สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขปริศนา ม.68 ย้อนข้อพิพาท 16 ปี วิวาทะ ส.ส.ร.40 ที่มาคำร้อง อัยการสูงสุด-ศาลรัฐธรรมนูญ

จากประชาชาติธุรกิจ

มาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ฟากนิติบัญญัติทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างก็ถก-เถียงกันไม่รู้จบ
เป็น มาตราในลำดับหมวดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญปกป้องมิให้บุคคลใดใช้สิทธิเสรีภาพส่วนตน เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ความ เห็นที่ยังไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายรัฐบาล-เพื่อไทย (พท.) และฝ่ายค้าน-ประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ สาระสำคัญในวรรค 2 ที่ระบุว่า "ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าว"

เหตุที่ "เพื่อไทย" ต้องทุ่มสุดตัวกับการประเด็นดังกล่าว เพราะในอดีต มาตรา 68 เคยแสดงฤทธิ์เดชให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มาแล้วหลายหน เช่น ที่เคยถูกคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคครั้งใช้ชื่อไทยรักไทย-ต้องคำสั่งชะลอการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระที่ 3 ที่ค้างอยู่ในสภา ล่าสุดคือกรณีที่ศาลรับพิจารณาคำร้องกรณี 312 ส.ส.+ส.ว.เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ขัด ม.68 หรือไม่ ทั้งหมดต่างเป็นผลพวงการพิจารณาผ่านคำร้องมาตรา 68 ด้วยกันทั้งสิ้น

ฝ่าย "เพื่อไทย" จึงต้องการอุดช่องให้ประชาชนร้องเรียนผ่าน "อัยการสูงสุด" เท่านั้น ขณะที่ ปชป.อ้างถึงสิทธิเสรีภาพประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยยังจำเป็นต้องเปิดให้ยื่นฟ้องตรงต่อ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติใช้พลังเข้าแทรกแซงอำนาจตุลาการมาตรา 68 จึงกลายเป็นข้อพิพาทที่ยังไม่มีท่าทีที่จะสิ้นสุดจนถึงเวลานี้

"ประชา ชาติธุรกิจ" ขอย้อนเวลากลับไปเมื่อ 16 ปีก่อน ในวันที่มาตรา 63 ถูกผลิตขึ้น (มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550) โดยเน้นหนักในช่วงหารือในวรรค 2 เพื่อดูเส้นทางการออกแบบมาตราดังกล่าว ก่อนที่จะกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันจนถึงวันนี้

สาระ สำคัญทั้งหมดถูกหยิบยกมาจากบันทึกการประชุมครั้งที่ 13 ของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมี "อานันท์ ปันยารชุน" อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธาน

โดยเป็นการ ถาม-ตอบของ ส.ส.ร.ในเวลานั้น ได้แก่ นางพินทิพย์ ลีลากรณ์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายประชุม ทองมี นายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540

นางพินทิพย์ : กราบเรียนท่านประธาน ดิฉันขอเปลี่ยนคำในวรรคสอง ที่เรื่องต่ออัยการสูงสุด ให้เป็นพนักงานอัยการ ที่ขอเปลี่ยนอย่างนี้ก็เพราะมองว่า ถ้าดูโดยรวมมันน่าจะเป็นหน่วยงานมากกว่าตัวตำแหน่ง ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าตัวตำแหน่งนี้จะส่งผ่านให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่จริง ๆ น่าจะเป็นกระบวนการในการทำงาน ก็เลยขอเปลี่ยนเป็นพนักงานอัยการ

"แล้ว วรรคสามดิฉันขอเสนอให้ตัดคำว่า ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะในความคิดรู้สึกว่าการสั่งยุบพรรคการเมือง โดยคณะกรรมการแค่ 9 คนนี้น่าจะมีการไตร่ตรองและทบทวนให้ดี"

นายบวรศักดิ์ : ขออนุญาตกราบเรียนเรื่องพนักงานอัยการว่า ที่ไม่ระบุพนักงานอัยการเฉย ๆ เพราะคำว่า พนักงานอัยการ เป็นตำแหน่งตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ เรื่องสำคัญระดับนี้คงไปร้องที่อัยการจังหวัดคงไม่ได้ ถึงได้ระบุตำแหน่งอัยการสูงสุด และตำแหน่งนี้ก็เป็นตำแหน่งซึ่งมีอำนาจที่จะดำเนินการหลายอย่างเป็นที่สุด ยุติเลย

