สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แกะรอยจินตนาการ ของ รมต.บุญทรง สยามอินดิก้า พัน ข้าว G to G

จากประชาชาติธุรกิจ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจากคำอภิปรายของน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กับนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา กล่าวหามีการอุปโลกน์บริษัทจีน ชื่อว่า GSSSG IMP AND EXP.CORP ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การกีฬา ตั้งอยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G กับรัฐบาลไทยขั้นตอนการซื้อข้าวที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อ้างว่าเป็นการขายข้าวแบบ G to G จำนวน 7.328 ล้านตัน (จำนวน 6 สัญญา) ซึ่งมีรัฐบาลจีน เป็น 1 ในประเทศที่ซื้อข้าวไทย (ไม่ยอมระบุปริมาณที่ขายให้จีน แต่ยอมรับว่าข้าวจำนวน 7.328 ล้านตันนั้น รัฐบาลไทยขายให้กับรัฐบาลจีนมากที่สุด)



จากการตรวจสอบของ ส.ส.วรงค์พบว่า บริษัท GSSSG IMP ไม่ได้ส่งคนเข้ามาทำสัญญาซื้อขายโดยตรง แต่ใช้วิธี "มอบอำนาจ" ให้กับนายหน้าชาวไทย (นายหรั่ง-นายโจ) เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G กับกรมการค้าต่างประเทศโดยการทำสัญญาดังกล่าวได้จ่ายเงินเป็น "เช็คค่าข้าว" ให้กับกรมการค้าต่างประเทศ (คต.-หน่วยงานราชการ) แทนที่จะจ่ายเงินให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.-รัฐวิสาหกิจของกระทรวงพาณิชย์) เหมือนกับที่ดำเนินการมาในอดีต เท่ากับว่า คนรับเงินค่าข้าวเป็นกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ใช่องค์การคลังสินค้า หรือเงินไม่ผ่านมือ อคส.

ไม่มีใครรู้ว่ากรมการค้าต่างประเทศ รับเช็คค่าข้าวจากนายหน้า ของ GSSSG IMP เท่าใด แต่มีเงินเข้ามาในบัญชีของกรมการค้าต่างประเทศแน่ ตรงนี้จึงเป็นต้นเหตุของการให้สัมภาษณ์ของนายบุญทรง กับโฆษกข้าว ที่ได้รับการแต่งตั้ง (นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ) ที่ว่า "มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวจริง เพราะ คต.เป็นคนรับเช็ค"

ขั้นตอนต่อไป กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะคู่สัญญา จะออก ใบส่งสินค้า หรือใบ D/O แต่แทนที่ในใบ D/O จะระบุชื่อ บุคคล/บริษัท ที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อข้าว กลับระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าเป็น "กรมการค้าต่างประเทศ" บอกปริมาณข้าว ชื่อคลังสินค้าของ อคส.ที่จะไปรับข้าว แต่ไม่ยอมระบุราคาขายข้าว โดยด้านล่างของใบ D/O จะระบุชื่อบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับข้าวแทนเท่าที่ผ่านมามีการระบุชื่อ บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับมอบข้าวที่คลังสินค้าอคส.อยู่ 3 คน ทั้งหมดนี้กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงว่า เป็นการขายข้าว G to G แบบ X-warehouse หรือภาระของผู้ขายสิ้นสุดลง ณ หน้าคลังสินค้า ส่วนผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มารับมอบข้าว หรือใครจะเอาข้าวไปปรับปรุง รวมทั้ง ข้าวจำนวนนี้จะเดินทางไปที่ไหน "ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ขายที่จะเข้าไปตรวจสอบ"

แต่ที่สำคัญก็คือ บุคคลที่ น.พ.วรงค์ระบุ เป็นตัวแทนบริษัท GSSSG IMP ที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าว ผู้รับมอบข้าว ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยสถานะปัจจุบันของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ถูกธนาคารเจ้าหนี้มากกว่า 10 แห่ง รวมไปถึงองค์การคลังสินค้า ฟ้องล้มละลายจากการผิดนัดชำระหนี้ (เป็นผลมาจากความอื้อฉาวของบริษัทที่ชนะประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว และมีพฤติกรรมนำข้าวมาเวียนขายต่อให้กับผู้ส่งออกภายในประเทศ ประกอบกับข้าวบางส่วนก็ผิดนัดรับมอบข้าวกับ อคส. กลายเป็นสาเหตุที่ต้องตั้งบริษัทสยามอินดิก้า เป็นหน้าฉากขึ้นมาประกอบธุรกิจค้าข้าวต่อไป)

