สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10เทรนด์2013สื่อออนไลน์เครื่องมือขายตรง

10เทรนด์2013สื่อออนไลน์เครื่องมือ'ขายตรง'

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ปีที่ผ่านมาพบว่าหลายแนวโน้มที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็น "ไมโคร อีโคโนมี่ เทรนด์" ได้กลายเป็น "เชื้อ" ส่งต่อให้เห็นภาพใหญ่ในปี 2013

ที่จะกลายเป็น "แม็คโคร เทรนด์" เพราะ "เทรนด์" คือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นไปไม่ได้ว่า จะเกิดขึ้นโดยปราศจาก "ต้นตอ"

สำหรับ "10 เทรนด์ปี2013" ในมุมมองของกูรูด้านการสื่อสารการตลาดและนักสร้างแบรนด์ "สรณ์ จงศรีจันทร์" ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ยังก์แอนด์รูบิแคม แบรนด์ ในเครือ WPP วิเคราะห์ว่า 10เทรนด์ที่น่าสนใจในปีนี้ ประกอบด้วย

เทรนด์ที่1. ธุรกิจเอสเอ็มอี ขยายตัวรับ"เออีซี"ในปี2558 เพราะแม้ว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ได้เปิดตัวอย่าง "ไม่เป็นทางการ" มาแล้วกว่า 10 ปี แต่ในปีที่ผ่านมากระแสเออีซี ได้ถูกโหมกระพือในทุกแวดวงธุรกิจให้"ตื่นตัว" และ"เตรียมพร้อม" หากปีนี้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ยังไม่เดินตามเทรนด์นี้ เชื่อว่าจะอยู่ในภาวะลำบาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมรับเออีซีในปี 2558 คือ การ Rebranding หรือ Re positioning ทำให้แบรนด์มีจุดยืนที่ชัดเจนขึ้น การเปลี่ยนบุคลิกของแบรนด์ หรือ Re personality สิ่งที่อาจเป็นอนุรักษนิยมให้กลายเป็นสิ่งที่ทันสมัย
หรือการ Re freshing ทำให้แบรนด์ที่ดู "นิ่ง" เริ่ม "กระชุ่มกระชวย" อีกทั้งอาจจะ Re packaging ให้มีความทันสมัยด้านบรรจุภัณฑ์ สร้างมุมมองใหม่เตรียมรับมือการแข่งขัน

ธุรกิจเอสเอ็มอีปัจจุบันมีจำนวนเป็นหลักหลายแสนวิสาหกิจ แม้วันนี้อาจนับรวมเป็นมูลค่าเงินไม่สูงนัก แต่เชื่อว่าจะเป็นอีกกลุ่มธุรกิจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตในอนาคต การเปิดเออีซี มีความจำเป็นที่เอสเอ็มอี ต้องเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 ทั้งภาษาในกลุ่มอาเซียน หรือ ภาษาจีน ที่คาดว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคต

"เอสเอ็มอี จำเป็นต้องเล่นเกมแบบมืออาชีพมากขึ้น การเดินเกมแบบข้ามาคนเดียว หรือธุรกิจครอบครัว ไม่สามารถแข่งขันได้ในยุคต่อไป"

เทรนด์ที่ 2. สินค้าหรือบริการในธุรกิจประเภทเอสเอ็มอี ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ช่องทางการจัดจำหน่ายไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากแนวโน้มพบว่าคนทำงานรุ่นใหม่ จะเป็นลูกจ้างกันน้อยลงและแสวงหาความเป็น "เจ้าของ" ธุรกิจหรือสร้างแบรนด์กันเองมากขึ้น พบว่าทุกๆ ชั่วโมงจะมีสินค้าเกิดใหม่จากเอสเอ็มอีที่มีนับแสนวิสาหกิจ โดยพัฒนาและสร้างสรรค์จากความชื่นชอบส่วนตัว เช่น ร้านเสื้อ ร้านขายอาหาร ร้านกาแฟ ซึ่งมีจุดขายต่างจากแบรนด์ดัง และเป็นการพัฒนาสินค้าที่ไม่แข่งขันกับกลุ่มอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ด้วยไม่สามารถสู้ต้นทุน ด้านค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บในอัตราสูงได้

ทำให้การขยายตัวในธุรกิจรูปแบบ "ขายตรง"ถึงผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อย่างหลากหลายสินค้า จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ จำนวนมาก ที่กระจายตัวผ่านช่องทางขายใหม่ในรูปแบบชอปปิง ออนไลน์ หลากเครื่องมือในยุคดิจิทัล และโซเชียล เน็ตเวิร์คเติบโต โดยไม่พึ่งพาช่องทางค้าปลีก โมเดิร์นเทรดที่มีพื้นที่จำกัดและต้นทุนสูง

