สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จี้รัฐเลิกประชานิยม หวั่นหนี้สาธารณะพุ่ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กูรูเศรษฐกิจจี้รัฐเลิกประชานิยม หวั่นหนี้สาธารณะพุ่งเกิน 80% จุดชนวนวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ชี้จำนำข้าวเสียหายหนัก แนะแก้รธน.คุมการใช้จ่าย

คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง " วิพากษ์นโยบายประชานิยมต่อเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง" วานนี้ (15 มี.ค.)

ผู้ร่วมอภิปรายส่วนใหญ่ได้แสดงความเห็นตรงกันว่า การใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลจะเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นนโยบายที่ได้มาซึ่งคะแนนเสียง แต่ผลสะท้อนในทางลบจะเกิดขึ้นกับภาระทางการคลัง จึงเสนอให้มีการกำหนดกรอบการใช้จ่ายที่ชัดเจน ผ่านการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวแสดงความเป็นห่วงต่อการดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ได้สร้างภาระทางการคลังในอนาคต และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นนโยบายที่ได้มาซึ่งคะแนนเสียง ทำให้ทุกรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายนี้ ดังนั้น ทุกฝ่ายควรร่วมมือที่จะหยุดการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ไม่เช่นนั้น ภาระหนี้งบประมาณต่อจีดีพีจะพุ่งสูงเกิน 80% ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้ประเทศเกิดวิกฤติ

"เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะการดำเนินนโยบายประชานิยมในระยะต่อไปของแต่ละรัฐบาล ก็จะคิดอะไรแบบมือเติบ และผมก็คิดว่า รัฐบาลนี้อาจจะคิดอะไรอีกหลายโครงการ ถ้าเราไม่ช่วยกันเบรก ต่อไปหนี้สาธารณะของประเทศจะพุ่งสูงเกิน 80% ซึ่งสูงกว่าช่วงที่ไทยเคยเกิดวิกฤติปี 2540 ที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 75% ผมจึงจะเดินหน้าหยุดการสร้างหนี้ของรัฐบาลต่อไป"เขากล่าว

เขากล่าวด้วยว่า นโยบายประชานิยมรัฐบาลชุดปัจจุบันมีรูปแบบแปลกๆ ยกตัวอย่าง นโยบายรถยนต์คันแรกที่ใช้เงินเป็นแสนล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไรมาก เพราะเป็นการดำเนินนโยบายเพียงรอบเดียว ไม่กระทบภาระการคลังระยะยาว แต่กรณีนโยบายจำนำข้าวนั้น น่าเป็นห่วงมาก เพราะเป็นนโยบายที่หลายฝ่ายทักท้วง แต่รัฐบาลก็ไม่มีทีท่าว่า จะหยุดดำเนินโครงการ แม้จะมีผลขาดทุนเกิดขึ้นจำนวนมาก

จำนำข้าวดันหนี้สาธารณะพุ่ง

"นโยบายจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด 20-30% ทำให้ผลขาดทุนสะสมมาเรื่อยๆ จาก 2.1 หมื่นล้านในปี 2547 เป็น 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2549 จนมาถึงปี 2552 ขาดทุน 4.1 หมื่นล้าน แต่ขณะนั้น ฐานะการคลังเรารับได้ ล่าสุด ปี 2554/55 คาดว่า ขาดทุนรวม 1.4 แสนล้านบาท ก็ขอให้หยุดโครงการ แต่รัฐบาลก็ประกาศจะรับจำนำถึง 33 ล้านตันในปี 2555/56 ก็คาดว่า จะมีผลขาดทุนประมาณ 2.1 แสนล้านบาทต่อปี” เขากล่าว

ทั้งนี้ ได้คำนวณภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากนโยบายประชานิยมและการใช้เงินในและนอกงบประมาณ ซึ่งรวมถึงการกู้เงินเพื่อลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ในระยะ 7 ปี จะพบว่า ในปี 2562 ภาระหนี้พุ่งสูงถึง 10.36 ล้านล้านบาทหรือ 65.9% ต่อจีดีพี และ หากการดำเนินนโยบายประชานิยมเดินหน้าต่อไป ภาระหนี้ดังกล่าวจะพุ่งเกิน 80% ต่อจีดีพีอย่างแน่นอน

ภาคเอกชนแนะรัฐออมเงิน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาระหนี้ภาครัฐเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพูดวันนี้ เพราะหากไม่พูด ภายใน 4-5 ปี อาจจะต้องเสียใจ เพราะแม้ว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ในระดับกลางๆ หรือ 44% ของ จีดีพี แต่ถือว่าได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากรัฐบาลไม่ทำงบประมาณแบบระมัดระวัง

