สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมชาติกับตลาดทุน (1) : มูลค่า ของธรรมชาติ

ธรรมชาติกับตลาดทุน (1) : "มูลค่า" ของธรรมชาติ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในยุคที่ก๊าซเรือนกระจกพุ่งทะลุ 400 ส่วนในล้านส่วนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลายล้านปีของโลก องค์กรสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ธนาคารโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือที่ประชุมเศรษฐกิจโลกล้วนแต่มองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น “ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” อันดับต้นๆ ที่คุกคามความอยู่ดีกินดีและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ คงไม่มีใคร (ที่ใช้เหตุผลเป็น) ปฏิเสธแล้วว่าเราจำต้องเปลี่ยนวิถีการพัฒนาไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อย่างเร่งด่วน

คำถามคือองคาพยพต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจมี “ความพร้อม” ที่จะเปลี่ยนเพียงใด ผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุนโดยเฉพาะนักลงทุนถูกประณามตลอดมาว่า “สายตาสั้น” มองเห็นแต่ราคาหุ้นวันต่อวันหรือกำไรรายไตรมาส รายงาน UN Global Compact: CEO Study on Sustainability ปี 2013 โดย Accenture บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลก 1,000 คนในประเด็นความยั่งยืนตามนิยามของข้อตกลงโดยสมัครใจ UN Global Compactชี้ว่า มีซีอีโอเพียงร้อยละ 31 หรือน้อยกว่าหนึ่งในสามเท่านั้นที่มองว่า ราคาหุ้นของบริษัทพวกเขาในตลาดตอนนี้สะท้อนคุณค่าของโครงการและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนที่บริษัททำ

วิถีธุรกิจที่ยั่งยืนเรียกร้องให้นักธุรกิจ “สายตายาว” กว่าเดิม พยายามมองให้เห็น “ต้นทุนซ่อนเร้น” โดยเฉพาะทุนธรรมชาติ แต่ตลาดทุนดูจะยังผลักดันให้นักธุรกิจ “สายตาสั้น” ขึ้นเรื่อยๆ แรงตึงเครียดนี้จะคลี่คลายได้หรือไม่ มีเครื่องมือหรือกลไกใหม่ๆ ในตลาดทุนอะไรบ้างที่พยายามสร้างสะพานสานสองโลกนี้เข้าด้วยกัน เราจะมาเริ่มสำรวจดินแดนใหม่นี้ไปพร้อมกัน เริ่มจากการติดตามความคืบหน้าของวงการ “ประเมินมูลค่าของธรรมชาติ” ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

หนังสือใหม่เล่มหนึ่งที่สรุปวงการนี้ได้ดีคือ Nature’s Fortunes - เนื้อหาต่อไปนี้ผู้เขียนจะแปลและเรียบเรียงจาก “Book of the Week: Nature’s Fortune” เว็บไซต์ The Financialist โดย Credit Suisse (http://www.thefinancialist.com/book-of-the-week-mark-tercek-and-jonathan-adams/)

ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้ หรืออย่างน้อยนักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะบอกเราอย่างนี้ ตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมา นักเขียนเรื่องธรรมชาตินิยมตั้งแต่ เฮนรี เดวิด ธอโร จนถึง เอ็ดเวิร์ด แอบบี หล่อเลี้ยงความคิดที่ว่าระบบนิเวศเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ อยู่ไกลแสนไกลจากกลไกของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ทัศนคติเช่นนี้ฝังลึกในความคิดของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายคน พวกเขามองว่าความคิดที่จะแปะป้ายราคาให้กับธรรมชาตินั้นอย่างดีที่สุดก็เชยบรม อย่างเลวที่สุดคือการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย

แต่เมื่อทรัพยากรบนโลกร่อยหรอลงเรื่อยๆ การแปะป้ายที่เป็นตัวเงินให้กับสภาพแวดล้อมก็ดูจะเป็นเรื่องที่รอบคอบมากขึ้น เมื่อรัฐบาลเอกวาดอร์ค้นพบน้ำมันมูลค่า 7,200 ล้านดอลลาร์ข้างใต้อุทยานแห่งชาติยาซูนี (Yasuni) พื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพหนาแน่นที่สุดในโลก รัฐบาลก็เสนอว่าจะปล่อยน้ำมันไว้ใต้ดิน อนุรักษ์ยาซูนีเอาไว้ - ถ้าประชาคมโลกจะจ่ายเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลเพื่อชดเชยรายได้น้ำมันที่ต้องสูญเสียไป ถึงแม้ดาราฮอลลีวู้ดบางคน รัฐบาลบางประเทศ และมูลนิธิเอกชนบางแห่งจะรวบรวมเงินสดได้จำนวนหนึ่ง มูลนิธิและรัฐบาลกระเป๋าหนักส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธ ทำให้เอกวาดอร์ได้เงินน้อยกว่าเป้านักวิจารณ์ที่ปฏิเสธจะให้เงินเอกวาดอร์เรียกข้อเรียกร้องครั้งนี้ว่า “แบล็กเมลด้านสิ่งแวดล้อม” แต่ ราฟาเอล คอร์เรีย ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ มองต่างมุมออกไป

“เพราะสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นบริโภคสินทรัพย์ที่สร้างจากป่าแอมะซอนฟรีๆ เท่ากับว่าพวกเขาไม่ได้ลงทุนอะไรเลย” เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน

