สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

แนวความคิดพื้นฐานในการบริหารเศรษฐกิจในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก

แม้ว่าจุดมุ่งหมายหลักของนโยบายเศรษฐกิจโดยส่วนรวมก็ยังเหมือนเดิม

จุดมุ่งหมายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยส่วนรวม หรือเศรษฐกิจมหภาคนั้นก็มีอยู่ 3 ประการเหมือนเดิม กล่าวคือ ทำอย่างไรจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่เหมาะสม ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน ขณะเดียวกัน การพัฒนา ต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง ผู้คนในสังคมต้องมีรายได้และทรัพย์สินเท่าเทียมกัน

ต่อมาความคิดในเรื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการกระจายรายได้และทรัพย์สินถูกลดความสำคัญลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการล่มสลายของลัทธิเศรษฐกิจสังคมนิยมตั้งแต่ปี 1975 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการวางนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายรายได้รายจ่ายของภาครัฐบาล

ในเบื้องต้นเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนั้น มีประสิทธิภาพกว่าระบบเศรษฐกิจที่ดำเนินการผลิตโดยรัฐ ระบบตลาดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพกว่าระบบการวางแผนโดยรัฐ กลไกตลาดเป็นเครื่องมือที่มีอานุภาพที่สุดที่สังคมจะตัดสินใจว่าควร จะผลิตอะไร ควรจะผลิตเท่าไหร่ และควรจะผลิตอย่างไร แต่ก็อาจจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่าง แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่กลไกตลาดอาจจะไม่ทำงาน หรือถ้าทำงานก็ทำอย่างผิดปกติ ไม่เป็นไปตามความต้องการของสังคม กรณีอย่างนี้รัฐก็อาจจะต้องเข้ามาจัดแจงหรือเข้ามาจัดการ เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ของสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดให้มีการออกแบบกติกาสำหรับกิจกรรมที่ตลาดไม่ทำงานให้สามารถมีกติกา มีกฎระเบียบให้สามารถทำงานได้ อยู่ในเรื่องที่เรียกว่า "ทฤษฎีเกม"

ผู้ ที่ออกแบบกติกาต่าง ๆ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลไกตลาดทำงานได้ หลายคนได้รับรางวัลโนเบลเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการบริหาร เศรษฐกิจโดยส่วนรวมดังกล่าว

นโยบายที่ว่านี้ก็มีอยู่ 3-4 เรื่องในยุคโลกาภิวัตน์ในขณะนี้ก็คือประเทศ นั้น ๆ ต้องสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าของโลก ทั้งในด้านการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะเดียวกัน ก็สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ในการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศของตน ตามขั้นตอนของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น กฎระเบียบต่าง ๆ ระบบภาษีอากรจะต้องไม่ทำให้ผู้ผลิตของตนเสียเปรียบคู่แข่งขัน ความคิดในเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อจำกัด

ในการออกมาตรการต่าง ๆ รวมถึงโครงสร้างและอัตราภาษีที่เรียกร้องให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่น เช่น การกระจาย
รายได้ก็ดี ความเท่าเทียมในการถือครองทรัพย์สินก็ดี ถ้าอัตราภาษีเงินได้ของเราสูง กว่าประเทศคู่แข่ง ผู้ลงทุนก็จะย้ายฐานไปประเทศอื่น หรือถ้าเราเก็บภาษีเงินได้จากรายได้ประเภทดอกเบี้ยหรือเงินปันผลมากกว่า ประเทศอื่น เงินฝากและเงินทุนก็จะย้ายไปที่ที่อัตราภาษีต่ำกว่า

