สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แตกแยก-ไม่จริงใจ ประชาคมอาเซียนเป็นจริงยาก

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

อีก 3 ปีเท่านั้น ความมุ่งมั่นเฝ้าใฝ่ฝันของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2015 นั้นใกล้มาถึงอยู่รอมร่อ เพราะไม่เพียงแค่ทำให้เกิดการค้าการลงทุนขยายตัวมากขึ้นจากการเป็นตลาดและ ฐานการผลิตเดียวกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือในบางสาขาสามารถไปทำงานที่ ใดก็ได้ในอาเซียนอีกด้วย

ทว่าความหวังและความฝันที่อาเซียนร่วมกันตั้งเป้าหมายเอาไว้นั้น อาจไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดได้จริงก็อาจจะต้อง “ทุลักทุเล” ไม่น้อย เพราะหากมองกันถึงเนื้อแท้จะยิ่งเห็นว่าอาเซียนเองยังมีอุปสรรคและปัญหาภาย ในอยู่อีกมาก

ประการแรก และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยนั่นคือเหล่าสมาชิกอาเซียนเองยังคงขาดความกลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง เห็นได้ชัดจากกรณีความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา จนนำไปสู่การปะทะกันทางทหารเมื่อปีที่ผ่านมา และกรณีความพยายามในการอ้างสิทธิในมรดกทางวัฒนธรรมของมาเลเซียไปจาก อินโดนีเซีย เป็นต้น

ล่าสุดคือกรณีความแตกแยกเรื่องการแสดงจุดยืนต่อข้อพิพาททางพรมแดนในหมู่ เกาะทะเลจีนใต้ของเหล่าบรรดาสมาชิกอาเซียน ที่ฝ่ายหนึ่งนั่นคือกัมพูชาไม่ต้องการให้อาเซียนนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้ามา หารือในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งนั่นคือฟิลิปปินส์กับเวียดนามกลับเห็นว่าต้องนำเรื่องดัง กล่าวเข้ามาหารือ

จนทำให้เกิดความชะงักงันและบรรยากาศที่ตึงเครียดตลอดการประชุมสุดยอดอา เซียนที่กรุงพนมเปญในเดือนที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรกที่การประชุมดังกล่าวไม่สามารถแถลงจุดยืนร่วมกันได้

แม้ว่าในเวลาต่อมา อินโดนีเซียจะพยายามกู้หน้าด้วยการชักจูงให้อาเซียนหันมาทำความตกลงกันใน หลักการ 6 ข้อ ที่มีใจความหลักว่าจะร่วมมือกันในการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เป็นผล สำเร็จ แต่นั่นก็ดูจะสายเกินไปและเป็นเพียงข้อตกลงที่เป็นไปอย่างหลวมๆ เท่านั้น ไม่ได้มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เหตุผลลึกๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความแตกแยกดังกล่าว เกิดมาจากการที่แต่ละฝ่ายกำลังถูกประเทศมหาอำนาจเข้าครอบงำและแอบให้การหนุน หลัง จนทำให้จากเดิมที่ประเทศเหล่านี้เคยเลือกที่จะยอมประนีประนอมให้แก่กัน ต้องกลับกลายมาเป็นการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว ไม่ยอมอ่อนข้อให้กันไปเสีย โดยเฉพาะในฝ่ายของกัมพูชาที่ถูกจีน “สิง” อย่างเต็มเหนี่ยว

อิทธิพลของจีนต่อกัมพูชานั้นอาจจะไม่สามารถพูดออกมาได้อย่างชัดแจ้งมาก นัก แต่หากมองในมุมทางเศรษฐกิจก็อาจจะพอบอกอะไรได้บางอย่าง อาทิ การลงทุนโดยตรงของจีนที่มาสู่กัมพูชาตั้งแต่ปี 1994-2011 เพียงอย่างเดียวนั้นก็มีมากถึง 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.72 แสนล้านบาท) แล้ว

“จีนกำลังให้บางสิ่งที่กัมพูชากำลังต้องการ ในขณะที่อาเซียนคือสัญญาที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ได้ให้อะไรที่เป็นรูปธรรมเหมือนกับที่จีนทำ” อเล็กซิอุส เจมูดู คณบดีแห่งคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพลิตา ฮาราพัน ในอินโดนีเซีย กล่าว พร้อมย้ำว่าช่องว่างความแตกต่างด้านการพัฒนาระหว่างสมาชิกอาเซียนเดิมที่ เข้มแข็งกว่ากับกลุ่มที่เข้ามาภายหลัง ซึ่งมีพื้นฐานที่อ่อนแอกว่า อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า กำลังกลายเป็นช่องโหว่ให้ชาติมหาอำนาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างเหล่า นี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อพิพาทกับจีนโดยตรง ก็ดูเหมือนว่าพร้อมจะเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น และกล้าที่จะเลือกใช้เวทีอาเซียนในการกดดันจีนต่อเรื่องดังกล่าวเพิ่มมาก ขึ้นอีกด้วย ซึ่งเหตุผลก็คือทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมั่นว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่งกับจีนจะให้การหนุนหลังและให้ความช่วยเหลือหากเกิดการเผชิญ หน้ากับจีน


