สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หลักฐานชัด ก.ต่างประเทศ เด็กเลี้ยงแกะ ขวาง 3 ภาคส่วน-อุ้มอธิการบดี AIT อยู่ต่อ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

      กลายเป็นศึกโอละพ่อ แม้ 3 ภาคส่วนใน AIT “คณาจารย์-นศ.-ศิษย์เก่า” ลงมติไล่อธิการบดีออก เร่งแก้ปัญหาวิกฤต AIT โดยเฉพาะปัญหา ก.พ.ไม่รับรองปริญญาบัตร และปัญหาวิกฤตงบการเงิน แต่กระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นผู้ดูแลกลับพลิกลิ้น จากยืนยันให้ AIT ใช้กฎบัตรเก่าแก้ปัญหา กลับมาช่วยล็อบบี้บอร์ดสภามหาวิทยาลัยรายตัว เพื่ออุ้มอธิการบดีผ่านการประชุมบอร์ดสภามหาวิทยาลัย 12 ธ.ค.นี้ นศ.-อาจารย์เตรียมเคลื่อนขบวนค้าน “บัวแก้ว” ศุกร์นี้!
       
       หลังจากมีการเดินขบวนและยื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศของบรรดา นักศึกษา AIT (Asian Institute of Technology) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เพื่อขอให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใน AIT โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวกับการที่ปริญญาบัตรของนักศึกษา AIT ไม่ได้รับการรับรองจาก ก.พ.
       
       อันเนื่องมาจาก AIT มีจุดกำเนิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ (SEATO) ดังนั้น ในการบริหาร AIT จึงต้องอยู่ภายใต้กฎบัตรที่ลงนามรับรองของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาก็บริหารงานดีมาตลอด
       
       แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับพบว่าผู้บริหาร AIT ได้จัดประชุมประเทศสมาชิกเพื่อให้มีการใช้กฎบัตรใหม่ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งของ AIT และเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณบริหารหลักของ AIT มาโดยตลอด ไม่ได้ร่วมลงนามในกฎบัตรใหม่ในนาม AIT-IO ทำให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนภายใต้กฎบัตรเก่า แต่จบการศึกษาในช่วงนี้ได้แก่ในช่วงเดือนมิถุนายน และธันวาคมจำนวนหลายร้อยคน จะได้รับปริญญาบัตรภายใต้กฎบัตรใหม่
       
       ซึ่ง ก.พ.ไม่รับรอง!
       
       เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ลงนามในกฎบัตรใหม่ จึงทำให้ AIT-IO อยู่ในสถานะผิดกฎหมายไทย และทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ของไทยไม่รับรองปริญญาบัตรใหม่ จึงทำให้ผู้เรียน AIT โดยเฉพาะนักเรียนไทย และข้าราชการที่ได้ทุนมาเรียนนั้นมีปัญหาในการนำปริญญาบัตรไปใช้สมัครงาน หรือนำไปปรับวุฒิการศึกษา
       
       นอกจากนี้ที่ผ่านมา กลุ่มคณาจารย์และนิสิตสถาบันกลุ่มหนึ่งได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการ บริหารงานของนายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) อธิการบดี AIT อย่างหนัก ด้วยข้อสงสัยว่า นายซาอิด อีรานดุส กำลังบริหารงาน AIT โดยมีเป้าหมายเปลี่ยน AIT ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่กลับพบมีท่าทีที่จะเปิดโอกาสให้ ลอรีเอท เอดูเคชั่น (Laureate Education) และลอรีเอท อินเตอร์เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ (Laureate International University) แห่งสหรัฐอเมริกาเข้ามาบริหารงาน ซึ่งจะทำให้สถานะของ AIT เปลี่ยนไปสู่องค์กรแสวงหากำไรจากระบบการศึกษาเกิดขึ้นได้
       
       การเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาและคณาจารย์นั้น เริ่มตั้งแต่การยื่นหนังสือถึงสภาอาจารย์เพื่อให้แก้ปัญหาปริญญาบัตร และการบริหารงานภายใน AIT ซึ่งเกี่ยวกับสถานะทางการเงินที่มีการบริหารงานจนเงิน AIT หมด กระทั่งเดือนมกราคม 2556 เชื่อว่า AIT จะเหลืองบประมาณบริหารเพียงแค่ 32 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่พอแม้กระทั่งเงินเดือนอาจารย์และเจ้าหน้าที่ รวมถึงได้มีการเข้าร้องเรียนกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดูแล AIT ตามกฎหมายไทย เพื่อให้แก้ปัญหาที่ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกฤษฎีกาเคยลงความเห็นแล้วว่า AIT จะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการจัดประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ชุดนายเตช บุนนาค เป็นประธาน
       
       “ศิษย์เก่า-คณาจารย์-นศ.” ลงมติขับไล่อธิการ
       
       “หลังจากนักศึกษาและคณาจารย์ได้ตื่นตัวเรื่องนี้อย่างหนัก และพยายามหาทางออกร่วมกัน ณ ขณะนี้จึงถือว่าภายใน AIT มีข้อเรียกร้องที่ตรงกัน โดยให้ นายซาอิด อีรานดุส อธิการบดีออกจากตำแหน่งบริหารโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหา AIT โดยเร็วที่สุด” แหล่งข่าวใน AIT เปิดเผย
       
       ล่าสุดในช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงมีความเคลื่อนไหวของคน 3 ภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ AIT คือสมาคมศิษย์เก่า AIT ทั่วโลก, สภาคณาจารย์ และศิษย์ปัจจุบัน ได้มีมติชัดเจนให้เปลี่ยนทีมผู้บริหาร AIT ยกชุด และกลับมาใช้กฎบัตรเก่าโดยเร็วที่สุด
       
       โดยภาคส่วนแรกคือ สมาคมศิษย์เก่า AIT ได้มีการจัดประชุมใหญ่ประจำปีที่อินเดีย โดยมีสมาคมศิษย์เก่า AIT 12 แห่งจากทั่วโลกเข้าร่วม และมีมติออกมาเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 55 ว่า สมาคมศิษย์เก่า AIT ทั่วประเทศเคารพกฎหมายไทยซึ่งเป็นประเทศเจ้าบ้านของ AIT (host country) และสนับสนุนให้ผู้บริหาร AIT กลับไปใช้กฎบัตรเก่าเพื่อแก้ปัญหา AIT ให้เป็นไปตามกฎหมายไทย
       
       “memo ในการประชุม ระบุชัดเลยว่าทีมบริหาร AIT จะต้องเปลี่ยนยกชุด เพราะนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายและปัญหาทางการเงินของ AIT เพื่อแก้ปัญหาด้านธรรมาภิบาลโดยด่วน”
       
       ขณะที่สภาคณาจารย์มีการประชุมในวันที่ 28 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา โดยมีการถกเถียงปัญหาภายใน AIT โดยเฉพาะปัญหาปริญญาบัตรของนักศึกษา และปัญหาการเงินของ AIT รวมถึงปัญหาที่เพิ่งเกิดล่าสุดเกี่ยวเนื่องคือ เมื่อ AIT ยืนยันที่จะใช้กฎบัตรใหม่จึงถือว่าเจ้าหน้าที่และคณาจารย์ใน AIT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศนั้น จะถูกถอน F-Visa ที่คุ้มครองเฉพาะบุคลากรในกฎบัตรเก่าเท่านั้น และกระทรวงแรงงานของไทยเริ่มส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในจุดนี้แล้ว เพื่อดูถึง work permit ดังกล่าว หากยังไม่มีการกลับมาใช้กฎบัตรเก่า คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ชาวต่างประเทศจะมีสถานะไม่ต่างจากแรงงานอพยพเท่านั้น
       
       ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ถือว่า AIT กำลังอยู่ในสภาวะ “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก”!

