สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พอล ทูดอร์ โจนส์ : Macro Investor ฉบับฮอร์โมน

พอล ทูดอร์ โจนส์ : Macro Investor ฉบับฮอร์โมน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




นักลงทุนผู้ยึดแนวทาง Macro Investing ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในปัจจุบัน ได้แก่ นายพอล ทูดอร์ โจนส์ เทรดเดอร์หนุ่มใหญ่วัย 59 ปี
ads not by this site     

ซึ่งคงจะยากที่ใครจะสามารถเบียดตำแหน่งนี้ เนื่องจากเขาสามารถทำนายเหตุการณ์ Black Monday ตลาดหุ้นสหรัฐในปี 1987 ได้อย่างถูกต้องตรงเผง โดยหนึ่งในการซื้อขายหุ้นล็อตคลาสสิกด้วยการทำกำไรจากการตกลงของดัชนีหุ้นสหรัฐ หรือ Short Position นั้น สามารถทำกำไรอย่างที่เปิดเผยแบบเป็นทางการให้เขากว่า 100 ล้านดอลลาร์ นับเป็นสถิติระดับโลกสำหรับผลตอบแทนในการทำกำไรต่อปีเลยทีเดียว

เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นนักค้าสไตล์ Macro Investing ด้วยวิธีการกระจายการลงทุน ในลักษณะทำกำไรจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ระดับมหภาคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การลงทุนในหุ้น รวมถึงระบบการค้าหุ้นที่ทำกำไรจากส่วนต่างของโอกาสในช่วงเวลาต่างๆ นอกจากนี้ ยังร่วมก่อตั้งแผนกตราสารการเงินล่วงหน้า หรือ Finex ของ New York Board of Trade รวมถึงยังทำหน้าที่ประธานของ New York Cotton Exchange ในปี 1992 สำหรับในปัจจุบัน เขาทำหน้าที่เป็นประธานของ Tudor Investment Corporation ซึ่งเน้นการลงทุนแบบ Macro Investing ด้วยเงินลงทุนกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการการลงทุน ด้วยคอมเม้นท์แบบแหวกแนวว่าด้วยเรื่องวุ่นๆ ของฮอร์โมนกับอาชีพเทรดเดอร์ โดยเขาให้ความเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงซึ่งเป็นแม่ให้นมลูกด้วยตนเองเมื่อไร ความเป็นเทรดเดอร์ที่ยิ่งใหญ่ก็จะจบลงโดยทันที ซึ่งตรงนี้ มีกระแสการต่อต้านจากสตรีในหลายๆ วงการว่า นายโจนส์มีอคติและไม่ให้โอกาสต่อสุภาพสตรีในการทำหน้าที่เทรดเดอร์ ซึ่งเขาก็ออกมาชี้แจงในภายหลังว่า อาชีพการหากำไรจากการเทรดหลักทรัพย์ต้องใช้ความทุ่มเทและเวลาเป็นอย่างมาก จึงอาจจะไม่เหมาะกับผู้หญิงที่มีบุตร รวมถึงบุคคลใดก็ตามที่ไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับงานได้อย่างเต็มที่

ผมได้รวบรวมสุดยอดคำแนะนำ 10 ประการ ของนายโจนส์ มาฝากชาว Macro Investor กัน ดังนี้

หนึ่ง หากการเทรดหรือซื้อขายหลักทรัพย์เหมือนการเล่นหมากรุกแล้ว การเทรดโดยใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจมหภาคหรือ Macro Investing ก็ประหนึ่งเป็นการเล่นหมากรุกแบบ 3 มิติ ลองเปรียบเทียบการเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งกับการเล่นดัชนี SET แน่นอนว่าท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเชิงพื้นฐานของหุ้นตัวหนึ่งๆ ในตลาดได้ง่ายกว่าการอ่านอารมณ์ของตลาดทั้งตลาดอย่างมากมาย เมื่อท่านผู้อ่านมาเป็นชาว Macro Investor คงไม่สามารถพึ่งพาข้อมูลพื้นฐานอย่างเดียว ทว่าต้องทำหน้าที่เป็นผู้แกะร่องรอยปริศนาของเหตุการณ์เศรษฐกิจในอนาคตที่ต้องค้นหาด้วยตนเองอย่างมีศิลปะ ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลว่าทำไมผู้ที่พึ่งพาเฉพาะการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานเพียงอย่างเดียว จึงต้องประสบภาวะขาดทุนกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่าง วิกฤตซับไพร์มในทุกๆ 5 ปี ซึ่ง Macro Investor อย่างนายโจนส์ได้ถอดปริศนาดังกล่าว อ่านเกมออกแทบจะทุกครั้งไป