เขากล่าวว่า นโยบายประชานิยมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากเป็นนโยบายที่แทรกแซงตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดข้าว หรือ ตลาดแรงงาน ทำให้ตลาดดังกล่าวมีปัญหา นอกจากนี้ ยังเป็นการซ่อนหนี้ไว้ในที่ต่างๆ โดยเฉพาะในแบงก์รัฐ ทำให้รัฐบาลต้องนำงบประมาณมาชำระหนี้

"รัฐบาลมีแผนจะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า หากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางวกกลับมาที่เอเชีย หากไทยไม่เก็บออมช่วงนี้และมีความลำบากมาถึง เราก็จะผ่านไปอย่างยากลำบาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว

ผวาใช้จ่ายเกินตัวชนวนก่อวิกฤติ

เขากล่าวด้วยว่า จะเห็นได้ว่าปัญหาการเงินการคลังได้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก โดยรอบ 40 ปี มีถึง 63 ครั้ง บางประเทศเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งเป็นเพราะการใช้จ่ายเงินที่เกินตัว

"รัฐบาลเองควรคิดให้หนักขึ้นถึงการใช้เงินให้เหมาะสม และใช้ในโครงการที่จำเป็นจริงๆ อย่าไปเบียดบังการใช้เงินในอนาคตที่อาจไม่เหลืองบลงทุน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลขาดความคล่องตัวในการดูแลปัญหาของประเทศ สุดท้ายก็จะลากยาว จนเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ"เขากล่าว

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ชี้ชัดแล้วว่า หากหนี้สูงถึงระดับ 70-80% จะมีปัญหาเศรษฐกิจตามมาแน่นอนทั้งจีดีพี จะลดลง 10% ใน 8 ปีต้นทุนการเงินก็เพิ่มอีก 4-5% จนถึงกู้เงินไม่ได้ไปอีก 3-5 ปี สรุปว่าในระยะเวลา 10 ปี ประเทศจะไม่มีการพัฒนาเกิดขึ้นเลย

เขากล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนเองก็มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ เพราะหากว่าวันหนึ่งประเทศเกิดวิกฤติ เอกชนก็จะล้มไปด้วย ฉะนั้น เราก็อยากเห็นการใช้จ่ายเงินที่มีกรอบชัดเจน

"สิ่งสำคัญ คือ การใช้จ่ายที่ระมัดระวัง และ รู้ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง ต้องมีความรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันไม่มีความรับผิดชอบตรงนี้ ถ้าเรามีกรอบชัดเจน และ ยกเลิกธรรมเนียมที่มีรายได้แล้วต้องตั้งงบกลางปีมาใช้จ่าย เราก็จะมีเงินที่เก็บออมไว้ในอนาคต"เขากล่าว

แนะแก้รธน.กำหนดกรอบใช้จ่าย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสนอทางออกในการสร้างกติกาบริหารเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ว่า นโยบายประชานิยมมีทั้งที่ดี แต่หากบริหารไม่ดีก็จะก่อผลเสียได้ ดังนั้นจึงเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อวางกรอบในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเสนอแก้ไขเพิ่มเติมใน 6 ประเด็น เรื่องแรก คือ ควรมีการวางกรอบของแหล่งเงิน ให้ตั้งกติกาในการหารายได้มาชดเชยที่ไม่ใช่การสร้างหนี้เพิ่ม แต่ให้เป็นแหล่งเงิน เช่น จากการจัดเก็บภาษีมาชดเชยจากการที่รัฐบาลใช้เงินในโครงการประชานิยม

ประเด็นที่สอง ในการแข่งขันกันทางการเมือง การหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองควรมีการวางกรอบให้ชัดเจนว่า จะนำเงินจากแหล่งไหนมาใช้ในโครงการประชานิยม และ จะจัดเก็บภาษีจากส่วนใดมาชดเชย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพทั้งสองด้านที่ชัดเจน ประการที่สาม การดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร เช่นการจำนำไม่ควรกำหนดราคาจำนำสูงเกินราคาตลาด

ประการที่สี่ รัฐสภาควรทำหน้าที่กำกับดูแลทั้งด้านการหารายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ทั้งผลักดันหลักเกณฑ์หน้าผาการคลัง เช่นเดียวกับสหรัฐ ซึ่งควรศึกษาหาแนวทางว่าทำได้หรือไม่ ประการที่ห้า รัฐบาลควรประเมินทุกโครงการโดยจัดทำบัญชีมาร์ค ทู มาร์เก็ต และเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นประจำ และประการที่หก ควรปิดช่องให้การกู้นอกงบประมาณ โดยสามารถทำได้เฉพาะกรณีเร่งด่วนเท่านั้น

