สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย เด้งถวิล ...ผลงานอัปยศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
       
       ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จะยื้อการคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.แก่ “ถวิล เปลี่ยนศรี” ด้วยการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดก็คือ การเด้ง นายถวิล พ้นเลขาฯ สมช.ไม่เพียงเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่รังแกข้าราชการประจำที่ทำงานด้วย ความซื่อสัตย์ แต่ยังเป็นผลงานสุดอัปยศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ละทิ้งคุณธรรมเพียงเพื่อให้เครือญาติของตัวเองได้ดิบได้ดีอีกด้วย
       
       หลังรอความเป็นธรรมมานานนับปี ในที่สุด ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 พ.ค.เพิกถอนคำสั่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554 รวมทั้งสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ที่ยกคำร้องทุกข์ของนายถวิลเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2555 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการโอนนายถวิลดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเชื่อได้ว่า ที่มาของการโยกย้ายนายถวิล เพื่อต้องการให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งอยู่ ว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้คนอื่นดำรงตำแหน่งแทน
       
       ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ส่งผลให้นายถวิลจะได้กลับคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.อีกครั้ง แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่? เพราะแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน แต่ในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ก็ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฯ ด้วยว่า เมื่อศาลฯ เพิกถอนคำสั่งของนายกฯ โดยให้มีผลย้อนหลัง ย่อมมีผลทางกฎหมายว่า นายถวิลไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องดำเนินการให้นายถวิลสามารถปฏิบัติหน้าที่ใน ตำแหน่งเลขาฯ สมช.โดยเร็ว!
       
       แต่ผ่านมา 6-7 วันแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะคืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้นายถวิลเมื่อใด? รวมทั้งยังตอบไม่ได้ว่า จะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่? โดยอ้างว่าต้องฟังคำแนะนำจากที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายก่อน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจน
       
       ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ต่างดาหน้าออกมาดิสเครดิตนายถวิลเป็นการใหญ่ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี อ้างว่า การโยกย้ายข้าราชการเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่มีใครใช้หน่วยข่าวของอีกรัฐบาล พร้อมดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยโยกย้ายเลขาฯ สมช.และรองเลขาฯ สมช.เช่นกัน ก็ไม่เห็นมีใครออกมาโวยวาย
       
       ด้านนายถวิล ส่งสัญญาณว่า หากนายกฯ อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ตน อาจต้องปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบ ปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่านายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
       
       ก่อนจะรู้ผลว่า นายกฯ จะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่ เราลองมาย้อนรอยการเด้งนายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.กันอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำความไร้คุณธรรม จริยธรรม และทำเพื่อพรรคพวกเครือญาติตัวเองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
       
       ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีว่า พร้อมจะทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน ไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบากใดๆ รวมทั้งจะจดจำเจตจำนงและเหตุผลของการเข้ามารับใช้แผ่นดินเกิดในครั้งนี้ ด้วยความภาคภูมิใจในความรักของประชาชน และจะใช้ความเป็นมืออาชีพ สร้างสุข สลายทุกข์ ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถ พร้อมสัญญาว่า จะไม่ทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศไทยของทุกคน
       
       แต่ให้หลังไม่ถึงเดือน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ถูกมองเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกลายด้วยการจ้องดันเครือญาติของตัวเองขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ในขณะนั้น เครือญาติที่ว่าก็คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร.พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
       
       แต่การจะให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ได้ ก็ต้องทำให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงหาทางโยก พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งตำแหน่งอื่น แต่กฎหมายไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ระบุว่า การจะโยกย้าย ผบ.ตร.ได้ ต้องให้เจ้าตัวสมัครใจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงใช้วิธีกึ่งบีบกึ่งเจรจาให้ พล.ต.อ.วิเชียร ยอมทิ้งเก้าอี้ ผบ.ตร.ซึ่ง พล.ต.อ.วิเชียร ได้ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2554 ว่า ตนถูกการเมืองบีบให้พ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.จริง พร้อมออกอาการต่อรองว่า ส่วนตัวพร้อมไปนั่งเก้าอี้ใหม่ แต่ต้องเป็นตำแหน่งที่เหมาะสม มีเกียรติและศักดิ์ศรีพอสมควร เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด!
       
