สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปริศนาขายข้าว G to G ข้าวไปที่ไหน-ปริมาณเท่าใดและใครส่งออก

จากประชาชาติธุรกิจ

กลายมาเป็นคำถามใหญ่ขึ้นมาว่า ข้าว G to G หรือข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "อ้างว่า" ได้ทำสัญญาขายให้กับรัฐบาลต่างประเทศไปแล้วเป็นจำนวน 6 สัญญา ปริมาณ 7.328 ล้านตันนั้นหายไปไหน ?

จากคำให้สัมภาษณ์พร้อมตัวเลขการระบายข้าว 3 บรรทัดที่รายงานให้ ครม.รับทราบเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่มีมากกว่า 12 ล้านตันไปแล้วเป็นจำนวน 8.38 ล้านตัน แบ่งเป็น 1)การจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ (เปิดประมูลให้กับผู้ส่งออกข้าว) จำนวน 2 ครั้ง 264,000 ตัน โดยมีข้าว



ที่ระบายออกไป "วนเวียน" อยู่ในมือผู้ส่งออก 12 ราย 2)ขายให้กับหน่วยงานราชการจำนวน 6 ครั้ง คิดเป็นปริมาณข้าว 797,000 ตัน แต่ไม่ยอมเปิดเผยว่า ขายข้าวให้หน่วยราชการใด

ปริมาณ/ราคาเท่าใด และเป็นการขายโดยตรงหรือขายผ่านบุคคลที่สาม โดยมีข้อสังเกตว่า การขายแบบนี้กลับมีปริมาณ "มากกว่า" การเปิดประมูลเป็นการทั่วไปเสียอีก

และ 3)การขายข้าวแบบ G to G จำนวน 7.328 ล้านตัน ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันว่ามีการขายจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำ "บริษัทผู้ส่งออกข้าว" มา "สวมสิทธิ์" ส่งออกข้าวแทนรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์อ้างว่า เป็นการขายแบบ X-Warehouse ภาระของ "ผู้ขาย" หมดลงที่หน้าโกดัง ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลประเทศ "ผู้ซื้อ" ที่ว่าจะให้ใครมาปรับปรุงคุณภาพข้าวและดำเนินการส่งออก

โดยอ้างว่า "ผู้ขาย" ไม่ได้มีหน้าที่ต้องแจ้งว่า "ใคร" ได้รับเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว และไม่สามารถบอกรายละเอียดของสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ได้ว่า ขายให้รัฐบาลประเทศใด มีเทอมการส่งออกเมื่อไหร่ เป็นข้าวชนิดอะไร และราคาเท่าไหร่

โดยอ้างอีกเช่นกันว่า "การเปิดเผยรายละเอียดเหล่านี้จะกระทบกระเทือนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ?"

พร้อมกับแจ้งว่า จากสัญญาขายข้าว G to G จำนวน 7.328 ล้านตันนั้น ขณะนี้ (เดือนกันยายน) มีการส่งมอบข้าวลงเรือออกไปนอกประเทศแล้ว เป็นจำนวน 1.46 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าว G to G ที่เหลือนั้นจะทยอยส่งมอบไปจนกระทั่งถึงสิ้นปี 2556

สร้างความสงสัยให้กับสาธารณชนและนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการค้าข้าว-นักวิชาการที่ว่า 1)สัญญาการขายข้าวจำนวน 7.328 ล้านตันมีจริงหรือไม่ หรือทั้งหมดนี้เป็น

เพียงแค่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าจะซื้อจะขายข้าว โดยที่ยังไม่มีการตกลงในเรื่องของราคาและปริมาณ 2)กระทรวงพาณิชย์มีการขายและส่งออกข้าวแบบ G to G จริงหรือ 3)ถ้ามีการส่งออกข้าว G to G จริง การส่งออกนั้นเป็นการส่งออกแบบให้ บริษัทผู้ส่งออกข้าวบางกลุ่มเข้ามา "สวมสิทธิ์" แทนรัฐบาลหรือเปล่า ?

และ 4)จะกลายเป็นเรื่องแปลกและพิสดารที่ว่า หากมีการทำสัญญาขายข้าวจำนวน 7.328 ล้านตันจริง ทำไมรัฐบาลประเทศผู้ซื้อถึงยอมตกลงราคาซื้อข้าวที่มีการส่งมอบ "ยาวนาน" แบบข้ามปีไปจนกระทั่งถึงปลายปี 2556 เนื่องจากเป็นการตกลงราคาซื้อขายข้าวในอนาคต มีความเสี่ยงทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นอกจากเป็นการเสนอขายข้าวใน "ราคามิตรภาพ" แบบถูกสุดสุด หวังล้างสต๊อกจากรัฐบาลไทย ?

จากข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นได้นำไปสู่ "กระบวนการ" การตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าในช่วงที่ผ่านมาตัวเลขสถิติการ

ส่งออกข้าวที่จัดเก็บโดยกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์เอง ปรากฏตั้งแต่เดือนมกราคมจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ข้าวที่ถูกส่งออกจากประเทศไทยทั้งหมดเป็นการ

ส่งออกข้าวโดยภาคเอกชน หรือไม่มีการส่งออกข้าวของรัฐบาล (G to G) แม้แต่ตันเดียว

ในประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์ออกมาแก้ข้อกล่าวหาว่า ที่ไม่มีตัวเลขสถิติการส่งออกข้าวแบบ G to G เป็นเพราะข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ทำสัญญาขาย G to G เป็นการแบบ X-Wareghouse ดังนั้นตัวเลขการส่งออกข้าว G to G จริง ไปปรากฏอยู่ในสถิติการส่งออกข้าวของภาคเอกชน หรือไปอยู่ในส่วนของบริษัทผู้ส่งออกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งไม่ยอมบอกว่าบริษัทนั้นคือใคร ?

