สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองอนาคตเศรษฐกิจเอเชีย อาเซียน ไทย สไตล์เจ้าสัวซีพี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

     เจ้าสัวซีพี “ธนินท์ เจียรวนนท์”เผย เคล็ดลับลงทุนให้ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เลือกลงทุนในประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก หาพันธมิตรทางธุรกิจ เสริมศักยภาพและเครือข่าย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยช่วยลดต้นทุน ย้ำในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ
       นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มองอนาคตเศรษฐกิจเอเชีย อาเซียน และไทยว่า หาก จะมองเศรษฐกิจโลกในวันนี้ จะเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มฟื้นแล้ว ดังนั้น ถ้าใครคิดจะไปลงทุนอะไรที่อเมริกาจะต้องรีบ เพราะถ้าเศรษฐกิจอเมริกาเริ่มฟื้นขึ้นเมื่อไหร่ต้องระวังเรื่องเงินจะไหล กลับอเมริกา
       สำหรับเศรษฐกิจยุโรปนั้นแม้ปัจจุบันยังไม่ฟื้น แต่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นอย่างแน่นอน เพียงแต่รอเวลาว่าจะช้าหรือสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อมีวิกฤติก็ย่อมจะตามมาด้วยโอกาส ถ้าไม่มีวิกฤติก็ไม่มีโอกาส ฉะนั้น ฉะนั้นต้องสนใจในวิกฤติที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
       ทางซีพีนั้นก็ศึกษาเรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว โดยเข้าไปถือหุ้นบ้างหรือไปควบรวบธุรกิจบ้าง ทั้งนี้นโยบายของผมคงไม่ใช่ว่าเราจะเข้าไปบริหารในธุรกิจนั้น ๆ แต่อย่างใด แต่เราเลือกบริษัทที่มีความสามารถ แล้วเข้าไปถือหุ้น ซึ่งได้ประโยชน์ 2 ทาง คือ ทางหนึ่งเราไปอาศัยที่เขามีเครือข่ายอยู่เพื่อนำสินค้าของไทยไปผ่านทางเครือ ข่ายของเขาเข้าสู่ตลาดยุโรปหรืออเมริกา อีกทางหนึ่งเราก็จะได้ความรู้จากบริษัทที่มีประสบการณ์มีความสามารถ นำไปใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนา
       อย่างเช่น ซีพีมีการลงทุน 15 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ตรงนี้ถือเป็นโอกาส ถ้าประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มีโอกาสอะไรให้เข้าไปลงทุน หากเข้าไปลงทุนก็ต้องไปแข่งขันกับนักธุรกิจที่สำเร็จแล้วในแต่ละธุรกิจ ซึ่งต้องใช้พลังมากแล้วอาจจะไม่มีกำไรหรือขาดทุน
       จากประสบการณ์นั้น นายธนินท์ กล่าวว่า ต้องนำธุรกิจที่มีเทคโนโลยี ธุรกิจที่ทันสมัยที่สุดเข้าไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ก็มีข้อควรระวังประการหนึ่งคือประเทศที่กำลังพัฒนานั้นทุกอย่างเขายังไม่ พร้อม ในความสำเร็จของซีพีนั้นถ้าจะไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนา ต้องไปลงทุนเพื่อทำทุกอย่างให้พร้อม โดยไม่ต้องอาศัยคนอื่นมาช่วยทำความพร้อมให้ เพราะถ้ารอไปก็อาจเสียเวลา มิฉะนั้น จะขาดทุนแน่นอน
       “นั่นคือ โอกาส และคือวิกฤติ ซึ่งวิกฤติโอกาสเป็นของคู่กัน สำหรับผมนั้นคิดเสมอว่าพอมีโอกาสมา วิกฤติจะตามมา มีหวานก็ต้องมีขม ถ้าวันนี้เราเจริญรุ่งเรือง จะต้องระวังว่าวันข้างหน้าจะต้องมีปัญหาแน่นอน“ นายธนินท์กล่าว
       ฉะนั้นวิกฤติที่เกิดขึ้น ยุโรป อเมริกา จึงเป็นโอกาสที่ดีกับเอเชีย เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลง เอเชียเริ่มมีเงินทุนสะสม อย่างเช่น ประเทศจีนเมื่อ 30 กว่าปี ไม่มีเงินต่างประเทศ แต่วันนี้ประเทศจีนมีเงินทุนสะสมไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นที่ 1 ของโลกภายในเวลาเพียง 33 ปี
       ในประเทศจีนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 63 ปี ผมเชื่อมั่นว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวของการเติบโตในช่วง 63 ปีที่ผ่านมา เพราะในเวลานี้จีนพร้อมทุกอย่าง
