สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักเศรษฐศาสตร์ค้าน ค่าจ้าง300รวดเดียว70จังหวัด

นักเศรษฐศาสตร์ค้าน ค่าจ้าง300รวดเดียว70จังหวัด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือ บอร์ดค่าจ้าง ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 เป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัดที่เหลือ และให้คงอัตราเดิมไว้ 2 ปี ซึ่งหมายถึงการปรับฐานค่าจ้าง 300 บาทให้เท่ากันทั่วประเทศ โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่1 ม.ค. 2556 ซึ่งแม้ว่าจะมีการออกมาชี้แจงจากปลัดกระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ก่อนหน้านี้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างหนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ แถมยังจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอีกด้วย ทว่าก็ยังมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้ โดยเฉพาะ"เศรษฐศาสตร์"ซึ่งมองว่ายังมีผลกระทบที่จะตามมาหลังจากนี้

 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30  แห่ง จำนวน 70 คน เรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 11-19 ก.ย. ที่ผ่านมา พบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 64.3  เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรวดเดียว 300 บาททั่วประเทศใน 70 จังหวัดที่เหลือแล้วคงที่ไว้เป็นเวลา 2 ปี (ปี 2557-2558) เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกทาง  โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า ธุรกิจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงศักยภาพทางธุรกิจในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน

 ขณะที่ ร้อยละ 18.6 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่มาถูกทางแล้ว โดยให้เหตุผลที่สำคัญว่า เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อ เพิ่มการกระจายรายได้ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เมื่อแบบสำรวจถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศที่ 300 บาทต่อวัน เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่  ร้อยละ 72.9 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม  ขณะที่ ร้อยละ 17.1 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมแล้ว

 ทั้งนี้  นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ารัฐบาลควรดูแลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปให้อยู่ในระดับต่ำไม่เกินร้อยละ 3.45  ต่อปี และเห็นว่าหากเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 4.56 ต่อปี  รัฐบาลควรมีการทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำก่อนเวลาที่กำหนดไว้ (ที่กำหนดให้คงที่ 2 ปี)  

 ส่วนผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ คือ อันดับ 1 สินค้าจะเพิ่มขึ้น/เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น  (ร้อยละ 85.7) อันดับ 2 การเลิกกิจการของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่จะเพิ่มขึ้น  (ร้อยละ 68.6) อันดับ 3  การจ้างแรงงานต่างด้าวที่จะเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 62.9) อันดับ 4 การย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นของผู้ประกอบการ (ร้อยละ 61.4)

 นอกจากนี้  นักเศรษฐศาสตร์เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs เพิ่มเติม (นอกเหนือจากการลดภาษีนิติบุคคล) เช่น การช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้กับผู้ประกอบการ  การพัฒนาสินค้าและด้านตลาด  มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ  การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่มีปัญหา  การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ  เป็นต้น

 ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและมีบทบาทต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการเปิดรับฟังข้อมูลทั้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งมีการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนิติบุคคล การลดส่งเงินสมทบประกันสังคม แต่คราวนั้นเป็นการปรับค่าจ้าง 300 บาท แค่ 7 จังหวัด

 แตกต่างจากครั้งนี้ ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งผลกระทบมันอาจจะไม่ใช่ที่เราคาดคิดก็เป็นได้


ม.ธุรกิจบัณฑิตชี้ขึ้นค่าแรง300เสี่ยงตกงาน1.2ล้านคน

ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิต คาดขึ้นค่าแรง 300 บาทปีหน้าทั้งประเทศ มีแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงาน 1.2 ล้านคน ดันอัตราว่างงานทั้งประเทศทะลุ 1.2%
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลที่มีจะผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 56 ว่า จากการสำรวจใน 70 จังหวัด ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงในปีหน้าพบว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จ. นราธิวาส, จ. ตาก จ. ลำพูน จ. สระแก้ว จ. ราชบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ จ. ปัตตานี จ.ลพบุรี จ. หนองบัวลำพู และ จ.อ่างทอง

