สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง ศก.ไตรมาส 3 ส่งออก ขุนไม่ขึ้น-จ่อลดจีดีพีโค้งท้าย

จากประชาชาติธุรกิจ

ความหวังดันเศรษฐกิจไทยปี 2556 ให้ไปถึงเป้าหมายตามที่หน่วยงานต่าง ๆ คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีต้องปรับลดลงมาหลายรอบ ด้วยปัจจัยการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ หนี้ครัวเรือนที่แตะระดับ 79-80% ต่อจีดีพี ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกในประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ผสมโรงกับจีน ตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของไทย ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจหดตัวลงอยู่ในระดับ 7-7.5% รวมทั้งการลงทุนภาครัฐ ทั้งจากโครงการบริหารน้ำและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้าออกไป

ทำให้ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสะท้อนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 ถูกปรับลดลงมาหลายระลอก จากที่ต้นปีตั้งเป้าหมายจีดีพีไว้ที่เหนือ 5% พอวิ่งมาถึงโค้งท้ายปลายปีกลับต้องยอมรับความจริง ปรับลดเป้าหมายจีดีพีเหลืออยู่ที่ระดับ 3% กว่า ๆ หรือบางสำนัก เช่น ธนาคารเอชเอสบีซีได้ปรับลดลง มาอยู่ 2.8%

ก่อนที่สำนักงานคณะ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ จะประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/56 อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พ.ย.นี้ "ประชาชาติธุรกิจ" จึงได้ประมวลภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และแนวโน้มปี 2557 มาฉายภาพให้ภาคธุรกิจเตรียมพร้อมปรับแผนธุรกิจรับมือ

 

 


ธปท.ลุ้นดันจีดีพีเข้าเป้า 3.7%

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวเพียง 0.2% ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ ธปท.คาดว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ 1% ซึ่งเชื่อว่าส่งออกในไตรมาส 4 จะฟื้นตัวมากขึ้น และจะสนับสนุนให้ภาพรวมการส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

"ข้อมูล ล่าสุดจีดีพีไตรมาส 3 ยังโตเป็นบวก และปกติไตรมาส 4 ของทุกปีก็มักจะเติบโตสูงสุด ซึ่งน่าสนับสนุนให้ภาพรวมทั้งปีเติบโตได้ตามเป้าหมาย 3.7% ในปีนี้ ธปท.คงไม่มีการปรับเป้าใหม่แล้ว และหากจะปรับอีกครั้งคงเป็นราวต้นปี"57" นายเมธีกล่าว



สำหรับรายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือน ล่าสุด ธปท.ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3/56 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามการส่งออกสินค้าในหลายหมวดที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ต่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่เติบโตดีต่อเนื่อง

ขณะที่การบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชนค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจนนัก ส่วนภาครัฐแม้ได้เร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ยังน้อยกว่าเป้าหมายที่ ตั้งไว้

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง มาอยู่ที่ 888 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไตรมาส 2/56 ขาดดุล 6,664 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการขาดดุลส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งกำไรและเงินปันผลกลับไปต่างประเทศ และดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล โดยเฉพาะในรายการดุลการชำระเงินที่ขาดดุลอยู่ที่ 1,950 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลจากการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันการเงินเป็นสำคัญ

ดัชนี ศก.เดือน ก.ย.หดตัวถ้วนหน้า

ขณะ ที่ภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.ย. ธปท. ระบุว่า ตัวชี้วัดเศรษฐกิจหลายรายการหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อาทิ การส่งออกหดตัวอยู่ที่ 6.3% หรือมีมูลค่ารวม 19,169 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้าหดตัว 6.1% หรือคิดเป็นมูลค่า 16,608 ล้านเหรียญสหรัฐ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัว 6.1% การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 3.3% ตามการลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์

สศค.รับส่งออกขุนไม่ขึ้นจ่อลดจีดีพีโค้งท้าย

นาง สาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือน ธ.ค.นี้ สศค.จะพิจารณาปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอีกครั้ง โดยจะต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในเดือน พ.ย.นี้ก่อน อย่างไรก็ดี ล่าสุด สศค.ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะขยายตัวได้ประมาณ 3.7% (ช่วง 3.5-4.0%) โดยมองว่าครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.3% จากครึ่งปีแรกที่โต 4.1% ซึ่งปัจจัยสำคัญคือ การส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1.8% แต่เนื่องจากเดือน ก.ย.การส่งออกต่ำกว่าคาด และถ้าจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย ในช่วง 3 เดือนที่เหลือต้องส่งออกอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

 


"ดูจากตัวเลขแล้ว เป็นเรื่องที่ท้าทายมากพอสมควร เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ถ้าจะเร่งได้เยอะควรจะเป็นในเดือน ก.ย.แต่ปรากฏว่าเดือน ก.ย.อยู่แค่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์นิด ๆ"

ส่วนเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นางสาวกุลยามองว่า มีสัญญาณการชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

โดย ดัชนีชี้การบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัว -7.3% ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของการบริโภคในประเทศ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่สูงในปีก่อน เนื่องจากกรมสรรพากรเร่งจัดเก็บภาษีในปีก่อน

ขณะที่การส่งออกมี สัญญาณชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 เนื่องจากการส่งออกหดตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทำให้การส่งออกในเดือน ก.ย.หดตัว -1.7% อย่างไรก็ดี มูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปกลับมาขยายตัวที่ 0.7% และ 8.5% ตามลำดับ

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วย แต่ขณะนี้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจโลกจะไปฟื้นตัวในปี 2557 ส่วนปีนี้จะยังชะลอ ดังนั้น สศค.จึงมองว่าปีหน้าการส่งออกจะขยายตัวได้ 7.5% แต่ปีนี้ยังชะลอตัว

ส่วน สถานการณ์ทางการเมือง สศค.ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบ แต่หากมองในภาพรวม ยอมรับว่า ในระยะสั้นจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยทั่วไป ซึ่งสิ่งที่ สศค. กังวลมากกว่าคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีผลต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งมองว่าจะต่ำสุดในปีนี้ และปีหน้าน่าจะดีขึ้น

SCB ชี้รัฐเบิกจ่ายลงทุนต่ำเป้า 12% ฉุด ศก.

นาง สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 ลงเหลือ 3.4% จากเดิมคาดขยายตัว 4% โดยปัจจัยฉุดคือการส่งออกที่ช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวเพียง 0.05% และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัว 1.5% ขณะที่การบริโภคขยายตัว 1% โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด

ด้าน การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังต่ำกว่าเป้าหมาย ยอดการเบิกจ่ายสะสมตลอดปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.5% ของงบประมาณประจำปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายที่คณะรัฐมนตรีต้องการอยู่ที่ราว 94% และการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 68% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายถึง 12% ส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนตามไปด้วย

สำหรับการขยายตัวของ เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะโต 4.5% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นกลับมาขยายตัวได้ 8% จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่น่าจะขยายตัวได้ 10% รวมถึงแรงสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เริ่มมีความ ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าปีหน้าจะมีเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.76 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นเงินลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งราว 1.2 แสนล้านบาท


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง ศก.ไตรมาส 3 ส่งออก ขุนไม่ขึ้น จ่อลดจีดีพีโค้งท้าย

view