       ในเรื่องการพาณิชย์ในจีนนั้น เพิ่งเติบโตมาได้ 10 กว่าปีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในอดีตจีนไม่มีนักธุรกิจ แต่ปรากฏว่าธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ของเมืองจีนมาจากธุรกิจที่มีอายุเพียง 16 -17 ปี แสดงว่าจีนใช้เวลาเพียง 16 - 17 ปีก็สามารถสร้างภาคธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้
       หากจะกล่าวถึงด้านการค้าปลีกของจีน จะเห็นว่า จีนเพิ่งเริ่มมาแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น หากเทียบกับประเทศไทยถือว่ายังห่างไกลกันอยู่ ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นจีนก็เพิ่งเริ่ม ฉะนั้นจึงอยู่ที่ความสามารถของเรา โดยควรจะเอาความได้เปรียบที่มีความชำนาญ และมีความเข้าใจไปลงทุน เพราะวันนี้ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะไปลงทุนได้
       ดังนั้น สำหรับเอเชียซึ่งมี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย นั้น เชื่อมั่นว่าจีนเป็นผู้นำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีประสบการณ์จากการได้เห็นความสำเร็จในหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมาของประเทศจีนเอง ที่สำคัญเวลานี้จีนมีความพร้อมทุกอย่าง เมื่อ 33 ปีก่อนที่ผมมีโอกาสไปจีน ถ้าเปรียบเหมือนคนที่เพิ่งเกิดในตอนนั้นเวลานี้ก็อายุ 33 ปี และถ้าตอนนั้นเขาอายุ 7 ขวบ ตอนนี้ก็ 40 ปี นี่คือความพร้อมเรื่องคน เงิน
       นอกจากนี้ ยังมีสนามบิน รถไฟใต้ดิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำชุดใหม่ก็มีความพร้อม เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับเข้าไปลงทุนในจีน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปลงทุนอย่างเดียว หรือมองว่าจะเอาสินค้าอะไรจากประเทศไทยไปขายที่เมืองจีน ควรมองด้วยว่าจะเอาสินค้าอะไรจากเมืองจีนมาขายที่เมืองไทยด้วย เพราะจีนสมัยก่อนไม่มีเงินตราต่างประเทศ เขาต้องขายสินค้าออกต่างประเทศ แต่ในวันนี้จีนมีเงินมากมาย เชื่อมั่นว่ายังต้องเกินดุลการค้า แม้จะไม่เท่าสมัยก่อนก็ตาม อย่างที่เห็น ๆ กันตลาดของจีนยิ่งใหญ่กว่าอเมริกาหลายเท่า เพราะประชากรจีนมี 1,300 ล้านคน วันนี้เป็นโอกาสเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด อย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านพ้นไป จะไปซื้อก็ได้ หรือไปขายก็ได้
       ที่น่าสนใจเพราะประเทศจีนมีจำนวนประชากรไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านคนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ที่ผ่านมามีการกล่าวกันว่าการค้าผักผลไม้ระหว่างไทยกับจีนนั้นมีความได้ เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ แต่ในส่วนของผมกลับคิดว่าเราได้เปรียบ ขอให้ลองคิดดู ไทยไปซื้อผลไม้ของจีน คนไทยทุกคนได้กินผลไม้จากจีน 70 ล้านคน แต่ถ้าเพียงแค่ 10% ของคนจีนมากินผลไม้ไทยก็เท่ากับ 130 ล้านคนแล้ว ฉะนั้น ที่ว่าไทยเสียเปรียบ จึงไม่ควรคิดอย่างนั้น ต้องคิดว่ามีโอกาสมาแล้วจะทำอย่างไร ใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ ตลาดจีนยิ่งใหญ่มาก อยู่ที่ว่าเราจะเสียเปรียบเพราะความรู้ความสามารถของเราไม่ถึงหรือเปล่า