ส่วนฝ่ายสหรัฐเองก็ดูเหมือนว่าจะจงใจส่งสัญญาณไปในทิศทางดังกล่าว เช่นกัน อาทิ การประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจะโยกย้ายกองกำลังทัพเรือมาอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้มากขึ้นที่ 60% ภายในปี 2020 และที่เด่นชัดที่สุดคือการออกมาของ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ประกาศว่าเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้ควรเป็นเขตที่ใช้เดินเรือที่เสรีของทุก ฝ่าย

 

ฉะนั้น ภาพลักษณ์แห่งความประนีประนอมให้แก่กัน อันเป็นแนวความคิดหลักของอาเซียนที่ก่อตั้งมานานกว่า 45 ปี จึงต้องถึงทางตัน และนั่นจะทำให้การผลักดันไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากทางเศรษฐกิจ เช่น ทางการเมือง ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม อาจไม่ราบรื่นอย่างที่วาดหวังไว้

อุปสรรคประการที่สอง หนีไม่พ้นการขาดซึ่งความจริงใจในมวลหมู่สมาชิก และการนำข้อตกลงที่ทำไว้ไปปฏิบัติจริง

จุดนี้คือปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับอาเซียน และจะกลายเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงที่อันตรายต่อการถือกำเนิดของการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจร่วม หรือเออีซี ในปี 2015 อย่างแท้จริง

เห็นได้อย่างชัดเจนจากผลความคืบหน้าของการลงมือปฏิบัติตามแผนในหมวดของ การสร้างตลาดร่วมของปี 2010-2011 ซึ่งมีการลงมือทำจริงเพียงแค่ 49% ของแผนทั้งหมดที่วางไว้เท่านั้น

ขณะที่ข้อตกลงความเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านตลาดหุ้นของ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ลงนามไปเมื่อปลายปี 2011 ปัจจุบันมีเพียงแค่สิงคโปร์กับมาเลเซียเท่านั้นที่นำไปลงมือปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ บทเรียนในอดีตที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงกันไว้ในปี 1992 ว่าจะเริ่มลดภาษีศุลกากรในสินค้าหลายรายการให้เหลือ 0-5% ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ต้นปี 2010 แล้ว

แต่ปรากฏว่าเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะเริ่มมีการใช้บังคับจริง หลายประเทศก็เริ่มยื่นขอยกเว้นสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ มาเลเซีย ที่ยังขอสงวนว่าจะยังคงเก็บภาษีในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เอาไว้เหมือนเดิม ซึ่งเหตุผลลึกๆ แล้วก็คือมาเลเซียยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับการแข่งขันจากภายนอก และต้องการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ยี่ห้อโปรตอนของประเทศเอาไว้

จนทำให้ปัจจุบันเขตการค้าเสรีดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่แทบจะไร้ความหมาย เป็นแต่เพียงข้อตกลงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะมีการนำมาใช้จริงไม่มากเหมือนที่ตั้งเป้าหมายไว้ในช่วงแรก

“กระบวนการที่จะนำข้อตกลงในระดับภูมิภาคไปสู่ขั้นตอนของการผลักดันให้ เป็นกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับอาเซียน” ซูบาส พิลลาย ผู้อำนวยการฝ่ายการบูรณาการตลาดของอาเซียน กล่าว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้เลย นั่นคือความตื่นตัวของมวลหมู่สมาชิกในอาเซียนที่ดูเหมือนจะต่างกันอย่างสุด ขั้ว ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น

เช่นในกรณีการลงนามในข้อตกลงด้านการให้บริการภาคการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีเพียงแค่สิงคโปร์กับลาวเท่านั้นที่ลงนามรับรอง ส่วนประเทศอื่นๆ กลับยังไม่มีทีท่าที่ชัดเจนใดๆ ออกมาเลยแม้แต่น้อย

ประการสุดท้าย คืออาเซียนยังคงเป็นองค์กรที่อ่อนแอ ไร้อำนาจในการบังคับสมาชิก ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้การผลักดันข้อตกลงต่างๆ ยากจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การตกลงใดๆ ก็จำเป็นต้องได้รับฉันทามติจากทุกฝ่ายในการดำเนินการ แตกต่างจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีทั้งรัฐสภาและองค์กรกลาง ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศสมาชิกในบางเรื่อง ซึ่งความขัดแย้งในเรื่องทะเลจีนใต้ คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าอาเซียนยังเป็นองค์กรที่ไม่เข้มแข็ง เหมือนอียู

“การขาดซึ่งกลไกกลางที่เข้มแข็ง ก็เป็นการยากที่อาเซียนจะดำเนินการร่วมกัน และหาข้อตกลงร่วมในประเด็นใหญ่ๆ” ฮาล ฮิล ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจอาเซียน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว

ฉะนั้น ทางเดินของอาเซียนที่จะก้าวไปสู่ฝันที่ยิ่งใหญ่สู่การเป็นเออีซีที่จะหลวม รวมคนกว่า 600 ล้านคน และจะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ก็อาจสะดุดลงได้

หากอาเซียนยังมองไม่เห็น หรือแกล้งมองข้ามปัญหาเหล่านี้ไป


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แตกแยก ไม่จริงใจ ประชาคมอาเซียน เป็นจริงยาก

view