าวมาเท่าไร ก็ต้องหาโกดังเพื่อจัดเก็บให้ได้ทั้งหมด และตั้งแต่รับจำนำมาถึงปัจจุบันรัฐยังไม่เคยสั่งให้ระบายออกเลย“ นายโอวาท กล่าว


เผยสต็อกตกค้างปีก่อน 2 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากกขช.เปิดเผยว่า นอกจากเงินที่ใช้สำหรับรับจำนำข้าวแล้ว รัฐบาลยังใช้งบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินโครงการในลักษณะงบจ่ายขาดอีกจำนวน 25,547.6 ล้านบาท แบ่งเป็นงบจ่ายขาดค่าดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายการบริหารสินเชื่อ จำนวน 14,882.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับอคส. อตก. สำหรับค่ารับฝาก โอเวอร์เฮดตันละ 50 บาท และค่าเก็บรักษาข้าวสารอีกจำนวน 9,958.3 ล้านบาท

ส่วนข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลที่อยู่ในคลังกลาง ตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2548/2549 และนาปรัง 2549-2552 มีปริมาณรวม 2.189 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวสารในสต๊อกของอคส. จำนวน 1,446,805.63 ตัน อ.ต.ก. 742,210 ตัน จำแนกเป็นข้าวหอมมะลิ จำนวน 28,986.85 ตัน ข้าวหอมจังหวัด จำนวน 71,799 ตัน ข้าวปทุทธานี จำนวน 269,195.37 ตัน ข้าวขาว5% จำนวน 1,736,712.22 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 10,007.45 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 5,467.21 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 24,671.44 ตัน และข้าวเหนียว 10% จำนวน 42,176.04 ตัน
สต็อกใหม่ 8ล้านตัน 2.56แสนล้าน

ส่วนผลการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาล 2554/55 มีปริมาณข้าวเปลือกทั้งสิ้น 6.97 ล้านตัน เกษตรกรเข้าโครงการ 1,141,512 ราย ใช้เงินไปทั้งสิ้น 118,405 ล้านบาท ขณะที่รับจำนำนาปรังปี 2555 มีปริมาณข้าวเปลือกทั้งสิ้น 9.50 ล้านตัน เกษตรกรร่วมโครงการ 876,830 ราย ใช้จ่ายเงินไปทั้งสิ้น 138,147 ล้านบาท

รวมปริมาณข้าวที่รัฐบาลจำนำ 16.47 ล้านตันหรือประมาณกว่า 8 ล้านตันข้าวสาร ใช้จ่ายเงินไปในการรับจำนำเฉพาะค่าใบประทวน 256,552 ล้านบาท โดยมีจำนวนโรงสีเข้าร่วมโครงการประมาณ 1 พันแห่ง และมีโกดังเข้าร่วมประมาณ 500 โกดัง

ขณะที่โกดังทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน มีขีดความสามารถในการเก็บสต็อกข้าวสารประมาณ 30-40 ล้านตัน แต่โกดังเอกชนบางส่วนถูกใช้สำหรับเก็บสินค้าอื่นด้วย กรณีที่รัฐตั้งเงื่อนไขห้ามเก็บในโกดังริมน้ำ จะเกิดปัญหาไม่มีพื้นที่เก็บสต็อกข้าวได้ หากไม่มีการระบายข้าวออกจากสต็อกของรัฐบาลเลย
 

ชี้อินเดีย-เวียดนามกดราคาขาย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปริมาณข้าวสต๊อกของรัฐขณะนี้ถือว่าทำสถิติสูงสุด โดยประเมินว่ารัฐเก็บข้าวไว้ในสต๊อกประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งเป็นข้าวที่มาจากโครงการรับจำนำทั้ง 2 โครงการและข้าวจากสต๊อกเก่ามีอยู่ 2 ล้านตัน

สำหรับการระบายข้าวในช่วงนี้ ถือว่ามีความยากลำบากมาก เพราะตลาดมีการแข่งขันราคาระหว่างเวียดนามและอินเดีย แม้จะเป็นระบบขายแบบรัฐต่อรัฐแต่ในความเป็นจริงราคาข้าวขาวคู่แข่งเฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ข้าวไทยคำนวนจากราคารับจำนำจะเฉลี่ยที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทางออกเดียวคือต้องขายขาดทุนตามกลไกตลาด

