สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาวะถูกจูงใจให้ตาบอด กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (2) : จรรยาบรรณที่ได้ผล

ภาวะ “ถูกจูงใจให้ตาบอด” กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (2) : จรรยาบรรณที่ได้ผล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงภาวะ “ถูงจูงใจให้ตาบอด” (motivated blindness) ว่าเป็นส่วนสำคัญของการทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพในชีวิตประจำวัน

อย่างเช่นการเอาเปรียบลูกค้าเล็กๆ น้อยๆ หรือแอบคิดสตางค์บริษัทโดยไม่สมควร ซึ่งมีโอกาสลุกลามเป็นการทุจริตคอร์รัปชันขนาดใหญ่ ถ้าเราไม่ลงมือเองก็สุ่มเสี่ยงจะ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เวลาที่เห็นคนอื่นทำผิด

ภาวะ “ถูกจูงใจให้ตาบอด” หมายถึงแนวโน้มที่เราจะหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองโดยอัตโนมัติในหัวเวลาทำในสิ่งที่ตงิดๆ ว่าไม่ควรทำ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น งานวิจัยด้านจิตวิทยาและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากมายยืนยันว่าเราถูกจูงใจให้ตาบอดเป็นปกติ แม้แต่คนที่คนอื่นมองว่า “ซื่อสัตย์” ที่สุดก็รู้ตัวยากมากเวลาที่ทำตัวไม่ถูกต้อง

งานวิจัยยังค้นพบด้วยว่า “มุมมอง” ของคนส่งผลต่อพฤติกรรมจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเชื่อว่าคนรอบตัวเราทุจริต ก็มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะทุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้โพลล์และสื่อที่ถามคำถามแย่ๆ อย่าง “รับได้หรือไม่ถ้าหากนักการเมืองโกงแล้วประเทศเจริญ?” (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคอร์รัปชันมีต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย ไม่เคยมีประเทศไหนที่มีมหกรรมการโกงแล้วเจริญอย่างยั่งยืนยาวนานกว่าประเทศที่คนโกงน้อยกว่า) จึงไม่ได้แย่เพราะถามคำถามแย่ (ชี้นำและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง) อย่างเดียว แต่ยังแย่เพราะตอกตรึงความเชื่อว่า “ใครๆ ก็โกง” ในสังคม ส่งผลให้คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทุจริตและรับได้กับการทุจริต จนถึงที่สุดก็ทำให้ความเชื่อนั้นกลายเป็นความจริงขึ้นมา

ในเมื่อวันนี้เรารู้แล้วว่ามนุษย์ทุกคนถูกจูงใจให้ตาบอดได้ง่ายโดยธรรมชาติ หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองโดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัวแทบทุกครั้งเวลาเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน แถมยังมีแนวโน้มที่จะโกงถ้าเชื่อว่าใครๆ ก็โกง วิธีบรรเทาการทุจริตคอร์รัปชันจึงปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้บังคับใช้กฎหมายฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่มืออาชีพเองจะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ภายในวงการของตัวเองด้วย รวมถึงหลักการและวิธีบังคับใช้จรรยาบรรณวิชาชีพ

วิธีบังคับใช้จรรยาบรรณที่ได้ผลจริงๆ ก็จะต้องสามารถ 1. ขจัดโอกาสการเกิดสถานการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตั้งแต่ต้น และ 2. เน้นเรื่องจรรยาบรรณว่าเป็นเรื่องของศีลธรรม ไม่ใช่ผลประโยชน์หรือแรงจูงใจอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ “พร่าเลือนทางศีลธรรม” ชั่วคราว

ในบริบทของธุรกิจแบบไทยๆ การบังคับใช้จรรยาบรรณที่ได้ผลจะต้องสามารถเอาโลกทัศน์แบบ “ระบอบอุปถัมภ์” ซึ่งอยู่ยั้งยืนยงและมีคุณูปการมากมายในสังคมไทย ทิ้งไว้นอกประตูเวลาทำงาน ใส่หมวก “มืออาชีพ” แทน เพราะศีลธรรมของระบอบอุปถัมภ์นั้นอาจขัดแย้งกับศีลธรรมของมืออาชีพก็ได้ แต่เราไม่รู้ตัวเพราะระบอบอุปถัมภ์ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเรามากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานธนาคารอาจบิดเบือนข้อมูลของลูกค้าคนหนึ่งให้ดูดีกว่าปกติ หว่านล้อมให้ธนาคารลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษ เพราะคิดว่าต้อง “ตอบแทนบุญคุณ” ที่ลูกค้าคนนี้ให้ของขวัญปีใหม่ราคาแพง พอมองเรื่องนี้เป็นเรื่อง “บุญคุณ” การลดดอกเบี้ยเลยกลายเป็นสิ่งที่ถูกศีลธรรมของระบอบอุปถัมภ์ แต่ผิดศีลธรรมของมืออาชีพ นั่นคือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกค้า

การไม่รับของแจกราคาแพง เช่น ประเมินด้วยสายตาว่าน่าจะแพงกว่า 3,000 บาท จึงเป็นจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานข้อหนึ่งของทุกสาขาอาชีพ หลายองค์กรบัญญัติเป็นแนวปฏิบัติ (code of conduct) เป็นการทั่วไป เป้าหมายของจรรยาบรรณข้อนี้อยู่ที่การตัดไฟแต่ต้นลม ช่วยขจัดความรู้สึกว่า “เป็นหนี้บุญคุณ” ที่ต้อง “ชดเชย” ตั้งแต่ต้น

จรรยาบรรณแบบนี้เข้าข่ายข้อ 1. ข้างต้น คือ “ขจัดโอกาสการเกิดสถานการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตั้งแต่ต้น” ตัวอย่างอื่นของการบรรลุเป้าหมายนี้มีอีกมากมาย เช่น