      เมื่อการหารืออย่างเคร่งเครียดได้จบสิ้น ทางสภาคณาจารย์มีมติ 33 ใน 37 เสียง เสนอทางออก 3 ประการดังนี้
       
       1. สภาคณาจารย์ไม่ไว้วางใจความสามารถในการบริหารงานของอธิการบดีคนปัจจุบัน คือนายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) ว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้ AIT ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้
       
       2. สภาคณาจารย์เห็นว่าการประชุมของสภามหาวิทยาลัย AIT ชุดนายเตช บุนนาค ที่ประกาศสลายตัวไปแล้วนั้น จะเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาทางกฎหมาย และการแก้ปัญหาใน AIT ในช่วงของการรอลงสัตยาบรรณใหม่ดีที่สุด ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มีการจัดประชุมสภามหาวิทยาลัยชุดนี้
       
       3. สภาคณาจารย์ได้เรียกร้องให้ นายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) อธิการบดี AIT คนปัจจุบันลาออกจากการเป็น อธิการบดี เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทางกฎหมายและสัมพันธภาพอันดีของ AIT กับรัฐบาลไทยเหมือนเดิม
       
       ทันทีที่สภาคณาจารย์ได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อนายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) อธิการบดี ทางฝ่ายนักศึกษาปัจจุบันได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 55 โดยมีมติสนับสนุนมติของที่ประชุมสภาคณาจารย์เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 55 ทั้ง 3 ข้อเรียกร้องทันที โดยมีการลงนามจากประธานนักศึกษาของแต่ละประเทศทั้งหมด 8 ประเทศ จาก 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว บังกลาเทศ ศรีลังกา และพม่า ซึ่งรวมแล้วมีนักศึกษาประมาณ 80% ใน AIT ขณะนี้
       
       “ตอนนี้ถือว่า 3 ภาคส่วนมีความเห็นตรงกันหมดให้อธิการบดีลาออก และให้มีการจัดประชุมสภามหาวิทยาลัยชุดเก่าเพื่อแก้ปัญหาใน AIT โดยด่วน”
       
       “Ohgaki” ออกโรงช่วยประชาคม AIT
       
       เนื่องจากได้มีการร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนในการจัด ประชุมสภามหาวิทยาลัยชุดเก่า หรือ Board of Trustees ซึ่งประกอบด้วยทูตหลายประเทศที่หลายคนได้กลับไปประเทศตนเองแล้วให้กลับมา ประชุม แต่กระทั่งปัจจุบันทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทางคณาจารย์ AIT เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนจึงได้มีการติดต่อกับรองประธานคณะกรรมการสภา มหาวิทยาลัย AIT ชุดเก่าคือ ศาสตราจารย์ Shinichiro Ohgaki ให้มาเป็นประธานในการประชุม ซึ่งศาสตราจารย์ Shinichiro Ohgaki ได้ให้การตอบรับที่จะมาจัดประชุมในวันที่ 12 ธันวาคม 55 นี้
       
       โดยมีวาระการประชุม 7 ข้อ ประกอบด้วย
       
       1.เปิดการประชุม
       
       2.ยืนยันผลการประชุมครั้งล่าสุด ในวันที่ 25 มกราคม 2555 ซึ่งได้ประกาศยุบ Board of trustees ชุดที่มีคุณเตช บุนนาค เป็นประธาน
       
       3. ยืนยันการกลับมาของ Board of trustees ซึ่งมีคุณเตช บุนนาค เป็นประธานบอร์ด ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงการต่างประเทศ
       
       4. อนุมัติใบปริญญาบัตรของทั้ง 3 รุ่น คือ นักศึกษาที่รับปริญญาบัตรในวันที่ 1 มิถุนายน, 6 สิงหาคม และ 18 ธันวาคม 2555
       
       5. รายงานเกี่ยวกับวิกฤตทางการเงินของ AIT และการอนุมัติงบประมาณของ AIT ประจำปีหน้า (พ.ศ. 2556) และการอนุมัติงบประมาณ เพราะมีเพียง Board of trustees เท่านั้นที่อนุมัติได้
       