       ในสมัยที่ซีพีเข้าไปลงทุนนั้น เงินทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักธุรกิจจีนไม่มีเงิน ไม่มีทุน ต้องอาศัยทุนต่างประเทศ ผมเคยพูดกับสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลที่เข้าไปลงทุนที่ประเทศจีน ใน 1 ปีมีการประชุมใหญ่กัน 1 ครั้งซึ่งจะมีนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลมากันถึง 2,000 - 3,000 คน ผมบอกว่าเวลานี้การกลับมาลงทุนที่จีน สมัยโบราณเขาบอกว่า “มังกรข้ามน้ำข้ามทะเลสู้งูท้องถิ่นยังไม่ได้” แต่เวลานี้ต้องเป็น “มังกรข้ามน้ำข้ามทะเลมาเจอมังกรท้องถิ่น” เพราะคนจีนเก่ง ไม่แพ้ใคร แล้วเขารู้เรื่องท้องถิ่น แต่ถ้าถามว่าเราไปลงทุนในจีนได้ไหม ขอตอบว่าไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปอย่างเดียว เราต้องมีอะไรที่นักธุรกิจจีนยังไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ หรือทำสู้เราไม่ได้ไปด้วย
       ส่วนประเทศญี่ปุ่น เปรียบเหมือนคนที่กำลังค่อย ๆ แก่ลง ปัจจุบันเมื่อเวลาเราไปดูงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะเห็นแต่คนแก่ ที่ที่ผมไปดูโรงงาน ก็มีแม่บ้านมาทำงาน แล้วพอถึงช่วงที่แม่บ้านกลับไปทำงานบ้านโรงงานก็ปิดในช่วงนั้น ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกมาลงทุนต่างประเทศ แล้วก็ผลิตสินค้าจากต่างประเทศส่งกลับไปขายที่ญี่ปุ่น ซึ่งในวันนี้ซีพีเองก็เลือกร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่โต มาก เพราะถ้าเป็นบริษัทใหญ่เขาก็ไม่ต้องการเรา แต่เราเลือกบริษัทกลางที่เขามีความคิดที่อยากจะออกมาลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มี Trademark อยู่ เราร่วมกับเขา ใช้ความรู้ของเขา
       ขณะเดียวกันเขาก็มาใช้ความรู้ในพื้นที่ในท้องถิ่นของเรา ด้วยวิธีนี้ 1+1 จึงกลายเป็น 5 เป็น 10 ไม่ใช่แค่ 2 หรือจะเลือกไปลงทุนกับเขาในบริษัทแม่ก็ได้ เพราะ P/E ต่ำมาก แค่ 5 หรือ 6 แต่ไม่ถึง 8 ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นก็เก่งมาก พอเขาลดเงินเยนอ่อนลง หุ้นขึ้นมาก่อนเลย ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นวันนี้จึงยังเต็มไปด้วยโอกาสที่เราน่าจะไปศึกษา ยิ่งในสถานการณ์นี้ วันนี้จีนกับญี่ปุ่นมีปัญหากันอยู่ ทำให้ญี่ปุ่นที่คิดจะลงทุนที่เมืองจีนเปลี่ยนใจหันมาลงทุนที่เมืองไทยแทน นี่ยิ่งเป็นโอกาส
       สำหรับประเทศอินเดียก็น่าสนใจ โดยเฉพาะซีพี เพราะเราทำเรื่องอาหารการกิน เราไม่ได้ส่งสินค้าไปจากเมืองไทย เราไปผลิตที่นั่น ขายที่นั่น ฐานะจนอย่างไรก็ต้องกิน
       ในการลงทุนของผม ผมเลือกประเทศที่มีประชากรมากๆ แล้วใช้เทคโนโลยีที่ใหม่ เพื่อให้ผลิตสินค้าในต้นทุนต่ำสามารถขายได้ในราคาถูก สอดคล้องกับผู้บริโภคในประเทศที่เป็นประชากรที่ยากจน
       อย่างประเทศบังคลาเทศ ซีพีก็ประสบความสำเร็จในการลงทุน เพราะใช้เทคโนโลยีใหม่ไปลงทุนในประเทศที่ด้อยพัฒนา อย่าเข้าใจผิดและคิดว่าถ้าเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาแล้วต้องเอาธุรกิจที่ด้อย พัฒนาไปลงทุน ในประเทศที่ด้อยพัฒนายิ่งต้องเอาธุรกิจที่ทันสมัยไป ถึงจะชนะ เพราะจะทำให้ต้นทุนถูก เทคโนโลยีมีไว้เพื่ออะไร ไม่ใช่ทำให้สินค้าราคาแพง แต่เทคโนโลยีทำให้สินค้าราคาถูก อาจเรียกว่า 2 สูง คือ ลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง แต่สินค้าผลิตมามีต้นทุนต่ำ
       วิกฤติที่เกิดขึ้นอยู่ในยุโรป อเมริกา ถือ เป็นโอกาสเช่นกัน สำหรับอเมริกาในวันนี้อย่าไปนึกว่าไม่ควรไปลงทุน ซีพีจะไปลงทุนที่อเมริกา สร้างโรงงานที่อเมริกา ซึ่งผู้คนทั่วไปอาจแปลกประหลาดใจ เพราะเราจะไปสร้างโรงงานที่ทันสมัยที่สุด ไม่มีคนงาน มีแต่ช่างเทคนิค มีแต่พนักงาน ต้องอย่าลืมว่าเทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรที่หุ่นยนต์ หรือเครื่องจักรทำไม่ได้ แต่แน่นอนบางอย่างเครื่องจักรอาจทำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจนั้นเราก็อย่าไป คือ บางคนคิดว่าถ้าไปลงทุนที่อเมริกาจะมีปัญหาเรื่องแรงงาน แต่ลืมนึกถึงจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยี ว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เราก็เลือกสินค้าที่ไม่ต้องใช้แรงงาน นอกจากนี้ทั้งอเมริกา และยุโรปก็มีความพร้อม มีตลาดยิ่งใหญ่ถึง 15 ประเทศ รวมแล้ว 3,000 ล้านคน แต่ที่สำคัญคือเมื่อไปทำธุรกิจต้องไปช่วยเอาสินค้าเขากลับมาขายในอาเซียน บ้าง ไม่ใช่ไปขายเขาอย่างเดียว อย่างนี้เราไปที่ไหนเขาก็ต้อนรับเรา ถ้าเรามัวแต่ไปเอาเปรียบเขาหรือไปขายสินค้าให้เขา อันนี้ก็ไม่ฉลาดพอ และยุคสมัยนี้เอเชียเริ่มมีเงินที่จะซื้อสินค้าจากอเมริกา ยุโรปได้แล้ว