1. หลายองค์กรส่งผู้บริหารระดับสูงของตัวเองไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการของบริษัทลูกหรือบริษัทร่วม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของบริษัท แต่ให้รับได้แต่เบี้ยประชุม ส่วนโบนัสหรือผลตอบแทนอื่นใดที่กรรมการคนอื่นได้ต้องส่งคืนบริษัทแม่ หรือมูลนิธิของบริษัทแม่ เพราะถือว่าผู้บริหารคนนั้นไปเป็นกรรมการ “ในหน้าที่” ไม่ใช่ในฐานะคนนอกผู้เชี่ยวชาญ ถ้าปล่อยให้ได้โบนัสและค่าตอบแทนอื่นๆ นอกเหนือจากเบี้ยประชุม อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างหมวกสองใบที่คนคนเดียวใส่ คือ “กรรมการบริษัทลูก” และ “ผู้บริหารบริษัทแม่” ได้ โชคร้ายที่บริษัทไทยหลายแห่งไม่เคยคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพข้อนี้เลย โดยเฉพาะบริษัทของรัฐที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง ปตท.

2. การมีกลไก “กำแพงเมืองจีน” (Chinese Wall) ภายในองค์กรที่น่าเชื่อถือว่าเป็นกำแพงจริงๆ ไม่ใช่กำแพงมีรู เพื่อกั้นกลางระหว่างมืออาชีพฝ่ายต่างๆ ภายในองค์กรเดียวกันที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น กั้นระหว่างฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ (มีหน้าที่วิเคราะห์บริษัทอย่างเป็นกลาง) กับฝ่ายวาณิชธนกิจ (มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัท) ในสถาบันการเงิน หรือกั้นระหว่างฝ่ายขาย (มีหน้าที่หาโฆษณามาลง) กับกองบรรณาธิการ (มีหน้าที่ทำข่าวอย่างตรงไปตรงมาและเป็นอิสระ)

หลายปัญหาในหลายวงการเกิดจากการที่ “กำแพงเมืองจีน” ที่ควรจะมีกลับไม่มีอยู่ หรือไม่ก็เป็นรูพรุนไปหมดใช้การไม่ได้ เช่น นักข่าวในกองบรรณาธิการหลายคนนอกจากจะไม่สามารถทำข่าวที่เป็นลบต่อสปอนเซอร์โฆษณารายใหญ่แล้ว ยังต้องจำใจทำหน้าที่เป็นฝ่ายขายเสียเองเพราะรู้จักบริษัทต่างๆ ดีกว่าฝ่ายขาย ส่วนนักวิเคราะห์บางคนก็อาจถูกฝ่ายวาณิชธนกิจกดดันให้เขียนบทวิเคราะห์เชียร์หุ้นของบริษัทที่ฝ่ายวาณิชฯ กำลังอยากจีบมาเป็นลูกค้า

นอกจากจะต้องเขียนจรรยาบรรณให้ชัด บางครั้งต้องบัญญัติเป็นกฎเพื่อขจัดโอกาสเกิดภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน เรายังต้องเน้นว่าจรรยาบรรณเป็นเรื่องของศีลธรรม คือเป็นเรื่องของการทำใน “สิ่งที่ถูก” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ “พร่าเลือนทางศีลธรรม” ชั่วคราว

การเน้นว่าจรรยาบรรณเป็นเรื่องของศีลธรรมนั้นมีมากมายหลายวิธี วิธีอ้อมๆ บางวิธีอาจใช้ได้ผลกว่าวิธีบอกตรงๆ แดน อาริลลี (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคนโปรดของผู้เขียน เคยยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาก - ในการทดลองซีรีส์หนึ่ง ทำติดกันสามครั้ง นักวิจัยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแอบโกงเงินจากนักวิจัยได้ การทดลองแต่ละครั้งมีเงื่อนไขสองข้อ แตกต่างกันแค่รูปแบบประโยคที่บอกผู้เข้าร่วมการวิจัย ในเงื่อนไขแรก นักวิจัยบอกว่าพวกเขาสนใจว่า “การโกงเกิดขึ้นบ่อยขนาดไหนในมหาวิทยาลัย” ในเงื่อนไขที่สอง นักวิจัยบอกว่าอยากรู้ว่า “มหาวิทยาลัยต่างๆ มีคนขี้โกงมากแค่ไหน”

ผลการทดลองปรากฏว่าความแตกต่างเล็กๆ ของประโยคสองประโยคนี้กลับส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ผู้เข้าร่วมการทดลองในเงื่อนไข “การโกง” โกงเงินไปมากกว่าคนที่ได้ยินประโยค “คนขี้โกง” และฝ่ายหลังไม่มีใครโกงเลย อาริลลีบอกว่าผลนี้พบทั้งในการทดลองซึ่งหน้าและการทดลองออนไลน์ ซึ่งหมายความว่าสถานะ “นิรนาม” ในโลกออนไลน์ไม่อาจบดบังความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็น “คนขี้โกง” หรือเปล่า เขาสรุปว่า คนเราอาจยอมให้ตัวเองโกงบ้างเป็นบางครั้ง แต่มักจะไม่ยอมโกงถ้าหากการโกงนั้นแปลว่าจะรู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนขี้โกง”

เราจะใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบนี้ได้อย่างไรในโลกจริง เพื่อบังคับใช้จรรยาบรรณวิชาชีพให้ “ศักดิ์สิทธิ์” ? ที่น่ายินดีคือมีตัวอย่างให้เห็นแล้วทั่วโลก

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาวะ จูงใจ ตาบอด จรรยาบรรณวิชาชีพ จรรยาบรรณ ได้ผล

view