สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐจะหาเงินจากไหน มารับจำนำข้าวปี 2555/56

จากประชาชาติธุรกิจ

หนทางในการรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณข้าวเปลือกทั้งประเทศในปี 2555/56 หรือที่เรียกว่าการรับจำนำข้าวเปลือกโดยไม่สนใจว่าจะขาดทุนมากมายเพียงใดดู จะตีบตันเข้าไปทุกที

รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันที่จะดำเนินโครงการนี้ติดต่อกันเป็นปีที่สองต่อไป โดยไม่สนใจต่อเสียงคัดค้านทั้งจากผู้คนในวงการค้าข้าว และแวดวงนักวิชาการไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

ทว่าเสียงคัดค้านดังกล่าว กลับไม่ได้รับการตอบรับจากฟากการเมืองในรัฐบาล ไม่มีแม้กระทั่งความคิดที่จะ "ทบทวน" โครงการทั้งในเรื่องของราคารับจำนำ กับปริมาณข้าวที่จะรับจำนำเข้ามา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนให้โครงการนี้โดนโจมตี ยังไม่นับรวมถึงวิธีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ได้มาจากโครงการนี้ด้วย แต่กลับมีเสียงคัดค้านจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็น จากสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกมา "ทักท้วง" การใช้วงเงินรับจำนำข้าวทุกเมล็ดโดยที่ยังไม่สามารถระบายสต๊อกข้าวที่รับ จำนำเข้ามาออกไปได้

"บุญทรง" ดันเข้า ครม.

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีความพยายามที่จะเสนอวาระเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 และการขอขยายปริมาณและกรอบการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน (วันที่ 18 กันยายนกับวันที่ 25 กันยายน

ที่ผ่านมา) แต่ปรากฏวาระดังกล่าวถูก "ใครบางคน" ในคณะรัฐบาลถอนเรื่องออกไปถึง 2 ครั้งซ้อน ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า เหตุใด ครม.จึงไม่พิจารณาวาระดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติก็ได้ให้ความเห็นชอบในโครงการรับจำนำข้าว เปลือกปี 2555/56 ไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ ครม.จะต้องพิจารณาก็คือ วงเงินที่จะต้องใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 26 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวเปลือกนาปี 15 ล้านตัน กับข้าวเปลือกนาปรัง 11 ล้านตัน ถูกกำหนดไว้สูงถึง 405,000 ล้านบาท แยกเป็นข้าวนาปีวงเงิน 240,000 ล้านบาท กับข้าวนาปรังวงเงิน 165,000 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะรับจำนำข้าวเปลือกโดยไม่จำกัดปริมาณ หรือรับจำนำข้าวเปลือกทั้งประเทศเหมือนกับปีที่ผ่านมา

ธ.ก.ส.ขาดเงิน 2 แสน ล.

ปัญหา ที่เกิดขึ้นมาทันทีก็คือ 1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งเข้ามาแล้วว่า ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องที่จะใช้รับจำนำพืชผลทางการเกษตรตามโครงการของรัฐบาล ประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่สภาพคล่องจำนวนนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะการรับจำนำข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีภาระในการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ อาทิ ยางพารา-มันสำปะหลังรวมอยู่ด้วย

เท่ากับว่า ธ.ก.ส.ยังขาดเงินรับจำนำข้าวเปลือกอยู่ถึง 255,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดหาเงินทุนหมุนเวียนก้อนนี้ให้กับ ธ.ก.ส. หากรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในประเทศนี้ต่อไป

2) วงเงินจ่ายขาดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555/56 ถูกตั้งไว้สูงมากถึง 11,771.25 ล้านบาท (ใกล้เคียงกับวงเงินรับจำนำหัวมันสดทั้งโครงการในปีที่ผ่านมา) โดยจะเห็นได้ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของวงเงินจ่ายขาดถูกกันไว้เป็น "ดอกเบี้ย" เงินกู้ของ ธ.ก.ส.ที่ใช้ในการรับจำนำสูงถึง 7,492.50 ล้านบาท (นาปี 4,440 ล้านบาท-นาปรัง 3,052.50 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือเป็น ค่าบริหารเงินกู้ของ ธ.ก.ส.อีก 4,218.75 ล้านบาท (นาปี 2,500 ล้านบาท-นาปรัง 1,718.75 ล้านบาท) กับค่าใช้จ่ายในการระบายข้าวเปลือกหลุดจำนำยุ้งฉางอีก 60 ล้านบาท

สะท้อนให้เห็นถึง "ต้นทุน" เงินกู้เฉพาะค่าดอกเบี้ย ปาเข้าไปกว่า 7,000 ล้านบาท

3) ความสับสนในความหมายของ "วัตถุประสงค์" ในการรับจำนำข้าว เนื่องจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะประธานกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระบุไว้ในหนังสือ ประกอบการพิจารณาวาระโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ไว้ว่า เป็น โครงการเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อยกระดับราคาให้เกษตรกรขายข้าว ได้คุ้มกับ "ต้นทุนการผลิต" แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลกลับตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกทุกชนิดไว้ในราคา "สูงเกินกว่า" ราคาต้นทุนการผลิต และยัง "สูงเกินกว่า" ราคาขายส่งข้าวและราคาข้าวในตลาดโลก ก่อให้เกิดผลการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามมาอีกมากมาย

สภาพัฒน์ออกโรงค้าน

ทั้ง หมดนี้กลายมาเป็นคำถามว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร ? ในเมื่อข้อเสนอแนะของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับวงเงินรับจำนำ 405,000 ล้านบาท (ยังขาดอยู่ 255,000 ล้านบาท) มีอยู่ว่า ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ ธ.ก.ส.โดยรัฐบาลจะรับภาระชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยจากการกู้เงินและค่าใช้ จ่ายต่าง ๆ รวมถึงผลการขาดทุนจากการดำเนินโครงการ แต่ กรณีที่มีความจำเป็นให้ใช้ "เงินทุน" ของ ธ.ก.ส.เพื่อจ่ายเงินกู้ไปก่อน "หาก ธ.ก.ส.มีเงินทุนเพียงพอ ?"

ในขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงความเห็นอย่างน่าสนใจไว้ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 กับโครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 2555 รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 517,958 ล้านบาท หากรวมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีนี้เข้าไปด้วยก็จะมีการใช้จ่ายเงินในวง เงินที่สูงมาก จึงมีความ "จำเป็น" ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อกที่รับจำนำไว้ออกไป หรืออีกนัยหนึ่ง "ยังขายข้าวไม่ได้แต่กลับจะมาขอกู้เงินไปใช้อีก"

ด้าน สำนักงบประมาณ เองได้แสดงความกังวลในประเด็นเดียวกันนี้ พร้อมกับเตือนว่า หากยังไม่มีการระบายข้าวในสต๊อกออกไปเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายข้าวมาเป็น เงินทุนหมุนเวียนให้กับ ธ.ก.ส.แล้ว กระทรวงการคลังจะมีปัญหา


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รัฐ หาเงินจากไหน รับจำนำข้าวปี 2555/56

view