สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดโปงแก๊งโจรเสื้อสูท รีดเงินลูกหนี้ NPL แลกแฮร์คัตฮวบฮาบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       ASTVผู้จัดการรายวัน-แฉแบงก์ขนาดใหญ่หละหลวมปล่อยให้เหลือบหากิน กับลูกหนี้ คาดทำเป็นขบวนการร่วมมือกันตั้งแต่เจ้าหน้าที่เล็กๆไปจนถึงระดับใหญ่คุม บริหาร พฤติการณ์ เรียกรับเงินใต้โต๊ะบรรดาสินเชื่อรายใหญ่ที่เป็นเอ็นพีแอลแลกกับการ “แฮร์คัต” จำนวนมากโดยไม่มีเหตุผลรองรับ ไม่ต้องสืบทรัพย์ค้ำประกัน บันทึกหนี้สูญคราวละหลายสิบหลายร้อยล้านให้ทันที ธปท.พบจะจะกรณีเดียวเรียกเงิน 15 ล้านโอนเงินเข้าบัญชี ผอ.อาวุโสกว่า 8 ล้าน
       
       ไม่เพียงแต่ธนาคารรัฐอย่าง SMEแบงก์ หรือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่มีตัวเลขหนี้เสียหรือ NPLs (Non-performing Loans) เพิ่มปริมาณสูงจนกลายเป็นปัญหาสั่นคลอนระบบธนาคารเท่านั้น ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งก็กำลังถูกจับตามมองอย่างใกล้ชิดของคน ในแวดวงการเงิน
       
       ทั้งนี้ ASTVผู้จัดการรานวันได้รับเอกสารทั้งจากการตรวจสอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย และ หนังสือร้องเรียนพร้อมแนบจดหมายลาตายของบิดาจากลูกค้าที่สืบทอดธุรกิจของ ตระกูลยื่นต่อธนาคารแห่งนี้ เห็นว่าน่าสนใจมากจึงตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ปัญหาค่อยๆสะสมมาตั้งแต่ปี 2554ดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
       
       ในเอกสาร ระบุว่า เจ้าหน้าที่ระดับปฎืบัติการและระดับผู้บริหารบางคนที่เกี่ยวข้องกับด้านสิน เชื่อธุรกิจและการแก้ไขหนี้หลายคนการกระทำผิดจริง บ้างถูกลงโทษ ลดขั้น ตัดเงินเดือน ไปแล้วแต่ก็เป็นเพียงโทษสถานเบาเท่านั้นทั้งๆที่เป็นเรื่องร้ายแรงส่งผล กระทบต่อธนาคารและลูกค้า
       
       ในการตรวจสอบของธปท.เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2555 ธปท.ได้พบว่า จากการสุ่มตรวจสอบการแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคาร พบพิรุธธนาคารได้ลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้เอ็นพีแอลเป็นมูลค่าที่สูง โดยขาดเหตุผลที่หนักแน่นและขาดการเจรจาต่อรองอย่างเต็มที่เพื่อรักษาผล ประโยชน์ของธนาคาร ทำให้ได้รับการชำระหนี้ต่ำกว่าที่ควรจะได้
       
       ลูกหนี้รายใหญ่ที่สำคัญดังกล่าวนี้ เช่น บริษัท ส.(สมมุติ) ดำเนินธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ยอดหนี้เงินต้น 155.3 ล้านบาท และ ดอกเบี้ยค้างรับ 217.3 ล้านบาท รวม 372.6 ล้านบาท ธนาคารได้ดำเนินคดีกับลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเมื่อปี 2552 ศาลได้พิพากษาโดยการประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยชำระเงินต้น 121.5 ล้านบาท โดยให้ลูกหนี้ผ่อนชำระได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ถึงเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งลูกหนี้สมารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญามาตลอด
       
       จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ธนาคารกลับทำ TDR (Troubled Debt Restructuring ) ซึ่งเป็นวิธีที่ธปท.และ ธนาคาร ในขั้นตอนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยการคำนวณทำTDRนี้ธนาคารจะเอา ข้อมูลของลูกค้ามาพิจารณาร่วมกับนโยบายการแก้ไขหนี้ของตัวเอง เพื่อให้มีส่วนสูญเสียน้อยที่สุด หลังจากนั้นก็จะคำนวณออกมาว่า ควรจะจัดตารางการชำระหนี้ให้ลูกหนี้อย่างไร คิดดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ และจะให้ชำระคืนในกี่ปี เป็นต้น
       
       จากมูลหนี้ที่เหลืออีกจำนวนมาก ธนาคารทำTDR ยอมรับการชำระหนึ่เพียง 75 ล้านบาท ที่เหลือมูลค่ากว่า 80.3 ล้านบาทไม่ปรากฎเหตุผลที่ชัดเจนที่นำเสนอให้ตัดเป็นหนี้สูญ
       นอกจากนี้ จากการสอบถามฝ่ายกฎหมายทราบว่า ธนาคารสืบทรัพย์ผู้ค้ำประกันเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฆล และ ที่อยู่ตามภูมิลำเนาของลูกหนี้โดยไม่ได้สืบทรัพย์ทั่วประเทศ หรือ อย่างน้อยควรนับหัวเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เป็นต้น
       
       กรณีที่สอง บริษัท ด. ผู้ผลิตกระดาษ เป็นเอ็นพีแอลเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 และมีหนี้เงินต้นคงค้าง 925 .72 ล้านบาท มีดอกเบี้ยค้างรับนอกบัญชี 132.8 ล้านบาท ธนาคารได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ TDR เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ให้ลูกหนี้ชำระเงินต้นเพียง 370 ล้านบาท โดยธนาคารได้ลงบันทึกหนี้สูญ (Write-off) หนี้ที่จะลดให้ทันที
       
       เมื่อวันทำสัญญาโดยลูกหนี้ชำระหนี้ 20 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่เหลือ 350 ล้านบาทให้ชำระภายใน 3 เดือน และหากชำระหนี้ได้ตามสัญญา TDR จะลดหนี้เงินต้นให้ 555.72 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 .03 ของเงินคงค้าง และ ดอกเบี้ยนอกบัญชีทั้งจำนวน
       
       จะเห็นได้ว่า ธนาคารลดหนี้ให้เป็นจำนวนสูงทั้งที่ลูกหนี้ยังคงดำเนินธุจกิจอยู่ และ มีหลักประกันเป็นที่ดีนพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรมีราคาประเมินรวม 501.59 ล้านบาท (ราคา ณ มกราคม 2555)
       
       นอกจากนี้มีหลักประกันที่เป็นเครื่องจักรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจำนอง อีก 59 เครื่อง กรรมสิทธิของลูกหนี้มีราคาประเมินเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 เป็นเงิน 1,145 ล้านบาท
       
       กรณีที่สาม เป็นบริษัท อ.ดำเนินธุรกิจการ์เม้นท์ เป็นเอ็นพีแอลเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เงินต้นคงค้าง 501.74 ล้านบาท ธนาคารทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 โดยธนาคารได้ไรท์-ออฟส่วนที่จะลดหนี้ให้ทันที และ ให้ลูกหนี้ชำระเงินต้นเพียง 200 ล้านบาท โดยชำระในวันที่ทำสัญญา 20 ล้านบาท ส่วนเงินต้นที่เหลือ 180 ล้านบาท ให้ชำระภายใน 4 เดือน หากปฎิบัติได้ตามสัญญาก็จะลดหนี้ให้ 301.74 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 60.13 ของเงินต้น และ ดอกเบี้ยนอกบัญชีทั้งจำนวน
       
       กรณีนี้ธนาคารทำเหมือนกับกรณีที่สอง ลดหนี้ให้ในจำนวนที่สูง ทั้งที่ลูกหนี้ยังดำเนินธุรกิจอยู่ และ มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีราคาประเมินเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์2554 รวม 275.95 ล้านบาท
       
       นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักรที่ยังไม่ได้จดจำนองตามเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อที่ ประเมินราคาอีก 98.73 ล้านบาท นำมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
       
       ทำเป็นขบวนการ
       
       ย้อนไปเมื่อปี 2554 ผู้ตรวจการธปท.ได้เข้าตรวจสอบการบริหารงานภายในของสายงานพัฒนาสินทรัพย์ ธนาคารแห่งนี้ พบว่า มีกรณีที่น่าสงสัยถึง 4 บริษัทที่มีข้อสังเกตมีการอนุมัติแก้ไขหนี้รายใหญ่ผิดปกติ จึงสั่งให้ธนาคารตั้งกรรมการอิสระสอบสวนเรื่องดังกล่าว แต่ธนาคารขอตรวจสอบเอง โดยครั้งแรกตั้งทีมที่มีหัวหน้าชุดเป็นคนตรงไปตรงมา แต่หลังจากสอบสวนไปได้ระยะหนึ่งก็มีคำสั่งเปลี่ยนเปลงทีมสอบสวนชุดใหม่ซึ่ง ผลสอบสรุปว่า ทั้ง 4 รายเป็นการแก้ไขหนี้แบบปกติ ไม่มีมูลการทุจริต
       
       ปี 2555 ธปท.ได้เข้าทำการตรวจสอบในสายงานนี้อีกครั้ง พบว่า เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการและฝ่ายบริหารที่เคยเกี่ยวข้องกับ 4 กรณีต้องสงสัยต่างได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งกันหมด ซึ่งธปท.พบว่า การตรวจครั้งนี้ก็ยังเจอความผิดปกติของลูกหนี้อีก 2 รายที่เป็นรายเดียวกันกับปี 2554
       
       ในเอกสารระบุว่า ธปท.ได้พบหลักฐานการทุจริตที่ชัดเจนในการเรียกเงินตอบแทนจากการอนุมัติลด หนี้ให้ลูกหนี้ โดยบริษัทได้ออกเช็ค 15 ใบๆละ 1 ล้านบาทซึ่งเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่ธนาคารระดับผู้อำนวยการอาวุโส 8 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 7 ล้านบาทมีการถอนเป็นเงินสด ซึ่งเข้าใจว่า ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการแก้ไขหนี้รายใหญ่ของธนาคารบางคนของรับเป็นเงินสด
       
       ปัจจุบัน ธนาคารได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการอาวุโสรายนี้แล้ว ขณะที่อีกหลายคนยังคงทำหน้าที่ในธนาคารแห่งนี้ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ธปท.เชื่อว่า พฤติการณ์แบบนี้ในธนาคารแห่งนี้ทำกันเป็นขบวนการอย่างแน่นอน
       
       นอกจากนี้ ผลกระทบจากการทุจริตเรียกรับผลตอบแทนของเจ้าหน้าที่ธนาคารเหล่านี้ยังส่งผล กระทบต่อลูกหนี้ชั้นดี และ ลูกหนี้ที่กำลังจะฟื้นตัวให้กลายเป็นธุรกิจมีปัญหาอีกหลายกรณี
       
       พร้อมกันนี้ ในปี 2554 ธนาคารแห่งนี้ยังได้รับเอกสารร้องเรียนพร้อมทั้งหนังสือลาตายของทายาทสืบทอด ทำธุรกิจแทนบิดาที่เสียชีวิตระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างนี้นี้ด้วยโดย ในจดหมายลาตายที่เขียนด้วยลายมือได้บอกเล่าความไร้มนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่ ธนาคารกลุ่มนี้ โดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
       
       ASTVผู้จัดการรายวันจะนำรายละเอียดมาเสนอต่อในตอนต่อไปพรุ่งนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดโปง แก๊งโจรเสื้อสูท รีดเงิน ลูกหนี้ NPL แลกแฮร์คัต ฮวบฮาบ

view