ข้อสงสัยจากกระบวนการขายข้าวแบบ X-warehouse ของกรมการค้าต่างประเทศ ก็คือทำไมต้องเลือกวิธีการขายข้าวแบบนี้ ทำไมเงินค่าข้าวต้องใช้วิธี "ตีเช็ค" เข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ แทนที่จะเปิด L/C หรือ Letter of Credit ในรูปแบบการค้าปกติที่ทุกคนทำกันอยู่ ทำไมกรมการค้าต่างประเทศไม่เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลประเทศนั้น ๆ เอง ทำไม

ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของการทำสัญญาซื้อขายข้าวที่อ้างว่า เป็นสัญญาแบบ G to G ได้ และข้าวที่รับมอบ ณ หน้าคลังถูกส่งไปที่ไหน กับคำกล่าวที่ว่า "เราได้เงินมาแล้วก็จบเรื่อง" กับไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของสัญญา เพราะเป็นความลับของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะตอบข้อสงสัยเหล่านี้

จนกลายเป็นความสงสัยของสาธารณชนที่เชื่อว่า "บริษัทสยามอินดิก้า" น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการขายข้าวแบบ G to G ครั้งนี้ จากเหตุผลที่ว่า 1)ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ในอดีต/ปัจจุบัน ล้วนเข้ามาพัวพันกับการทำสัญญา-การรับมอบข้าว 2)ข้าวที่รับมอบมาไม่ได้ถูกส่งออกไปนอกประเทศ จากการตรวจสอบตัวเลขส่งออกข้าวไปจีน ล่าสุดในช่วงระหว่างการทำสัญญาขายข้าว G to G (สิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55) ไม่พบการส่งออกข้าวปริมาณใกล้เคียงกับที่ถูกระบุว่า รัฐบาลจีนซื้อ (5 ล้านตัน)

ข้อแก้ตัวของกรมการค้าต่างประเทศ ก็ยังคงเป็นแบบเดิม ๆ ที่บอกว่า การส่งออกข้าว G to G ไม่ปรากฏอยู่ในสถิติการส่งออกข้าวของรัฐบาล เพราะรัฐบาลประเทศผู้ซื้อรับมอบข้าว ณ หน้าคลัง (X-warehouse) จะตั้งบริษัทใดหรือบุคคลใดมารับมอบข้าวก็ได้ ส่วนที่ตัวเลขการส่งออกข้าวไปจีนมีปริมาณน้อยผิดปกติจากการทำสัญญาซื้อขายข้าวปริมาณมาก ก็เป็นเพราะรัฐบาลประเทศผู้ซื้ออาจจะนำข้าวนั้นไปบริจาคหรือขายต่อก็ได้กลายเป็นคำพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องทั้งในและนอกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ได้ยืนยันที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป ด้วยการนำข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการอภิปรายส่งให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบประเด็น เส้นทางของเงินค่าข้าวที่เข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศแล้ว "ไปที่ไหน"

ในประเด็นนี้พบว่า เงินค่าข้าวถูกเบิกจ่ายผ่านบัญชีในธนาคารใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย โดย น.พ.วรงค์กล่าวในระหว่างการอภิปรายว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน-15 ตุลาคม (ช่วงขายข้าว G to G) ปรากฏการถอนเงินในหลายลักษณะทั้งแคชเชียร์เช็คและการโอนเงิน อาทิ การโอนเงิน 72 รายการ มูลค่า 4,960 ล้านบาท หรือการถอนเงินมูลค่า 4,200 ล้านบาท

เส้นทางการเดินทางของเงินค่าข้าวจึงน่าสนใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้การแกะรอยของ ป.ป.ช. กับ ปปง. เข้ามาช่วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องการทุจริตในกระบวนการรับจำนำข้าวเข้ามาดำเนินการแล้ว ท่ามกลางความระทึกของผู้เกี่ยวข้องว่า งานนี้จะเป็นเพียงแค่ "จินตนาการ" หรือ "ของจริง" ที่พุ่งตรงสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แกะรอยจินตนาการ รมต.บุญทรง สยามอินดิก้า ข้าว G to G

view