สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการ TDRI ตบหน้าเพื่อไทย ชี้แพ้ กปปส.ขาด แถมเสียงหดกว่า 5 ล้าน

นักวิชาการ TDRI ตบหน้าเพื่อไทย ชี้แพ้ กปปส.ขาด แถมเสียงหดกว่า 5 ล้าน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการ - นักวิชาการทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ตัวเลขเลือกตั้ง 2 ก.พ. ตบหน้าพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนน้อยกว่า No Vote-Vote No-บัตรเสีย เกือบ 6 ล้าน ส่วนคนรักพรรคเพื่อไทยเสียงหดกว่า 5 ล้าน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ก.พ.) นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นส่วนตัว หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้งได้เปิดเผยผลเบื้องต้นของการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2557 เมื่อวันที่ 2 ก.พ. โดยนักวิชาการทีดีอาร์ไอผู้นี้ได้สรุปเป็นตารางคะแนนออกมาตามสัดส่วน พบว่า คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยลดลงจากปี 2554 จาก 15 ล้านเสียง เหลือเพียง 10 ล้านเสียงเท่านั้น
       
       


       
       ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 5 ก.พ. นักวิชาการผู้นี้ระบุในเฟซบุ๊ก ว่า “ถ้าใช้ข้อมูลนี้ ร่วมกับสัดส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อ (Party list) ที่ พท. ได้ในปี 2554 (หัก ปชป.ออก) พรรค พท.จะได้คะแนนในปีนี้ 10.7 ล้านเสียง น้อยลงเกือบ 5 ล้านเสียง...ในขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิ์เพิ่มขึ้นกว่าปี 54 เล็กน้อย”
       
       ต่อมานายสมชัยโพสต์ด้วยว่า มาดูว่าคะแนนพรรคเพื่อไทยที่อาจได้จัดตั้งรัฐบาลเพราะ 'ชนะ' การเลือกตั้งนี้ มีความชอบธรรมเพียงใด “ผลการประมาณการคร่าวๆ โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ (อ้างว่ามาจาก กกต.อีกที) แล้วปรับใช้รูปแบบการลงคะแนน party list ในปี 2554 จากนั้นคำนวณคะแนน 'กปปส.' ว่าหมายถึงคะแนน No Vote, Vote No และบัตรเสียที่ 'เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ (ใช้เกณฑ์ปี 54)' ผลคือ พรรค พท.ได้คะแนนน้อยกว่า กปปส.เกือบ 60% นั่นหมายถึงมี ปชช.ที่ไม่อยากให้พรรค พท.บริหารประเทศมากกว่าคนที่ต้องการให้บริหาร...เป็นเพียงการประมาณการ ครับ..ต้องรอคะแนนเป็นทางการ”
       
       จากนั้นในวันนี้ (6 ก.พ.) นายสมชัยโพสต์ต่อว่า “สืบเนื่องจาก post เมื่อวานที่ประมาณการคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยเทียบกับ 'กปปส.' (ที่หมายถึงคนไม่เอาระบอบทักษิณ แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับแนวทางดำเนินการของ กปปส.) ลองทำตัวเลขอีกแง่มุมหนึ่ง แสดงถึง 'เจตนารมณ์' ทางการเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้ มุ่งไปที่ว่า (ก) ส.ส.ที่จะได้ไม่ว่าจากพรรคใดก็ตาม ได้รับความเห็นชอบให้บริหารประเทศหรือไม่ และ (ข) พอจะบอกถึงจุดยืน reform before election ได้เพียงใด
       
       “ตัวเลขตามตารางข้างล่าง แสดงว่าจำนวนคนที่ไม่ต้องการให้ผู้สมัครคนใด/พรรคใดเลยบริหารประเทศ มีจำนวนมากกว่าคนที่ 'ยอม' หรือ 'ไว้ใจ' ให้บริหารได้ อันนี้รวมทุกพรรคเลยไม่ใช่เฉพาะพรรคเพื่อไทย คือต่อให้ตั้งรัฐบาลโดยไม่มีฝ่ายค้านเลยก็ไม่ชอบธรรมอยู่ดี
       
       


       
       “ส่วนเรื่อง reform before election คนที่ไม่มาใช้สิทธิ (No Vote) ส่วนเพิ่ม อาจตั้งสมมติฐานว่าต้องการแนวนี้แน่นอนจึงไม่มาเลือกตั้งทั้งที่เคยมาครั้ง ที่แล้ว ส่วนคนมาเลือกตั้งแต่กาบัตรเสียหรือ Vote No (เพิ่มจากปกติ) ก็คงต้องการส่ง message ว่าอย่างน้อยที่สุดต้อง reform ควบคู่การเลือกตั้ง ไม่เห็นด้วยกับระบบเดิมจึงไม่เลือกใครเลย และต้องการเห็นการ reform อย่างจริงจังและรวดเร็ว มิฉะนั้นครั้งหน้าคงไปร่วม No Vote”