"กรณีสั่งยุบพรรคการเมือง เวลานี้สิ่งที่ได้เขียนไว้ตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันก็ให้ยุบได้หลายกรณี ในหลายกรณีก็เป็นอำนาจศาลที่จะยุบ ฉะนั้นก็ขอให้ท่านกรรมาธิการพินทิพย์ช่วยกรุณาทบทวน"

นางพินทิพย์ : ถ้าเป็นอย่างท่านเลขาฯ บอกว่าจริง ๆ แล้วการที่จะร้องเรียนพวกนี้ต้องไปร้องในส่วนของอัยการจังหวัด
ไม่ได้ ถ้าเกิดว่าดิฉันพบเห็นในส่วนจังหวัดแล้วต้องไปร้องที่กรุงเทพฯ คือร้องที่อัยการสูงสุดหรือกะไร

นาย บวรศักดิ์ : ท่านร้องที่จังหวัดนะครับ แต่ว่าจังหวัดจะส่งมาที่อัยการสูงสุด แต่ว่าถ้าไปเขียนอย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก เหมือนกับการสั่งคดีบีบีซี ก็เถียงกันไม่รู้จบว่า ทำไมไม่ให้อัยการจังหวัดสั่งก่อน อัยการจังหวัดสั่งแล้วส่งไปอธิบดีตำรวจหรือไม่ อธิบดีตำรวจสั่งแล้วถึงจะส่งมาอัยการสูงสุด

"การเขียนไว้อย่างนี้ คือ เอาตัวตำแหน่ง ใครจะอยู่ในตำแหน่งไม่สำคัญ แต่ตัวตำแหน่งมีหน้าที่ที่ว่านั้น แต่คนวินิจฉัยสั่งการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญคืออัยการสูงสุด ครับ"

นายกระมล : ข้อเสนอของคุณพินทิพย์ก็มีเหตุผล แต่บังเอิญคดีนี้เป็นคดีการเมือง ซึ่งในระดับสถาบันค่อนข้างสูง คือสถาบันการเมืองนี้จึงน่าจะเขียนไว้ให้อัยการสูงสุดนี้เหมาะสมแล้ว ถ้าหากเป็นเรื่องที่ธรรมดาก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่นี่เป็นเรื่องของการเมือง จึงอยากให้อัยการสูงสุดสั่งได้เลย ไม่เช่นนั้นเดี๋ยวจะมีปัญหา

"อัยการต้องสั่งก่อน คิดว่าอย่างนี้น่าจะรัดกุมกว่า เพื่อให้มาสู่อัยการสูงสุดเลย มายื่นที่สงขลาหรือแม่ฮ่องสอนก็ตาม"

นาย บุญเลิศ : กระผมขอความกระจ่างเพื่อบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่า การยื่นเรื่องอัยการสูงสุดเพื่อให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการนั้น อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะไม่เสนอต่อศาลก็ได้ หรือว่ามีอำนาจหน้าที่แต่เพียงว่าต้องยื่นทุกคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย

"มาตรา 63 ที่กำลังพิจารณานี้คือกฎหมายหลัก กฎหมายแม่บท ฉะนั้นต้องชัดเจน เดี๋ยวจะยกกฎหมายลูกอะไรมาทีหลัง"

นาย สมคิด : ประเด็นท่านพินทิพย์ผมเสนอทางออกอย่างนี้ ไม่ทราบว่าได้หรือไม่ คือ คนที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าประเด็นนี้ท่านอาจารย์กระมลกับอาจารย์บวรศักดิ์ได้ชี้แจงว่าไม่ ควรเป็นอัยการทุกคน แต่ควรเป็นตำแหน่งอัยการสูงสุด ผมคิดว่าอาจเห็นตรงกัน แต่ประเด็นต่อมา ในทางปฏิบัติจำเป็นหรือไม่ ที่ผู้พบเห็นผู้รู้เห็น ต้องยื่นโดยตรงต่ออัยการสูงสุด ผม คิดว่าคงไม่จำเป็น ฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขออนุญาตเปลี่ยนคำในวรรคสอง เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน คือไปยื่นคำร้องที่อัยการสูงสุดในแต่ละจังหวัดก็ได้ แต่อัยการแต่ละจังหวัดต้องส่งไปที่อัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนเป็นมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด เปลี่ยนจากคำว่า ต่อ เป็น ให้ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ

"ส่วน ประเด็นท่านบุญเลิศ จะเป็นการบังคับอัยการสูงสุดหรือไม่ที่จะต้องส่งในทุกเรื่อง ผมคิดว่าต้องให้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดที่จะดูแล้วก็ตรวจสอบว่าการยื่น เรื่องนั้นมามีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน"

