สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2556 สงครามค่าเงินโลกปะทุหวั่นกีดกันการค้าลาม

จาก โพสต์ทูเดย์

นอกเหนือจากปัญหาซบเซาทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐ และยูโรโซน

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

จะเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจและต้องระมัดระวังไม่แพ้กันเลย นั่นคือ “สงครามค่าเงิน”ของประเทศต่างๆ ที่ส่อแววว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปี 2556 นี้

เพราะนับตั้งแต่บรรดาธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป และอังกฤษ ต่างออกมาตรการอัดฉีดเงินขนานใหญ่เข้าระบบ พร้อมกับตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ ที่ซบเซาหนัก ก็ได้ทำให้ค่าเงินหลายประเทศทั่วโลกแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกของหลายๆ ประเทศอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการปกป้องค่าเงินของตนเองออกมามากขึ้น ซึ่งทั้งหมดก็ทำไปเพื่อรักษาภาคการส่งออกของประเทศให้ยังคงสามารถแข่งขันใน ตลาดโลกได้อยู่

เห็นได้จากเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ได้ออกมาแสดงท่าทีอย่างแข็งกร้าวด้วยการกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เร่งทำให้ค่าเงินเยนของประเทศอ่อนค่าลงมา เพื่อตอบโต้ต่อการที่หลายประเทศได้ใช้มาตรการต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดการลดค่าเงินลง โดยเฉพาะจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบรรดาประเทศจากซีกโลกตะวันตก

ทั้งนี้ ผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่หวังว่าการลดค่าเงินดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยกอบกู้ภาคการ ส่งออกของประเทศที่กำลังประสบปัญหาขาดดุลอย่างหนัก ซึ่งล่าสุดยอดการขาดดุลการค้าได้ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 5 ติดต่อกันแล้วในปีนี้หลังจากที่ยอดตัวเลขในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาออกมาว่าขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 37.9% หรือที่ 6.91 แสนล้านเยน (ราว 3.39 แสนล้านบาท) ขณะที่เหล่าบริษัทเอกชนชั้นนำอย่าง ชาร์ป พานาโซนิค และโซนี่ ต่างต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนัก

“ธนาคารกลางทั่วโลกในหลายๆ ประเทศต่างพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากเพื่ออุ้มชูเศรษฐกิจและกอบกู้ภาคส่ง ออกของตนเอง ซึ่งการประกาศมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (คิวอี) ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คือตัวอย่างที่เห็นได้ที่สุด” อาเบะ กล่าวพร้อมกับย้ำว่า หากทุกอย่างยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ค่าเงินเยนของประเทศจะต้องแข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นญี่ปุ่นจำเป็นต้องออกมาตรการปกป้องตนเองบ้าง พร้อมเสนอว่าค่าเงินเยนควรจะลงไปอยู่ที่ 90 เยนต่อเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบันที่ 84.78 เยน เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก เมอร์วีน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางของอังกฤษ (บีโออี) ได้เตือนว่า ในปี 2556 จะเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก เพราะจะได้เห็นหลายๆ ประเทศพยายามกดค่าเงินในประเทศตนเองให้ต่ำลง เพื่อรักษาความได้เปรียบในด้านการส่งออกไว้ ซึ่งในท้ายที่สุดจะเป็นชนวนเหตุให้นำไปสู่การตอบโต้ และปัญหาสงครามค่าเงินตอบโต้กันตามมา