ข้อ ที่สอง ภาระภาษีไม่ควรตกอยู่กับผู้ผลิตด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น ผู้ผลิตเป็นผู้ให้กับสังคม ผู้บริโภคต่างหากเป็นผู้เอาจากสังคม ผู้ที่มีรายได้มากก็คือผู้ที่มีความสามารถผลิตได้มาก หรือผลิตของที่มีมูลค่าสูงกว่าผู้อื่น รัฐไม่ควรจะลงโทษเขา เอารายได้ทั้งหมดเป็นฐานภาษี รายได้จากการผลิตของเขาในส่วนที่เขาออมควรจะหักออกจากฐานภาษี เนื่องจากเงินออมเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ แล้วค่อยไปเก็บเอาตอนที่เขาบริโภค อันได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ความสำคัญของภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงลดลงไปมาก กลายเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มมีความสำคัญมากขึ้น
ความคิดเรื่องภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมก็เลิกไป เพราะภาษีที่ทางทฤษฎีถือว่าเป็นภาษีทางตรงนั้นมีความเป็นธรรม เพราะสามารถเก็บในอัตราก้าวหน้าได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นภาษีที่ถดถอย กล่าวคือ แทนที่ผู้มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงผู้มีรายได้ต่ำก็เสียภาษี ในอัตราต่ำ แต่ความเป็นจริงในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ข้อจำกัดในการแข่งขันทำให้ผู้มีรายได้จากเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเสียภาษีใน อัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ เงินได้ประเภทเงินปันผลเสียเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ กำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี รายได้จากค่าเช่าหรือภาษีทรัพย์สิน ซึ่ง ขณะนี้อัตราภาษีก็ไม่ได้ต่ำเกินไปนัก แต่การจัดเก็บมีปัญหาและมีค่าใช้จ่ายสูง กว่าภาษีที่จะเก็บได้ ยิ่งถ้าขึ้นอัตราภาษีสูงขึ้นไปอีกก็จะต้องมีการยกเว้นภาษีในเรื่องการใช้ ที่ดินมากขึ้น จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นอีก ทั้งเราก็มีภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเหมาะสมกับสังคมของเรา อยู่แล้ว และมีความยืดหยุ่นดีกว่าภาษีทรัพย์สินของยุโรปและอเมริกา ไม่น่าจะเปลี่ยนภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นการเพิ่มอัตรา ภาษีทรัพย์สินตรง ๆ

นอกจากนั้น ภาระภาษีที่ผู้ผลิตอาจจะต้องรับก็คือ ภาษีขาเข้าที่แฝงมาในรูปชิ้นส่วนและวัตถุดิบ มาตรการการคืนภาษีจึงเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อสนองหลักการที่ว่า ภาระภาษีไม่ควรตกอยู่กับผู้ผลิตในโลกโลกาภิวัตน์ เพื่อให้ผู้ผลิตและสังคมของเราแข่งขันได้ในเวทีการค้าและการลงทุนของโลก เป้าหมายทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่เคยใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกันมาแต่สมัย 200-300 ปีก่อนจึงต้องยกเลิกหมด ในที่สุดภาษีจึงทำหน้าที่อย่างเดียวคือเป็นแหล่งรายได้ให้กับรัฐบาล เพราะภาษีเป็นเครื่องมือที่เลวที่สุดในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม

เมื่อภาษีอากรกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้ในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ภาษีควรทำหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวในสังคม คือ ทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาล เครื่องมือที่จะสร้างความเป็นธรรมกับสังคมก็คือ รายจ่ายของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะใช้การใช้จ่ายของสังคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระบบเศรษฐกิจ อย่างกว้างขวาง เช่น ระบบคมนาคมขนส่งให้มีอย่างกว้างขวาง ให้ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการลดค่าขนส่งของผู้ผลิตให้มีราคาถูก มีระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคมที่สะดวก มีประสิทธิภาพ และราคาถูกเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน การพัฒนาระบบ คมนาคม ระบบขนส่ง ระบบโทรคมนาคม เปิดพื้นที่ต่าง ๆ ให้สามารถติดต่อเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ปริมาณการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากพื้นที่ต่าง ๆ ลดลง ช่องว่างของการบริโภคและความเป็นอยู่ระหว่างคนรวยและคนจนลดลง ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมมีน้อยลง

ในขณะเดียวกัน เมื่อประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น สามารถแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุนในประเทศได้ รวมทั้งมีการใช้จ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการดำรงชีวิตลงได้ ความตึงเครียดในสังคมก็จะน้อยลงไปเอง