"ถ้าปล่อยโอกาสให้ทุกคนยื่นมา แล้วต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด ผมคิดว่าอัยการสูงสุดก็ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ไปรษณีย์เท่านั้นเอง สุดท้ายปัญหาเรื่องต่าง ๆ จะไปค้างที่ศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก"

นาย ประชุม : ถ้าเขียนลอยไว้อย่างนี้ พนักงานอัยการสูงสุด เมื่อรับเรื่องแล้วจะยื่นก็ได้ไม่ยื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีบท Sanction อะไรตรงไหนหรือไม่ เพราะว่ากระบวนการนี้ไม่ได้เขียนไว้เลยว่า ดำเนินการไปตามกฎหมายบัญญัติหรืออย่างหนึ่งอย่างใด

"แล้วถ้าอัยการ สูงสุดยื่นหรือไม่ยื่นก็จะเป็นปัญหา ถ้าให้อำนาจมาก คือร่วมดุลพินิจ กระผมเห็นด้วย แต่ถ้าใช้ดุลพินิจแล้วต้องมีองค์ประกอบให้เขาใช้"

นาย อานันท์ : ขอเอาที่ประเด็นแรกก่อนนะครับ ประเด็นที่คุณพินทิพย์ได้นำขึ้นมา แล้วอาจารย์สมคิดได้พยายามหาถ้อยคำที่อาจจะช่วยแก้ปัญหา ผมไม่ทราบว่าทางฝ่ายเลขานุการว่าอย่างไร

นายบวรศักดิ์ : ท่านประธานครับ รับได้ครับ คือจะเป็นอย่างนี้ครับ ผมขออ่านอีกทีหนึ่ง ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตัดคำว่า เพื่อให้ ทิ้งนะครับ

"เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงแล้วยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว"

นาย อานันท์ : ตกลงรับได้ แล้วคุณพินทิพย์ขอถอนข้อสงวนนะครับ ประเด็นที่ 2 คือของคุณประชุมได้ยกขึ้นมานะครับ มีท่านใดจะสามารถชี้แจงหรือให้ความกระจ่างได้หรือไม่ครับ

นาย ประชุม : เรียนท่านเลขาฯ ผมคิดว่าน่าจะไปหาทางออกที่ให้ดุลอำนาจ ไม่ใช่ปล่อยลอยอย่างนี้ จะไปเขียนใหม่หรือจะเพิ่มเติมอย่างไรก็ให้ทางเลขาฯ คือหมายความว่า อย่างน้อยปล่อยลอยไว้ อำนาจจะทำก็ได้ จะใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ถ้าพอใจก็ใช้ ไม่พอใจก็ไม่ใช้ ไม่มีบท Sanction ที่บังคับอัยการสูงสุด

นาย สมคิด : ชี้แจงนิดเดียวครับ วิธีการอาจจะต้องไปเขียนในกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาจเป็นว่า อัยการสูงสุดต้องมีคำสั่งภายในกี่วันก็แล้วแต่ เราต้องแสดงความคิดเห็นว่า ที่สั่งไม่ฟ้องหรือสั่งฟ้องหรือยื่นต่อตัวรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลอย่างไรบ้าง วิธีนี้อาจจะได้ อาจจะทำเป็นบันทึกในรายงานของเรา ว่ามีความเห็นเพิ่มเติมน่าจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง

นายประชุม : ตรงไหนที่อาจารย์สมคิดว่า

นายสมคิด : คงต้องอยู่ในกฎหมายลำดับรอง

นายประชุม : หมายความว่าจะกำหนดไว้อย่างไร ให้ไปเขียนในกฎหมายหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

นายสมคิด : ผมก็เสนอให้บันทึกในรายงานของเราไว้ว่า เรามีความเห็นเพิ่มเติมว่าน่าจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เช่น อย่างนี้เป็นต้น

นายประชุม : แต่ให้มีสภาพบังคับเรื่องเงื่อนไขตรงนั้น โอเค ครับ

จากนั้นที่ประชุมก็เดินหน้าพิจารณา วรรคอื่น ๆ ของมาตรา 63 ต่อไป

จากวาระ การประชุมอาจพบว่า ข้อสรุปเรื่อง "อัยการสูงสุด-ศาลรัฐธรรมนูญ" อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก กระทั่งเวลาล่วงเลยมาแล้ว 16 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้มาแล้ว 2 ฉบับ (2540/2550)


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไขปริศนา ม.68 ย้อนข้อพิพาท วาทะ ส.ส.ร.40 ที่มา คำร้อง อัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญ

view