       กระทั่งหวยไปออกที่ตำแหน่งเลขาฯ สมช.ที่นายถวิล ดำรงตำแหน่งอยู่ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มองว่า พล.ต.อ.วิเชียร น่าจะยอมรับตำแหน่งนี้ได้ ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ช่วยการันตีว่า พล.ต.อ.วิเชียร เหมาะสมกับตำแหน่งเลขาฯ สมช.พร้อมพูดเหน็บนายถวิลเพื่อให้ยอมทิ้งตำแหน่งเลขาฯ สมช.แต่โดยดีว่า หาก ตนเป็นนายถวิล จะขอย้ายตัวเอง เพราะที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดังนั้นรัฐบาลคงไม่ต้องการให้อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช. ร.ต.อ.เฉลิม ยังหลุดปากด้วยว่า เหตุที่ต้องย้ายนายถวิล เพื่อให้ พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งเลขาฯ สมช.เพื่อจะได้เอา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. !!
       
       แม้ พล.ต.อ.วิเชียร จะรับได้กับตำแหน่งเลขาฯ สมช.แต่คนที่ต้องรับกรรมอย่างนายถวิล รับไม่ได้ ที่จะต้องถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด นายถวิล จึงออกมาประกาศว่า ตนทำงานที่ สมช.ด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี หากถูกโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม ตนจะร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองและคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.)
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ฟังเช่นนั้น จึงออกมาบอกว่า จะหาเวลาคุยกับนายถวิล แต่ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปลี่ยนใจไม่คุย และให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ไปคุยแทน ซึ่งหลังจากคุย พล.ต.อ.โกวิท ไม่ยอมเผยผลหารือแต่อย่างใด ขณะที่นายถวิล บอกว่า “ถ้าผมไปนั่งในตำแหน่งที่ไม่ตรงกับความสามารถ เท่ากับว่าไปนั่งตบยุงอยู่เฉยๆ นั่งกินเงินเดือนเปล่าๆ คงไม่มีประโยชน์อะไร”
       
       แต่ดูเหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่ฟัง และในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 ได้มีมติโยกย้ายนายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชประจำ โดยการโยกย้ายครั้งนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรีบเร่ง ซึ่งนายถวิล ได้เปิดแถลงข่าวในวันรุ่งขึ้นหลังรู้ผลมติ ครม.โดยชี้ว่า กระบวนการย้ายตนให้พ้นตำแหน่งเลขาฯ สมช.เป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายการเมืองบางคนมีอคติและลุแก่อำนาจ “ท่วง ทำนองเป็นไปอย่างเยาะเย้ยถากถางต่อผม ซึ่งตรงนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผมนั้น ก็ไม่ได้ออกมาปกป้องหรือดูแลผมแต่อย่างใด ทั้งที่ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ ซึ่งผมรู้สึกเสียใจ”
       
       นายถวิล ยังบอกด้วยว่า ตนจะใช้สิทธิของตัวเองด้วยการร้องขอความเป็นธรรมต่อ ก.พ.ค.ภายใน 30 วันตามที่ระเบียบกำหนด โดยจะร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี พร้อมเชื่อด้วยว่า คนที่รังแกตน ยังไงก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น “สิ่ง ที่สำคัญคือกฎแห่งกรรม กฎธรรมชาติ ที่ทุกคนต้องได้รับทั้งนั้น ท่านต้องต่อสู้ ผมเองต้องต่อสู้ ท่านที่รังแกผมก็ต้องต่อสู้กับความเที่ยงแท้แน่นอนของกฎแห่งกรรมและกฎ ธรรมชาติ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายถวิลถูกเด้งพ้นเลขาฯ สมช.ปรากฏว่า ข้าราชการ สมช.ได้ทำหนังสือถึงสื่อมวลชนโดยยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ พร้อมชี้ว่า การ ย้ายเลขาธิการ สมช.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ สมช.เพราะที่ผ่านมา แม้จะเคยมีการย้ายเลขาธิการ สมช.และรองเลขาธิการ สมช.ไปประจำตำแหน่งอื่น แต่บุคคลเหล่านั้นเป็นคนภายนอกที่เข้ามารับตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นกับนายถวิลจึงส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและขวัญกำลังใจของข้า ราชการ สมช.ทุกคน
       