ทั้งนี้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันในทุกพื้นที่ จะส่งผลเสียในระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้จะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจในพื้นที่อื่นๆได้ เพราะต้องแบกรับต้นทุนต่อหน่วยการผลิตที่สูงกว่าจึงจำเป็นต้องขายสินค้าที่แพงกว่าทำให้โรงงานนอกพื้นที่นำสินค้ามาตีตลาดได้ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานที่มีศักยภาพจะไปรวมในพื้นที่เดียวกันหมด เพราะพื้นที่ที่มีโรงงานรายใหญ่ที่มีศักยภาพจะคัดเลือกคนที่เก่งๆ แล้วบีบคนไม่เก่งให้ออก ส่วนคนที่ไม่เก่งก็ต้องไปทำงานในพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ ผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆในการลดต้นทุน และการลดการใช้พนักงานลงด้วยวิธีการเลือกเฉพาะพนักงานที่มีความสามารถ ดังนั้นภายใน 18 เดือนหลังจากที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 300 บาทแล้ว อาจมีแรงงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกงาน หรือเสี่ยงต่อการไม่มีงานทำ 1.2 ล้านคน เช่น กลุ่มที่กำลังทำงานอยู่แต่มีศักยภาพน้อย, กลุ่มที่กำลังจะหางาน, กลุ่มที่รอสัมภาษณ์งาน เป็นต้น

โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้มาจากข้อเสนอของธนาคารโลกและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ระบุว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความพร้อมของพื้นที่ รวมถึงระดับค่าแรงเฉลี่ยในพื้นที่ การวิเคราะห์ผลกระทบของค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้เกิดการเลิกจ้างในระดับที่แตกต่างกัน ยิ่งค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีค่าใกล้เคียงกับค่าแรงเฉลี่ยของพื้นที่ ผลด้านการเลิกจ้างก็จะยิ่งสูงขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่า หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจนเกินกว่า 40% ของค่าแรงเฉลี่ย จะเกิดปัญหาเลิกจ้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงานที่เป็นเยาวชน และแรงงานของธุรกิจเอสเอ็มอี โดย ค่าเฉลี่ยการขึ้นค่าแรงในปีหน้าส่วนใหญ่มีค้าเฉลี่ยเกิน 40% เกิอบทุกจังหวัด และมากที่สุดก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 80% ซึ่งป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อันตรายมาก

ปัจจุบันการว่างงานของประชากรไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนภาวะที่แท้จริงของตลาดแรงงาน โดยปกติแล้วการมีการวิเคราะห์อัตราการว่างงานโดยใช้นิยาม ผู้ว่างงาน + ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน+ผู้ที่มีชั่วโมงทำงานต่ำ จะทำว่าผู้ว่างงานของไทยจะสูบถึง 5.9% หรือคิดเป็น 10 เท่าของอัตราการว่างงานตามนิยามปกติที่รัฐบาลใช้ให้นิยามผู้มีงานทำคือผู้ที่มีรายได้จากการทำงาน 1 ชั่วโมง ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นค่านิยามที่ต่ำมาก

โดยผลกระทบในระยะยาวคาดว่าภายใน 2 ปี อัตราการว่างงานตามเกณฑ์การวัดของไทยจะสูงจาก 0.6% ในเดือน ก.ค.ปี2555 เพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และถ้าคิดอัตราการว่างงานตามหลักสากลที่รวมกลุ่มผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำจะสูงถึง15% ซึ่งเป็นตัวเลยที่อันตรายมาก อย่างไรก็ตาม การไม่มีงานในส่วนของเมืองไทยคงจะไม่ลำบากเหมือนกับต่างประเทศ เพราะในบ้านเราก็สามารถที่จะเข้าช่วยครอบครัวทำนาทำไร่ได้ หรือ ช่วยเพื่อนในการขายของ ซึ่งกลุ่มนี้ในเมืองไทยถือว่าไม่ตกงาน

