สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีนหนุนนำศก.โลก 2013 ยุโรป-สหรัฐ ยังรับบทปัจจัยเสี่ยง

จาก โพสต์ทูเดย์

อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้า 2013 เป็นหนึ่งในปีที่คาดเดาทิศทางได้ยากที่สุด

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

เนื่องจากโลกยังต้องร่วมลุ้นไปกับสหรัฐจนถึงนาทีสุดท้ายของวันส่งท้ายปี 31 ธ.ค. ว่าเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้ จะสามารถผ่านการแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (ฟิสคัล คลิฟ) ออกมาได้ทันการณ์ ก่อนที่จะต้องขึ้นภาษีและตัดลดงบประมาณรายจ่ายโดยอัตโนมัติในวันที่ 1 ม.ค. 2556ในวงเงินมหาศาลถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 18.3 ล้านล้านบาท) หรือไม่ อย่างไร

หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า จะอย่างไรเสีย สหรัฐซึ่งอยู่ในภาวะหลังชนฝา ก็ต้องผ่านหน้าผาการคลังและปรับขึ้นเพดานหนี้ไปให้ได้ เพียงแต่จะผ่านออกมาแบบหายใจรดต้นคอทันเส้นตายวันที่ 31 ธ.ค.นี้ หรือ “ล่าช้า” ออกไป 1–2 เดือน จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสแรกของ ปีหน้า

หากผ่านพ้นไปได้ เศรษฐกิจโลกในปีหน้าฟ้าใหม่ 2013 นี้ ก็น่าจะสดใสกว่าในปีที่ผ่านมา โดยมีเสาเศรษฐกิจโลกเบอร์ 2 อย่าง “จีน” เป็นตัวชูโรงการบริโภคขนานใหญ่ภายในประเทศ ตามมาด้วยการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสหรัฐ ที่คาดว่าจะได้เห็นจีดีพีขยายตัวราว 2%

ขณะที่ “ยุโรป” แม้จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอยู่ เนื่องจากจะเป็นปีที่เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนถดถอย และยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะกับปัญหาการเงินในภาคการธนาคาร แต่ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขไปเปลาะหนึ่งแล้วในปีที่ผ่านมา สถานการณ์จึงน่าจะดีขึ้นเล็กน้อยในปีหน้านี้

สำหรับ “สหรัฐ” ซึ่งมีอิทธิพลต่อทั่วโลก ในฐานะเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดเบอร์ 1 นั้น คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ทว่าต่อเนื่องในปีหน้า โดยนักวิเคราะห์หลายสำนัก อาทิ องค์กรเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ราว 2% ซึ่งเป็นระดับที่พอประคองตัวเองได้เท่านั้น ยังไม่ใช่ระดับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกได้

นอกจากต้องจับตาฟิสคัล คลิฟแล้ว ยังต้องจับตาที่ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของเดือน ธ.ค. อาทิ ตัวเลขการว่างงานและดัชนีผลสำรวจภาคการผลิต (ไอเอสเอ็ม) ว่าจะดีขึ้นได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ หลังจากที่ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ย. ปรับบวกขึ้นไป 49.5 จุด ทว่าก็ยังต่ำกว่าในไตรมาส 2 ซึ่งเคยอยู่ที่ 52.7 จุด อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ลดต่ำลงของสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ยังคงเป็นเพราะความกังวลต่อปัญหา ฟิสคัล คลิฟจนภาคเอกชนและครัวเรือนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนกันเท่าที่ควร ทว่าหากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เห็นเศรษฐกิจสหรัฐดีดตัวขึ้นแรงตั้งแต่ต้นปีหน้า

ทว่าหากปัญหาฟิสคัล คลิฟ ยืดเยื้อออกไปก็มีโอกาสที่สหรัฐจะถูกปรับลดอันดับเครดิตลงจากหลายสำนัก อาทิ มูดี้ส์ และเอสแอนด์พีซึ่งจะส่งผลอย่างหนักต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงตลาดทุนโลกที่จะได้รับแรงกระเพื่อมอย่างหนักจนเกิดการไหลออกของทุน เข้าไปยังตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมากขึ้น

ในปี 2013 นี้ “จีน” และประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ดูจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่โลกพอจะพึ่งพาได้มากที่สุด จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลใหม่ของจีนภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่ สีจิ้นผิง ประกาศจะขับเคลื่อนจีนด้วยนโยบายเน้นการบริโภคภายในและลดพึ่งพิงการส่งออก เพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