14ล้านเสียงเลือกใคร

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

คะแนนเลือกตั้งที่ถูกนำเสนอโดย ภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นับว่าน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะสัดส่วนผู้ที่ลงคะแนน “โหวตโน” ที่มีมากกว่า 3,335,334 ใบ และบัตรเสียมากกว่า 2,425,673 ใบ หากคิดรวมๆ แล้วทั้งสองส่วนจะมีประมาณ 5.7 ล้านใบ คงเหลือเป็นคะแนนให้พรรคการเมืองเพียง 14.3 ล้านคะแนนเท่านั้น

แม้จะมีจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งถูกปิดอีกกว่า 12 ล้านคน แต่ตัวเลขผู้ที่ลงคะแนน “เลือกพรรค” ก็น่าสังเกตอย่างมาก เพราะเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554 แล้ว ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยได้คะแนนทั้งหมด 15.7 ล้านคะแนน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 11.4 ล้านคะแนน พรรคภูมิใจไทยได้ 1.2 ล้านคะแนน ขณะที่พรรครักประเทศไทยได้ 9.9 แสนคะแนน พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 9 แสนคะแนน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ 4.9 แสนคะแนน และพรรคอื่นๆ อีกรวมแล้วประมาณ 1 ล้านคะแนน

หมายความว่า 14.3 ล้านคะแนนที่ลงให้พรรคการเมืองนั้น ไม่ได้ลงให้พรรคเพื่อไทยอย่างเดียวแน่นอน เพราะย่อมถูกกระจายไปยังพรรคอื่นที่ลงเลือกตั้งด้วย หากคะแนนกระจายเป็นสัดส่วนให้พรรคอื่นในลักษณะเดิมเหมือนเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนรวม 11-12 ล้านคะแนนเท่านั้น

คำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ ณ เวลานี้ เนื่องจาก กกต.ยังต้องรวบรวมคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงหน่วยอื่นๆ ที่ถูกปิด ก่อนจะประกาศคะแนนพร้อมกันทั้งหมด นั่นก็คือ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากขึ้นหรือน้อยลง และพรรคอื่นๆ แย่งคะแนนเสียงจากพรรคเพื่อไทยได้มากน้อยเพียงใด

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย เจ้าของคะแนนเสียงกว่า 1 ล้านคะแนน เมื่อปี 2554 ยอมรับว่าไม่สามารถคาดคะเนได้จริงๆ ว่ามีผู้ลงคะแนนเลือกพรรครักประเทศไทยมากน้อยเท่าไร แต่ตั้งข้อสังเกตว่าคงไม่มากถึงขั้นได้ 1 ล้านคะแนน เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เนื่องจากไม่ได้หาเสียง ไม่ได้ประกาศนโยบาย รวมถึงไม่ได้สัมผัสประชาชนเหมือนครั้งที่แล้ว ขณะเดียวกัน คนที่มาเลือกตั้งเองก็น้อยกว่าเดิมถึง 30% เพราะฉะนั้นการได้คะแนนเสียงเท่าเดิมจึงเป็นไปได้ยากมาก

“ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยเองก็ได้คะแนนน้อยลงไปมาก ซึ่งน่าเสียดายที่ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ลงเลือกตั้ง หากเขาลงเขาก็คงได้เยอะกว่าเดิมและมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลด้วยซ้ำ”ชูวิทย์ ตอบคำถามสั้นๆ

ขณะที่ สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในฐานะเจ้าพ่อสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังประเมินได้ยากมาก ว่า พรรคอันดับ 1 จะได้คะแนนเสียงมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไร เนื่องจากสถานการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา เพราะคนไม่มั่นใจในการออกไปเลือกตั้ง ไม่ว่าจะด้วยประเด็นที่ถูกขู่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะโมฆะหรือไม่ และประเด็นความกลัวความรุนแรง ทำให้ตัวเลขขณะนี้ไม่ได้ชี้วัดอะไร

“ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างตีความตัวเลขเข้าข้างตัวเองทั้งหมด ทั้งจำนวนคนที่ออกไปเลือกตั้งหรือจำนวนโหวตโน หรือจำนวนบัตรเสีย แต่ที่เห็นได้ชัดคือ โหวตโนและบัตรเสียนั้นค่อนข้างสูง ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร เนื่องจากอาจเป็นได้ทั้งการเบื่อการเมือง หรืออยากเขียนระบายความในใจลงไปในบัตรจนทำให้เกิดบัตรเสีย ซึ่งทั้งสองอย่างก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะอย่างน้อยคนทั้งสองกลุ่มยังแสดงออกด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”สุขุม ระบุ

