สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจาก Jonathan Lebed ถึงไทย (2)

แมงเม่ายุคเข้าเน็ต : บทเรียนจาก Jonathan Lebed ถึงไทย (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วผู้เขียนเล่าเรื่อง โจนาธาน เลอเบด (Jonathan Lebed) นักเชียร์หุ้นชาวอเมริกันที่ตกเป็นข่าวฮือฮาในปี 2000

เมื่อเขากลายเป็นวัยรุ่นคนแรกที่ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อเมริกัน ดำเนินคดีในข้อหา “สร้างราคาหุ้น” (ซึ่งถ้าเทียบกับกฎหมายหลักทรัพย์ของไทยจะตรงกับมาตรา 240 ที่ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเผยแพร่ข่าวอันเป็นความเท็จให้เลื่องลือจนอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้น หรือลดลง”)

เลอเบดยืนกระต่ายขาเดียวว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด การโพสต์เชียร์หุ้นของเขา ต่อให้โพสต์จากบัญชีผู้ใช้หลายบัญชี และต่อให้ส่งผลต่อราคาหุ้นจริงๆ นั้น เป็นเรื่องปกติที่ “ใครๆ ก็ทำกัน” รวมทั้งนักการเงินมืออาชีพ

ส่วนคำถามที่ว่าหุ้นของบริษัทที่เขาเชียร์จะขึ้นตามที่อ้างจริงๆ หรือเปล่า และเขามั่นใจได้อย่างไรว่าจะขึ้น ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนพึงสังวรเอง เพราะทุกคนต้องรู้อยู่แล้วว่า “การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง” ฉะนั้นจึงต้องใช้วิจารณญาณของตัวเองไม่ต่างจากเวลาฟังนักวิเคราะห์

แน่นอน ก.ล.ต. อเมริกันไม่เห็นด้วยกับเลอเบด แต่การตกลงยอมความโดยให้เขาไม่ต้องยอมรับผิด และคืนกำไรที่ได้จากการเล่นหุ้น 285,000 ดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 35 จากกำไรทั้งหมดกว่า 800,000 ดอลลาร์ที่เขาได้จากการเทรดหุ้นออนไลน์ แทนที่จะยึดกำไรทั้งหมด ในสายตาของผู้สังเกตการณ์หลายคนก็คือ “หลักฐาน” ว่า ก.ล.ต. สหรัฐเองก็ไม่แน่ใจ 100% ว่าเลอเบดทำผิดกฎหมาย และยังไม่มั่นใจว่าจะมองโลกใหม่ที่นักลงทุนคุยกันผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างไรดี

เส้นแบ่งระหว่าง “การเชียร์หุ้น” (ไม่ผิดกฎหมาย) กับ “การปั่นหุ้น” (ผิดกฎหมาย) นั้นเลือนรางกว่าเดิมมากในยุคอินเทอร์เน็ต และข้อเท็จจริงที่ทำให้ประเด็นนี้ซับซ้อนกว่าเดิมคือ เส้นแบ่งระหว่าง “มืออาชีพ” กับ “มือสมัครเล่น” ก็เลือนรางลงมากเช่นกัน กล่าวคือ บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของมืออาชีพที่แนะนำให้ “ซื้อ” หรือ “ขาย” หุ้น และเผยแพร่ราคาเป้าหมาย อาจพยากรณ์ราคาหุ้นในอนาคตได้ไม่ “ถูกต้อง” กว่า “ตัวเลขผีบอก” (ฝรั่งเรียกว่า whisper numbers) ที่มือสมัครเล่นประเมินและบอกต่อกันเองก็ได้