       6. ตั้งคณะกรรมการเลือกอธิการบดีคนใหม่
       
       7. แต่งตั้งประธาน Board of trustees คนใหม่
       
       8. วาระอื่นๆ

การลงนามของตัวแทนนักเรียน 8 ประเทศเพื่อสนับสนุนมติสภาอาจารย์ 3 ข้อ

โดยเฉพาะการเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก

      อธิการขู่-ฉีกสัญญาไล่อาจารย์ออก
       
       อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวของภาคส่วนใน AIT เพื่อเรียกร้องให้อธิการบดีออกจากตำแหน่ง กลับปรากฏว่า นายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) อธิการบดีคนปัจจุบันได้ให้เลขานุการส่วนตัวส่งจดหมายขู่ถึงอดีตประธานนัก ศึกษาคือ นายภวัต ตรัยพัฒนากุล, ดร.นพดล เพียรเวช ที่ทั้งสองคนได้มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีปัญหาภายใน AIT โดยระบุว่าทั้งสองคนมีหน้าที่ที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับด้านการศึกษาเท่า นั้น ไม่มีสิทธิพูดถึงปัญหาภายใน AIT
       
       อีกทั้งยังมีการทำจดหมายเพื่อยกเลิกการต่อสัญญาให้กับ ดร.Jayant K. Routray ประธานสภาคณาจารย์ เนื่องจากปล่อยให้มีการประชุมของสภาคณาจารย์และมีการลงมติ 3 ข้อเพื่อขับไล่อธิการบดีดังกล่าว
       
       “ตอนแรกได้มีการต่อสัญญาให้ ดร.Jayant K. Routray ไปอีก 4 ปี จนท่านเกษียณในปี 2559 โดยตอนต่อสัญญาบอกว่า ดร.Jayant มีผลงานมากมาย ซึ่งการต่อสัญญานั้นเสร็จสิ้นไปแล้วก่อนการประชุมคณาจารย์เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่มีการประชุมสภาคณาจารย์ แต่อธิการบดีกลับฉีกสัญญานั้นทิ้ง และไล่ ดร.Jayant ออก โดยอำนาจที่มิชอบ”
       
       นอกจากนี้ เมื่อนายซาอิด อีรานดุส อธิการบดีทราบเรื่องที่จะมีการจัดประชุมโดยศาสตราจารย์ Shinichiro Ohgaki ก็ได้มีการเคลื่อนไหวผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ว่ากันว่าผ่านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้การประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ มีแค่ 2 วาระเท่านั้น คือ วาระแก้ปัญหาปริญญาบัตรให้นักศึกษา AIT และวาระการของบประมาณจากรัฐบาลไทยมาบริหาร AIT เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 5 วาระให้ยกเลิก โดยเฉพาะวาระที่เกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี และคณะผู้บริหารชุดใหม่จะให้มีการประชุมเกิดขึ้นไม่ได้
       
       “สิ่งที่คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่ากำลังสงสัยคือ ทำไมกระทรวงการต่างประเทศ ที่เคยทำจดหมายยืนยันกับ AIT ถึง 2 ครั้งคือในวันที่ 2 พ.ย. 55 และ 13 พ.ย. 55 ว่า AIT กำลังผิดกฎหมายไทย และให้ AIT แก้ปัญหาโดยใช้กฎบัตรเก่า ตามความเห็นของกฤษฎีกาที่มีความเห็นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 55 ก็ชัดเจนว่า AIT จะต้องบริหารงานโดยใช้กฎบัตรเก่าเพื่อแก้ปัญหาก่อน กลับพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และมีท่าทีช่วยเหลือ

จม.จากกระทรวงต่างประเทศถึง AIT เมื่อวันที่ 2 พ.ค.55

ยืนยันว่า AIT จะต้องใช้กฎบัตรเก่าก่อน

       อย่างไรก็ดี ทันทีที่คณาจารย์ และนักศึกษา ทราบเรื่องจากบันทึกที่นายซาอิด อีรานดุส ส่งไปยังคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าร่วมประชุมในวัน ที่ 12 ธ.ค.นี้นั้น ทำให้คณาจารย์ และนักศึกษารู้สึกคับข้องใจ และกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในกลุ่มประชาคม AIT ว่าเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศจึงไม่ยืนหยัดในจดหมายราชการที่ออกโดยกระทรวง การต่างประเทศเอง พร้อมทั้งไม่ให้ความสนใจในข้อเรียกร้องของสภาคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของ AIT ที่เสนอทางออกของปัญหาร่วมกัน แต่กลับสนับสนุนให้นายซาอิด อีรานดุส อธิการบดี กระทำการให้มีการประชุมเพียง 2 ข้อเท่านั้น
       
