สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาวะ ถูกจูงใจให้ตาบอด กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (จบ): ขีดเส้น ศีลธรรม ให้ชัดเจน

ภาวะ “ถูกจูงใจให้ตาบอด” กับจรรยาบรรณวิชาชีพ (จบ): ขีดเส้น “ศีลธรรม” ให้ชัดเจน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วผู้เขียนสรุปบทเรียนจากข้อค้นพบของนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับนักจิตวิทยาว่า “...วันนี้เรารู้แล้วว่ามนุษย์ทุกคนถูกจูงใจ

ให้ตาบอดได้ง่ายโดยธรรมชาติ หาเหตุผลเข้าข้างตัวเองโดยอัตโนมัติและไม่รู้ตัวแทบทุกครั้งเวลาเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน แถมยังมีแนวโน้มที่จะโกงถ้าเชื่อว่าใครๆ ก็โกง วิธีบรรเทาการทุจริตคอร์รัปชันจึงปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้บังคับใช้กฎหมายฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่มืออาชีพเองจะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ภายในวงการของตัวเองด้วย รวมถึงหลักการและวิธีบังคับใช้จรรยาบรรณวิชาชีพ”

จรรยาบรรณที่ได้ผลจริงๆ ต้องสามารถ 1. ขจัดโอกาสการเกิดสถานการณ์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตั้งแต่ต้นและ 2. สร้างสำนึกว่าการละเมิดจรรยาบรรณเป็นเรื่องของการ “ผิดศีลธรรม” ของวิชาชีพ ไม่ใช่มองว่าเป็น “ต้นทุนที่ต้องจ่าย” ในการทำธุรกิจ หรือ “ใครๆ ก็ทำ” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ “พร่าเลือนทางศีลธรรม” ชั่วคราว

ตัวอย่างของจรรยาบรรณที่ช่วยบรรลุข้อ 1. ข้างต้นได้ ถ้าบัญญัติเป็นกฎเหล็กและส่งเสริมให้ใช้กันทั้งวงการ อาทิเช่น การออกกฎไม่ให้กรรมการบริษัทรับโบนัสหรือค่าตอบแทนใดๆ เวลาไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทร่วมหรือบริษัทย่อย เพราะถือว่าไป “ในเวลางาน” และการตั้ง “กำแพง” กั้นระหว่างฝ่ายต่างๆ ในองค์กรซึ่งอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนถ้ามองในระดับองค์กร เช่น ระหว่างฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ (มีหน้าที่วิเคราะห์หุ้นของบริษัทอย่างเป็นกลาง) กับฝ่ายวาณิชธนกิจ (มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่บริษัท) ในวงการหลักทรัพย์ และระหว่างฝ่ายขาย (มีหน้าที่หาโฆษณา) กับกองบรรณาธิการ (มีหน้าที่ทำข่าวอย่างเป็นอิสระ) ในวงการสื่อสารมวลชน

หากสถานการณ์ในวงการไหนย่ำแย่ถึงขนาดที่ “กำแพง” ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนใช้การไม่ได้ คนในวงการก็จะต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ปล่อยให้วงการถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนคิดว่าวันนี้คงไม่มีสื่อมวลชนรายใดปฏิเสธว่า “กำแพง” ที่ควรมีระหว่างฝ่ายขายกับกองบรรณาธิการนั้นได้พังทลายลงหมดสิ้นแล้วในสื่อกระแสหลักแทบทุกค่าย ตอนนี้นักข่าวในกองบรรณาธิการลง “ข่าวแจก” จากองค์กรต่างๆ ทั้งดุ้นเป็นกิจวัตรประจำวันบีบบังคับให้คนอ่านใช้ปฏิภาณไหวพริบเดาเอาเองว่าข่าวแต่ละชิ้นเป็นข่าวจริงหรือข่าวแจกนอกจากนี้หลายกรณียังไปขอโฆษณาจากสปอนเซอร์แทนฝ่ายขาย เพราะรู้จักมักคุ้นกับสปอนเซอร์ในฐานะแหล่งข่าวมาก่อน แถมนักข่าวหลายคนยังออกไปเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสปอนเซอร์เสียเองเบลอเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ข่าวกับพื้นที่โฆษณาเข้าไปอีก

