สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10 เทรนด์ผู้บริโภคสุดร้อนแรงแห่งปี 2013

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ปี 2556 อาจนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายสำหรับหลายๆ บริษัท เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

และภูมิทัศน์ในโลกธุรกิจที่แตกต่างจากเดิม โดยมีเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจใหม่ เป็นตัวขับเคลื่อนเทรนด์ดังกล่าว

เทรนด์วอทชิ่งดอทคอม นำเสนอ 10 เทรนด์ผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้นในปีงูเล็ก ซึ่งหากนักการตลาดและบริษัทเข้าใจ รวมถึงตอบสนองความต้องการ ความปรารถนา และความคาดหวังได้ ก็จะสร้างโอกาสทำกำไรมหาศาล

เริ่มจากเทรนด์แรก "ผู้บริโภคมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ" ปี 2556 จะเกิดเทรนด์บริโภคใหม่ที่มาจากพฤติกรรมของลูกค้า 2 กลุ่ม ทั้งพรีซูเมอร์ (Presumers) และคัสทาวเนอร์ (Custowners) โดยกลุ่มแรกเป็นลูกค้าที่รักจะมีส่วนร่วม ทั้งลงแรง ลงเงิน สนับสนุนสินค้าและบริการก่อนที่จะซื้อมาใช้ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ได้อานิสงส์จากกระแสเรี่ยไรไซเบอร์ หรือ Crowdfunding เห็นความแรงได้จากเม็ดเงินลูกค้ากลุ่มแรกลงขันร่วมกับธุรกิจน้องใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2555 จากระดับ 530 ล้านดอลลาร์ ในปี 2552 ส่วนลูกค้ากลุ่มหลังปรับจากการอุดหนุนสินค้าเฉยๆ หันมาลงทุนกับแบรนด์ที่ตัวเองซื้อด้วย


ตัวอย่างของเทรนด์นี้ ได้แก่ Zaozao แบรนด์แฟชั่นออนไลน์จากฮ่องกงที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปี 2555 โดยปวารณาตัวว่าเป็นเว็บค้าปลีกออนไลน์ที่เปิดกว้างให้เหล่าดีไซเนอร์ทั้งหลายอวดโฉมผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบก่อนจำหน่ายจริง เพื่อระดมเงินจากว่าที่ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับเป็นทุนในการผลิตสินค้าออกขายเชิงพาณิชย์

อีกกรณีเป็นแนวคิดเจิดๆ ของธนาคารบาร์เคลย์ ที่ต้องการเอาใจผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่ธุรกิจ ด้วยบัตรบาร์เคลย์การ์ด ริง มาสเตอร์การ์ด ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่อิงโลกไซเบอร์ โดยสมาชิกสามารถเสนอแนะ และโหวตการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับบัตรว่าจะนำเสนอบริการอะไรบ้าง ซึ่งสมาชิกจะได้ส่วนแบ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมด้วย

เทรนด์ที่ 2 "ถนนทุกสายมุ่งสู่ตลาดเกิดใหม่" ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศพัฒนาแล้วเน้นขายสินค้าให้ตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ก็ขายสินค้าให้ประเทศพัฒนาแล้ว แต่นับจากนี้ จะเริ่มเห็นสินค้าและบริการจากตลาดเกิดใหม่หลั่งไหลเข้าไปสู่ตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน นึกถึงภาพของแบรนด์จีนและบราซิลที่เข้าไปขายให้กลุ่มคนชั้นกลางในตุรกี อินเดีย หรือแอฟริกาใต้

น่าสนใจว่า ในปี 2556 จีดีพีของตลาดเกิดใหม่จะแซงหน้าตลาดพัฒนาแล้วเป็นครั้งแรก เมื่อวัดในแง่ความเท่าเทียมของอำนาจซื้อ โดยตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ 44.1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดพัฒนาแล้วอยู่ที่ 42.7 ล้านล้านดอลลาร์
แอพพลิเคชั่นสุดฮอต "วีแชท" ของบริษัทจีน "เท็นเซนต์" ที่ให้บริการข้อความเสียง ตัวอักษร และภาพ ได้ขยายบริการไปสู่ระดับโลก โดยในปี 2555 ขยายบริการภาษาฮินดีสำหรับตลาดอินเดีย รวมถึงรุกตลาดโปรตุเกส และอินโดนีเซีย จนปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านคน

