สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสและผลกระทบจาก Fiscal Cliff

โอกาสและผลกระทบจาก Fiscal Cliff



ยิ่งใกล้สิ้นปีเข้ามาเท่าไร ข่าวคราวเรื่อง Fiscal Cliff ก็เริ่มได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ
บทความนี้จึงขอประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสขึ้นด้วยปัจจัยใดบ้าง รวมถึงผลที่จะตามมาหากเกิดขึ้นจริง แต่ก่อนอื่น ลองมาทบทวนกันเสียก่อนว่าเจ้า Fiscal Cliff หมายถึงอะไร
 

ก่อนอื่นขอย้อนรอยกลับไปกว่า 10 ปีที่แล้ว สมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช ในช่วงนั้นฐานะการคลัง ของสหรัฐเกินดุลอยู่ 5.6 ล้านล้านดอลลาร์เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลสหรัฐมีอยู่ จนเกิดความกังวลว่า ตราสารพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเกิดขาดแคลนสำหรับการซื้อขายระหว่างกันในตลาดการเงิน ทางรัฐบาลบุชจึงตัดสินใจเข็นมาตรการลดภาษีต่างๆ ออกเป็นกฎหมายหลายมาตราซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ตอนสิ้นปี 2008 รัฐบาลของ บารัก โอบามา ก็ได้ออกกฎหมายเพื่อกระตุ้นการจ้างงานและโครงการช่วยเหลือทางสวัสดิการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขภาษีต่างๆ การลดอัตราภาษีค่าจ้างของพนักงานบริษัทลงร้อยละ 2 หรือการชะลอการตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวก็กำลังจะหมดอายุลง ในสิ้นปีนี้เช่นเดียวกัน
 

กล่าวโดยสรุปองค์ประกอบของ Fiscal Cliff ในปี 2013 สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การหมดอายุลงของมาตรการลดภาษีทั้งสมัยบุชและโอบามารวมทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ การเริ่มตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์ และ  การหมดอายุลงของการลดอัตราภาษีค่าจ้าง ของพนักงานบริษัทลงมูลค่าราว 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยการสิ้นสุดของมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐในปี 2013 หรือ Fiscal Cliff มูลค่ารวมทั้งสิ้นราว 6 แสนล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณร้อยละ 4 ของจีดีพีสหรัฐ ดังรูป
 

คำถามที่ทุกคนอยากทราบกันในขณะนี้คือ จะมีโอกาสที่จะเกิด Fiscal Cliff หรือไม่ ซึ่งผู้เขียนขอประเมิน โอกาสและขนาดของ Fiscal Cliff ที่จะเกิดขึ้นตามผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกทั้งสองสภา ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ออกเป็น 3 กรณี ดังตารางที่ 1
 

กรณีแรก บารัก โอบามา และ พรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกทั้งสองสภา หรือ มิตต์ รอมนีย์ และ พรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกทั้งสองสภา ในกรณีนี้ น่าจะไม่เกิด Fiscal Cliff ขึ้น หรือ เกิดขึ้นในระดับไม่เกินร้อยละ 25 โดยในกรณีที่นายโอบามาชนะการเลือกตั้ง การต่ออายุการลดภาษีอาจจะไม่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีรายได้สูง ส่วนในกรณีนายรอมนีย์ชนะ การหลีกเลี่ยงที่จะลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอาจไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้จีดีพี ลดลงร้อยละ 0.8 และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มี Fiscal Cliff ดังตารางที่ 2
 

กรณีที่สอง บารัก โอบามา ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทว่า พรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งสมาชิกทั้งสองสภา ในกรณีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด Fiscal Cliff แบบเต็มๆ ขึ้น หรือ เกิดขึ้นในระดับร้อยละ 75 โดยยกเว้นการตัดลดงบกลาโหมบางส่วนและโครงการสวัสดิการทางการแพทย์หรือ Medicare ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้จีดีพีลดลงราวร้อยละ 2.5 และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มี Fiscal Cliff อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐก็จะเพิ่มปริมาณเงินที่จะซื้อตราสาร Mortgage-Backed Securities จาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเป็นราว 6-7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนเช่นกันในโครงการ QE3
 

กรณีสุดท้าย มิตต์ รอมนีย์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทว่า พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งสมาชิกทั้งสองสภา ในกรณีดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด Fiscal Cliff แบบเต็มๆ ขึ้น หรือ เกิดขึ้นในระดับร้อยละ 75 โดยยกเว้นการตัดลดงบกลาโหม ทั้งนี้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐจะทำให้จีดีพีลดลงราวร้อยละ 2.5 และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มี Fiscal Cliff ที่สำคัญ มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐน่าจะไม่มี QE3 อีกต่อไป
 

สำหรับโอกาสที่จะเกิดแบบไหนมากที่สุดนั้น ณ นาทีนี้ กรณีที่สอง นับว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด โดยมีโอกาสที่จะเกิดแบบ 75% Fiscal Cliff มากกว่า อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของสภาสหรัฐที่เมื่อถึงนาทีสุดท้ายแล้วก็ไม่ยอมให้มีมูลค่าหนี้เกินระดับ Debt Ceiling ก็เหมือนจะสามารถมองในแง่ดีว่า Fiscal Cliff ท้ายสุดแล้วอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี การที่ธรรมชาติของ Fiscal Cliff ที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นระดับต่างๆ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า Fiscal Cliff มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในระดับร้อยละ 25 อยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน
 

อย่างไรก็ดี ผลการดีเบตรอบที่สองระหว่าง บารัก โอบามา และ มิตต์ รอมนีย์ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ อาจจะเปลี่ยนรูปเกมจนอาจทำให้ไม่เกิด Fiscal Cliff เหมือนกับในกรณีแรกก็เป็นได้ครับ

 
หมายเหตุ หนังสือเล่มใหม่ด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “จิบกาแฟ ท่องเน็ต เล่นหุ้น...ก็รวยได้” วางจำหน่ายแล้วทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com  ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาส ผลกระทบ Fiscal Cliff

view