สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอ วิจัยชี้ตัวสำเร็จอาเซียน ติงบีโอไอจำกัดลงทุนปรับภาษี-บริการ-แรงงาน

จากประชาชาติธุรกิจ

"ทีดีอาร์ไอ" ทำวิจัย "ตัวชี้วัดความสำเร็จของประชาคมอาเซียน" รอบด้านชี้ว่า 50% ของผู้ถูกสำรวจเห็นว่าระบบภาษีอากรนำเข้าและส่งออกยังไม่สะดวกและรวดเร็วเพียงพอ, ภาคบริการยังจำกัด, รัฐต้องสนับสนุนเปิดเสรีแรงงานให้ชัด เอกชนระบุ "บีโอไอ" ยังมีข้อจำกัดในการส่งเสริมการลงทุน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้วิจัยถึง "ตัวชี้วัดความสำเร็จของประชาคมอาเซียน" ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่มุ่งไปเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดด้านการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือระหว่างกันอย่างเสรี

ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอสำรวจและเก็บข้อมูลจากบริษัทเอกชน 30 แห่ง โดยให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ภาคเอกชนให้ความสนใจในการสร้างตลาดและฐานผลิตร่วมกันในอาเซียน

การสำรวจพบว่า ความสำคัญของเออีซีอยู่ที่การบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จภายในปี 2558 โดยภาคเอกชนราว 40-50% แสดงความคิดเห็นว่า ระบบภาษีอากรนำเข้าและส่งออกยังไม่สะดวกและรวดเร็วเพียงพอ ต้องพัฒนากระบวนการนำ เข้าสินค้า และจัดการภาษีนำเข้าให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส, พัฒนาระบบจัดเก็บภาษีอากรให้รวดเร็วมากขึ้น, ประสานงานเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างองค์กรในการออกสิทธิบัตรต่าง ๆ และการจัดทำให้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) มีความยืดหยุ่นและง่ายขึ้นต่อการทำธุรกิจ

สำหรับตัวชี้วัดในการอำนวยความสะดวกในการลงทุน ผลวิจัยระบุว่า บีโอไอยังมีข้อจำกัดในการส่งเสริมการลงทุนมุมมองภาคเอกชนเห็นว่า บีโอไอควรพัฒนาและส่งเสริมความรู้ทางธุรกิจเชิงลึก รวมถึงพัฒนางานวิจัยภายในองค์กร พร้อมเสนอแนะให้บีโอไอศึกษาช่องว่างของภาคธุรกิจภายในประเทศ และมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนที่เพิ่มมูลค่า สร้างการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนต่างชาติ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพการพัฒนาภายในประเทศงานวิจัยยังระบุตัวชี้วัดสำคัญอื่น ๆ ที่มีผลสำคัญต่อความสำเร็จของเออีซี ได้แก่ ตัวชี้วัดในภาคบริการ ซึ่งระบุว่าการเปิดเสรีภาคบริการต้องไม่มีข้อจำกัดในการจัดตั้งธุรกิจบริการในอาเซียน โดยทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ

งานวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า ธุรกิจภาคบริการในแถบประเทศอาเซียนยังถูกควบคุมโดยกฎหมายภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถบรรลุเป้าหมายของการเปิดเสรีภาคบริการได้

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจในการเปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเงินทุน นอกจากนี้ รัฐยังต้องพิจารณากฎหมายและข้อจำกัดภายในประเทศ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดเสรีภาคบริการอีกด้วย

ด้านตัวชี้วัดในข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement : MRA) ในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ที่ได้ลงนามใน MRA 7 สาขา ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ และนักบัญชีผลวิจัยระบุว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในการสนับสนุนนักวิชาชีพ โดยมีการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนและส่งเสริมในการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี และส่งเสริมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียนให้เป็นวาระแห่งชาติ

ในประเด็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งอาเซียนมีเป้าหมายในการพัฒนา 1) ระบบอำนวยการส่งสินค้าระดับชาติ หรือ National Single Window : NSW และ 2) ระบบอำนวยการส่งสินค้าอาเซียน หรือ ASEAN Single Window : ASW โดยมีกลยุทธ์ 5 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่

1.พัฒนาการจัดการระบบข้อมูลการนำเข้า/ส่งออก แบบ E-logistics และ NSW เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ 2.พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและพิธีศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น 3.สร้างศูนย์กระจายสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ 4.สนับสนุนและเสริมสร้างธุรกิจ E-commerce เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ รวมถึงพัฒนากฎหมายธุรกิจ E-commerce 5.เสริมสร้างประสิทธิภาพในการตรวจสอบสินค้าให้มีมาตรฐาน เพื่อลดเวลาและความซับซ้อนในการดำเนินงาน

จากการสำรวจ ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่า ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะพิธีศุลกากรเพื่อนำสินค้าเข้า

"สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือแต่งตั้งกรมศุลกากรให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินนโยบาย National Single Window เพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวจะสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง รัฐบาลควรจัดให้มีการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้าน IT แก่บุคลากรในองค์กรที่ต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน" ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอระบุ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทีดีอาร์ไอ ตัวสำเร็จ อาเซียน บีโอไอ จำกัดลงทุน ปรับภาษี บริการ แรงงาน

view