ทั้งนี้ แม้ว่าคำพูดของรัฐบาลญี่ปุ่นและผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษจะถูกจับตามองว่า เป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกชัดเจนว่า ขณะนี้สงครามค่าเงินระหว่างประเทศได้เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า แต่ในความเป็นจริงนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 หลายๆ ประเทศไล่เรียงไปตั้งแต่ สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ต่างได้หันมาใช้นโยบายปกป้องค่าเงินกันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว และเชื่อว่าอีกไม่นานทางฝั่งของธนาคารกลางออสเตรเลียก็น่าจะหันมาใช้นโยบาย ดังกล่าวตามด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้กำลังถูกกระแสกดดันจากภาวะการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินเหรียญ ออสเตรเลียต่อเงินเหรียญสหรัฐอย่างหนัก โดยเฉพาะนับตั้งแต่เฟดออกมาตรการคิวอี 3 ออกมาในช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนทางฝั่งของจีน ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐในเรื่องค่าเงินมานานหลายปี แม้ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณว่าจะดำเนินการปฏิรูปค่าเงินหยวนและปล่อยค่าเงินให้ เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ทว่าในความเป็นจริงจีนยังคงกดค่าเงินหยวนเอาไว้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริงต่อไป เช่นเดิม ซึ่งมูลเหตุจูงใจหลักก็คือเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศ หลังจากที่ในช่วงปีที่ผ่านมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมาโตได้แค่ 7.4% เท่านั้น ขณะที่ภาคการผลิตก็ฟุบติดต่อกันหลายเดือน ก่อนที่จะเริ่มฟื้นขึ้นในช่วง2 เดือนหลังล่าสุด

ดังนั้น การที่ญี่ปุ่นหันมาลดค่าเงินเยน จึงเป็นเพียงแค่การเติมเชื้อไฟสงครามค่าเงิน ที่กำลังคุกรุ่นอยู่ ให้ลุกโชนขึ้นมามากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นครั้งนี้ ประเทศแรกที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือเกาหลีใต้ และคาดว่าอีกไม่นานนักรัฐบาลกรุงโซลจะต้องออกมาตอบโต้อย่างแน่นอน เพราะต้องการที่จะปกป้องความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจส่งออกเอาไว้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องสกัดทุกทางไม่ให้สินค้าญี่ปุ่น อย่าง ชาร์ป โซนี่พานาโซนิค หวนกลับมาทวงคืนส่วนแบ่งตลาดจากซัมซุง และแอลจี ของเกาหลีใต้ ได้

นอกจากนี้ แนวโน้มสงครามค่าเงินทั่วโลกที่เริ่มคุกรุ่นขึ้นยังยืนยันได้จากข้อมูลของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่าปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเหล่าบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ในช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น เพิ่มขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจากเดิมในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ราว 6.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพชัดเจนว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศต่างพยายามถือครองและ เก็บสะสมเงินตราสกุลต่างประเทศเอาไว้ เพื่อปกป้องค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินไป ทั้งนี้อัตราส่วนที่มีการเพิ่มขึ้นนี้เป็นอัตราที่รวดเร็วมากในระยะเวลาไม่ ถึง 5 ปี หรือตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหล่านักวิเคราะห์และผู้สันทัดกรณีออกมาเตือนว่า ปัญหาสงครามค่าเงินที่ตอบโต้กันไปมามากขึ้นนี้ อาจเป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะสงครามและการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นตัวการบ่อนทำลายแนวโน้มการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่างๆ ที่กำลังดำเนินไปด้วยดีขณะนี้ในหลายๆ ภูมิภาคให้ต้องสะดุดลง

“ถ้าปล่อยให้ประเทศต่างๆ พากันลดค่าเงินกันต่อไปอย่างไม่ลดละ แน่นอนว่าจะนำไปสู่การก่อสงครามทางการค้ามากขึ้น” เอ็ดวิน ทรูแมน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันปีเตอร์สัน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ได้กล่าวต่ออีกด้วยว่า ภาวะการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากผลพวงของการใช้มาตรการลดค่าเงินตอบโต้กัน ไปมาของประเทศต่างๆ จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกย้อนกลับไปเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2573 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดภาวะการกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง จนทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานั้นชะลอตัวลงอย่างหนัก และเป็นตัวกดดันให้เกิดกระแสขวาจัดและลัทธิคลั่งชาติขึ้นในหลายๆ ประเทศ

นอกจากนั้น ภาวะการกีดกันทางการค้าดังกล่าวนี้ยังอาจเป็นตัวบ่อนทำลายความร่วมมือทางด้านการใช้นโยบายการเงินระหว่างประเทศอีกด้วย

ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั่วโลกจะต้องให้ความสำคัญและเร่งแสวงหาความร่วมมือเพื่อป้องกัน

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 2556 สงครามค่าเงินโลก ปะทุ กีดกันการค้า

view