       หลังเด้งนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ และโยก พล.ต.อ.วิเชียร ไปนั่งเลขาฯ สมช.แทนแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก็เดินหน้ากระบวนการเพื่อดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นนั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยที่ ประชุม ก.ต.ช.เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2554 ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน ได้มีมติเอกฉันท์ (11 คน) ตามที่นายกฯ เสนอให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร. โดยอ้างว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติ และผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์
       
       ด้านนายถวิล ได้เดินหน้าร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจาก ก.พ.ค.แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะ ก.พ.ค.มีมติเสียงข้างมากยกคำร้องของนายถวิล โดยอ้างว่า ไม่ปรากฏ พฤติการณ์ว่านายกฯ โยกย้ายโดยใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้ อื่น และมีกระบวนการโยกย้ายเป็นไปตามขั้นตอนแล้ว
       
       นายถวิล พูดถึงเหตุผลที่ ก.พ.ค.ยกคำร้องของตนด้วยว่า “กรรมการ ก็เห็นโดยย่อว่า นายกฯ มีเหตุผล เพราะนายกฯ ได้แถลงต่อสภาว่า จะเร่งรัดดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนหนึ่งก็คือ มีนโยบายความมั่นคงอยู่ด้วย ทั้งเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ปัญหาภาคใต้ การก่อการร้าย อะไรต่างๆ พวกนี้ ก็เห็นว่านายกฯ มีอำนาจตามนั้นที่จะย้ายผมได้ และนายกฯ แก้คำร้องทุกข์บอกว่า ผมมีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นก็ย้ายผมเพื่อทำงานในระดับที่สูงขึ้นในระดับนโยบาย”
       
       ทั้งนี้ นายถวิล รู้สึกข้องใจในกระบวนการวินิจฉัยยกคำร้องของ ก.พ.ค.เนื่องจาก ก.พ.ค.ได้ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ชุดเล็กขึ้นมาพิจารณา ซึ่งกรรมการ 2 ใน 3 เห็นว่าคำร้องของตนฟังขึ้นว่าตนถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรม การโยกย้ายตน เพราะต้องการให้ พล.ต.อ.วิเชียร มานั่งแทน เพื่อให้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง เพราะต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แต่เมื่อคณะกรรมการชุดเล็กส่งเรื่องให้ ก.พ.ค.ชุดใหญ่ลงความเห็น ปรากฏว่า การโหวตครั้งแรก กรรมการฝ่ายที่เห็นว่าควรยกคำร้องกับฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรยกคำร้องมีคะแนน เท่ากัน 3 ต่อ 3 จากนั้นนายศราวุธ เมนะเศวต ประธาน ก.พ.ค.ซึ่งใช้สิทธิออกเสียงไปแล้ว ได้ใช้สิทธิออกเสียงอีกครั้งโดยอ้างว่าเพื่อชี้ขาด จึงน่าสงสัยว่าประธาน ก.พ.ค.มีสิทธิออกเสียง 2 ครั้งหรือไม่ ซึ่งตนรู้สึกว่าการวินิจฉัยด้วยวิธีดังกล่าวไม่น่าจะเป็นธรรม และเหมือนตัวเองถูกจับแพ้ทางเทคนิค “ผมเห็นว่า ถ้าการใช้อำนาจของนายกฯ และรัฐมนตรีไม่มีข้อจำกัด ต่อไปข้าราชการจะไม่มีทางร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมได้ หากกรณีของผมไม่เรียกว่าถูกกลั่นแกล้งแล้ว จะมีกรณีของข้าราชการคนใดบ้างที่ได้รับความเป็นธรรม ถ้าการเมืองเป็นแบบนี้ จะหวังให้ระบบราชการเป็นกลไกพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างไร นอกจากทำให้กลายเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายการเมืองที่จะจัดการอย่างไรก็ได้”
       
       เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ก.พ.ค.นายถวิล จึงได้ร้องขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายของนายกรัฐมนตรี และเพิกถอนคำสั่งของ ก.พ.ค.ที่ยกคำร้องตน ซึ่งในที่สุด นายถวิลก็ได้พบกับความเป็นธรรมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (31 พ.ค.) นายถวิล สรุปคำพิพากษาของศาลให้ฟังว่า “ศาลได้ให้นายกฯ คืนตำแหน่งกลับให้ผมโดยเร็ว ในรายละเอียด ศาลได้มีคำวินิจฉัยในทางกฎหมายอยู่ 2 แง่คือ ชอบด้วยกระบวนการและวิธีการทางกฎหมายหรือไม่ ในการย้ายข้าราชการตามระเบียบราชการ ต้องได้รับการยินยอมจากหน่วยที่สังกัดอยู่ คือ สมช.กับหน่วยที่รับโอนผมคือสำนักเลขาธิการนายกฯ ศาลเห็นว่ามีการปฏิบัติไม่ชอบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน มีการปกปิดข้อเท็จจริง และในแง่ที่ 2 คือ การวินิจฉัยเรื่องของดุลพินิจ ตำแหน่งเลขาฯ สมช.มีฐานะสูงกว่าที่ปรึกษานายกฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการ และเหตุที่นายกฯ อ้างว่าผมมีความรู้ความสามารถในเรื่องของความมั่นคง ก็สามารถไปช่วยในเรื่องนโยบายได้ ศาลเห็นว่าอยู่ที่ตำแหน่งเลขาฯ สมช.ก็ดำเนินงานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องโอนตำแหน่ง และตำแหน่งเลขาฯ สมช.ตอบสนองการทำงานด้านความมั่นคงได้ดีกว่า ฉะนั้นศาลเห็นว่าการย้ายครั้งนี้เป็นการลดบทบาทหน้าที่ของผม”
       
       หลังจากนี้ต้องติดตามว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางหรือไม่ และหากอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาทันก่อนที่นายถวิลจะเกษียณอายุราชการในปี 2557 หรือไม่ บางที...ความยุติธรรมที่ล่าช้าหรือมาไม่ทันเวลา ก็ทำให้การคืนความเป็นธรรมให้กับคนบางคนที่รออยู่ กลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้!!


เปิดใจ'ถวิล' ชีวิตเปลี่ยนไป

เปิดใจ"ถวิล" ชีวิตเปลี่ยนไปจากที่เคยมีสาระ หลังถูกนายกฯยิ่งลักษณ์ย้ายเข้า "กรุ"

บางคนอาจจะบอกว่าเขาคือ "ฮีโร่" ไปแล้ว หลังจากหาญกล้าต่อกรกับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ" ที่กุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้การดูแลของพี่ชายผู้เป็นอดีตนายกฯ แต่เจ้าตัว "ถวิล เปลี่ยนศรี" อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่ถูกย้ายมา "นั่งตบยุง" ในตำแหน่ง "ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ" บอกว่าเขาไม่ใช่

"ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ แต่ก็ยินดีที่มีส่วนแชร์ความรู้สึกต่างๆ หลังจากมีคำพิพากษาออกมาทำให้ผมรู้ว่าคนที่อยู่ในห้วงทุกข์ยังมีอีกมาก มีข้าราชการโดนแบบผมอีกเยอะ มีเข้ามาปรับทุกข์ และเห็นผมเป็นแรงบันดาลใจ ผมมีวันนี้ไม่ใช่ว่าเพราะพี่หรือน้องให้ แต่เพราะระบบคุณธรรมราชการให้มา เมื่อระบบคุณธรรมให้ผมก็ต้องตอบแทนให้ดีที่สุด" ข้าราชการวัย 59 ปี กล่าวระหว่างเปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับเครือเนชั่น