เขาบอกอีกว่า หลังจากนี้สวนดุสิตโพลต้องทำหน้าที่ค้นหาต่อไปว่า เหตุที่คนไม่ออกไปใช้สิทธิด้วยการเลือกอยู่บ้านเฉยๆ นั้นมาจากการที่สนับสนุน กปปส. หรือเบื่อการเมืองและห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะจำนวนคนที่ใช้สิทธิน้อยลงนั้น ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 80 ปี ต้องถอยหลังลงไป เนื่องจากคนมีส่วนร่วมกับการเมืองน้อยลง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. แถลงว่า สถิติผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้สิทธิทั้งหมด 43 ล้านคน แต่มาใช้สิทธิ 20.1 ล้านคน หรือ 46% โดยมีบัตรดี 14.1 ล้านใบ เสีย 2.4 ล้านใบ และมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3.3 ล้านคน และจากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่า

1.จำนวนบัตรดี 33% คิดเป็น 1 ใน 3 เท่านั้น อีก 2 ส่วน เห็นได้ชัดว่าประชาชนเห็นด้วยกับแนวทาง กปปส.ที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองฉ้อฉลกลับเข้ามาอีก

2.ถ้าเปรียบจำนวนผู้มาใช้สิทธิปี 2554 มีประชาชนถึง 35 ล้านคน แต่วันที่ 2 ก.พ. ประชาชนมาใช้สิทธิเพียง 20 ล้านคน ฉะนั้น แสดงว่าประชาชน 15 ล้านคน ที่เคยไปใช้สิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และ 15 ล้านคนนี้ ถือเป็นตัวเลขมีนัยสำคัญมากกว่า 14 ล้านเสียง ลงคะแนนให้พรรคการเมือง และหากนำ 15 ล้านคน บวกกับ 3.3 ล้านคน ก็ประมาณ 18 ล้านคน เท่ากับมากกว่าผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้ง

3.บัตรเสียมากกว่าปกติปี 2554 ถึง 1.7 ล้านใบ ทั้งหมดเมื่อรวมกันแล้วประมาณ 19 ล้านคน ที่ไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคการเมือง และไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ขณะที่ กทม.มีผู้มีสิทธิลงคะแนน 4.4 ล้านคน แต่มาใช้สิทธิเพียง 7 แสนคนเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และเท่ากับกระทบฐานเสียงพรรคเพื่อไทย


กกต.สรุปคนมาเลือกตั้ง 47.72% “โหวตโน-บัตรเสีย” ท่วมเกือบ 6 ล้านใบ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการ - กกต.สรุปผู้มาใช้สิทธิ 20.53 ล้านคน คิดเป็น 47.72% (ไม่รวม 9 จังหวัดภาคใต้) บัตรเสีย-โหวตโนท่วมโดย บัตรเสีย 2.45 ล้าน โหวตโน 3.4 ล้าน สูงกว่าการเลือกตั้งปี 54 ชี้ “เชียงใหม่” นำโด่งใช้สิทธิมากสุด “เมืองคอน” น้อยสุด กทม.ติดอันดับ 4 ใช้สิทธิน้อยสุด “โหวตโน” มากสุดยกให้ “ระยอง”
       
       วันนี้ (6 ก.พ.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข้อมูลการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.จำนวน 68 จังหวัด โดยไม่รวม 9 จังหวัดภาคใต้ คือ กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 43,024,786 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20,530,359 คนคิดเป็น 47.72% แบ่งเป็น บัตรดี 14,645,812 ใบ คิดเป็น 71.34% บัตรเสีย 2,458,461 ใบ คิดเป็น 11.97% ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน 3,426,080 ใบ คิดเป็น 16.69%
       
       โดย ภาคเหนือ 16 จังหวัด มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 8,526,095 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,776,287 คน คิดเป็นร้อยละ 56.02 บัตรดี 2,997,639 บัตร คิดเป็นร้อยละ 62.76 บัตรเสีย 766,790 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.05 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,011,857 บัตร คิดเป็นร้อยละ 21.19 ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 16,290,384 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 9,009,572 คน คิดเป็นร้อยละ 55.31 บัตรดี 7,300,756 บัตร คิดเป็นร้อยละ 81.03 บัตรเสีย 847,954 บัตร คิดเป็นร้อยละ 9.41 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 860,862 บัตร คิดเป็นร้อยละ 19.72
       
       ภาคกลาง 25 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,222,346 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5,016,970 คน คิดเป็นร้อยละ 41.05 บัตรดี 3,192,765 บัตร คิดเป็นร้อยละ 63.64 บัตรเสีย 654,559 บัตร คิดเป็นร้อยละ 13.05 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,169,641 บัตร คิดเป็นร้อยละ 23.31
       