ความเห็นสมัยนี้กลับเห็นว่า ช่องว่างระหว่างรายได้และทรัพย์สินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความตึง เครียดในสังคม ความตึงเครียดในสังคมนั้นเกิดจากช่องว่างหรือความแตก ต่างในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การบริโภคที่ฟุ่มเฟือย บ้านช่องที่หรูหรา หรือการบริโภคนั่นเองเป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้น ฐานภาษีควรจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคมากกว่ารายได้

ที่สำคัญก็คือ การออมของประเทศ เพราะประเทศที่มีการออมมากย่อมมีศักยภาพสูงในการลงทุน ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน ดังนั้น ถ้าจะส่งเสริมให้มีการออมรายได้ส่วนที่เหลือจากการบริโภคหรือการ ออมก็ควรจะหักออกจากฐานภาษีด้วย เหตุนี้รายจ่ายจากการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตก็ดี การลงทุนซื้อตราสารทางการเงินระยะยาวก็ดี การซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ดี ประเทศต่าง ๆ จึงอนุญาตให้สามารถหักออกจากฐานภาษีได้ การส่งเสริมการออมด้วยวิธีต่าง ๆ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ช่องว่างทางทรัพย์สินระหว่างคนรวยและคนจนมีมาก ขึ้น เพราะคนยิ่งรวยสัดส่วนของเงินออมต่อรายได้ยิ่งสูงขึ้น เมื่อพูดถึงช่องว่างของการถือครองทรัพย์สินเราก็มักจะนึกถึงเฉพาะทรัพย์สิน ที่เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ความจริงสัดส่วนของทรัพย์สินที่อยู่ในรูปอื่น ๆ เงินสดและตราสารทางการเงิน เมื่อเศรษฐกิจยิ่งเจริญขึ้นสัดส่วนของทรัพย์สินประเภทนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้น และสามารถไหลเข้า-ออกข้ามพรมแดนได้มากขึ้น

ผลตอบแทนจากเงินทุนก็มักจะมีอัตราต่ำ เงินได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลก็มีอัตราต่ำกว่าอัตราภาษีที่เก็บจากค่าเช่า อันเกิดจากการใช้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างค่อนข้างมาก เพราะจะต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูดเงินฝากและเงินลงทุน ทั้งที่เป็นการลงทุนจริง ๆ ในการสร้างโรงงานผลิตสินค้า บริการ และการลงทุนในตลาดทุน

ความคิดในเรื่องการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในโลก ยุคโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศต่าง ๆ ไร้พรมแดนทั้งในด้านตลาดสินค้าและบริการ เทคโนโลยี ซึ่งต่อไปอาจจะรวมถึงตลาดแรงงานด้วย มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายภายในมากขึ้น ภาษีอาจจะไม่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายบางอย่างแทนที่เราจะได้ยินเรื่องภาษีทางตรง ทางอ้อม เราก็จะได้ยินภาษีการบริโภค ภาษีสังคมมากขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็จะได้ยินในเรื่องการใช้จ่ายในการลงทุนของรัฐบาล เรื่องสวัสดิการ เรื่องการชดเชยการว่างงาน เรื่องการลงทุน การใช้จ่ายในภาคการศึกษา การวิจัย การสร้างความสามารถของแรงงาน การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ด้อยโอกาสมากขึ้น มากกว่าการเรียกร้องให้ใช้มาตรการภาษีเพื่อลดช่องว่างในสังคม

ภาษี อาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการลดการใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าบางอย่างลงเพราะ เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ภาษีเหล้า บุหรี่ หรือใช้เป็นตัวแทนของการใช้ถนนหนทาง เช่น ภาษีน้ำมัน เป็นต้น ความ คิดหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปมาก แต่สังคมไทยยังไม่ค่อยตระหนัก เพราะการเรียนรู้ให้ทันโลกของเรายังน้อยของพวกนี้น่าจะบรรจุไว้ในแบบเรียน ได้แล้ว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวความคิดพื้นฐาน การบริหารเศรษฐกิจ

view