ถวิล บอกว่า หลังจากถูกย้ายมาอยู่ชีวิตก็เปลี่ยนไป จากที่เคยมีสาระเพราะได้ทำงานเป็นชีวิตที่ไม่มีสาระ ตั้งแต่ถูกย้ายมานายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่เคยเรียกใช้งาน ไม่เคยปรึกษาใดๆทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอย่างที่ให้เหตุผลไว้เลยว่าโยกย้ายมาเพื่อให้มาช่วยทำงาน มีเพียงช่วงแรกที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกฯยังอยู่ ที่เรียกไปช่วยงานบ้าง

"โดยศักยภาพของตำแหน่งของผมตอนนี้แค่ให้ใครไปซื้อกาแฟยังไม่ได้เลย ไม่เหมือนตอนอยู่ สมช.ที่มีข้อมูลมีเข้ามาทุกทาง...หลังจากถูกย้าย ผมก็หนักใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าที่นี่คือ "กรุ" ที่พูดไว้ในกระดาษนั้นลวงหลอกทั้งนั้น มานั่งที่นี่ก็ไม่มีงานทำ เหมาะสำหรับคนที่จะเตรียมบวช "

สำหรับสถานที่ที่ถวิลบอกว่าเป็น "กรุ" นั้น เป็นห้องทำงานเล็กๆ เนื้อที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ในห้องมีเพียงโต๊ะทำงานตัวใหญ่และชั้นวางของ ที่บนโต๊ะทำงานแทบจะไม่มีเอกสารอะไร นอกจากหนังสือธรรมะเล่มเล็กๆ ที่ถวิลบอกว่า ช่วงหลังเขามีเวลาอ่านหนังสือประเภทนี้มากขึ้น ห้องทำงานของถวิลอยู่ในปีกของตึกบัญชาการซึ่งเป็นแหล่งรวมของบรรดาข้าราชการที่ถูกย้ายเข้ามา บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเชียบ

ถวิล เล่าถึงที่มาของ "กรุ" นี้ว่า ถูกสร้างขึ้นมาสมัยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชายของนายกฯคนปัจจุบัน

"เรื่องการโยกย้ายข้าราชการนั้น เมื่อก่อนเวลาฝ่ายการเมืองเวลาจะย้ายข้าราชการเทียบเท่าระดับปลัดกระทรวงต้องไปขอตำแหน่งที่กพ. โดยขอได้ทีละตำแหน่ง เมื่อไปที่กพ.อย่างน้อยฝ่ายการเมืองก็จะเกรงใจ แม้นายกฯจะนั่งเป็นประธานก็ตาม แต่ว่าก็จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็จะตั้งคำถามว่าย้ายทำไม มีความผิดอะไร จะให้ไปทำอะไร ซึ่งมันก็ตอบยากหรืออธิบายยากเพราะไม่เป็นไปตามนั้น ก็ทำให้มีความยับยั้งชั่งใจบ้างไม่ขอกันง่ายๆ แต่ว่าสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ หลังปี 2544 หลังจากท่านจัดระเบียบฝ่ายการเมืองเสร็จแล้ว ท่านก็มาจัดระเบียบข้าราชการ ท่านคิดว่าปลัดกระทรวงต้องย้ายได้ จากการย้ายแบบเดิมนั้นที่ทำได้ยาก ก็มีการขอตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯเปิดไว้ 6 ตำแหน่ง เป็นกรุเป็นป่าช้าไปเลย เอาไว้เพื่อควบคุมอธิบดี ควบคุมปลัดกระทรวง ใครมีปัญหาก็ย้ายได้ทันที"