       “การกระทำของกระทรวงการต่างประเทศก็เท่ากับอุ้ม อีรานดุส อธิการบดีคนนี้ให้อยู่ต่อไป ทั้งที่คนใน AIT ทุกกลุ่มไม่ต้องการ เพราะเขาเป็นผู้ที่สร้างปัญหาให้กับ AIT มากที่สุด ที่สำคัญเขาไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายไทยทั้งที่เงินสนับสนุนสถาบันก็เป็น เงินของประเทศไทย” แหล่งข่าวจาก AIT ระบุ

จม.จากกระทรวงต่างประเทศถึง AIT เมื่อวันที่ 2 พ.ค.55

ยืนยันว่า AIT จะต้องใช้กฎบัตรเก่าก่อน

จม.จากกระทรวงต่างประเทศถึง AIT เมื่อวันที่ 13 ก.ย.55

ยืนยันว่า AIT จะต้องใช้กฎบัตรเก่าก่อน

      7 ธ.ค.อาจารย์-นศ.เคลื่อนค้านบัวแก้วอุ้มอธิการ
       แหล่งข่าวระบุว่า วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคมนี้ นักศึกษา AIT และคณาจารย์ จะเดินทางไปกระทรวงการต่างประเทศเพื่อทวงถามปัญหาดังกล่าว เพราะหวั่นว่าหากปล่อยให้อธิการบดีนำชื่อกระทรวงการต่างประเทศไปอ้างในการทำ จดหมายถึงคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพื่อล็อบบี้ให้มีวาระการประชุมเพียงแค่ 2 วาระการประชุม และตัดวาระการพิจารณาการสรรหาอธิการบดีออกไปนั้น ทั้งๆ ที่ 3 ภาคส่วนใน AIT ยืนยันว่านายซาอิด อีรานดุส (Sahid Irandoust) มีปัญหาในการบริหารงาน AIT โดยเฉพาะปัญหาด้านการเงิน และจะต้องออกจากตำแหน่งอธิการบดีโดยด่วน
       
       “เป็นที่ร่ำลือกันมากว่านายซาอิด อีรานดุส เคยแม้กระทั่งยืมเงิน AIT ไปปลูกบ้านพักส่วนตัวที่ประเทศสวีเดน หรือใช้เครดิตการ์ดของ AIT ในเรื่องส่วนตัวมาก่อนหน้า ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง”
       
       ปัจจุบันถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องรีบทบทวนท่าที และเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงปัญหาต่างๆ ภายใน AIT ทั้งในเรื่องข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน-บริหารเงิน AIT ของอธิการบดี AIT คนปัจจุบัน หรือการใช้อำนาจไล่อาจารย์ออกโดยมิชอบ และเบื้องหลังสัมพันธ์กับกลุ่มลอรีเอท กลุ่มธุรกิจการศึกษายักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่มีข่าวลือหนาหูมากว่า อธิการบดีคนนี้รับเงินเดือนกลุ่มลอรีเอทเรียบร้อยแล้ว
       
       แต่กระทรวงการต่างประเทศ กลับยังมีท่าทีช่วยอธิการบดีคนนี้ด้วยการไปลอบบี้คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คนอื่นๆ เพื่อเอาตัวรอดในการประชุมสภามหาวิทยาลัย 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะทำให้อธิการบดีคนนี้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีกนาน
       
       ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศจึงเป็นหน่วยงานเดียวที่จะจัดการแก้ไข วิกฤตของสถาบัน AIT ได้ หรือกระทรวงการต่างประเทศจะปล่อยให้ 'AIT ประเทศไทย' ล่มสลายในยุครัฐบาลที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้ประวัติศาสตร์จารึกไว้ ?!!

จม.จากกระทรวงต่างประเทศถึง AIT เมื่อวันที่ 13 ก.ย.55

ยืนยันว่า AIT จะต้องใช้กฎบัตรเก่าก่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หลักฐานชัด ก.ต่างประเทศ เด็กเลี้ยงแกะ ภาคส่วน อธิการบดี AIT

view