ความคิดที่จะมองสิ่งแวดล้อมว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ซึ่งมีมูลค่าที่ประเมินเป็นตัวเงินได้นั้น เป็นแก่นของหนังสือใหม่เรื่อง “ความมั่งคั่งของธรรมชาติ : วิธีที่ธุรกิจและสังคมจะรุ่งเรืองด้วยการลงทุนในธรรมชาติ” (Nature's Fortune: How Business and Society Thrive by Investing in Nature) เขียนโดย มาร์ค เทอร์เซก (Mark Tercek) และ โจนาธาน อดัมส์ (Jonathan Adams) เทอร์เซกเป็นซีอีโอของเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมรายใหญ่ชื่อ The Nature Conservancy ในอดีตเขาเป็นวาณิชธนกร มีประสบการณ์นับสิบปีใน Goldman Sachs วาณิชธนกิจที่โด่งดังที่สุดของอเมริกา เทอร์เซกเป็นนักสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ที่มีภูมิหลังหนักแน่นทางการเงิน และโอบอุ้มระบบทุนนิยมด้วยความเต็มใจ

เทอร์เซกนำอย่างหนักแน่นว่า วิธีอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีที่สุดไม่ใช่การชี้ให้ประชาคมธุรกิจมองเห็นมูลค่าของธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังต้องประเมินมูลค่านั้นออกมาเป็นตัวเลขทางการเงินด้วย ด้วยความช่วยเหลือจากอดัมส์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์และนักเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ เทอร์เซกขอให้นักสิ่งแวดล้อมโอบอุ้มภาษาของการเงินเวลาที่พูดถึงเป้าหมายการอนุรักษ์ของพวกเขา

นักเขียนทั้งสองบอกว่า “แนวคิดอย่างเรื่องการสร้างผลตอบแทนสูงสุด ลงทุนในสินทรัพย์ จัดการความเสี่ยง กระจายความเสี่ยง และส่งเสริมนวัตกรรม ล้วนเป็นแนวคิดที่พบได้ทั่วไปในธุรกิจและการเงินการธนาคาร ...แทบไม่เคยมีใครใช้แนวคิดเหล่านี้กับธรรมชาติ แต่เราควรใช้”

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งและปัญหาเขาควายหลักๆ นั่นคือ เศรษฐกิจที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และพัฒนาอย่างแข็งกร้าวในทางที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศสำคัญๆ ขั้นรากฐาน (ลองนึกถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) นั้นเป็นระบบเศรษฐกิจที่ในอนาคตจะทำลายตัวเอง เศรษฐกิจของเรากำลังระเบิดจากข้างใน สะดุดเท้าตัวเองส่วนหนึ่งเพราะมันทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติที่ถูกขัดขวางเท่ากับธรรมชาติที่ทำลายล้าง (ลองนึกถึงพายุเฮอริเคนยักษ์และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ)

เทอร์เซกกับอดัมส์แนะว่า บริษัทต่างๆ ควรเริ่มต้นจากการถามว่า จะบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจด้วยการอนุรักษ์ ใช้งาน หรือส่งเสริมถิ่นที่อยู่และกระบวนการต่างๆ ในระบบนิเวศได้อย่างไร สิ่งปลูกสร้างทางวิศวกรรมของมนุษย์จะรองรับสนับสนุน “ทุนธรรมชาติ” หรือ “สาธารณูปโภคสีเขียว” แทนที่จะทดแทนมันได้อย่างไร เศรษฐกิจต่างๆ ล้วนต้องพึ่งพาทุนธรรมชาติอย่างเช่นแม่น้ำลำธาร ที่ราบน้ำท่วมถึง แนวปะการัง พื้นที่ชุ่มน้ำ ห้วยหนองคลองบึง ป่าไม้ ประมง สภาพภูมิอากาศ และที่ดิน ถึงแม้ประเด็นนี้อาจดูเหมือนจะชัดมานานแล้ว ที่ผ่านมาเราก็ละเลยการแปลงทรัพยากรเหล่านี้เป็นสินทรัพย์ที่วัดมูลค่าทางการเงินได้ และสัมพันธ์กับการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ

เทอร์เซกกับอดัมส์สำรวจกรณีศึกษาหลายกรณี ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำในเทือกเขาแอนดีส ไปจนถึงสหกรณ์ประมงในแคลิฟอร์เนีย เพื่อสาธิตว่าการใช้ทัศนคติแบบธุรกิจต่อธรรมชาติมากขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจได้อย่างไรผู้เขียนทั้งสองชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งคือเศรษฐกิจที่ดูแลธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการส่งมอบหนทางและทรัพยากรให้คนจำนวนมากที่สุดได้เข้าถึงความมั่นคงทางการเงินและมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดี

ธุรกิจต่างๆ จะต้องเริ่มมองการณ์ไกลกว่าเดิม นักสิ่งแวดล้อมจะต้องเริ่มมองโลกอย่างน้อยส่วนหนึ่งผ่านเลนส์ของระบบทุนนิยม - เพราะวิธีที่ดีที่สุดที่จะอนุรักษ์โลกธรรมชาติอันประเมินค่ามิได้ คือการมองเห็นว่าธรรมชาติสามารถเป็น “สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง” (high-performance asset) ในภาษาของการเงิน

โปรดติดตามตอนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธรรมชาติกับตลาดทุน (1) มูลค่า ของธรรมชาติ

view