“ประสบการณ์จากในกลุ่มละตินอเมริกา อเมริกา อังกฤษ และยุโรป แสดงให้เห็นว่าหลักจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดแล้วจะมีปัญหาการเลิกจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ การชะลอการจ้างงานเพิ่ม และโอกาสได้งานทำของเยาวชนก็น้อยลง ดังนั้นปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต้องการทำงานแต่หางานทำไม่ได้ หากคุณภาพชีวิตต่ำลงในอนาคตก็จะเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย” นายเกียรติอนันต์ กล่าว

สำหรับแนวทางการรับมือของผู้ประกอบการนั้น ศูนย์วิจัยได้นำแนวทางผู้ประกอบการใน 7 จังหวัดที่สามารถปรับตัวจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทได้ไปก่อนหน้านี้แล้ว นำมาวิเคราะห์ พบว่สาจะต้องมีการลดความสูญเสียโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของบริษัทไม่ใข่เฉพาะการลดต้นทุนกระบวนการผลิตเท่านั้น การเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน เพื่อรักษาผลิตภาพการผลิต และ การรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้มีเงินสำรองไว้ใช้ในต้นปีหน้า ส่วนแรงงานก็ต้องมีการพัฒนาทักษะในการทำงานที่ทำอยู่เป็นประจำให้สูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทแล้วยังเป็นประโยชน์ใหม่ต่อการหางานใหม่กรณีที่มีการเลิกจ้างงาน

ส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อนั้น จะส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นทันทีวันละ 15 บาท หรือ 450 บาทต่อเดือน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องมีภาระต้นทุนการผลิตที่สูง จึงจำเป็นต้องมีการปรับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในประจำวันของประชาชนจะปรับขึ้นทั้งระบบ ดังนั้นรัฐบาลต้องหามาตรการรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงมากนัก รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อหาวิธีการลดต้นทุนด้านอื่นมาทดแทน

“มหาวิทยาลัยได้มีการประเมินผลว่าในช่วงต้นปีหน้าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็จะมีการปรับขึ้นราคาสินค้ารองรับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยอีกประมาณ 100 วันจากนี้ไปก็จะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มวันละ 15 บาทหรืออย่างน้อยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหายไปทันทีวันละ 3 ซอง และหลังไตรมาสที่ 1 หรือประมาณช่วงเดียวเม.ย. ค่าครองชีพก็จะเพิ่มขึ้นอีก 5 บาทต่อวันหรือเป็น 20 บาทต่อวัน และ ช่วงปลายปีต้นทุนทั้งหมดก็จะสัมฤทธิผลที่ชัดเจนก็จะทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็น 30 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 900 บาท ซึ่งชาวบ้านต้องได้รับความเดือดร้อนจากของแพงแน่นอน”

สำหรับผลการวิเคราะห์จาก 70 จังหวัดที่ทำการศึกษา จังหวัดมีสัดส่วนค่าแรงขั้นต่ำต่อค่าแรงเฉลี่ยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นราธิวาส (83.9%) ตาก (79.8%) ลำพูน (78.9%) สระแก้ว (75.9%) ราชบุรี (75.4%) ประจวบคีรีขันธ์ (75.3%) ปัตตานี (74.3%) ลพบุรี (72.7%) หนองบัวลำพู (72.0%) และอ่างทอง (71.9%) อย่างไรก็ตาม เมื่อนำลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพื้นที่และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มาพิจาณาด้วยแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดนราธิวาสและปัตตานีอาจจะไม่รุนแรงมากไปกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ นครพนม (42.5%) ยโสธร (42.6%) ร้อยเอ็ด (45.9%) สกลนคร (47.2%) น่าน (47.6%) กาฬสินธุ์ (48.4%) พัทลุง (49.4%) มุกดาหาร (50.0%) ศรีสะเกษ (50.9%) และพังงา (51.1%)


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักเศรษฐศาสตร์ค้าน ค่าจ้าง300 รวดเดียว70จังหวัด

view