สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เดินหน้าเอฟทีไอ ไทย-อียู ภารกิจที่ไม่หวานหมู

จาก โพสต์ทูเดย์

เดินหน้าเอฟทีไอ "ไทย-อียู" ภารกิจที่ไม่หวานหมู

ในห้วงเวลาอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะประกาศการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทยสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ

โดย...จตุพล สันตะกิจ

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทยอียู เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสาม

ในการนี้ ครม.มีมติแต่งตั้ง โอฬารไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทยอียู ฝ่ายไทยถือเป็นเรื่องชวนติดตามอย่างยิ่ง

เนื่องเพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการระดมสมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากไทยจะทำเอฟทีเอกับอียูมาแล้วไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง แต่ก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะระหว่างผลประโยชน์ทางการค้ากับปัญหาคุณภาพชีวิตนั้นแตกต่างกันสุดขั้ว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อน หรือปี 2551 ไทยได้ “แท็กทีม” กับกลุ่มประเทศอาเซียน เปิดการเจรจาความตกลงเอฟทีเอ “อาเซียนอียู” แต่การเจรจาล้มลงไม่เป็นท่าในปี 2552 เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นไม่ตรงกัน ทั้งอาเซียนอียู ในการเปิดตลาดสินค้า และความเห็นที่ไม่ตรงกันในกลุ่มอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน

อียู ซึ่งมองตลาดอาเซียนว่าเป็นตลาดที่กำลังทวีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก ณ เวลานั้น จึงหันมาเปิดเจรจาทวิภาคีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

โดยเฉพาะการเจรจาเอฟทีเอระหว่างอียูกับสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ใกล้บรรลุข้อตกลงเต็มทีแล้ว นั่นทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจกระโจนเข้าสู่การเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียู

เพราะหากไทยตกขบวนรถไฟเที่ยวนี้ อาจส่งผล กระทบต่อการค้าและการลงทุนของไทยได้

กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่า ไทยต้องทำข้อตกลงเอฟทีเอกับอียู เพราะในปี 2558 สินค้าที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากอียู เช่น รถยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลสดและแช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง และยางรถยนต์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 2.97 แสนล้านบาท จะถูกตัดสิทธิจีเอสพีแทบทั้งหมด

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมส่งผลให้สินค้าไทยเหล่านี้แข่งขันยากขึ้น ไม่เฉพาะกับประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีต่อไป เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศอาณานิคมเดิมของอียู แต่ยังรวมถึงประเทศจีนที่วันนี้ส่งสินค้าออกไปยังอียูมากที่สุดในโลกและเป็น เจ้าตลาดสินค้าแทบทุกประเภท เพราะต้นทุนที่ถูกกว่า

ส่งผลให้สินค้าไทยเสียเปรียบในการส่งสินค้าไทยไปตลาดอียูทันที

ข้อดีอีกประการหนึ่งคือ การทำเอฟทีเอไทยอียู จะทำให้สินค้าไทยที่เสียภาษีสูงๆ เข้าสู่ตลาดยุโรปได้มากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาล ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

หากไม่เร่งดำเนินการ ผลที่ตามมาจะทำให้นักลงทุนอียูอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีข้อตกลงเขต การค้าเสรีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียความได้เปรียบในการเป็นฮับในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น การเปิดเขตการค้าเสรีไทยอียู จึงเป็นการดึงดูดและป้องกันไม่ให้นักลงทุนอียูย้ายฐานไปประเทศอื่นในอาเซียนที่มีข้อตกลงเอฟทีเอ

แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจอียูอยู่ในภาวะป่วยไข้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอียูจะป่วยไข้ไม่มีวันฟื้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเปิดฉากเจรจาเขตการค้าเสรีกับอียูที่มีขนาดเศรษฐกิจ 692 ล้านล้านบาท เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท และเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 มูลค่า 1 แสนล้านบาท ในปี 2554 เป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยง” ได้ยาก

เหมือนกับที่ไทยกำลังเข้าสู่การเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนเต็มตัวในปี 2558 พร้อมๆ กับการเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และล่าสุดผู้นำไทยประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทาง เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

และแน่นอนว่า การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีมีทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

หากโฟกัสไปที่ประเด็นที่สังคมไทยเป็นห่วงมากที่สุดในการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอไทยอียู เป็นเรื่องการ “ผูกพัน” เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าที่ตกลงไว้ในองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

โดยเฉพาะการผูกขาดสิทธิบัตรยาที่มีผลทำให้ราคายาแพง และข้อกำหนดที่ทำให้ไทยไม่สามารถใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จากอียูทะลักเข้ามาในไทยโดยไม่มี กำแพงภาษี และทำให้คนไทยบริโภคเหล้าและบุหรี่มากขึ้น

ด้านสาขาบริการก็น่าห่วงไม่แพ้กัน เพราะยุโรปมีศักยภาพและเทคโนโลยีที่สูงในสาขาบริการหลายสาขา เช่น การเงิน การธนาคาร ขนส่ง สื่อสาร โทรคมนาคม ฯลฯ

ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของไทยต่างก็ยอมรับว่ายังแข่งขันไม่ได้

มีเพียงผลิตภัณฑ์นม เยื่อกระดาษ และเครื่องสำอาง ที่ประกาศตัวพร้อมแข่งขัน

ประเด็นปัญหาเหล่านี้ ท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีความกังวลต่อการผูกขาดเรื่องยา การเปิดเสรีนำเข้าเหล้าและบุหรี่มากที่สุด เพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด และมีสิทธิทำให้การเจรจาเอฟทีเอไทยอียู ต้อง “ล้มทั้งกระดาน”

