สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการกรณีขึ้นค่าแรง 300 พบต้นทุนสูงขึ้น การเยียวยารัฐยังช่วยได้ไม่เต็มที่

ผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการกรณีขึ้นค่าแรง 300 พบต้นทุนสูงขึ้น การเยียวยารัฐยังช่วยได้ไม่เต็มที่ผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการกรณีขึ้นค่าแรง 300 พบต้นทุนสูงขึ้น การเยียวยารัฐยังช่วยได้ไม่เต็มที่

จากประชาชาติธุรกิจ

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความผู้ประกอบการต่อการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท นอกพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง 600 ตัวอย่าง ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 จ้างงานลดลงร้อยละ 4.3 ปิดกิจการร้อยละ 5.5 และปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุน 6.7 และอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 การจ้างงานลดลงร้อยละ 6.3 ปิดกิจการร้อยละ 6.1 และคิดว่าต้องปรับราคาสินค้าร้อยละ 13.6 และอีก 6 เดือนข้างหน้ายังคิดว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 การจ้างงานลดลงร้อยละ 8.7 ปิดกิจการร้อยละ 7.8 และปรับราคาสินค้าร้อยละ 17.9

 

นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 46.8 คิดว่าแบกรับภาระต้นทุนได้ในระดับปานกลาง และร้อยละ 40.0 แบกรับได้น้อย ส่วนใหญ่สามารถแบกรับได้นาน 7 เดือน โดยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วยการลดภาษีร้อยละ 45.5 รองลงมาหาแหล่งเงินทุนร้อยละ 17.6

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ ร้อยละ 55.7 คิดว่าช่วยเหลือได้น้อย ร้อยละ 38.1 ช่วยได้ปานกลาง และ 1.7 ไม่ได้ช่วยเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวน้อยมาก


ธุรกิจกระอัก แค่ 22 วันบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 3% จี้รัฐดูแลด่วน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       โพลชี้แค่ 22 วันบาทแข็งค่าขึ้น 3% ผู้ประกอบการ 42.5% กระอัก กระทบการทำธุรกิจ แนะรัฐเข้าดูแลก่อนส่งออกกระทบ
       
       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่า โดยสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 400 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค. 2556 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-22 ม.ค. 2556 ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว 3% โดยแข็งค่ากว่าเงินในสกุลอื่นในเอเชีย และเงินสกุลสำคัญในโลก ทั้งค่าเงินเยน เงินยูโร ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของ สินค้าไทยในตลาดโลก ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 3% ผู้ตอบมากถึง 42.5% ระบุส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนเองมาก ส่วนอีก 39.1% ระบุกระทบปานกลาง อีก 18.3% ระบุกระทบน้อย มีเพียง 0.1% ที่ระบุไม่กระทบ
       
       สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งมากที่สุด คือกลุ่มส่งออก รองลงมาคือกลุ่มส่งออก-นำเข้า, กลุ่มส่งออก-ขายสินค้าในประเทศ, กลุ่มนำเข้า-ส่งออก และขายในประเทศ ขณะที่กลุ่มนำเข้าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ตามด้วยกลุ่มนำเข้า-ขายในประเทศ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ยอดส่งออกสินค้าจะลดลง 8.7% ส่วนยอดนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 10.2% ต้นทุนการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 15.4% ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 11.8% ยอดรับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 2.1% สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 5.6%
       
       ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.00-29.50 บาท/เหรียญสหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลกระทบในด้านต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น โดยยอดการส่งออกสินค้าจะลดลง 14.7% ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.8% ต้นทุนการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 20.4% ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 14.3% ยอดรับคำสั่งซื้อลดลง 2.7% และสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 4.8%
       
       “ผู้ประกอบการเห็นว่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจควรอยู่ที่ 31 บาท/เหรียญสหรัฐ ระดับที่ไม่ส่งผลต่อการส่งออกอยู่ที่ 30.2 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราที่ยังรับได้อยู่ที่ 29.40 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่จะแบกรับได้นานเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น ซึ่งรัฐต้องเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป และไม่ให้แข็งกว่าคู่แข่ง หากประคองได้การส่งออกปีนี้ก็ไม่น่าสะดุด โดยศูนย์ฯ มองว่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ 6-8%” นายธนวรรธน์กล่าว


โพลชี้ธุรกิจขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว แต่ก็ขึ้นราคาสินค้าตาม เผยแรงงานชอบ แต่เซ็งของแพง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
       โพลชี้นายจ้างขึ้นค่าแรง 300 บาทกันหมดแล้ว แต่ลดสวัสดิการอื่น พร้อมขึ้นราคาสินค้าตามหลังต้นทุนพุ่ง ส่วนแรงงานชอบค่าแรงขึ้น อยากให้ขึ้นอีก เผยส่วนใหญ่นำเงินซื้อมือถือ รถมอเตอร์ไซค์ เสื้อผ้า แต่บ่นสินค้าแพง
       