ถวิล ยอมรับว่าการต้องเป็นคู่กรณีกับผู้บังคับบัญชานั้นไม่ใช่เรื่องสนุก โดยเขาเริ่มไม่สบายใจตั้งแต่คำสั่งโยกย้ายออกมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 เพราะรู้ว่าจะต้องฟ้องผู้บังคับบัญชา "การขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชานั้นไม่เป็นมงคลกับชีวิตราชการ และชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็จำเป็นเพราะว่าผมไม่ได้ไปรุกรานท่า ไม่ได้ไปก้าวล่วงท่าน เพียงแต่ท่านเข้ามาในดินแดนผม ก็ต้องปกป้องด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมาไม่ได้ไปใส่ร้ายป้ายสีอะไรทั้งสิ้น"

อดีตเลขาธิการ สมช. ย้ำว่า หากนายกฯยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด เขาก็ต้องสู้ต่อไป ซึ่งก็ต้องใช้ทุกวิถีทางที่จะต่อสู้ได้ "คนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะสู้ มีวิธีการอะไรก็ต้องใช้หมด มีไม้หน้าสามหน้าสี่ก็ต้องใช้หมด...ถ้าท่านอุทธรณ์มันก็จะอันตรายทั้งผมและท่าน สถานการณ์ตอนนี้เหมือนโดยผลักโดนปั่นเหมือนจิ้งหรีด(ให้กัดกัน) แต่สำหรับผมก็คงไม่มีอะไรจะเสียไปกว่านี้แล้ว"

ทั้งนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมาให้เพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสมช. มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าขั้นตอนในการรับโอนไม่ถูกต้อง และยังเห็นว่างานในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีความสำคัญน้อยกว่าตำแหน่งเลขาธิการ สมช.จึงไม่สอดคล้องตามเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีนำเอามาอ้าง ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ เชี่ยวชาญ ด้านความมั่นคง จึงย้ายให้มาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

"ผมก็หวังว่านายกฯจะใช้ดุลยพินิจใช้เหตุใช้ผลในการพจารณาตัดสินใจตรงนี้ให้ดีที่สุด เพราะสุดท้ายท่านต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมือง ทางแพ่ง ทางอาญา ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีใครมาร่วมรับผิดชอบ ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้ขู่ แต่พูดด้วยความจริงใจ ท่านอาจจะมีคนเสนอแนะเยอะ เอาเลยสู้ได้ ทำอย่างนี้มันหยามกัน ใครจะกล้ามาฟ้องนายกฯหญิง แต่คนพวกนี้ไม่ต้องรับผิดชอบด้วย และอาจจะรอส้มหล่นจากการอุทธรณ์ของนายกฯ สุดท้ายนายกฯต้องรับผิดชอบหมด"

ถวิล ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบัน บอกว่าเขาก็เคยโดนนายถวิลย้ายเหมือนกัน แต่ไม่ได้โวยวาย

"เรื่องนี้พูดเฉพาะ “ภราดร” ขาไปไม่ได้ ต้องพูดถึงขามาด้วย พล.ท.ภราดร นั้นเป็นทหารกระทั่งยศพลโท ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการทหารสูงสุด และโฆษกกระทรวงกลาโหม และถูกโอนย้ายมาเป็นรองเลขาธิการ สมช.ในปี 2551 ช่วงนายกฯสมัคร สุนทรเวช การเปลี่ยนจากข้าราชการทหารมาเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งขั้นตอนไม่ใช่ง่ายๆ และที่มานั้นก็ไม่ใช่ว่าสมช.ไม่มีคนที่จะขึ้นมา นายสมเกียรติ บุญชู ที่ทำงานด้านความมั่นคงมาเป็น 30 ปีพร้อมจะขึ้นเป็นรองฯ นี่คือขามา ซึ่งมาด้วยทางการเมือง เรื่องแบบนี้คนไม่มีพลังภายใน ไม่มีอิทธิพลถึงระดับนายกฯมันทำไม่ได้"