เป็นปรากฏการณ์เดียวกับการเจรจาเอฟทีเอไทยสหรัฐ ปี 2546 ที่ต้องล้มเลิกการเจรจา เพราะประเด็นการผูกขาดสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา

“เรื่องสิทธิบัตรยาและการเปิดให้นำเข้าแอลกอฮอล์ภาษี 0% ที่หลายฝ่ายกังวล ไทยจะไม่เปิดตลาดมากกว่าที่เป็นอยู่หรือเกินกว่าขอบเขตดับเบิลยูทีโอ แต่ไทยจะใช้สิ่งอื่นไปแลกเปลี่ยนแทนบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ให้คำมั่นในที่ประชุม ครม. และท่าทีที่ว่านี้จะเป็นสิ่งที่“ดร.โอฬาร” ต้องยึดเป็นเข็มทิศในการเจรจานอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ

ทว่าการที่ประเทศเศรษฐกิจระดับล่างที่กำลังไต่เพดานเข้าสู่ประเทศขนาด กลางเช่นไทย จะไปต่อรองกับกลุ่มประเทศอียูที่มีขนาดเศรษฐกิจแตกต่างกันหลายสิบเท่าและมี แต้มต่อที่ต่างกันมาก ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ไทยจะทำให้อียูยอมรับข้อเสนอที่ต้องการ

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะชี้ว่า ขณะนี้อียูและกลุ่มยูโรโซนกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะครั้งร้ายแรงที่สุดใน ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้อียูมองหาตลาดในเอเชีย อาเซียน และไทย เพื่อเปิดตลาดสินค้าในทุกสาขา ทำให้ไทยมีอำนาจเจรจาต่อรองมากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยไปลงทุนและค้าขายในยุโรปด้วยต้นทุนที่ต่ำและ ราคาถูก

แต่เหตุผลดังว่า อาจถูกต้องเพียงครึ่งเดียวก็ได้

เพราะวันนี้อียูใช้วิธีแยกเจรจากับอาเซียน 5 ประเทศ ไม่รวมไทย นั่นเท่ากับทำให้ทุกประเทศเร่งเจรจาเอฟทีเอกับอียูให้บรรลุผลโดยเร็ว เพราะกลัวตกขบวนเสียเปรียบประเทศอาเซียนอื่นๆ และการที่อียูต้องการเปิดตลาดเพื่อส่งสินค้ามาเอเชียและอาเซียนให้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าสาขาบริการที่อียูมีศักยภาพสูง ซึ่งจะดึงอียูให้พ้นหุบเหวหนี้สาธารณะ

อียูจึงพยายามเจรจาทุกวิถีทางที่จะเจาะเข้าไปในตลาดที่ตัวเองได้เปรียบสูง

ซึ่งได้แก่ การผูกขาดสิทธิบัตรยาเกินกว่าข้อตกลงดับเบิลยูทีโอ การเปิดเสรีสาขาภาคการเงิน การธนาคาร สื่อสาร และโทรคมนาคม โดยเฉพาะหากการเปิดเสรีภาคการเงิน ภาคธนาคาร เป็นไปแบบ “พรวดพราด” จะทำให้ระบบการเงินไทยสุ่มเสี่ยงและอยู่ในภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ

และอียูเองก็จะมีมาตรการกีดกันการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) เข้าปกป้องไม่ให้สินค้าจากไทยเข้าไปอียูได้โดยง่าย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งอียูเป็นกลุ่มประเทศที่มีการทุ่มงบประมาณอุดหนุนสินค้าเกษตรเป็นจำนวน มากกลุ่มหนึ่ง

นั่นทำให้สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ที่ไทยส่งออกไปอียูมีอุปสรรคและนำไปสู่ การกีดกันทางการค้า เช่น การใช้มาตรการด้านสุขอนามัยของอียูที่มีมาตรฐานสูงมาก การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การเปิดเอฟทีเอไทยอียู จะทำให้ภาษีสินค้าหลายประเภทเป็นศูนย์ เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร แต่มาตรฐานสินค้านำเข้าของอียูมีมาตรฐานสูงมาก การส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการรายเล็กไปยังอียูจึงทำได้ยาก จึงมีความจำเป็นต้องให้ทางอียูเข้ามาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการไทย

ภาพการเจรจาเอฟทีเอไทยอียู จึงแทบไม่ต่างจากการเจรจาเอฟทีเอไทยสหรัฐ เพราะรูปแบบสินค้าที่ไทยต้องการส่งออกไปสหรัฐและอียู คือ สินค้าเกษตรและอาหาร ขณะที่สหรัฐและอียูต้องการผูกขาดตลาดยา สิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้นขึ้น รวมทั้งเปิดเสรีภาคการเงินและธนาคาร

การเจรจาเอฟทีเอไทยอียู น่าจะยืดเยื้อไม่ต่างจากการเจรจาเอฟทีเอไทยสหรัฐ

เอฟทีเอไทยอียู แม้เป็นโอกาสที่ไทยต้องคว้าไว้ แต่การเจรจาต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง และสังคมต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้องยอมรับว่าการเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะ “รับรู้” เฉพาะระดับบนและธุรกิจใหญ่ในหัวเมืองเท่านั้น

ส่วนเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการต่างจังหวัดแทบไม่รู้เรื่อง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เดินหน้า เอฟทีไอ ไทย-อียู ภารกิจที่ไม่หวานหมู

view