ช่องทาง"ขายตรง" จะไม่ซับซ้อนเหมือนอดีต รูปแบบจะง่ายขึ้น เพียงแค่โทร.หาตัวแทนขาย หรือคลิกผ่านออนไลน์ ก็จะได้รับสินค้า ในปีนี้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมาก เทรนด์ "การขายออนไลน์" จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าสามารถถึงมือผู้บริโภคผ่านกระบวนการส่งง่ายๆ ด้วยการส่ง EMS หรือระบบอีคอมเมิร์ซ ที่ง่ายขึ้นเรื่อยๆ และทำการค้าขายได้ทุกกลุ่มสินค้า กระทั่งข้าวสาร หากมีไอเดียนำมาพัฒนาในรูปแบบของขวัญของฝาก

ขณะที่ช่องทาง "ทีวีไดเร็ค" ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรายเซ็กเม้นต์ ผ่านสื่อทีวีดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี เช่น ช่องทรูซีเล็ค ที่จำหน่ายสินค้าจากเกาหลี นับเป็นอีกเทรนด์ช่องทางการสื่อสารและการจำหน่ายที่มาแรง

เทรนด์ที่ 3.มี"เกิด-มีดับ" ในธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ทั่วประเทศ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีแนวโน้มการเกิดค้าปลีกรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ โดยมีความชัดเจนในปี2555 และพบว่าบางแห่ง "ดับ" เพราะขาดการวิเคราะห์ผู้บริโภคอย่างจริงจัง สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากคอมมูนิตี้มอลล์ คือ "ประสบการณ์" ไม่ใช่เพียงมากินข้าวแล้วกลับบ้าน โดยคอมมูนิตี้มอลล์ ต้องตอบสนองความต้องการของครอบครัว ทั้ง พ่อ แม่ ลูก การขาดจุดขายที่โดดเด่นและไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มครอบครัวลูกค้าหลักอาจส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จ

โดยพบว่าคอมมูนิตี้มอลล์ แบรนด์ใหญ่จะมีข้อได้เปรียบในการดึง "แม่เหล็ก"ที่ดี จากการดึงร้านค้าแบรนด์ดังให้เข้าสู่โครงการ ทำให้ร้านประเภทเอสเอ็มอี ไม่จำเป็นต้องทำรีเสิร์ชการเลือกเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ โดยสามารถติดตาม
แบรนด์ดังๆ ที่เข้าไปเปิดในคอมมูนิตี้มอลล์ได้เลย ด้วยมีแม่เหล็กร้านค้าแบรนด์ดังเป็นจุดดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการอยู่แล้ว

เทรนด์ที่ 4.เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างโลกออนไลน์ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ "ขายตรง" ที่ทรงพลังกว่าเว็บไซต์ ซึ่งจะเป็น "เทรนด์ที่มาแรง" ในปีนี้ เพราะทุกๆ แบรนด์ดังระดับโลก และแบรนด์ท้องถิ่น ได้พึ่งพา "เฟซบุ๊ค" ในการขายของแบบตรงไปตรงมา "ถือเป็นอาการข้างเคียงที่ทั้ง เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ คงไม่ตั้งใจให้ตอบโจทย์ด้านนี้ในยุคก่อตั้ง"

นักการตลาดเองได้พึ่งพาเครื่องมือโซเชียล มีเดียดังกล่าว ในการสื่อสารและทำซีเอ็มอาร์กับผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ด้วยต้นทุนต่ำ และรู้ผลการตอบรับได้ทันที เช่น การกด Like หรือไม่กด จากการโพสต์ข้อความ หรือแชร์ข้อมูล
อีกทั้งสามารถสื่อสารได้ง่ายแบบตรงไปตรงมาทันที นับเป็นพลัง ซีอาร์เอ็ม ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2556

"ความชอบหรือไม่ชอบในยุคนี้จะถูกบอกต่อเป็น แสนเป็นล้าน ผ่านโซเชียลมีเดีย"

เทรนด์ที่ 5. Asia Brands มาแรงแซงหน้าแบรนด์ดังระดับโลก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ แบรนด์ "ซัมซุง" จากเกาหลีกใต้ ที่กลายเป็นแบรนด์ระดับโลก เป็นอันดับหนึ่งในสินค้าหลายประเภท และในตลาดสมาร์ทโฟน สามารถแข่งขันได้อย่างใกล้เคียงกับแบรนด์ แอปเปิล อีกทั้งยังแซงโนเกีย