ผลผลิตอินเดียมีสต๊อกข้าวถึง 30 ล้านตันเพียงพอที่อินเดียจะเดินหน้าส่งออกข้าวในปีนี้ เช่นเดียวกับเวียดนามที่กำลังลดราคาข้าวให้ต่ำลง เพื่อตัดราคาข้าวกับอินเดีย เนื่องจากในเดือนหน้าจะมีผลผลิตข้าวปริมาณ 4 ล้านตันออกสู่ตลาด ซึ่งเวียดนามไม่มีพื้นที่เก็บข้าว จึงต้องเร่งระบายออกทันที

“เวียดนามก็อยากจะรีบขายโดยเร็วแต่ก็ไม่สะดวกนักเพราะมีอินเดียขวางอยู่ โดยราคาข้าวขาว 5%เปรียบเทียบอินเดียอยู่ที่ตันละ 410-415 ดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามจึงตัดราคาลงมาอยู่ที่ตันละ 405 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยยืนอยู่ที่ตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ส่งออกไม่สามารถขายได้เพราะราคาต่างกันถึงตันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ”นายชูเกียรติกล่าว

เชื่อรัฐขาดทุนมหาศาลขายข้าว

ทิศทางราคาขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ชี้ให้เห็นข้าวยังไม่หมดไปจากตลาด ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่าเป็นจังหวะเหมาะที่ไทยจะเริ่มขายข้าว และมีปัจจัยภายในจากปริมาณสต๊อกของรัฐบาล เพราะผู้ค้าต่างประเทศจะไม่ยอมซื้อข้าวในราคาแพงทั้งที่ไทยถือสต๊อกมหาศาลไว้ เนื่องจากมั่นใจว่าไม่นานรัฐบาลไทยจะต้องระบายสต๊อกอย่างแน่นอน
 “จากนโยบายรับจำนำนี้ทำให้ผู้ส่งออกขายข้าวไม่ได้ เป็นผลพวงจากนโยบายที่มีส่วนทำให้ปริมาณส่งออกข้าวลดลงมากกว่าครึ่ง และทุกคนก็รู้รัฐมีสต็อกมากก็ไม่ซื้อ แต่ในที่สุดก็ต้องระบายซึ่งจะต้องขาดทุนจำนวนมหาศาล เพราะจะขายราคารับจำนำก็แข่งไม่ได้ จะขายราคาตลาดก็ขาดทุน จะเก็บสต็อกต่อก็ไม่มีที่เก็บ "นายชูเกียรติ กล่าว

"บุญทรง"มั่นใจ"เอาอยู่"สต็อกข้าว

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สต๊อกข้าวขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 8 ล้านตัน ตามที่ได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และข้าวเปลือกนาปรัง 2555 รวมข้าวเปลือก 15 ล้านตันหรือประมาณ 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งความสามารถจัดเก็บของรัฐบาลยังมีอีกมากไม่จำเป็นต้องเร่งระบาย

 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การขายข้าวผ่านรัฐต่อรัฐ กำลังมีการเจรจาอยู่และบางส่วนได้ข้อสรุปแล้วรอส่งมอบ รวมประมาณ 2 ล้านตัน และกันไว้เป็นเซฟตี้สต๊อกอีก 1 ล้านตัน ซึ่งแนวทางบริหารจัดการสต๊อกของรัฐบาลมีประสิทธิภาพและไม่มีแรงกดดัน อันเกิดจากปริมาณจัดเก็บที่จะทำให้รัฐบาลต้องเร่งระบายข้าว แต่รัฐบาลจะพิจารณาระบายในสัดส่วนที่เหมาะสมและยืนยันว่าจะได้ราคาไม่ขาดทุนจากที่รับซื้อเข้ามา


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รัฐอ่วม แบกสต็อกจำนำข้าว 10ล้านตัน ล้น500โกดัง

view