สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมคิด แนะรัฐปฏิรูป3สาขาสร้างจีดีพียั่งยืน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สมคิด"แนะรัฐปฏิรูป3สาขาสร้างการเติบโตGDPยั่งยืน หวั่นการลงทุนรัฐ-เอกชนหยุดชะงัก เลิกหว่านเงินกระตุ้นศก.หวังผลระยะสัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ประเทศไทย ณ จุดเปลี่ยน" จัดโดยงานสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อค่ำวันที่ 5มี.ค. ว่า การพัฒนาประเทศไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายสิบปี เศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นภาพที่ดีหากมองในภาพรวมผ่านตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่นมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) สูงถึง 10 ล้านล้านบาท มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีอยู่ในระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากก่อนใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯที่ประชากรเฉลี่ย 108 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีอัตราหนี้สินต่อจีดีพีในระดับต่ำเพียง 40 กว่าเปอร์เซนต์ของจีดีพีเท่านั้น รวมทั้งระดับเงินเฟ้อทั่วไปไม่เกิน 4% ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 5- 6% ต่อปี ซึ่งข้อมูลภาพรวมที่ใช้ตัวชี้วัดแบบนี้ทำให้นักลงทุนมองว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนหลังการเปิดเออีซีในปี 2558

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ตนเองได้ทำงานกับรัฐบาลและติดตามสถานการณ์ของประเทศไทยในด้านต่างๆ ทำให้มีความเป็นห่วงอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะในประเด็นความยั่งยืนในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเติบโตต่อไปในระดับ 4 - 5% ต่อปีอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในขณะนี้การเติบโตของเศรษฐกิจอยู่บนการบริโภค ที่ไม่ได้มาจากความสามารถในการหารายได้ที่แท้จริง ของประชาชน ดังนั้นอาจหวังการเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศได้ยากในอนาคต แต่ในปัจจุบันการบริโภคที่มาจากการก่อหนี้ทั้งการก่อหนี้บัตรเครดิต และการก่อหนี้จากโครงการรถคันแรก เป็นต้น ขณะที่การลงทุนในภาครัฐก็ไม่ได้มาจากการใช้เม็ดเงินที่มาจากความสามารถในการหารายได้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น แต่มาจากการกู้ยืมเงินมาใช้ในโครงการต่างๆ

"อนาคตประเทศไทยเหมือนภาพวาดสีน้ำมันของโมเนต์ หากดูไกลๆ ก็เป็นดูดีดูสวย หากดูใกล้ๆก็พร่ามัว บางทีก็เลอะก็เปรอะเปื้อน ที่สำคัญแต่ประเทศไม่ใช่ภาพวาด ความเลอะเทอะเปรอะเปื้อน จะสร้างความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่จะนำมาสู่ความเสื่อมถอยในที่สุด"นายสมคิดกล่าว

สำหรับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ประเทศไทยจะรักษาความยั่งยืนในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปใน 3 ส่วนที่สำคัญคือ 1.การปฏิรูปการเกษตร โดยปัจจุบันคนในประเทศไทยประมาณ 30 - 40 ล้านคนยังคงเป็นเกษตรกร แต่กลับมีการสร้างผลผลิตได้เพียง 10% ของจีดีพีทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้ทำให้ไม่สามารถเกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมได้ โดยขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีปัญหาในเรื่องของการกระจายรายได้และปัญหาการสร้างความเท่าเทียมสูงที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดย 20% ของประชากรในระดับบน มีส่วนแบ่งรายได้ 95% ของรายได้ประชาชาติทั้งหมด ขณะที่ 20% ของประชากรในระดับล่าง มีการถือครองส่วนแบ่งรายได้เพียง 5% ของรายได้ประชาชาติทั้งหมด ซึ่งการปฏิรูประบบเกษตร ไม่ใช่เรื่องของการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มองค์ความรู้ในการเพาะปลูก และการให้ความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย

2.การปฏิรูประบบการคลัง ซึ่งสิ่งจำเป็นเร่งด่วนไม่ใช่การแก้ไขอัตราดอกเบี้ย หรือค่าเงินบาท แต่งเป็นการแก้ไขระบบงบประมาณทั้งหมดให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้แนวโน้มในอนาคตอาจต้องมีการตัดลดงบประมาณในการศึกษา การลดสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งยิ่งเท่ากับการทำลายความเท่าเทียมทางโอกาสของคนในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้การปฏิรูประบบการคลังยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเท่าเทียมการคลังของเมืองศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯและท้องถิ่น เพื่อให้การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นประสบความสำเร็จคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ต่างๆใกล้เคียงกัน

3.การปฏิรูปการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการเพิ่มคุณภาพการผลิตโดยเน้นในเรื่องของการพัฒนาระบบวัพพลายเชน การสร้างคลัสเตอร์ในระบบการผลิต เพื่อขยับรายได้จากการผลิตให้มากขึ้น ยกระดับสินค้าและบริการรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งหากไม่ทำในเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำในที่สุดเอกชนก็ต้องปรับตัวลดต้นทุนโดยการลดคนงาน นอกจากนั้นเมื่อมีการเปิดเออีซีสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเคลื่อนย้ายทุนต่างๆ นักลงทุนจะดูสิ่งแวดล้อมทางการลงทุน เช่น การพัฒนานวัตกรรมสำหรับอนาคต ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน การมีทักษะแรงงานและมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน การมีคุณภาพและการศึกษาของประชากร มากกว่าเรื่องของที่ตั้งของภูมิภาค

"อุตสาหกรรมในอนาคตอยู่ไม่ได้ด้วยการใช้แรงงานที่เข้มข้นและขายสินค้าจำนวนมากแต่มีมาร์จิ้นต่ำ จึงต้องส่งเสริมให้ยกระดับสินค้าให้มีดีไซน์หรือมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เราพูดกันมานานแล้วรู้กันดีแต่ไม่มีใครคิดจะทำอย่างจริงจัง"

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลไม่สามารถยกระดับรายได้ที่แท้จริงซึ่งมาจากประสิทธิภาพการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้นได้ จะทำให้อำนาจในการซื้อของประชาชนในประเทศน้อยลง และเสี่ยงที่จะเกิดนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น โดยนักการเมืองหาประโยชน์จากช่องว่าง ไม่เพียงเท่านั้นความรู้สึกที่ว่าไม่ได้รับการดูแล มีการหาที่พึ่งนอกระบบมากขึ้น เป็นอันตรายต่สังคมแห่งรัฐ โดยปัญหาแบบนี้เป็นราคาที่ต้องจ่ายจากความไม่เท่าเทียมในการพัฒนา

"ปัญหาของประเทศคือการพัฒนาไม่ได้มองเรื่องของการสร้างรากฐานเพื่อการพัฒนาในระยะยาว แต่มองเรื่องของการกระตุ้นให้เห็นประโยชน์ในระยะสั้นเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เมื่อรวมกับระบบการเมืองที่มีปัญหา และระบบระบบให้คุณค่า (value system) ที่มีปัญหา เช่นคนมองการคอรัปชั่นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะคนให้คุณค่ากับชื่อเสียง ความร่ำรวย ต่างจากเดิมที่ให้คุณค่ากับการทำงานหนัก ความดี และความซื่อสัตย์ ก็อาจเกิดภาวะที่เรียกว่าสมรรถนะบกพร่องทั้งประเทศซึ่งเมื่อมองไปก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศยิ่งลดน้อยลง"นายสมคิดกล่าว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมคิด แนะรัฐ ปฏิรูป สาขา จีดีพี ยั่งยืน

view