สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำตัดพ้อจาก... นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม DSIคดี ร่มเกล้า พลิก... คนร้ายที่จับได้หายไปไหน ?

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของ 'น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' กำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อที่จะเอาผิดกับ 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายทหารในกองทัพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเผาบ้านเผา เมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ที่ถูกระบุว่ามีเสื้อแดงเสียชีวิต 98 คน ซึ่งงานนี้ 'ธาริต เพ็งดิษฐ์' อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินเครื่องให้อย่างเต็มที่ แต่ในทางกลับกันในส่วนของคดี 'พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม' อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งถูก 'ชายชุดดำ' ลอบสังหารขณะปฏิบัติหน้าที่ที่สี่แยกคอกวัว กลับไม่มีความคืบหน้า และดูเหมือนจะถูกบิดเบือนให้กลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ
       
       แน่นอน คนที่เจ็บช้ำที่สุดเห็นจะเป็น 'นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม' ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ซึ่งทำทุกอย่างเพื่อทวงคืนความเห็นธรรมให้กับร่างไร้วิญญาณของสามี
       
       นิชาได้เปิดใจกับ 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' ถึงความไม่ชอบมาพากลที่เธอได้พบเจอมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่พยายามติดตามคดีดังกล่าว อีกทั้งยังถามหา 'จิตสำนึก' จากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
       
       ไม่ทราบว่าคดีของ พล.อ.ร่มเกล้า คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และได้รับคำชี้แจงจากทางดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
       
       จากที่ติดตามข่าวจากสื่อจะเห็นว่าดีเอสไอเปลี่ยนกลุ่มผู้กระทำความ ผิดคดีพี่ร่มเกล้าหลายรอบแล้ว โดยส่วนตัว ดีเอสไอไม่เคยติดต่อขอพบเพื่อชี้แจงความคืบหน้าเลย จนเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอซึ่งอาจารย์สมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงของ คอป. ประสานให้มาพบ หลังจากได้ฟังและซักถามแล้ว ยังบอกเขาว่า พลเอกร่มเกล้า เสียชีวิตไป 2 ปีกว่าแล้ว แต่รายละเอียดความคืบหน้าของคดีที่ดีเอสไอทำให้ราวกับเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 2 สัปดาห์นี้เอง เหมือนเพิ่งเริ่มทำงาน ไม่มีอะไรคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น
       
       ที่ผ่านมาพบความไม่ชอบมาพากลในการทำคดีของ พล.อ.ร่มเกล้า บ้างหรือไม่ อย่างไร
       
       ก็เป็นดังที่ได้แสดงความสงสัยมาตลอด สับสนในการแถลงของดีเอสไอที่กลับไปกลับมา
       - ครั้งแรกในปี 2553 อธิบดีธาริต แถลงว่าได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุ ถึง 8 คดี รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้าและ เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต DSI แถลงอย่างภาคภูมิใจด้วยว่าได้ร่วมกับหน่วยอรินทราชใช้เทคโนโลยีพิเศษ ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่จับแพะแน่นอน ซึ่งต่อมาผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ก็ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ไปจากการประสานงานของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ถ้ายังจำกันได้
       
       - ต่อมา 20 มกราคม 2554 อธิบดีธาริต แถลงว่ามีการจัดกลุ่มคดีเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นคดี พิเศษที่มีผู้เสียชีวิต ที่มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อ ต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ทหารตำรวจและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์
       
       13 มกราคม 2555 -จากเอกสารสรุปข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก) ปรากฏข้อความสั้นๆ เพียงว่า คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้
       
       15 มีนาคม 2555 - หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า “ DSI รับไม่คืบชุดดำยิงร่มเกล้า ยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานชี้ชัดถึงตัวผู้กระทำผิดหรือดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้ อธิบดีธาริตยังกล่าวว่า DSI ได้จัดให้การเสียชีวิตของพลเอกร่มเกล้า อยู่ในกลุ่มของการเสียชีวิตที่นาเชื่อว่ามาจากการกระทำของผู้ที่ไม่ได้ร่วม ชุมนุม คือ กลุ่มชายชุดดำ
       