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้สามารถตรวจสอบได้จากสถิติการส่งออกข้าวภาคเอกชนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เฉพาะประเทศที่นายบุญทรงระบุแบบกว้าง ๆ ว่าเป็นประเทศที่รัฐบาลไทย

ทำสัญญา G to G จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, จีน, โกตดิวัวร์ และบังกลาเทศ มีการส่งออกข้าวภาคเอกชน

"วนเวียน" กับรายชื่อผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ จำนวน 5-6 บริษัท ได้แก่ บริษัทสยามอินดิก้า, บริษัทข้าวไชยพร, บริษัทเอเชีย โกลเด้นท์ไรซ์, บริษัทเครือนครหลวงค้าข้าว, บริษัทเจียเม้ง และน้องใหม่มาแรง บริษัทอาร์ แอนด์ ที ไรซ์ ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งไปยังประเทศจีน

หมายความว่าหากตัวเลขการส่งออกข้าว G to G จำนวน 1.46 ล้านตันมีจริง บริษัทผู้รับปรับปรุงคุณภาพข้าวจากการขายแบบ X-Warehouse ย่อมไม่หนีไปจากรายชื่อผู้ส่งออกข้าวอันดับต้น ๆ ของ 4 ตลาดหลักแน่นอน จนกลายเป็นการเลือกที่จะให้ "ประโยชน์" กับบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใดรายหนึ่งหรือผู้ส่งออกข้าบางกลุ่มโดยไม่ผ่านกระบวนการเปิดประมูลใช่หรือไม่

ล่าสุดมี "ข้อมูลใหม่" ที่ช่วยเติมเต็มความสงสัยเข้ามาจากรายงานของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประจำเดือนตุลาคม สรุปตัวเลขการส่งออกข้าวไทยในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2555) ปรากฏประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปได้ทั้งสิ้น 5.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 106,174 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีปริมาณการส่งออกข้าว 9 ล้านตัน มูลค่า 156,295 ล้านบาท หรือลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าร้อยละ 44 และ 32 ตามลำดับ

แต่ที่สำคัญก็คือประเทศผู้นำเข้าข้าวไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ไนจีเรีย ปริมาณ 904,935 ตัน, อิรัก 545,591 ตัน, อินโดนีเซีย 310,765 ตัน, ไอวอรีโคสต์ หรือโกตดิวัวร์ 299,529 ตัน และแอฟริกาใต้ 276,092 ตัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกในช่วง 9 เดือนนั้น สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกข้าวที่จัดเก็บโดยกรมศุลกากร เฉพาะรายชื่อประเทศที่ถูกระบุอยู่ในรายชื่อประเทศที่

นายบุญทรง อ้างว่าได้ขายข้าวแบบ G to G ให้ (อินโดนีเซีย-โกตดิวัวร์) รวมกับสถิติการส่งออกข้าวที่เหลือของประเทศจีน-บังกลาเทศ พบว่าทั้ง 4 ประเทศมีปริมาณการนำเข้าข้าวไทยรวมกันเพียง 687,172 ตัน กลายเป็นคำถามตัวใหญ่ หรือ Big Question ข้าว G to G

ที่อ้างว่าส่งออกไปยังรัฐบาลประเทศผู้ซื้อไปแล้ว เป็นจำนวน 1.46 ล้านตันนั้นหายไปไหน ? ที่สำคัญก็คือในรายงานฉบับเดียวกันนี้ยังระบุด้วยว่า ประเทศผู้ซื้อข้าวไทยอย่างไนจีเรีย

ส่วนใหญ่ซื้อข้าวนึ่ง อิรัก-อินโดนีเซียซื้อข้าวขาว และโกตดิวัวร์ซื้อปลายข้าวหอมมะลิ ขณะที่การส่งออกข้าว G to G ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาวหรือข้าว G to G ที่อ้างว่าขายไปแล้ว แท้ที่จริงถูก "เวียนเทียน"

อยู่ภายในประเทศ ส่วนหนึ่งขายเอากำไรส่วนต่าง อีกส่วนหนึ่งรอสวมสิทธิ์เข้าโครงการใหม่

ขณะที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาชี้แจงกรณีนี้เพียงว่า "มีการส่งออกข้าวจำนวน 1.46 ล้านตัน ไปยัง 4 ประเทศตามที่เคยแถลงไว้ และไม่เหลือข้าวเวียนเทียนเข้าโครงการใหม่ อยากถามว่าข้อมูลสถิติ (ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย) มาจากไหน อย่าจินตนาการไปเอง"

กลายมาเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยวิจารณญาณของสาธารณชน จะเชื่อคำพูดของนายบุญทรง หรือเชื่อตามจินตนาการของสมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ เมื่อประมวล "ข้อเท็จจริง" ที่ปรากฏอยู่ทั้งหมด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขปริศนา ขายข้าว G to G ข้าว ไปที่ไหน ปริมาณเท่าใด ใครส่งออก

view