       ไทยต้องศึกษาว่ามีธุรกิจอะไรที่ไปลงทุนแล้ว สามารถนำกลับมาขายเอเชียได้ หรือขายไปทั่วโลกได้ด้วย เพราะอเมริกาเป็นประเทศยิ่งใหญ่ หลายประเทศต้องเกรงใจเขา ต้องซื้อสินค้าเขา แต่ถ้าเราไปผลิตที่นั้น แล้วใช้ Made in USA ผลิตจากอเมริกาขายไปในประเทศที่ไม่ซื้อของจากเมืองไทย
       อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขการลงทุนที่น่าสนใจว่า ในอาเซียนนั้นนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เลือกมาลงทุนที่เมืองไทยเป็นอันดับ หนึ่งแล้ว แต่เป็นประเทศอินโดนีเซียแทน จากตัวเลขปีที่ผ่านมา ต่างประเทศเอาเงินไปลงทุนที่ประเทศอินโดนีเซีย 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 2 คือประเทศมาเลเซีย 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 3 ประเทศเวียดนาม 8,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 4 คือประเทศไทย 8,100 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เห็นได้ว่าไทยยังสู้เวียดนามไม่ได้ สาเหตุก็อาจจะเป็นเพราะการเมือง หรือเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ คมนาคม ซึ่งเมืองไทยยังขาดอยู่
       ขณะเดียวกัน โอกาสของไทยไม่ใช่มีเฉพาะประเทศจีน ทางเลือกของไทยยังมีอีก อย่างเช่นในเวลานี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก ควรต้องไปศึกษาที่อินโดนีเซียด้วย เพราะเศรษฐกิจกำลังเติบโตในอัตราสูง ประชากรมีจำนวนมาก เป็นตลาดใหญ่ และที่น่าสนใจมากอีกประเทศหนึ่งคือประเทศพม่า โดยในช่วงแรกที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า อาจจะไปลงทุนอยู่ที่ชายแดนก่อน อาศัยใช้แรงงานของพม่า จากนั้นค่อยก้าวเข้าไปลงทุนในพม่า แล้วเอาสินค้าเข้าไปขายให้กับพม่า
       สำหรับประเทศไทย หากมองในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม “อุตสาหกรรมรถยนต์” ของไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน โดยในปีหนึ่งผลิตได้ 2,500,000 คัน ถือเป็นที่ 5 ของเอเชีย และเป็นที่ 9 ของโลก อุตสาหกรรมรถยนต์จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย เฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญมีถึง 3,000 ชิ้นส่วน และมีอะไหล่ต่าง ๆ อีกถึง 30,000 ชิ้นส่วน ไม่เพียงเท่านั้น ยังก่อให้เกิดการสร้างแรงงานที่มีความรู้ มีรายได้สูง อุตสาหกรรมนี้ไทยมีความได้เปรียบและเป็นต่ออยู่ จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสไปตกอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย
       อีกธุรกิจหนึ่งในไทยที่น่าสนใจมาก คือ “ท่องเที่ยว” ซึ่ง ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวที่เมืองไทย 19 ล้านคน ปี 2555 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวที่เมืองไทย 22 ล้านคน ปีก่อนนั้นเราได้เงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวกว่า 700,000 ล้านบาท ปีที่ผ่านมามีรายได้เพิ่มขึ้น 16% ก็ประมาณกว่า 800,000 ล้านบาท ในจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดนั้นเป็นนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด คำว่ามากที่สุดนี้ยังไม่ใช่จำนวนมหาศาล คนจีนมาเที่ยวเมืองไทย 2.7 ล้านคน แต่ลองคิดดูสิว่า เมืองจีนมีประชากร 1,300 ล้านคน ถ้าเจาะจงไปศึกษาคนจีนจำนวน 