สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจโลกปี 2014 ดีจริงหรือ

เศรษฐกิจโลกปี 2014 ดีจริงหรือ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วได้อ่านบทความของนาย Klaus Schwab ประธานบริหารกลุ่ม World Economic Forum ชื่อบทความว่า “ปี 2014 จะสร้างหรือทำลายเศรษฐกิจ”

หรือ “2014 Will make or break the economy” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม มีหลายประเด็นที่บทความนี้ พูดถึงที่ตรงกับความเห็นของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปีนี้ คือขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออก แต่ผมเองไม่ได้มองดีมากขนาดนั้นเพราะดูแล้วว่า ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัว ยังมีจุดอ่อนและความไม่แน่นอนอีกหลายจุด ที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ จะไม่เข้มแข็งอย่างที่หลายฝ่ายมอง อันนี้คือประเด็นที่อยากจะเขียนวันนี้

ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตร้อยละ 2.6 หรือมากกว่า เทียบกับร้อยละ 1.6 ปีที่แล้ว นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมองเศรษฐกิจโลกปีนี้ในแง่บวกว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะเร่งตัวได้มากกว่าปีที่แล้ว คือโตกว่าร้อยละ 3.6 ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจสหรัฐที่มีสัดส่วนร้อยละ 23 ของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง ดึงให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นตามไปด้วย แต่มุมมองดังกล่าวอาจมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะยังมีประเด็นอีกมากที่จะเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ซึ่งในบทความของนาย Schwab ก็ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้ ในความเห็นของผมคิดว่าความไม่แน่นอนหลักๆ ที่อาจกระทบเศรษฐกิจโลกปีนี้มีอยู่สี่เรื่อง

หนึ่ง คือความไม่แน่นอนว่าเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องหรือไม่ปีนี้ จากปัญหาโครงสร้างที่ยังไม่ได้แก้ไขและความไม่ชัดเจนด้านนโยบายที่มีอยู่ กรณีเศรษฐกิจสหรัฐมีความไม่แน่นอน ว่าทางการจะสามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการคลังได้หรือไม่ โดยเฉพาะเพดานหนี้สาธารณะ จากการไม่สามารถตกลงกันได้ของพรรคการเมืองสหรัฐ ที่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาหนี้มาตลอด ถ้าปัญหาการคลังหรือปัญหาหนี้ไม่มีทางออกก็มีโอกาสสูงที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจสหรัฐจะอ่อนแอต่อไปและไม่นำไปสู่การฟื้นตัวของการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสำคัญต่อการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ กล่าวคือ ถ้าการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐไม่ขยายตัว ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐก็จะมีข้อจำกัด

กรณียุโรป ความไม่แน่นอนอยู่ที่การผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง เพื่อสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันและวินัยทางการเงินให้กับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป โดยเฉพาะด้านการคลัง (Fiscal union) และด้านสถาบันการเงิน (Banking union) เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปโซน และต่อการคงอยู่ของระบบเงินยูโร การปฏิรูปต้องอาศัยความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศยูโรโซน 17 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและถ้าการผลักดันการปฏิรูปดังกล่าวไม่คืบหน้า อันนี้จะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของยุโรป เพราะปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะรองรับการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ สำหรับญี่ปุ่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางญี่ปุ่น แม้จะทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีมากขึ้นและความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดลดลง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่านโยบายดังกล่าวได้ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ถ้าการปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบาย “ลูกธนูดอกที่สาม” ไม่เกิดขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็จะมีข้อจำกัดเช่นกัน

ทั้งหมดจึงชี้ว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงความชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจต้องมีมากพอที่จะประคองให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีต่อเนื่องในปีนี้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

สอง เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ขณะนี้กำลังเป็นขาลง คือเศรษฐกิจกำลังชะลอพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศหลักอย่างเช่น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย หรือแม้แต่ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และไทย การชะลอตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ กระตุ้นโดยแนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินสหรัฐ อีกส่วนเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ได้เริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้มีข้อจำกัดเพิ่มเติมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ความพร้อมของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่จะใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างแต่ก่อนมีน้อยลง เพราะความห่วงใยเรื่องภาระหนี้ (ยกเว้นประเทศไทย) และปัญหาการคลังที่อาจเกิดขึ้นตามมา ผลก็คือการชะลอของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่คราวนี้อาจลากยาว ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีข้อจำกัด

สาม คือ ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาเสถียรภาพเชิงวิกฤตอีกครั้งในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากที่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยโลกได้เปลี่ยนจากขาลงเป็นขาขึ้น การลดทอนมาตรการคิวอีของสหรัฐ เป็นสัญญาณชัดเจนของการเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินสหรัฐ จากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จะเริ่มปรับสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น ที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่ออัตราดอกเบี้ยโลกเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น เพราะดอกเบี้ยแพงทำให้เศรษฐกิจชะลอ และสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการชำระหนี้ คราวนี้ความห่วงใยในประเด็นดังกล่าวมีเหตุมีผล ดูจากภาวะเงินทุนไหลออกกลางปีที่แล้ว จากข่าวการลดทอนมาตรการคิวอี ที่ทำให้ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคหลายประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ถูกกดดันให้อ่อนค่าลงเร็วมาก เช่น กรณี อินโดนีเซีย อินเดีย อันนี้จึงเป็นประเด็นความเสี่ยงว่าปีนี้ ในภาวะที่การลดทอนมาตรการคิวอีจะมีต่อเนื่องประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจจะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศได้หรือไม่

สี่ สำหรับเศรษฐกิจจีนก็มีประเด็นว่าจะสามารถบริหารการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจได้หรือไม่เช่นกัน อย่างที่ทราบ การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนในแง่สภาพคล่อง นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นของจีนในการชำระหนี้ที่กู้ยืมมาทั้งจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Shadow-banking) ที่ได้ปล่อยกู้มากต่อรัฐบาลท้องถิ่นในจีนภายใต้บารมีทางเครดิตของรัฐบาลกลาง เพื่อขยายการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นจีนมีปัญหาในการชำระหนี้ จากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอและสภาพคล่องที่ตึงตัว และรัฐบาลกลางจีนไม่เข้าช่วยเหลือ ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในจีนก็จะสูงขึ้นทันที ดังนั้นเศรษฐกิจจีนเองก็มีความท้าทายที่ต้องบริหารการชะลอตัวให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สี่ข้อนี้คือข้อห่วงใยของผมเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกปีนี้ ซึ่งก็ตรงกับหลายประเด็นที่บทความของนาย Schwab พูดถึง ปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้อาจทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ไม่ฟื้นตัวดีเท่ากับที่หลายฝ่ายคาด แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวดีขึ้น ในกรณีของไทย จุดนี้เป็นความไม่แน่นอนสำคัญที่ผู้บริหารนโยบายของประเทศต้องตระหนัก เพราะจะมีผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออก ที่ทางการหวังไว้มากว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าการส่งออกไม่ขยายตัวหรือขยายตัวได้น้อยก็จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศมาก

ดังนั้น อย่างที่ได้เคยเขียนไว้ ปีนี้การบริหารเศรษฐกิจต้องระมัดระวังมากๆ ทั้งจากผลกระทบของมาตรการคิวอีที่จะนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ จากความไม่แน่นอนของสภาวการณ์การเมืองในประเทศที่มีความเปราะบางสูง และจากความเสี่ยงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจไม่เต็มร้อย กระทบการฟื้นตัวของการส่งออก ทั้งหมดนี้ชี้ว่า มีความเสี่ยงสูงที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีข้อจำกัดมาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจโลกปี 2014 ดีจริงหรือ

view