เช่นเดียวกับ ค่ายรถยนต์ที่แบรนด์ โตโยต้า จากญี่ปุ่น ได้แซงหน้าค่ายจีเอ็ม ไปแล้ว ฟากธุรกิจการบิน "สิงคโปร์ แอร์ไลน์" เป็นแบรนด์สายการบินระดับโลกที่มีราคาตั๋วโดยสารแพงกว่าสายการบินจากฝั่งตะวันตก ด้วยความเป็นเอเชียแบรนด์ ที่มีความยืดหยุ่นด้านการให้บริการ และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคทุกกลุ่ม

เทรนด์ที่ 6. Affordable Luxury ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาได้เห็นการขยายตัวของแบรนด์ดังระดับโลกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น IKEA Uniqlo H&M นับเป็นแบรนด์ดังที่คนไทย "จับต้อง"ได้ จะเห็นได้ว่า แฟชั่นเสื้อผ้าของ "ยูนิโคล่" หรือ H&M เป็นแบรนด์ที่คนไทย"กล้าซื้อ กล้าใช้"

แนวโน้มของแบรนด์ดังระดับโลก ยังคงมุ่งหน้าสู่ตลาดไทยต่อเนื่อง นับเป็นสิ่งที่ "แบรนด์ไทย" ต้องปรับตัวรับการแข่งขัน ด้วยการสร้างแบรนด์ให้แตกต่าง เพื่อทำให้มีตัวตนที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะอยู่ในภาวะ "ลำบาก"

เทรนด์ที่7. เส้นทางรถไฟฟ้า บีทีเอส และเอ็มอาร์ที คือบ่อเกิดของธุรกิจหลากหลาย และมีความโยงใยไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คงเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ประเภท คอนโดมิเนียม ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อ อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องเติบโต ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องใช้งานให้คอนโดฯ ก่อให้เกิดสินค้าเชื่อมโยงอุตสาหกรรม "เป็นแรงกระเพื่อม" ทุกธุรกิจ จาก "ต้นน้ำ" คือเส้นทางรถไฟฟ้า

เทรนด์ที่ 8. ผลที่ตามมาของนโยบายประชานิยม "รถยนต์คันแรก" ที่ทำสถิติยอดซื้อรถใหม่กว่า 1.3 ล้านคัน สิ่งที่จะตามมาในปีนี้ คือห่วงโซ่ของธุรกิจข้างเคียง ทั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง อุปกรณ์ตกแต่งรถ ไฟแนนซ์ ประกันภัยรถยนต์ สถานีบริการ CNG ล้วนเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีโอกาสเติบโตในปีนี้ แต่ใน "มุมลบ" ก็มีเช่นกัน จากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด ผู้คนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถมากขึ้น และอาจต้องปรับวิถีการทำงาน ที่บ้าน หรือในรถ โดยต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ โน้ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน เพื่อใช้งาน

เทรนด์ที่ 9. ไม่มีคำว่า "ข้ามาคนเดียว" หรือ "ข้าใหญ่ค้ำฟ้าอยู่คนเดียว" อีกต่อไป ด้วยเครื่องมือการตลาดหลากหลายในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารหลากแพลตฟอร์มในทุกที่ ทุกเวลา ส่งให้ "แบรนด์ใหม่" เกิดได้ท่ามกลางแบรนด์เดิมที่แข็งแกร่ง เห็นได้จากกรณี "พิซซ่า คอมปะนี" "อิชิตัน" และล่าสุด "เอส โคล่า" ซึ่งเปิดตัวแข่งแบรนด์ใหญ่น้ำดำระดับโลก โค้ก เป๊ปซี่ และบิ๊กโคล่า ที่มาก่อน

"แบรนด์ผู้นำหากคิดว่าใหญ่คนเดียว ถือเป็นความคิดที่น่ากลัวในการบริหารธุรกิจยุคนี้"

เทรนด์ที่ 10. ประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาพของความไม่แน่นอนและความไร้ทิศทางในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ประกอบการไทย ที่มีความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันในการบริหารธุรกิจ จากความไม่แน่นอนมาก่อนหน้านี้ นักธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตัวเอง โดยใช้ประสบการณ์และความระมัดระวังจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทำให้ยังเห็นโอกาสเติบโตได้ในปีนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 10เทรนด์2013 สื่อออนไลน์ เครื่องมือขายตรง

view