10% ว่าคุณมาเที่ยวเมืองไทยแล้วต้องการอะไร เหมือนเช่นที่ถ้าทำธุรกิจเราต้องไปหาข้อมูลก่อน จริงๆ 10% นี่ก็มากไปเพราะ 130 ล้านคนถ้ามาเที่ยวไทยเราจะมีโรงแรมที่ไหนให้พัก ฉะนั้น เอาแค่ 1% ก็พอ แต่เจาะจง 1% ที่รวยที่สุด ไปถามคน 1% ที่รวยที่สุดว่า เมืองไทยต้องมีนโยบายอะไร หรือต้องทำอะไร คุณถึงจะมาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งวันนี้ทั่วโลกมาเที่ยวไทยเพียง 22 ล้านคน ถ้าเราเจาะ 1% ของจีนร่ำรวย ก็จะได้ 13 ล้านคน แค่นี้ผมว่าเราก็เดือดร้อนแล้ว เครื่องบิน โรงแรม ภัตตาคาร จะหาที่ไหนให้ได้
       นอกจากนี้ ยังพบว่า ตัวเลขที่คนจีนประเทศเดียวไปเที่ยวยุโรปแล้วซื้อของมี Trademark กลับไปคิดเป็นจำนวนมากที่สุดถึง63% ขณะที่คนทั่วโลกซื้อของที่แพงที่มี Trademark 37-38% แล้วทำไมประเทศไทยถึงไม่เปิดเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีน เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนมาซื้อของที่มี Trademark ที่เมืองไทยแทน ไทยจะได้ภาษีการค้า ที่สำคัญไทยจะได้สร้างคนด้วย อย่างเช่น ท่องเที่ยว ถ้าคนจีน 1% หรือ 13 ล้านคน มาเที่ยวแล้วมาซื้อของที่มีมูลค่าสูง มี Trademark ก็ควรจะต้องมีพนักงานที่รู้เรื่องเหล่านี้มาอธิบายมาขาย แล้วก็พูดภาษาจีนเป็น หากไปยุโรปจะเห็นว่าทุกร้านที่ขายสินค้า Trademark จะมีพนักงานที่พูดภาษาจีนเป็น ฉะนั้น เราต้องสร้างคนอย่างนี้
       สำหรับซีพีนั้น ก็มีโรงเรียนมีมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างคนป้อนตลาด เช่น สร้างคนให้พูดภาษาจีนเป็นแล้วก็ขายจิวเวลรี่ ขายสินค้าที่มี Trademark ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนคนที่ความสามารถเช่นนี้อยู่ ไม่ใช่จบมหาวิทยาลัยออกมาแล้วไม่มีงาน ในเรื่องนี้ควรจะศึกษาว่าต่อไปไทยจะขาดแคลนแรงงานด้านไหน
       หรืออย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เราเป็นที่ 1 ของอาเซียน ไทยควรต้องสร้างช่างเทคนิค อย่างเช่นประเทศเยอรมนี นั่นคือเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแล้วมือดำ หมายความว่าทำงานเป็น ทำด้วยมือ ไม่ใช่มัวแต่เรียนหนังสือ เราจะต้องสร้างคนอย่างนี้ โดยไปสอบถามแต่ละบริษัทที่จะมาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทยว่า คุณเอาหลักสูตรมา เอาอาจารย์มาสอนด้วยเลย จะจับคู่กับมหาวิทยาลัยไหนของไทยก็ได้ แล้วระหว่างเรียนอยู่คุณเอาไปฝึกงานด้วย จบแล้วให้เขารับไปทำงานด้วยเลย
       ในเรื่องคนของไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะยังมีแรงงานที่เป็นคนหนุ่มสาว แต่ต่อไปต้องคอยระวัง เรากลายเป็นประเทศที่มีคนแก่ ไม่มีหนุ่มสาวทำงาน มีแต่เป็นภาระเขา สัดส่วนมันต้องให้เหมาะสม ไม่ใช่จะคุมกำเนิดอย่างเดียว ทำไมทั่วโลกสนใจไปจีนก็เพราะเขามีจำนวนประชากร 1,300 ล้านคน ทุกคนมองว่าตลาดเขายิ่งใหญ่ เช่นเดียวกันถ้าจีนยังไม่รีบแก้ปัญหาการมีลูกคนเดียว ผมว่าอันตราย ผมยังมองไม่เห็นว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นอย่างไร ซึ่งในวันนี้เราเริ่มเห็นสถานการณ์แบบนี้ในญี่ปุ่นแล้ว วันหนึ่งเราจะเห็นจีนเป็นเหมือนญี่ปุ่น
       ฉะนั้น สำหรับไทย อันดับแรกให้เลือกจีน ไปซื้อขายกับจีน เอาของไปขายที่จีน เอาสินค้าของจีนมาขายในอาเซียน ซึ่งมีไทยเป็นจุดศูนย์กลาง และวันนี้ไม่ควรมองเฉพาะจีน แต่ควรจะมองไปที่อินโดนีเซีย เพราะอินโดนีเซียเริ่มมีเงิน นอกจากนี้ควรคิดต่อไปว่าเรามีอะไรไปขายมาเลเซีย เรามีอะไรไปที่สามารถซื้อจากพม่าไปแล้วนำขายให้ประเทศอื่นได้บ้าง ต้องคิดว่าสมัยก่อนเอเชียไม่มีเงิน จีน 33 ปีก่อนขาดเงินตราต่างประเทศ แต่วันนี้มีเงินตราต่างประเทศเป็นที่ 1 ของโลก พวกเราก็ต้องรีบศึกษาดูสิว่ามีสินค้าอะไรจากอเมริกาจากยุโรปมาขายเมืองจีน อย่ามัวแต่คิดว่าเราจะไปขายให้กับยุโรปอเมริกา วันนี้ยุโรปอเมริกามีสินค้าอะไรบ้างที่เราน่าจะซื้อมาขาย