สอง เคล็ดลับของชาว Macro Investor อย่างนายโจนส์ คือ การมีความกระหายแบบไม่รู้จบและไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยในการหาข้อมูลและความรู้หรือศาสตร์ใหม่ๆ ตลอดเวลา เนื่องจากเขามองว่าโลกนี้ทั้งใบก็เป็นแค่ลายแทงหรือโฟลว์ชาร์ตของเงินทุนที่เราต้องใช้ข้อมูลหรือศาสตร์เหล่านั้นไปตาม หามาให้เจอเท่านั้น

สาม ในการหากำไรตามสไตล์การลงทุนแบบ Macro Investing นั้น หากสามารถ’กินหัวกับหาง ย่อมดีกว่ากินกลางตลอดตัว’ นั้นคือ เมื่อใดก็ตามที่สภาพตลาดหรือเศรษฐกิจมาถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ การลงทุนเพื่อให้ได้กำไรจากจุดที่เศรษฐกิจหรือตลาดเริ่มเปลี่ยนและจุดที่จะสิ้นสุดการเปลี่ยนแปลง จะสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำมากกว่าการลงทุนในช่วงกลางๆ ของการเปลี่ยนแปลงหรือไซเคิลดังกล่าว

สี่ การหาเงินให้ได้มากๆ คือการคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรก็ตามเพื่อมิให้เสียเงิน ไม่ใช่คิดว่าจะหาเงินอยู่ตลอด นั่นคือ จดจ่อเพื่อป้องกันเงินที่มีอยู่ไม่ให้ขาดทุน มิใช่จดจ่อแต่จะหาเงิน ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร อย่างไรเสียก็จะให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลและดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน หากเราไม่เสียเงินต้น อย่างไรเสีย เงินก็มีแต่เพิ่มพูน ในทางกลับกัน หากคิดแต่โลภจะหาเงินให้ได้เยอะๆ ก็จะมีอคติในการวิเคราะห์และลงทุนเกินตัว จำไว้ว่า ทีมฟุตบอลที่จะได้แชมป์มักไม่ใช่ทีมที่ทำประตูคู่แข่งได้เยอะ ทว่าเป็นทีมที่เสียประตูน้อยต่างหาก

ห้า ถ้าหากไม่ปรับตัว พัฒนา และพร้อมที่จะแข่งขัน ก็เตรียมตัวขาดทุนหรือหมดตัวได้เลย จะเห็นได้ว่าทีมแชมป์โลกอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ยังต้องรีบซื้อกองหลังทันทีแบบโดนโก่งค่าตัว เมื่อเห็นรูรั่วในแดนหลังของทีมก่อนเปิดฤดูกาลนี้เพียงแค่ไม่ถึงเดือน

หก ทุกๆวัน ต้องตั้งสมมติฐานกับตัวเองอยู่เสมอว่า พอร์ตที่ถืออยู่อาจจะเป็นการเล่นหลักทรัพย์ที่ผิดตัวอยู่ เพื่อจะได้ไม่ประมาท

เจ็ด นักลงทุนแนว Macro Investing เชื่อว่ากุญแจสำคัญของความสำเร็จอยู่ที่ว่าเก่งในการคุมความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน นักลงทุนที่ดี ร้อยละ 90 อยู่ที่การควบคุมความเสี่ยง จะเห็นได้ว่า นายโจนส์มักจะทำกำไรได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่บรรดาขาใหญ่มองข้าม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการลงทุนของตราสารที่ไม่ใหญ่โตอะไร รวมถึงมีโปร์ไฟล์ไม่ฟู่ฟ่า กล่าวโดยง่าย คือ Low Profile, High Profit

แปด อย่าได้ถัวเฉลี่ยช่วงที่เกิดความล้มเหลว หากช่วงไหนที่พอร์ตการลงทุนย่ำแย่ ให้ลดขนาดการซื้อขาย และเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อพอร์ตการลงทุนเริ่มกลับมาดี นั่นคือ Never average losers นั่นเอง

เก้า อย่าทำตัวเป็นฮีโร่และอย่ามี ego ให้พยายามตั้งคำถามกับความเชื่อของตนเองในเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญตั้งคำถามกับตนเองเรื่องขีดความสามารถของตนเอง อย่าได้รู้สึกเด็ดขาดว่าตนเองเก่งมากๆ เนื่องจากทันทีที่คุณรู้สึกเช่นนั้น เป็นอันว่าทุกอย่างต้องจบกัน

ท้ายสุด สิ่งที่นายโจนส์กับนายเบน เบอร์นันเก้ เห็นตรงกันโดยมิได้นัดหมาย ได้แก่ ความล้มเหลวเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวิตของผู้ที่จะก้าวสู่ความสำเร็จสูงสุดแทบทุกคนครับ


หมายเหตุ : หนังสือด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาค (Macro Investing) เล่มใหม่ล่าสุดของผู้เขียน “เล่นหุ้นต้องใช้ใจ... รวยได้ไม่รู้จบ” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นการลงทุน ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ bonthr.blogspot.com ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พอล ทูดอร์ โจนส์ Macro Investor ฮอร์โมน

view