สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกมล่าสมบัติเศรษฐีเลี่ยงภาษี 21 ล้านล้านดอลลาร์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เม็ดเงินที่มหาเศรษฐีทั่วโลกซุกเลี่ยงภาษีมากถึง 21 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเอาจริงกับเกมล่าสมบัติท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มเอาจริงเอาจังกับเกมไล่ล่าสมบัติ ที่เหล่ามหาเศรษฐีนำไปซุกนอกบ้านเพื่อเลี่ยงภาษี ดูอย่างผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง หรือกลุ่มจี20 ที่ริเริ่มแคมเปญทวงคืนรายได้จากภาษีที่หายไปหลายพันล้านดอลลาร์ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับการลดการขาดดุลงบประมาณมหาศาล

กลุ่มเครือข่ายความยุติธรรมด้านภาษี (ทีเจเอ็น) ประเมินว่า เม็ดเงินที่บรรดามหาเศรษฐีโลกแอบซุกไว้ในแหล่งหลบเลี่ยงภาษีในต่างประเทศ อาจสูงถึง 21-32 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2553 ทำให้รัฐสูญเสียภาษีรายได้จากเงินส่วนนี้ประมาณ 2.80 แสนล้านดอลลาร์

จำนวนเงินดังกล่าวทำให้อาณาจักรความรวยของเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ “บิล เกตส์” ดูเล็กลงไปถนัดตา โดยนิตยสารฟอร์บสประเมินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า บิล เกตส์ รวยเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดราว 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายภาษี องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งมีหน้าที่สกัดการหลบเลี่ยงภาษี “ปาสกาล แซงต์-อามานส์” มองว่า การประเมินของทีเจเอ็นอาจจะเกินความจริงไป เพราะจำนวนเงินที่ซุกไว้เทียบเท่าเศรษฐีระดับบิล เกตส์ 450 คน หรือมหาเศรษฐีระดับพันล้านในโลก 20,000 คน หรือไม่ก็เศรษฐีที่มีเงิน 100 ล้านดอลลาร์ มากถึง 200,000 คน

บริษัทที่ปรึกษา “สกอร์ปิโอ พาร์ทเนอร์ชิป” ประเมินว่า เม็ดเงินที่คนรวยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซุกไว้ในต่างประเทศอาจจะอยู่ที่ราวๆ 8-9 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ไม่ว่าเม็ดเงินซุกเลี่ยงภาษีจะมากแค่ไหน ดูเหมือนว่าเกมล่าสมบัติเศรษฐีกำลังเข้มข้นขึ้น แซงต์-อามานส์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ผู้คนพยายามซุกสมบัติไว้ในแหล่งเลี่ยงภาษีในต่างประเทศโดยไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกตามทวง ผิดกับทุกวันนี้คนรวยมีความเสี่ยงและเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะแม้เงินจะถูกโอนไปฝากไว้ยังต่างประเทศแล้ว แต่กฎระเบียบที่ถูกปรับให้โปร่งใสมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านภาษีตามร่องรอยได้ไม่ยากเหมือนในอดีต

โดยแซงต์-อามานส์ระบุว่า หน่วยงานของเขาทุ่มเททรัพยากรเพื่อพัฒนากรอบการทำงานด้านกฎหมาย และพยายามปิดช่องโหว่มากกว่าการค้นหาเม็ดเงินแท้จริงที่ถูกซุกไว้

ขณะที่ทีเจเอ็นวิพากษ์โออีซีดีและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรมากพอที่จะจัดการเรื่องนี้
ผู้นำจี20 ตกลงกันในการประชุมที่ลอนดอนเมื่อปี 2552 เพื่อปราบปรามการหลบเลี่ยงภาษีและความลับในภาคธนาคาร

อีกทั้งให้โออีซีดีจัดทำลิสต์รายชื่อพื้นที่เลี่ยงภาษี รวมถึงความร่วมมือที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นับถึงปัจจุบัน มี 89 ประเทศที่เข้าร่วมในมาตรฐานภาษีของโออีซีดี

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านภาษีของชาติตะวันตกก็เพิ่มความพยายามที่จะจัดการกับคนของตัวเองที่ซุกเงินในต่างประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และลิกเทนสไตน์ แต่แนวทางต่างๆ ก็ทำได้จำกัด เพราะอุตสาหกรรมการเงินได้ออกแบบมาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า จึงเป็นไปได้ยากที่จะสกัดการโกงภาษีหรือการฟอกเงิน

ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการล่าสมบัติเศรษฐีไม่ได้ทำได้ง่ายนัก การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอาณาเขตทำได้จำกัด และกระบวนการซับซ้อนเกินกว่าจะปฏิบัติได้จริง

ธนาคารเอกชนรายใหญ่ที่มีธุรกิจในต่างประเทศต่างก็ปฏิเสธว่ามีบทบาทช่วยลูกค้าหลบเลี่ยงภาษี

นอกเหนือจากโออีซีดี และองค์การระหว่างประเทศอย่างคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการเงิน (FATF) หน่วยงานด้านภาษีในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐ และเยอรมนี ก็พยายามสกัดพฤติกรรมเลี่ยงภาษีในธนาคารสวิส อย่างกรณีของทางการเมืองเบียร์ที่ตรวจสอบลูกค้าชาวเยอรมนี 5,000 ราย ของธนาคารเครดิต สวิส หรือทางการฝรั่งเศสที่ตรวจสอบธนาคารยูบีเอสว่ามีเอี่ยวช่วยลูกค้าเลี่ยงภาษีหรือไม่ นอกจากนี้ ทางการสหรัฐอยู่ระหว่างตรวจสอบธนาคารสวิสอย่างน้อย 11 แห่งที่ต้องสงสัยว่าเอื้อให้ลูกค้าชาวอเมริกันเลี่ยงภาษี


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เกมล่าสมบัติเศรษฐี เลี่ยงภาษี 21 ล้านล้านดอลลาร์

view