       วันนี้ “อีคอมเมิร์ซ” ธุรกิจบนอินเทอร์เน็ต จะทำให้ธุรกิจจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ มีโอกาส ไทยต้องสนใจเรื่องธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายบนอินเทอร์เน็ต ซีพีเองก็พยายามทำ แต่สินค้าของซีพีเป็นของสด มีอายุ มีเวลา จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย ขยายการขนส่งโลจิสติกส์ DC (Distribution Center) แต่ผมเชื่อว่าวันไหนที่เราทำสำเร็จ เครือข่าย โลจิสติกส์ และการขนส่งนี้จะทำให้เรารับส่งสินค้าอะไรก็ได้ เพราะว่าเราทำของที่ยากที่สุดแล้ว เมื่อจัดส่งไปก็มีเวลาจำกัด รถยนต์ก็ไม่ใช่รถขนส่งธรรมดา ความเย็นศูนย์องศา แต่ซีพีก็ชอบทำอะไรที่ยากที่สุด แล้วถ้าเราทำสำเร็จนั่นหมายความว่าคู่แข่งขันก็น้อย
       บางท่านก็หาว่าซีพีผูกขาด แต่จริง ๆ ไม่ใช่ บางคนหาว่าเราโง่ ทำไมไปทำอะไรที่ยากอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าทำอะไรที่ง่ายเกินไป พอเราทำสำเร็จ ใคร ๆ ก็ทำสำเร็จตามกันได้ คนฉลาดมักจะทำอะไรง่ายๆ แล้วก็กำไรง่ายๆ แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรหรอกที่ทำง่าย ๆ แล้วกำไรง่ายๆ คุณคิดเป็นผมก็คิดเป็น คุณทำเป็นผมก็ทำเป็น
       นอกจากนี้ขอฝากไปถึงรัฐบาลในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจขนาดจิ๋ว กลาง ใหญ่ ว่ามีใครเกิดมาก็เป็นผู้ใหญ่เลยบ้าง ธุรกิจก็มาจากครอบครัว แล้วพอเติบโตมากขึ้นใหญ่ ครอบครัวก็กลายเป็นของสังคม และเมื่อธุรกิจยิ่งใหญ่จะมีเรื่องหนีภาษี เรื่องไม่โปร่งใสไม่ได้ ยิ่งถ้าเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ยิ่งเข้มงวด เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมธุรกิจจิ๋วคือแรกเกิด มาฟักลูกไก่ พอออกมาอ่อนแอ ต้องมีอะไรมาดูแล ที่สำคัญสุดคือ “การเงิน” ธุรกิจจิ๋ว หรือธุรกิจแรกเกิดต้องมีมาตรการดูแล สถาบันการเงินต้องมีหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อที่แตกต่างไปจากธุรกิจที่เติบ โตแล้ว ไม่ใช่พิจารณาเพียงแค่หลักประกันด้านทรัพย์สิน แต่ต้องดูว่าโครงการนี้มีโอกาสสำเร็จหรือไม่ ถ้ามีโอกาสสำเร็จต้องให้กู้ไปเลย เช่น หากธุรกิจต้องการหมื่นหนึ่งเราก็ต้องก็ให้เขาหมื่นหนึ่ง ไม่ใช่ว่าให้คุณไปหามาอีก 1:1 หรือ 1:2 แล้วเขาจะไปเอาเงินที่ไหน นอกจากนี้ อย่าไปห่วงว่าจะเสียหาย หากในจำนวน 100 คน ทำสำเร็จ 20 คน หรือ 100 คน ทำสำเร็จ 10 คน ใน 10 คนที่ทำสำเร็จนี้จะมีภาษีให้กับรัฐ
       ขอย้ำอีกครั้งว่า ธุรกิจไหนไม่เติบโตมาจากเด็ก มีผู้ใหญ่คนไหนที่นั่งอยู่นี่มาจากเด็กเพิ่งเกิด ธุรกิจก็เหมือนกัน ผมจึงคิดว่านักธุรกิจไทยเป็นเด็กกำพร้า ลองคิดดูสิว่าถ้ามีพ่อแม่มาช่วยดูแลสนับสนุนผมว่านักธุรกิจไทยไปสู่ในระดับ โลกได้แน่
       สำหรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และนโยบายกระทรวงการคลัง การที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจ จิ๋ว เล็ก กลาง ต้องไม่ใช่ในรูปแบบเดียวกันกับนักธุรกิจใหญ่ หากแบงก์จะบอกว่าธุรกิจมีหนี้ขนาดนี้ ต้องมีเงินมาเพิ่ม นั่นคือทำกับธุรกิจใหญ่ ผมเห็นด้วย เพราะต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งคู่ แต่กับธุรกิจจิ๋วแรกเกิดเราเอามาตรฐานเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องมี 4 ระบบ จิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ โดยระบบธุรกิจจิ๋วแรกเกิด เราดูแลอย่างไร เขาอ่อนแอ ใช้เงินไม่มาก เสียก็ไม่มาก แต่เด็กวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ถ้าเราไม่สร้างธุรกิจจิ๋วในวันนี้จะมีผู้ใหญ่ จะมีธุรกิจยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าได้อย่างไร แล้วการสร้างธุรกิจเล็ก ธุรกิจกลาง ก็ต้องอีกมาตรฐานหนึ่ง