       ภาคใต้ 6 จังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,616,841 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 594,234 คน คิดเป็นร้อยละ 36.75 บัตรดี 378,831 บัตร คิดเป็นร้อยละ 63.75 บัตรเสีย 98,235 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.53 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 117,168 บัตร คิดเป็นร้อยละ 19.72 และ กรุงเทพมหานคร 6,671 หน่วย เปิดลงคะแนน 6,155 หน่วย ประกาศงดการละแนน 516 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,369,120 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,133,296 คน คิดเป็นร้อยละ 25.94 บัตรดี 775,821 บัตร คิดเป็นร้อยละ 68.46 บัตรเสีย 90,923 บัตร คิดเป็นร้อยละ 8.02 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 266,552 บัตร คิดเป็นร้อยละ 23.52
       
       นายภุชงค์กล่าวต่อว่า สำหรับ จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 827,808 คน คิดเป็นร้อยละ 75.05 รองลงมาคือ ลำพูน ซึ่งเป็นอดีตแชมป์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเสียแชมป์ให้กับเชียงใหม่ โดยลำพูนมีผู้มาใช้สิทธิ 241,209 คนคิดเป็นร้อยละ 73.39 และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้มาใช้สิทธิ 104,241 คิดเป็นนร้อยละ 64.99
       
       ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ นครศรีธรรมราช ที่เปิดลงคะแนนใน 24 หน่วยมีผู้มาใช้สิทธิ 1,302 คน คิดเป็นร้อยละ8.78 รองลงมา คือ ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้มาใช้สิทธิ 55,818 คน คิดเป็นร้อยละ 20.05 สมุทรสงคราม มีผู้มาใช้สิทธิ 37,581 คิดเป็นร้อยละ 24.42 กรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิ 1,133,296 คน คิดเป็นร้อยละ 25.94 และ ระยอง มีผู้มาใช้สิทธิ 118,900 คน คิดเป็นร้อยละ26.07
       
       สำหรับ จังหวัดที่มีบัตรดีมากที่สุด คือ จ.นครพนม ร้อยละ 86.99 รองลงมา คือ ร้อยเอ็ด คิดเป็นร้อยละ 86.54 ยโสธร ร้อยละ 85.88 ในขณะที่ บัตรเสียมากที่สุด คือ จ.ตาก ร้อยละ 27.13 รองลงมา คือ ยะลา ร้อยละ 22.94 น่าน ร้อยละ 22.37 สำหรับ จังหวัดที่มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโนมากที่สุด คือ ระยอง 40.58% รองลงมาคือ สมุทรสงคราม 40.34% และตราด 35.74 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีการฉีกบัตรลงคะแนน 2 ใบ จ.เชียงราย บัตรหาย 1 ใบ และ จ.นนทบุรี บัตรหาย 3 ใบ
       
       ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ใช้สิทธิ บัตรดีและบัตรเสีย ได้นับรวมในส่วนของหน่วยเลือกตั้งที่สามารถเปิดลงคะแนนได้ครบตามเวลา และหน่วยที่เปิด แต่มีการประกาศปิดหน่วยก่อนเวลา แต่ยังไม่ได้นับรวมการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึง 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะเพียง 68 จังหวัด โดยยังไม่รวมบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร แต่เมื่อเทียบกับการยอดการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตครั้งที่แล้วในการเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 54 ที่เป็นยอดการใช้สิทธิทั่วประเทศ 77 จังหวัด พบว่า ยอดของบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนใน 68 จังหวัดของการเลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่ายอดบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนในการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตทั่วประเทศเมื่อ 3 ก.ค. 54
       
       โดยการเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 54 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,939,549 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,220,377 คนคิดเป็นร้อยละ 75.03 บัตรเสีย 2,040,261 บัตรคิดเป็นร้อยละ 5.79 บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,419,148 บัตร คิดเป็นร้อยละ 4.03 ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 43,024,786 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20,530,359 คนคิดเป็น ร้อยละ47.72 บัตรเสีย 2,458,461 บัตร คิดเป็นร้อยละ 11.97 ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 3,426,080 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.69
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุม กกต.จะได้ร่วมกันพิจารณาลงมติในทุกประเด็นปัญหาสำคัญ ทั้งกรณีปัญหาในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในหน่วยที่ไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ และประเด็นปัญหา 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดย กกต.จะรับฟัง และสอบถามความเห็นจากฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต. และคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ก่อนการลงมติตัดสินใจ โดยนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.กล่าวว่า วันนี้จะได้ข้อยุติถึงแนวทางการทำงานของ กกต.โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัคร ว่าจะออกเป็นระเบียบ กฎหมาย หรือ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ และการดำเนินการเป็นอำนาจใครระหว่างรัฐบาล หรือ กกต.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักวิชาการ TDRI ตบหน้า เพื่อไทย แพ้ กปปส. ขาด เสียงหด

view