นักวิชาการหวั่นเครดิตประเทศพัง

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การสร้างวินัยทางการคลังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรัฐบาลมีภาระหนี้จำนวนมาก และ หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนก็จะไม่เชื่อมั่น อัตราดอกเบี้ยในการระดมทุนก็จะสูง รัฐบาลก็จะมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา

"ในปี 2540-2541 ระดับหนี้เราต่ำมากหรือไม่เกิน 20% ต่อจีดีพี พอเกิดปัญหาสถาบันการเงิน เราก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะรัฐบาลมีหนี้น้อย ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ฉะนั้น การรักษาวินัยการคลังจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศ"เขากล่าว


ชี้ราคาข้าวในประเทศชะลอ

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวสารในประเทศปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากไม่มีความต้องการซื้อข้าวในตลาด เนื่องจากขณะนี้ภาคการส่งออกข้าวในตลาดต่างประเทศชะลอตัว ทำให้ผู้ส่งออกข้าวมากดราคารับซื้อข้าวสารกับผู้ประกอบการโรงสี โดยเฉพาะข้าวนึ่งได้ปรับตัวลดลงจากกระสอบ (100 กก.) ละ 1,600 บาท ในช่วงเดือนก.พ. ลดเหลือกระสอบละ 1,480 บาท ส่งผลให้ข้าวขาวปรับตัวลดลงด้วย

นอกจากนี้ ปริมาณข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากที่ชาวนานำข้าวออกมาขายในตลาดมากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาลได้ เพราะติดปัญหาขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การออกใบประทวน และการจ่ายเงินล่าช้า

"มองว่าราคาข้าวสารขณะนี้ ลดต่ำลงมากแล้ว ไม่น่าจะต่ำกว่านี้ แต่ต้องติดตามภาวะการส่งออกข้าวว่าจะฟื้นกลับมาได้หรือไม่"นายมานัส กล่าว

ตลาดเก็งรัฐระบายสต็อกฉุดราคา

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาข้าวสารในตลาดปรับตัวลดลงมาก เป็นผลมาจากการระบายสต็อกข้าวสารของรัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำ ฤดูกาล 2554/55 ซึ่งมีการระบายออกมาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แต่ในวงการข้าวทราบกันว่าข้าวบางส่วนที่ระบายออกวนเวียนขายอยู่ในประเทศมากถึง 20-30% ของปริมาณข้าวที่ระบายออกมา ทำให้ราคาข้าวในตลาดจึงตกต่ำลง โดยข้าวขาว ปรับลดลงมาแล้ว 5-6% จากกระสอบละ 1,600 บาท เหลือกระสอบละ 1,520 บาท

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสี กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงสีบางรายได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ผ่อนผันการส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลางเนื่องจากโรงสีบางแห่งไม่สามารถสีแปรและส่งมอบข้าวได้ เพราะโกดังกลางที่จะรองรับพื้นที่เต็ม ทำให้ไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ทันกำหนดเวลา

แต่ยืนยันว่าโรงสีส่วนใหญ่ยังมีความพร้อมที่จะเปิดจุดรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร ในส่วนของโครงการรับจำนำนาปรัง 2556 ที่จะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้

โรงสีโวยถูกเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

จากปัญหาพื้นที่รองรับข้าวเต็มทำให้ โรงสีบางแห่งถูกเรียกเก็บค่ารับข้าวเข้าโกดังกลาง (ค่าเหยียบแผ่นดิน) จากผู้ประกอบการโกดังกลางกระสอบละ 10-12 บาท แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะแก้ปัญหาด้วยการกำหนดรายชื่อโกดังกลางที่มีพื้นที่ว่างให้โรงสีนำข้าวไปส่งมอบ แต่เมื่อมีการไปส่งมอบกลับถูกเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินอีก จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นายสมชาติ สร้อยทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ปัญหาการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ได้หารือกับประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) แล้วเพื่อเร่งรัดให้มีการกำหนดให้โรงสีต้องส่งมอบข้าวไปยังโกดังกลางที่กำหนดภายในเวลาที่กำหนดไว้ด้วยเช่นกัน เพราะหากมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนก็จะแก้ไขปัญหาค่าเหยียบแผ่นดินได้เพราะหากโกดังกลางไม่รับข้าวตามที่ อคส. กำหนดทั้งเจ้าของโกดังและเซอร์เวเยอร์จะมีความผิดทันที


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จี้รัฐ เลิกประชานิยม หนี้สาธารณะ พุ่ง

view