       ผมคิดว่าต้องทำแบบสมัยท่านชิน (ชิน โสภณพนิช) คุณมีทุนอยู่เท่าไหร่ แล้วต้องการเท่าไหร่ ถ้าเซ็นการันตีส่วนตัวไม่พอ กู้ให้พอ แบงก์กรุงเทพถึงเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะท่านชินในสมัยนั้น ธนาคารเพื่อการพัฒนาของเยอรมันก็ใช้วิธีนี้ ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ต้องไปศึกษา
       ญี่ปุ่นสร้างประเทศเขาด้วยอะไร ตัวผมเองเข้าใจอย่างดี ขอยกตัวอย่างบริษัทมินิแบ มินิแบชวนผมลงทุน ทำพัดลมตัวจิ๋วให้กับคอมพิวเตอร์ เพราะคอมพิวเตอร์เปิดนานต้องมีพัดลมไประบายความร้อน โรงงานยังไม่ทันสร้างในไทยเลย บริษัทกองทุนของรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาขอลงทุน ราคาหุ้น 10 บาท แต่ซื้อในราคาถึง 40 บาท เท่ากับว่าลงทุน 100 บาทมินิแบร์ออกแค่ 20 บาท รัฐบาลออกให้ 80 บาท แล้วส่วน 20 บาทเขามาถามผมว่าให้ผม 10 บาทเท่ากับ 4 เท่า ผมบอกว่าไม่เอา ถ้าให้ตามมูลค่าตามบัญชี(Book Value)ลงทุน 10 บาทเท่ากับ 10 บาทผมก็ลงทุน สุดท้ายมินิแบให้ผมลงทุน 5% ท่านพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีก็ 5% แต่ตอนวิกฤติผมได้ขายออกไปได้เงินจำนวนมาก ซึ่งก็เสียดายเหมือนกัน แต่เราจำเป็น จะฝ่าวิกฤติถ้าไม่ทิ้งสินค้าออกจากเรือบ้าง เรือก็จะล่มได้
       ผมขอฝากรัฐบาลอีกเรื่อง โอกาสวันนี้ของประเทศไทย คือไทยเป็นจุดศูนย์กลางจริงๆ ของอาเซียน แล้วต้องชมเชยกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อจีนเปิดประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ไปจับมือกับจีน นี่คือความเก่งของกระทรวงการต่างประเทศของไทย แล้วคนไทยมีนิสัยดี คนที่มาเที่ยวเมืองไทยจึงติดใจ และวันนี้รัสเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มาเที่ยวเมืองไทยมากที่สุดเป็น ลำดับ 2 แล้ว เพิ่มขึ้นทุกปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
       ผมเชื่อว่าจากนี้ไปเมืองไทยของ เราแม้ว่าวุ่นวายอะไรบ้าง แต่เศรษฐกิจเราก็โต แม้จะไม่โตเท่าที่ควรก็ตาม ผมเชื่อมั่นประเทศไทยมีนักธุรกิจยอดเยี่ยม เพราะนักธุรกิจไทยส่วนใหญ่มาจากซัวเถา ท่านรู้ไหมว่าเบอร์หนึ่งของนักธุรกิจจีนคือคนที่มาจากซัวเถาคือ “ลี กาชิง” แห่งฮ่องกง และในเมืองจีนเท่าที่ผมสัมผัสมา นักธุรกิจที่เก่งที่สุดจำนวนมากที่สุดนั้นมาจากซัวเถา ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลให้นโยบายที่ถูกต้องผมเชื่อมั่นว่านักธุรกิจไทยนี่แหละเป็นเบอร์ หนึ่งเพราะเกิดมาก็ทำธุรกิจเป็น
       อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังเสียดายที่ในวันนี้นักธุรกิจมีความพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงไม่ค่อยผลักดันให้ลูกหลานเข้าไปทุ่มเท ในส่วนตัวของผมนั้น พูดและถามลูก ๆ ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กแล้ว “คุณเรียนหนังสือลำบากไหม” ลูก ๆ ก็ตอบว่า “ลำบากมาก” ผมสอนลูกว่าต่อไปถ้าคุณออกมาทำธุรกิจ เป็นพนักงานธรรมดาก็ดีกว่า เพราะไม่ลำบากเท่าเรียนหนังสือ แต่ถ้าคุณจะเป็นผู้นำ คุณต้องเตรียมพร้อมเหมือนกับต้องสอบทุกวัน คุณต้องขยัน ถึงจะมีโอกาสเป็นผู้นำในธุรกิจ ไม่มีอะไรที่จะได้มาง่ายๆ ไม่เหมือนเราเรียนเก่ง ความจำเก่งสอบได้ที่ 1 แต่ต่อให้เรียนเก่งอย่างไร ถ้าออกมาอยู่ในโลกของธุรกิจแล้วคุณต้องทำ เพราะสิ่งที่คุณทำนั้นคือ “ซอฟท์แวร์” ของเรา ซอฟท์แวร์คือความรู้ ประสบการณ์ ซอฟท์แวร์ของมนุษย์ ไม่มีใครช่วยคุณเขียนได้หรอก อย่างคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด เราเอาคนเก่งเป็นหมื่นคนมาช่วยกันเขียนได้ แต่คอมพิวเตอร์ของมนุษย์ จ้างไม่ได้ เรียนก็ยังไม่ได้ ต้องไปสัมผัส ต้องไปผ่านหนาวผ่านร้อน เคยเสียหาย ที่ว่าเสียค่าเล่าเรียน ถ้าเสียค่าเล่าเรียนแล้วเขารู้ว่าเขาทำอะไรเสียหาย ผมยังจะสนับสนุนเขาทำต่ออีก แต่ถ้าเราเสียหาย ขาดทุนแล้วยังไม่รู้ว่าเพราะอะไร ไปโทษคนอื่น อย่างนี้บาทหนึ่งผมก็ไม่กล้าลงทุนให้ เพราะไม่มีใครที่ทำงานแล้วไม่ผิด เราต้องยอมรับ ทำมากผิดมาก ทำน้อยผิดน้อย ไม่ทำไม่ผิด ผมจะเลือกคนที่ทำผิด แล้วรู้จักผิด แต่เราไม่มีวันเลือกคนที่ไม่ทำแล้วไม่ผิด ไม่เช่นนั้นบริษัทจะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร
       ลูกหลานของทุกท่าน น่าจะส่งเสริมสนับสนุนเขาให้ไปทำธุรกิจ อย่างน้อยประเทศในอาเซียนต้องเข้าไปลงทุน เพราะอยู่ข้างบ้านเรา ต่อไปนี้เขาบอกว่าโลกนี้ไม่มีขอบเขต ฉะนั้นต้องเริ่มด้วยประเทศใกล้เคียงทันทีแล้วค่อยไปถึงระดับโลก ถ้าเรามีเป้าหมาย มีนโยบายแล้ว และรัฐบาลให้การสนับสนุน มีกฎหมายรองรับด้วย มีข้อมูลดี ๆ มาให้นักธุรกิจไทย เพราะเชื่อมั่นว่าในยุคสมัยนี้ต้องการข้อมูล ถ้ารัฐบาลมีข้อมูลที่ยอดเยี่ยม ยิ่งมากยิ่งละเอียดยิ่งลึกเท่าไหร่ยิ่งดี ประเทศไทยน่าจะมีหน่วยงานศูนย์กลางที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องกฎหมาย ซื้อที่ หรือลงทุน รวมทั้งหาแรงงาน หาสำนักงานให้ เป็นจุดเดียวที่ให้บริการครบทุกอย่างก็จะทำให้หลายประเทศก็อยากจะมาลงทุน แต่ถ้ามาแล้วกฎหมายเราก็ไม่พร้อม ปัญหาก็มาก แล้วถ้าเราจัดการแก้ปัญหาให้เขาได้ ผมว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ใคร ๆ ก็ต้องการจะมาลงทุน
       ทั้งนี้ ผมขอชมเชยเรื่องที่รัฐบาลลดภาษีการค้าเหลือ 20% แต่ใจผมอยากจะให้เหลือ 16% เพราะอะไร ก็เพราะ ฮ่องกง สิงคโปร์ 17% ถ้าเราเหลือ 16% ก็จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาไทย ผมเชื่อว่าในสิงคโปร์ ในฮ่องกง ค่าเช่าสำนักงานก็แพง ที่อยู่อาศัยก็แพง ที่ท่องเที่ยวก็ไม่เหมือนที่เมืองไทย ถ้าภาษีเราเหลือ 16% สำนักงานใหญ่ทั้งหลายจะย้ายมาอยู่ในประเทศไทย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น การจ้างงานยิ่งกว่าท่องเที่ยวอีก มาจ้างงานคนเงินเดือนสูง ๆ ของคนไทย มาฝึกคนไทยให้เก่งขึ้นด้วย อสังหาริมทรัพย์คึกคักอีกแน่นอน
       สำหรับภาษีไม่ใช่เฉพาะการค้า ภาษีนิติบุคคลและภาษีส่วนบุคคลก็น่าจะลดเหมือนกัน ลดเหลือ 16% ให้ทุกคนมาเสียภาษี ให้ต่างประเทศมาเสียภาษีในเมืองไทย แล้วมาตั้งสำนักงานที่นี่ไปลงทุนอยู่ประเทศอื่น ๆ กำไรแล้วเอากลับมาที่เมืองไทย อย่าไปเก็บภาษี ผมรับรองว่าเราจะได้ภาษีมากกว่า เหมือนกับเราไปเก็บภาษีนาฬิกาแพง ๆ กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง อะไรที่มี Trademark ประเทศไทยจะได้อะไร ก็ไม่ได้อะไร ถ้าหากเราเปิดตัวนี้ไม่มีภาษี ผมเชื่อมั่นทั่วโลกจะมาชอปปิ้งเมืองไทย แล้วเราต้องรีบสร้างพนักงานที่พูดภาษาจีน อังกฤษเป็น พูดภาษารัสเซียเป็น แล้วเขาก็มาเที่ยวมาซื้อของ
       สุดท้าย ผมขอฝากทุกท่านว่า เราก็ต้องระวังตัวไว้ ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา สว่างที่สุดก็จะมืด มืดที่สุดจะสว่าง แน่นอน จะไม่มีมืดไปตลอดและไม่มีสว่างไปตลอด พระอาทิตย์ขึ้นก็ต้องลง ลงแล้วก็ต้องขึ้น ฉะนั้น ก็ฝากว่าเวลาเราเจริญรุ่งเรืองที่สุดเราต้องเตรียมพร้อมรับวิกฤติที่จะมา แล้วถ้าแย่ที่สุด บริษัทเราอยู่ได้ เราลงทุนทุกบาททุกสตางค์ต้องเตรียมพร้อม ถามตัวเองตลอดเวลาว่า ถ้าวิกฤติตามมา บริษัทเราอยู่ไหวไหม ถ้าอยู่ไหวก็ลงทุนไป ถ้าอยู่ไม่ไหวก็อย่าลงทุน แล้วตอนที่มีวิกฤติก็ต้องเตรียมพร้อมว่าถ้าแสงสว่างเกิดขึ้นแล้วจะทำอะไร พอวิกฤติผ่านพ้นไปเราจึงจะมีโอกาสขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างยิ่งใหญ่

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองอนาคต เศรษฐกิจเอเชีย อาเซียน ไทย สไตล์เจ้าสัวซีพี

view