ทันทีที่มีการวางแนวนโยบายใหม่นี้ออกมา ทั่วโลกก็ขานรับทันทีว่าแรงบริโภคของชาวจีนกว่า 3,000 ล้านคน น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกในปี 2013 มีแนวโน้มที่สดใสขึ้น ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีหน้าว่าจะขยายตัวที่ 8.4% จากคาดการณ์เดิมในเดือน ต.ค. ที่ 8.1% โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

ล่าสุด ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจได้บ่งชี้ถึงแนวโน้มของจีนที่กำลังกลับมาขยายตัวได้ อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง โดยธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของจีนนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 51.1 จุด หรือขยายตัวดีที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยยังมีเพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ยังคงอ่อนแออยู่

กู่ ฮงบิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี ให้แนวโน้มของจีนไว้ว่า จีนจะยังคงฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกหลายเดือน เมื่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าไปได้อย่างเต็มที่ และตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีเสถียรภาพจากความกังวลเรื่องภาวะฟองสบู่

นอกจากจีนแล้ว บรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียก็คาดว่าจะมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นในปีหน้า เช่นกัน โดยเวิลด์แบงก์นั้นได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปีหน้าให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในเอเชียตะวันออกเป็น 7.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 7.6% เนื่องจากจะมีการค้าและการลงทุนไหลเวียนภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ท่ามกลางการขยายตัวของชนชั้นกลาง และอานิสงส์จากการบริโภคภายในของจีน

อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่สดใสนี้ยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากภูมิภาค “ยุโรป” โดยเฉพาะกลุ่มยูโรโซน 17 ประเทศ ที่ยังคงมีปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้เสียในภาคการธนาคาร

แม้ปัญหาของยุโรปในปีหน้าจะดูเบาบางลง เนื่องจากได้รับการแก้ไขไปบางส่วนตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการช่วยซื้อพันธบัตรในตลาดรองของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ช่วยทำให้ต้นทุนกู้ยืมหรือดอกเบี้ยพันธบัตรประเทศเสี่ยงรายใหม่อย่างสเปน และอิตาลี มีดอกเบี้ยที่ถูกลง ทว่าปัญหาของยุโรปนั้นใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ไขให้จบลงได้ภายในปีสองปี

มรสุมที่รอคอยยุโรปอยู่ในปีหน้าก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากมาตรการรัดเข็มขัดลดรายจ่ายในหลายประเทศ เพื่อคุมการขาดดุลงบประมาณไม่ให้สูงเกินกว่า3% ของจีดีพีประเทศ โดยโออีซีดีได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจะถดถอยอยู่ที่ –0.1% ในปีหน้า ต่อเนื่องจาก –0.4% ในปี 2012 ก่อนที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะเริ่มกลับมาขยายตัวในแดนบวกได้อีกครั้งที่ 1.3% ในปี 2014 ซึ่งการถดถอยทางเศรษฐกิจในยูโรโซนนี่เอง ที่จะส่งผลกระทบให้การค้ากับเอเชีย จะยังคงซบเซาต่อเนื่องในปีหน้า

นอกจากเศรษฐกิจติดลบแล้ว สเปน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 4 ในกลุ่มยูโรโซน ก็ถึงกำหนดต้องใช้หนี้ในปีหน้าทั้งหมดราว 2.07 แสนล้านยูโร (ราว 8.35 ล้านล้านบาท) ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีปัญหาอะไรมากระทบต่อความเชื่อมั่นของสเปนจนไม่สามารถ ระดมทุนได้ หรือไม่

ขณะที่เยอรมนี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดในยุโรป และยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดผู้ช่วยโอบอุ้มวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปมาตลอด นั้น ก็กำลังจะมีกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเดือน ก.ย.ปีหน้า ซึ่งยังต้องจับตากันต่อว่าพรรคของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล ที่กำลังถูกชาวเยอรมันโจมตี เพราะเอาภาษีไปช่วยเพื่อนบ้านนั้นจะสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลเพื่อสานต่อแนว ทางแก้วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปที่เป็นคนปูทางมาเองกับมือ หรือไม่

เห็นได้ชัดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญทั้งในสหรัฐและยุโรป ดังนั้นหากทุกฝ่ายสามารถผ่าทางตันทางการเมืองไปได้ ปี 2013 นี้ก็น่าจะเป็นปีที่ดีขึ้นไม่น้อยสำหรับเศรษฐกิจโลก

แม้จะไม่ผ่องอำไพ แต่ก็ไม่มืดครึ้มไปด้วยมรสุมเหมือนปีที่ผ่านมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จีนหนุน ศก.โลก 2013 ยุโรป สหรัฐ รับบท ปัจจัยเสี่ยง

view