       สรุปสั้นๆ ก็คือว่า ปี 2553 จับคนร้ายได้และต่อมามีการประกันตัวไป ต้นปี 2554 DSI สรุปว่าคดี พล.อ. ร่มเกล้าอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ เสียชีวิตจากการกระทำของ นปช. แต่พอถึงต้นปี 2555 DSI กลับบอกว่ายังไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่จะทราบตัวคนร้ายในคดีนี้ และในที่สุดดีเอสไอก็เปลี่ยนตัวผู้กระทำผิดว่าไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุมแต่เป็น ชายชุดดำ จากนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรอีกเลย อยากให้ DSI ได้ทบทวนสิ่งที่เคยแถลงไว้แล้วอธิบายแก่สังคมด้วย
       
       หากเปรียบเทียบความคืบหน้าในการทำคดี ระหว่างคดีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า และคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดงแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างไร
       
       ในขณะที่คดีเจ้าหน้าที่ทหารถูกกระทำให้เสียชีวิตไม่คืบหน้า แต่ปรากฏว่าในช่วงหลัง ตั้งแต่ต้นปี 2555 เป็นต้นมา ปรากฏข่าวความคืบหน้าของคดีที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่สลาย การชุมนุมมีความคืบหน้าไปมาก มีการส่งสำนวนให้อัยการยื่นต่อศาลเพื่อไต่สวนคดีซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการ กระทำของเจ้าหน้าที่รัฐถึง 19 คดี เราก็อยากให้คดีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตของเรามีความคืบหน้าเช่นนั้นบ้าง
       
       ทางกองทัพได้ให้ความช่วยเหลือในการติดตามคดีของ พล.อ.ร่มเกล้าอย่างไรบ้าง
       
       ดิฉันได้ยื่นหนังสือขอให้กองทัพบกเป็นตัวแทนในการติดตามความคืบหน้า ของคดีให้ ซึ่งกองทัพก็ได้ให้ความร่วมมือมอบหมายเจ้าหน้าที่มาช่วยติดตามคดีให้ แต่ ทบ.เองก็รับศึกหลายด้าน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ ข้อหานี้เป็นความเจ็บปวดของทหาร ดิฉันเองก็เจ็บปวดกับคำว่า ร่มเกล้าสั่งฆ่าประชาชน เพราะมันไม่เป็นความจริงเลย แต่พี่น้องเสื้อแดงถูกใส่ข้อมูลนี้ไปบ่อยๆจนเชื่อ ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนตายเลย
       
       หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีและภาพรวมในการปฏิบัติหน้าที่ ของ คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในสมัยรัฐบาลประชาธิปปัตย์ กับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั้นแตกต่างกันมาก คิดว่าเป็นเพราะปัจจัยอะไร
       
       เพิ่งค้นเจอข่าวการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีธาริตเมื่อ 21 ม.ค.2554 ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในคำ สัมภาษณ์บอกว่า " ผมขอเปรียบเทียบว่า หากบ้านเมืองถูกเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดับไฟ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ถูกเพลิงไหม้เป็นจุล ก็เช่นเดียวกับเหตุการณ์โจรเผาบ้านเผาเมืองปล้นสะดมอย่างวิกฤติในครั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ทหารไม่เข้าไประงับเหตุก็จะเกิดมิคสัญญีเลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้นฝ่ายทหารควรได้รับความเป็นธรรมด้วยไม่ใช่ถูกฝ่าย นปช.ใส่ร้ายว่าฆ่าประชาชนอยู่ตลอดเวลา" (จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2554) นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีธาริตในสมัยนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าวันนี้ท่านยังคิดอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ยังยืนยันคำพูดนี้หรือไม่ ดิฉันไม่ทราบได้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเราเปลี่ยน แต่ก็ให้โอกาสฟังคำอธิบายของคนเสมอก่อนจะตัดสินคนว่าเปลี่ยนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ทิศทางคดีของพี่ร่มเกล้ามันเปลี่ยนโดยไม่มีคำอธิบาย
       
       คิดว่าทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความ สงบในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่ มีการปฏิบัติในลักษณะ 2 มาตรฐานหรือไม่
       
       ความคืบหน้าจากการทำคดีของสองฝ่ายที่ไม่เท่ากันคงเป็นคำตอบที่เพียง พอชัดเจน นอกจากนี้อยากให้คิดว่าทหารก็เป็นคนเหมือนกัน มีเลือดเนื้อชีวิตเหมือนกัน หลายครั้งที่ได้ฟังคำวิจารณ์ทหารในเวทีหลายแห่ง รู้สึกในใจว่าเขาไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับทหารในสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน ที่ต้องได้รับความปลอดภัยในชีวิตเหมือนกัน
       