"เมื่อผมขึ้นมาเป็นเลขา สมช. ผมก็ต้องคืนความเป็นธรรม ฉะนั้นการที่พล.ท.ภราดร ถูกย้ายออก และให้คุณสมเกียรติ ขึ้นมาเป็นรองเลขาสมช. นั้นคือการกลับคืนสู่ระบบคุณธรรม โดยก่อนหน้านั้นเป็นการทำลายระบบคุณธรรม เมื่อไรที่มีการล่าอาณานิคมในข้าราชการ(เอาคนนอกเข้าไปเป็นหัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ) เราก็จะใช้ศักยภาพคนได้ไม่เต็มที่ และทำลายขวัญข้าราชการไปตลอดทาง การที่ พล.ท.ภราดร บอกว่าแม้ถูกย้ายก็ไม่ปริปากบ่น อาจจะกลัวโดนสวน เพราะจะต้องมีการตรวจสอบที่มาที่ไป"

ทั้งนี้ ถวิล มองว่าเป็นไปได้ว่าฝ่ายการเมืองอาจจะคิดตั้งแต่ตอนย้าย พล.ท.ภราดร มาในปี 2551 ว่า ต้องการวางให้ พล.ท.ภราดร มาเป็นเลขาธิการ สมช.

ถวิล ยังกล่าวตำหนิถึง พล.ต.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกย้ายมาเป็นเลขาธิการ สมช.แทนเขาด้วยว่า "เขาทำหลายอย่างที่ไม่ถูก ตั้งแต่ตอนแรกที่เคยบอกว่า “พี่หวินผมจะไม่ไปไหน จะสู้ที่นี่” ซึ่งเขาอยู่ตรงนั้นเขาสู้ได้ดีกว่าผมอีก พอมานั่งเลขา สมช.ได้ 8 เดือน ก็ย้ายนายสมเกียรติมาช่วยผมตบยุง(ย้ายมาเป็นที่ปรึกษานายกฯ) ก็น่าเกลียดพออยู่แล้ว แต่ที่ยิ่งกว่าคือการที่เอาคนข้างนอกเข้าไป เพื่อจะให้ขึ้นมาเป็นเลขาสมช. ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมรับไม่ได้ ซึ่งพล.ต.อ.วิเชียร ทำเพื่อให้ตัวเองรอด แล้วปีต่อมาก็ไปเบียดตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมอีก คนอื่นในกระทรวงที่เขาพร้อมขึ้นมาไม่มีคุณสมบัติเลยเหรอ พล.ต.อ.วิเชียร ก็ไม่ใช่คนเลวร้าย แต่เป็นอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นคนดีไม่ได้"

อีกคนที่ถวิล พูดถึง คือ "ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีดีเอสไอ "ตอนเปลี่ยนรัฐบาลก็คิดอยู่เหมือนกันว่าผมอยู่ในข่ายที่อาจจะโดนย้าย แต่คิดว่าตำแหน่งของท่านธาริตน่าจะอันตรายกว่าเยอะ น่าจะเป็นอันดับแรก จริงๆท่านธาริตตอนนั้นต้องถือว่ายิ่งกว่าอันดับแรกอีก แต่สุดท้ายผมคิดผิด จากนั้นก็เลิกแทงหวยเลย" เขากล่าวพลางหัวเราะ

อย่างไรก็ตาม ถวิล บอกว่าด้วยความที่เขาไม่มีงานอะไรต้องทำ ทำให้เขามีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะมีเวลาไปออกกำลังกายที่ฟิตเนสตอนเช้า น้ำหนักลดไป 7- 8 ก.ก. สุขภาพดีขึ้น จากเดิมที่ต้องตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้ามืดเพื่อคอยดูข่าวว่าจะมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบ

"แต่สุขภาพที่ดีขึ้นที่ผมได้มานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตั้งใจ และผมคิดว่าบ้านเมืองเสียประโยชน์มากกว่า ถ้าผมสุขภาพทรุดโทรมแล้วทำงานแบบเดิม น่าจะคุ้มเงินเดือนกว่า" ถวิลกล่าวทิ้งท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รายงานพิเศษ ย้อนรอย เด้งถวิล ผลงานอัปยศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์

view