ผู้ผลิตรองเท้าแตะแบรนด์อะเมโซนาส แซนดัลส์ ของบราซิล เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนเทรนด์นี้ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2555 บริษัทประกาศแผนเปิดร้านค้าในมณฑลกวางโจว ประเทศจีน ภายในต้นปี 2556 บริษัทเน้นใช้วัตถุดิบจากต้นยางพาราที่ปลูกในบราซิล และใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิต 80%
ส่วนแบรนด์เลอโนโวเริ่มขายสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียเมื่อเดือนตุลาคมปี 2555 ปูพรมตั้งแต่รุ่นไฮเอนด์ที่มีกล้องความละเอียด 8 ล้านพิกเซล และหน่วยความจำ 8 กิกะไบต์ ไปจนถึงรุ่นที่ไม่ไกลเกินเอื้อม อีกทั้งบริษัทมีแผนเปิดตัวสมาร์ทโฟนในตลาดอินเดียในปี 2556

เทรนด์ที่ 3 "ยุคทองของอุปกรณ์พกพา" ปีงูเล็กจะเป็นปีที่ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์พกพาในทุกช่วงเวลา คนเหล่านี้จะโหยหาข้อมูล การเชื่อมต่อ การบริโภค หรือแม้แต่เล่นสนุกในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งนี่หมายความถึงผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่คลั่งไคล้เทรนด์พกพา

ผลสำรวจชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ที่ใช้สมาร์ทโฟน พบว่า เจ้าของสมาร์ทโฟนผู้หญิง 63% และผู้ชาย 73% ตอบว่า ไม่เคยเลยที่จะละสายตาจากสมาร์ทโฟนได้นานกว่า 1 ชั่วโมง ส่วนผู้ใช้มือถืออายุ 18-24 ปี รับ-ส่งข้อความเฉลี่ย 109.5 ข้อความต่อวัน และมากกว่า 3,200 ข้อความต่อเดือน

ตัวอย่างของเทรนด์นี้ ได้แก่ "สแนพแชท" เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ผู้ใช้แบ่งปันภาพที่สามารถดูได้เฉพาะผู้รับ ก่อนที่จะทำลายตัวเอง ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมให้บริการมากถึง 200 ล้านภาพต่อวัน
อีกกรณี คือ พีพอด (Peapod) บริการรหัสคิวอาร์โค้ดสำหรับช็อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังได้รับความนิยมในธุรกิจค้าปลีก โดยเว็บ peapod.com เปิดตัวร้านค้าเสมือนบนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีคิวอาร์โค้ดสินค้ามากกว่า 100 รายการ เน้นเมืองใหญ่ๆ อาทิ บอสตัน นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. และชิคาโก

เทรนด์ที่ 4 "คืนกลับสู่ธรรมชาติ" ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ แบรนด์ต่างๆ ก็เริ่มมองหากิจกรรมที่เป็นมิตรต่อโลก และหนึ่งในแนวคิดที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ คือ สินค้าและบริการที่ภายในบรรจุสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะเติบโต แทนที่จะใช้แล้วทิ้ง หรือนำกลับมารีไซเคิลเท่านั้น

หนึ่งในสินค้ากลับสู่ธรรมชาติ คือ ตะเกียบรักษ์โลก ที่นักออกแบบชาวเกาหลี "เกียงวอน กู" คิดค้นทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมใหม่แทนที่ตะเกียบใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบเดิมๆ เจ้าตะเกียบไอเดียเก๋นี้จะบรรจุเมล็ดพันธุ์เอาไว้ที่ส่วนปลาย ซึ่งเมื่อใช้ตะเกียบเสร็จแล้ว หากนำส่วนปลายปักลงในดิน เมล็ดพันธุ์ก็จะเติบโต แนวคิดนี้คล้ายกับดินสอต้นไม้ ที่จะมีแคปซูลบรรจุเมล็ดพันธุ์ไว้รอปักในดิน หลังจากที่ใช้ดินสอจนสั้นแล้ว

เทรนด์ที่ 5 "ชีวิตดีเพราะมีแอพฯ" เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือแพทย์ชิ้นใหม่ หมอและบุคลากรการแพทย์ต่างหันมาใช้แอพพลิเคชั่นและบริการเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อทำให้สุขภาพของผู้คนดีขึ้น ในปี 2556 คาดกันว่าผู้บริโภคก็จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงหมอสามารถจ่ายยาผ่านใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ หรือติดตามคนไข้ได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของทั้งสถานพยาบาลและคนไข้เอง

ตัวอย่างของเทรนด์นี้ คือ แฮปติก (Happtique) แอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์ที่พัฒนาโดยบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2555 แฮปติกเปิดตัวโครงการนำร่องแอพพลิเคชั่นใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ โดยแพทย์สามารถสั่งยาผ่านแอพฯ และติดตามผลการรักษาคนไข้ที่ดาวน์โหลดใบสั่งยาดังกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10 เทรนด์ ผู้บริโภค สุดร้อนแรง ปี 2013

view