       รัฐบาลประชาธิปัตย์และกองทัพได้แสดงความรับผิดชอบอย่างไร ต่อคำสั่งที่ให้นายทหารที่ดูแลความสงบในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอาวุธ ขณะที่กองกำลังชุดดำและผู้ชุมนุมบางส่วนมีอาวุธครบมือ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทหารหลายนายต้องจบชีวิตลง
       
       ถ้าย้อนเวลากลับไปวันนั้น คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการใช้ความรุนแรงกันได้ถึงขั้นนั้นในระหว่างคนไทย ด้วยกันเอง ในใจคนเป็นทหารอย่างพี่ร่มเกล้าก็มีแต่ความบริสุทธิ์ใจกับพี่น้องผู้ร่วม ชุมนุม เพราะถือว่าทุกคนเป็นคนไทย เป็นพี่เป็นน้องกัน พูดกันรู้เรื่อง ทหารไม่ได้ถูกฝึกให้มาฆ่าคนไทยด้วยกันเอง แต่ในที่สุดเราก็คิดผิด ทหารถูกคนไทยด้วยกันเองฆ่า ดิฉันเข้าใจในเจตนาของรัฐบาลและกองทัพในขณะนั้น ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับกองทัพและรัฐบาล ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบรักษาความสงบจากการชุมนุมที่ไม่สงบ และต้องเป็นบทเรียนสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่จะไม่ทำให้คนผิดกลายเป็นคนถูก และทำให้คนถูกกลายเป็นคนผิด เพราะถึงจุดหนึ่ง วันหนึ่งเราจะไม่เหลือใครกล้าทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้เราอีก ต่อไป ถ้าเกิดเหตุการณ์คราวหน้า ดิฉันเชื่อว่าไม่มีทหารคนไหนอยากออกมาเสี่ยงชีวิตและยังต้องถูกดำเนินคดีแบบ นี้อีก
       
       ในฐานะภรรยาของทหารที่เสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ในการ ดูแลความสงบในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง เมื่อปี 2553 คุณนิชา ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลด้วยหรือไม่
       
       กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ติดต่อเข้ามาทำเรื่องให้ จนมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา แต่ตัวเองยังไม่ได้ไปดำเนินการขั้นตอนให้จบ ดิฉันบอกครอบครัวเจ้าหน้าที่ทหารที่เสียชีวิตด้วยกันว่า สิทธินี้ไม่ต้องเลือกว่า จะรับเงินเยียวยาหรือรับความยุติธรรม เพราะเรามีสิทธิได้รับทั้งสองอย่าง ไม่ใช่ว่าเลือกรับเงินเยียวยาแล้วต้องจบคดี เงินเยียวยานั้นมอบให้เพื่อเป็นหลักประกันชีวิตในอนาคตเพื่อชดเชยการสูญเสีย เสาหลักของครอบครัว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช่ผู้กระทำผิด เราจึงยืนยันสิทธิพิสูจน์ว่าสามีหรือบุตรชายของครอบครัวพวกเราเป็นเจ้า หน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด และเราก็จะติดตามทวงถามความคืบหน้าของคดีกันต่อไป
       
       ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่เสนอในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ต้องการให้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง โดยอ้างว่าเพื่อความปรองดอง คุณนิชามองเรื่องนี้อย่างไร
       
       เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทั้งสี่ฉบับของฝ่ายรัฐบาลมีแต่เรื่องของการนิรโทษกรรมทั้งสิ้น ซึ่งตามหลักการที่ดิฉันเข้าใจและเห็นในหลักการนั้น ขั้นตอนการนิรโทษกรรม ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่ผ่านขั้นตอนการค้นหาข้อเท็จจริงก่อน มีการสำนึกยอมรับผิด แล้วจึงมีการให้อภัย แต่สิ่งที่กำลังทำกันอยู่นี้ ข้ามขั้นตอนที่ควรจะเป็นไปทั้งหมด และเป็นเพียงการใช้ชื่อ “พ.ร.บ.ปรองดอง” เพื่อเพิ่มความชอบธรรมในการเสนอเรื่องนิรโทษกรรม แต่ผลลัพธ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ในที่สุด ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจ และการยอมรับของคู่กรณีที่จะนำไปสู่ความปรองดองเลย ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งลึกขึ้นในสังคมไทยอย่างน่ากลัว
       