ในภาวะเช่นนี้ สมาคมวิชาชีพอย่างสมาคมนักข่าวกับสมาคมโฆษณาควรทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างกัน แสดงเจตจำนงว่าจะเคารพในกำแพงระหว่างฝ่ายขายกับฝ่ายข่าว เพราะจรรยาบรรณข้อสำคัญของสื่อมวลชนคือการนำเสนอข่าวอย่างเป็นอิสระฉันใด จรรยาบรรณข้อสำคัญของนักโฆษณาก็คือการเคารพในขอบเขตของ “พื้นที่โฆษณา” ฉันนั้น ไม่ใช่ก้าวก่ายเป็นนิสัย พยายามตีขลุมให้พื้นที่ทุกชนิดเป็นโฆษณายิ่งหลอกคนอ่านได้เนียนๆ เท่าไรยิ่งดี

นอกจากจรรยาบรรณจะต้องบังคับใช้เป็นกฎภายในขององค์กร และส่งเสริมให้เคารพกันทั้งวงการแล้ว บริษัทและวงการวิชาชีพต่างๆ ก็ควรพิจารณาหาวิธีตอกย้ำให้คนรู้สึกว่า จรรยาบรรณเป็นเรื่องของ “ศีลธรรม” ในการประกอบวิชาชีพที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องของผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ เพราะคนเราจะไม่อยากฉ้อฉลถ้าตระหนักว่ากำลังจะทำในสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง” ทางศีลธรรม แต่ถ้าไม่รู้สึกตัวว่ากำลังจะกลายเป็น “คนโกง” เราก็จะ “พร่าเลือนทางศีลธรรม” ถลำตัวทำผิดได้ง่าย

เช่นเดียวกัน ถ้าผู้จ่ายสินบนรู้สึกว่าสินบนที่ตัวเองกำลังจ่ายนั้นเป็นเพียง “ต้นทุน” ประเภทหนึ่งในการทำธุรกิจไม่ใช่สิ่ง “ผิดศีลธรรม” เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะจ่ายสินบนต่อไปเรื่อยๆ ก่อเกิดสภาพโดยรวมคือ ใครก็ตามที่มีสตางค์จ่ายสินบนก็จะจ่ายต่อไปใครไม่มีสตางค์จ่ายก็เสียเปรียบ ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสนามแข่งขันของภาคธุรกิจไทยเข้าไปอีก

ทั่วโลกมีกลวิธีตอกย้ำให้คนรู้สึกว่าการทำผิดในหน้าที่ ตั้งแต่ผิดจรรยาบรรณเล็กน้อยจนถึงขั้นทุจริตเมกะโปรเจกต์ เป็นเรื่อง “ผิดศีลธรรม” มากมายหลายรูปแบบ กลวิธีบางอย่างอาจเข้าข่าย “นวัตกรรมทางสังคม” ที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง

เมื่อครั้งที่ไปเยือนประเทศภูฏาน ผู้เขียนถามคนที่นั่นว่า ภูฏานผ่านพ้นยุคที่อยู่ใต้การปกครองของ “ธรรมราชา” คือผู้นำทางโลกย์และทางธรรมในตัวคนคนเดียว อย่างในสมัยโบราณมานานมากแล้ว แต่ทำไมหน่วยงานราชการต่างๆ ถึงยังอยู่ในบริเวณปราสาท (dzong) หลังเดียวกับวัด ข้าราชการไม่หนวกหูหรือเวลาที่ได้ยินเสียงระฆังวัดตีบอกเวลา พระกับเณรก็เดินขวักไขว่ไปมาทุกวัน

คนภูฏานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐตอบว่า แบบนี้แหละดีแล้ว จะได้เตือนสติเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน ใครที่คิดจะทุจริตคอร์รัปชัน มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นพระกับหลังคาวัดจะได้คิดให้หนักก่อนทำ

หันมาดูภาคธุรกิจ วันนี้มีกระแสความเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่กำลังกระเพื่อมเป็นวงกว้าง คือการให้นักศึกษาปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจกล่าว “คำสาบานเอ็มบีเอ” (MBA Oathดูข้อมูลเบื้องต้นได้จากวิกิพีเดีย http://en.wikipedia.org/wiki/MBA_Oath) ก่อนจบการศึกษา เพื่อพยายามเตือนสติให้บัณฑิตที่จะออกไปไต่เต้าเป็นผู้บริหารบริษัทมี “สำนึกทางศีลธรรม” ติดตัว

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังคือ คนที่ประกอบอาชีพอื่น เช่น แพทย์ นักกฎหมาย ล้วนต้องกล่าวคำสาบานซึ่งระบุแก่นสารของจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่คนที่จบปริญญาบริหารธุรกิจไม่เคยทำ ทั้งที่เป็นอาชีพซึ่งมีโอกาสทำผิดศีลธรรมไม่แพ้อาชีพอื่น แถมยังมีโอกาสก่อความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมยิ่งกว่าดังที่วิกฤตการเงินปี 2008 เผยให้เห็นกรณีฉ้อฉลจำนวนมากในภาคการเงิน

ตัวอย่างคำสาบานเอ็มบีเอเช่น บัณฑิตปริญญาโทที่จบคณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต้องกล่าวคำสาบานว่า “ในฐานะสมาชิกชั่วชีวิตของชุมชนบริหารธุรกิจของโคลัมเบีย ข้าพเจ้าจะยึดมั่นในหลักการความจริง ความซื่อสัตย์ และความนับถือ ข้าฯ สาบานว่าจะไม่โกหก ไม่คดโกง ไม่ขโมย และไม่อดทนอดกลั้นต่อผู้ที่กระทำสิ่งเหล่านี้”

แดน อาริลลี (Dan Ariely) นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมผู้ศึกษาพฤติกรรมพร่าเลือนทางศีลธรรมมาอย่างยาวนาน เชื่อว่า “ป้ายเตือน” ที่ถึงตัวทำนองนี้อาจช่วยลดพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ลงได้ เขาเสนอว่าถ้าแบบยื่นภาษีเงินได้ขึ้นต้นด้วยคำเตือนว่า “คนโกหกจะถูกดำเนินคดี” มันก็อาจเตือนใจให้คนยื่นภาษีไม่กล้าโกหกได้

ในสังคมที่ “ระบอบอุปถัมภ์” ยังทรงอิทธิพลเหนือ “ความเป็นมืออาชีพ” อย่างไทย สังคมซึ่งพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาโดยเฉพาะการทำบุญตามวัดมักถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” สร้างความรู้สึกดีให้กับนักการเมืองและนักธุรกิจที่ทุจริตราวกับว่าบาปที่เกิดจากการโกงนั้นจะลบล้างได้ทั้งหมดด้วยการทำบุญ ผู้เขียนก็คิดว่าวิธีหนึ่งในการประยุกต์ใช้ข้อเสนอของอาริลลี คือ รณรงค์ให้วัดต่างๆ ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชน ออกกฎให้ผู้ไปทำบุญท่องดังๆ ระหว่างสวดมนต์ว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานว่ามิได้นำเงินสดบาปหรือกำไรบาปอันเกิดจากการติดสินบนหรือทุจริตคอร์รัปชันใดๆ มาทำบุญ”

วิธีนี้น่าจะช่วยสร้างความตะขิดตะขวงใจ ลบความพร่าเลือนทางศีลธรรมในใจลงได้บ้างไม่มากก็น้อย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาวะ ถูกจูงใจ ตาบอด จรรยาบรรณวิชาชีพ ขีดเส้น ศีลธรรม ชัดเจน

view