       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท นอกพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่องที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค. 2556 ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทแล้ว แต่ลดสวัสดิการ บางรายให้เงินสดเต็มจำนวนโดยไม่รวมสวัสดิการ บางรายให้เงินสดเต็มจำนวน แต่ไม่มีสวัสดิการอื่น บางรายให้เงินน้อยกว่าค่าแรง และบางรายให้เงินสดเต็มจำนวนแต่ให้ทำงานมากกว่าเดิม
       
       ส่วนการปรับตัวหลังจากปรับขึ้นค่าแรง สิ่งที่ผู้ประกอบการได้ทำเป็นอันดับแรกคือ ขึ้นราคาสินค้า รองลงมาคือ ลดจำนวนแรงงานลง หาเครื่องจักรทดแทน ลดสวัสดิการลง และจ้างแรงงานต่างด้าว
       
       นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจความคิดเห็นแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15-17 ม.ค. 2556 พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงอีก 164.3 บาทต่อวันมาอยู่ที่วันละ 464.3 บาท และต้องการให้ปรับขึ้นทุกปี เพราะการขึ้นค่าแรงช่วยให้แรงงานเป็นหนี้น้อยลง มีเงินออมมากขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น ซื้อของมากขึ้น ท่องเที่ยวมากขึ้น โดยสินค้าที่จะซื้อมากที่สุดคือ โทรศัพท์ เสื้อผ้า รถจักรยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าคงทน แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย


หอการค้าห่วงค่าแรงทำธุรกิจปิดกิจการ

จาก โพสต์ทูเดย์

หอการค้าไทยชี้เริ่มเห็นธุรกิจปิดกิจการจากผลค่าแรง 300 บาทในช่วงไตรมาส 2 และเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบผู้ส่งออก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่าง พบว่า ค่าแรงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแล้ว 10.2%  หากไม่ได้รับการแก้ไขภายใน 3 เดือน จะทำให้ต้นทุนเพิ่มถึง 12.8% การจ้างงานลดลง 6.3% และจะเริ่มปรับราคาสินค้าขึ้น 13.6% ปลดคนงานเพิ่มขึ้น 5.7% โดยจะเริ่มเห็นการปิดกิจการในไตรมาสที่ 2 และหากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 18.3% การจ้างงานลดลง 8.7% ปลดคนงานเพิ่มขึ้น 6.6% และปรับขึ้นราคาสินค้าถึง 17.9%

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ สามารถแบบรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้นาน 7 เดือนเท่านั้น ต้องการให้รัฐบาล ช่วยลดภาษี หาแหล่งเงินทุน จัดอบรมฝีมือแรงงาน ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการส่งออก และชดเชยแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งหากไม่มีการแก้ไข คาดว่า จะมีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบกว่า 1 แสนราย และแรงงานต้องตกงาน 1-2 แสนคน

ขณะที่ ความคิดเห็นของแรงงานที่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท พบว่า ส่วนใหญ่ 57% เห็นว่า รายจ่ายยังเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยค่าแรงที่เหมาะสมในปัจจุบันควรอยู่ที่วันละ 464.30 บาท จึงต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปีหรือปรับขึ้นตามค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ 59.5% กังวลว่านายจ้างจะแบกรับภาระไม่ไหวจนต้องเลิกจ้าง จึงต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาดูแลสวัสดิการ ลดค่าครองชีพ ตรึงราคาสินค้า ลดภาษี มีแหล่งงานรองรับ และหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้มีเม็ดเงินลงสู่แรงงานประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 0.4-0.5% ซึ่งหอการค้าไทย เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในเดือนหน้า จากเดิมที่มองว่าจะขยายตัวในกรอบ 4.5-5.0%

นอกจากนี้ ยังสำรวจผลกระทบภาคธุรกิจจากอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 52.6% เห็นว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่จะสามารถรับค่าเงินแข็งค่าได้ที่ 29.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่รับได้เพียง 1 เดือนครึ่ง ขณะที่ผู้ประกอบการ 33.5% ระบุว่า พึงพอใจการกำกับดูแลของธปท.น้อย โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว และปรับไปในทิศทางและอัตราใกล้เคียงคู่แข่ง สนับสนุนออกไปลงทุนต่างประเทศ สกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงิน สนับสนุนลดต้นทุนการส่งออก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผลสำรวจความเห็น ผู้ประกอบการ ขึ้นค่าแรง 300 ต้นทุนสูงขึ้น การเยียวยา รัฐช่วย ไม่เต็มที่

view