       ทราบว่าคุณนิชาได้ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ของวุฒิสภา ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้าง และกรรมาธิการมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร
       
       ด้วยความที่ดีเอสไอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการสอบสวนคดีเปลี่ยน ทิศทางคดีกลับไปกลับมาตลอด ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่ง กำลังทำหน้าที่ ยิ่งได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีดีเอสไอเมื่อสองสามวันนี้บอกว่า “ไม่มีกฎหมายใดกำหนดว่าข้าราชการประจำต้องทำงานเป็นกลาง แต่มีเพียงข้อปฏิบัติที่ต้องทำตามนโยบายและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร " ยิ่งทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในการทำงานของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้คำสั่งของ รัฐบาลที่เป็นคู่กรณีของความขัดแย้งในเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น อำนาจอธิปไตยมี 3 ส่วน เมื่อไม่มั่นใจการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร จึงต้องไปพึ่งอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่สามารถถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารได้ จึงได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ของวุฒิสภา ให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของพลเอกร่มเกล้า ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการค้นหาข้อเท็จจริงอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ก็ยังรอฟังผลการค้นหาข้อเท็จจริงของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) และ กสม.(คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน
       
       อยากจะฝากอะไรถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลชุดนี้บ้าง
       
       เหตุการณ์ความไม่สงบในปี 53 ได้สร้างความขัดแย้งของคนในชาติ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทุกด้าน รัฐบาลเองก็ได้ประกาศเป็นนโยบายหลักเป็นวาระแห่งชาติในการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือหลายฝ่ายกำลังเกิดความไม่เชื่อมั่นในการทำงาน ของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารจนเกิดเป็นการตอบโต้รายวัน ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติ ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงคาดหวังอยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศและเป็นผู้บังคับบัญชาสูง สุดของฝ่ายบริหาร ลงมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนกับที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ลงมาแก้ปัญหา เรื่องน้ำอย่างจริงจังด้วยตนเอง ดิฉันเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีลงมาดูแลติดตามเร่งรัดความคืบหน้าของคดีกับ หน่วยงานต่างๆแล้ว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจแก่คู่กรณีได้มากขึ้น ช่วยสร้างบรรยากาศที่จะนำไปสู่ความปรองดองกันได้
       
       ปัญหาของชาติขณะนี้คงแก้ไม่ได้ด้วยเพียงการเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าเป็นหน้าที่ของสภา แต่คิดว่าประเทศเรากำลังต้องการบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็น อันดับแรก มีความมั่นใจว่าทุกฝ่ายจะได้รับความยุติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองนั้น คงจะไม่เป็นผล หากยังไม่สามารถก้าวผ่านขั้นตอนการค้นหาข้อเท็จจริง และความคืบหน้าของคดีที่กำลังอยู่ภายใต้ขั้นตอนการดำเนินการของฝ่ายบริหารใน ขณะนี้
       
       คิดว่าหากปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ขื่อแปเช่นนี้ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป
       
       สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกันในวันนี้ จะเป็นมรดกตกทอดถึงเด็กลูกหลานของเราเองในวันข้างหน้า ถ้าท่านสร้างบรรทัดฐานของความไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพศีลธรรม สิ่งนี้จะตกทอดไปถึงเยาวชนอนาคตของชาติ ซึ่งคือลูกหลานของท่านเอง สิ่งที่ดิฉันเรียกร้องในวันนี้เกิดจากความกลัวว่าสำนึกของเยาวชนที่กำลัง นั่งดูผู้ใหญ่อยู่ในวันนี้ เขาจะขาดสำนึกของความผิดชอบชั่วดี สูญเสียอะไรก็ไม่น่ากลัวเท่าสูญเสีย “สำนึก” ท่านลองคิดถึงคนใกล้ตัวคือลูกหลานที่ท่านรัก ท่านจะยอมรับได้ไหมถ้าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วเขาบอกท่านว่า เขาไปฆ่าคนตายมาและการฆ่าคนตายไม่ผิด ก็ผู้ใหญ่ทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างอย่างนั้น ลูกหลานเรากำลังอยู่ในยุคที่สังคมเสื่อมทรามอยู่แล้ว เราอย่าซ้ำเติมทำให้สังคมเสื่อมจนขาดสำนึกของความเป็นคนเลย


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำตัดพ้อ นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม DSI คดี ร่มเกล้า พลิก คนร้ายที่จับได้ หายไปไหน

view