ผลการวิจัยซึ่งจัดทำโดยบลูมเบิร์ก สำนักข่าวการเงินชั้นนำของโลก เผยว่าราคาหุ้นเป้าหมายที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์และเว็บบอร์ดของนักลงทุนมือสมัครเล่นในอเมริกานั้น ผิดเพี้ยนไปจากราคาจริงราวร้อยละ 21 โดยเฉลี่ย ส่วนราคาเป้าหมายซึ่งประเมินโดยนักวิเคราะห์มืออาชีพปรากฏว่าพลาดเป้าเฉลี่ยร้อยละ 44 หรือพลาดมากกว่ามือสมัครเล่นถึงสองเท่า

ผลการวิจัยนี้น่าทึ่งไม่น้อยเมื่อคำนึงว่า มืออาชีพในตลาดทุนได้เปรียบมือสมัครเล่นด้านข้อมูลค่อนข้างมาก บริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ล้วนแต่อยากเอาใจนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ที่สังกัดบริษัทหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียง ป้อนข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการของบริษัทให้กับนักวิเคราะห์โดยตรงอย่างสม่ำเสมอ เซียนวิเคราะห์หุ้นมือสมัครเล่นต้องขวนขวายหาข้อมูลกันเอาเอง หรือไม่ก็ได้ข้อมูล “มือสอง” จากบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วอีกทีหนึ่ง

ตลาดหุ้นยุคอินเทอร์เน็ตจึงก่อให้เกิดคำถามยากๆ สำหรับผู้กำกับดูแลคือ ก.ล.ต. ทุกประเทศ ว่า “สมดุล” ควรจะอยู่ตรงไหนระหว่าง “ไม้แข็ง” คือ การบังคับใช้กฎเกณฑ์ (enforcement) กับ “ไม้อ่อน” อาทิ การปรับปรุงกฎการเปิดเผยข้อมูล การดำเนินโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการลงทุน ฯลฯ

การสร้างสมดุลที่ว่านี้มักต้องอาศัยการลองผิดลองถูก และขึ้นอยู่กับบริบทตลาดทุนของแต่ละประเทศ แต่เรื่องราวตอนต่อมาของหนุ่มน้อยเลอเบด ก็ช่วยชี้หนทางที่เราจะสร้างสมดุลได้อย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์กับตลาดกำลังพัฒนาอย่างไทย

เรื่องของเรื่องคือ หนึ่งทศวรรษหลังจากที่เขาตกลงยอมความ คืนกำไรส่วนหนึ่งให้กับ ก.ล.ต. ไป เลอเบดก็กลับมาโด่งดังในวงการ “หุ้นไม่เต็มบาท” (penny stocks หมายถึงหุ้นราคาถูก) ด้วยการเชียร์หุ้นผ่านเว็บไซต์ Lebed.biz (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) และจดหมายข่าวอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเขายินดีส่งให้กับใครก็ตามที่ยินดีจ่ายค่าสมาชิก

เช่นเคย เลอเบดอ้างว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาบอกว่ากำลังทำประโยชน์ด้วยซ้ำให้กับบริษัทแนวโน้มดีที่ถูกละเลยจากนักวิเคราะห์มืออาชีพเพียงเพราะหุ้นมีราคาถูก เป็นบริษัทเล็ก ไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายหุ้นมากพอที่มืออาชีพจะสนใจติดตามทำรายงาน

เที่ยวนี้ ก.ล.ต. สหรัฐยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ (บางคนมองว่า เป็นเพราะยัง “แหยง” กับข่าวเชิงลบที่ประสบเมื่อสิบปีก่อน ตอนที่ดำเนินคดีกับเลอเบดในวัย 15 ปี) แต่ชื่อเสียงของเลอเบดก็ป่นปี้ไปมากแล้วหลังจากที่ถูก “แฉ” ว่าเขาเชียร์หุ้นหลายตัวโดยไร้ซึ่งมูลความจริงใดๆ รองรับ และบางครั้งก็โกหกซึ่งหน้า โดยนักลงทุนรายย่อยที่ชอบเทรดหุ้นไม่เต็มบาทเหมือนกัน

ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนและบล็อกเกอร์ชื่อดังคนหนึ่งนาม ทิโมธี ไซค์ส์ (Timothy Sykes) เขียนเปิดโปงในปี 2012 ว่า เลอเบดไม่ใช่นักลงทุนที่เก่งกาจอะไร เขาเพียงแต่ถนัดใช้กลยุทธ์ “ลากขึ้นไปเชือด” (pump and dump) หลอกลวงให้นักลงทุนคนอื่นติดกับเท่านั้นเอง

กลยุทธ์ “ลากขึ้นไปเชือด” หมายถึงการเชียร์หุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ซึ่งมักจะเป็นหุ้นไม่เต็มบาท เพราะมีราคาถูก เชียร์ง่าย) ด้วยการปล่อยข่าวที่คนปล่อยรู้ว่าเป็นเท็จและจงใจบิดเบือนเพื่อให้นักลงทุนคนอื่นแห่มาซื้อหุ้น ราคาหุ้นจะได้ขึ้น เมื่อคนเชียร์หุ้น (ซึ่งไปซื้อตุนล่วงหน้าก่อนปล่อยข่าว) ได้กำไรตามเป้าแล้วก็จะเทขายหุ้นออกมา ปล่อยให้คนอื่นที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ติดอยู่บนดอย

ไซค์ส์แฉกลโกงที่เลอเบดใช้ “ปั้น” ราคาหุ้นไม่เต็มบาทตัวหนึ่งคือ BVSN อย่างละเอียดลออบนบล็อกของเขา (อ่านออนไลน์ได้จาก http://www.timothysykes.com/2012/01/exposing-convicted-penny-stock-manipulator-jonathan-lebed-of-the-national-inflation-associations-latest-pump-dump/) สรุปใจความได้ว่า เลอเบดกับบริษัท “บังหน้า” ของเขาเชียร์หุ้นตัวนี้โดยไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับ รวมทั้งอ้างว่าบริษัทนี้จะเป็น “เฟซบุ๊ครายต่อไป” ทั้งที่รายได้ของบริษัทลดลงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ติดกันมาแล้วหลายปี

เนื่องจากการ “ปล่อยข่าวเท็จ” เป็นหัวใจของกลยุทธ์ลากขึ้นไปเชือด (คือบริษัทไม่ได้ดีจริงอย่างที่นักเชียร์หุ้นหลอกให้เชื่อ) กลยุทธ์นี้จึงผิดกฎหมายหลักทรัพย์ทุกประเทศ รวมทั้งมาตรา 240 ในกฎหมายหลักทรัพย์ไทยด้วย ดังใจความที่ยกมาตอนต้น

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทิโมธีและนักลงทุนอื่นๆ อีกหลายคนติดตามพฤติกรรมการเชียร์หุ้นของเลอเบดอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะไม่เห็นด้วย เพราะมองเห็นโอกาสทำกำไรงามๆ ให้กับตัวเอง - ด้วยการชอร์ตหุ้นที่เขาเชียร์! (เพราะมั่นใจว่าถึงจุดหนึ่งเลอเบดจะทิ้ง ราคาหุ้นจะดิ่งเหว)

การติดตามตรวจสอบระหว่างนักลงทุนด้วยกันแบบนี้อาจเรียกได้ว่า “กลไกกำกับดูแลตัวเอง” (self regulation) ของนักลงทุน แต่ระบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ - การที่นักลงทุนหัวไวอย่างทิโมธีรู้ทันกลโกงของเลอเบดได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณกฎของ ก.ล.ต. สหรัฐ ที่ว่า สื่อที่ลงเนื้อหาเกี่ยวกับหุ้น รวมทั้งบล็อกและเว็บไซต์ต่างๆ จะต้องเปิดเผยว่าผู้เขียนได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทที่กำลังเชียร์อยู่หรือไม่ ได้รับเท่าไร และตัวเองถือหุ้นของบริษัทนั้นอยู่เท่าไร

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แมงเม่า ยุคเข้าเน็ต บทเรียน Jonathan Lebed

view