สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จรรยาบรรณของ ลอรีอัล จิตวิญญาณการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

ไม่บ่อยครั้งนักที่ "เอ็มมานูแอล ลูแลง" รองประธานอาวุโส และผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจรรยาบรรณระดับโลก ลอรีอัล กรุ๊ป จะเดินทางจากประเทศต่าง ๆ มาประเทศไทย เพื่อให้สัมภาษณ์ในเรื่องของรรยาบรรณทางธุรกิจของลอรีอัล กรุ๊ป

เพราะดั่งที่ทุกคนทราบดีเรื่องของจรรยาบรรณเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรจะต้องมี และจะต้องยึดมั่นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจของแต่ละอุตสาหกรรมวิชาชีพ

ทั้งนั้นเพราะจรรยาบรรณเกี่ยวเนื่อง และเกี่ยวข้องกับจริยธรรม ความซื่อสัตย์ และการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา เพียงแต่ช่วงผ่านมาเรื่องของจรรยาบรรณอาจถูกรับรู้เฉพาะบางกลุ่ม

ไม่ค่อยถูกพูดถึงในวงกว้าง

โดยเฉพาะประเทศไทย และในทวีปเอเชีย

แต่เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับ "เอ็มมานูแอลลูแลง" จึงทำให้ทราบว่าเรื่องของจรรยาบรรณมีสถาบัน The Ethisphere Institute ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดรับสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรโดยมีจรรยาบรรณเป็นเสาหลัก

โดยในปี 2550, 2553, 2555 และ 2556 ลอรีอัล กรุ๊ป ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 4 ครั้ง ในฐานะองค์กรที่มีจริยธรรมสูงสุดในระดับโลก

ทั้งลอรีอัล กรุ๊ป ยังถูกรับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 องค์กรของ The United Nations Global Compact ในปี 2556

ปีเดียวกัน ลอรีอัล กรุ๊ป ยังถูกจัดอันดับ Aa+ จาก Covalance สถาบันประเมิน และจัดอันดับบริษัทชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม จริยธรรม และความยั่งยืน ให้เป็นองค์กรอันดับ 1 ด้านเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์หรูหรา

อันดับ 2 ด้านของใช้ส่วนบุคคล และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในครัวเรือน และอันดับ 11 ในประเภทรวม

นอกจากนั้น VIGEO สถาบันจัดอันดับองค์กรป้องกันการทุจริต ยังจัดอันดับให้ ลอรีอัล กรุ๊ป เป็นอันดับ 1 ขององค์กรฝรั่งเศส และอันดับ 5 ขององค์กรระดับโลก ที่มีความก้าวหน้าในการผนวกรวมสิทธิเยาวชนบนแนวทางหลักปฏิบัติขององค์กร และมีการประยุกต์ใช้

ขณะที่ "เอ็มมานูแอล ลูแลง" เอง ทางโปรแกรม PACE Leadership มอบรางวัลจริยธรรมดีเด่น จาก Ethics Resource Center ให้แก่เขาในปี 2552 ด้วย

เพราะฉะนั้น การที่ "เอ็มมานูแอล ลูแลง" เดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ ทั้งเขายังเป็นผู้บริหารสูงสุดฝ่ายจรรยาบรรณระดับโลกของลอรีอัล กรุ๊ป จึงทำให้เกิดคำถามมากมายว่าทำไมเรื่องของจรรยาบรรณถึงมีความสำคัญ และเรื่องของจรรยาบรรณจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนำมาใช้กับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

รวมไปถึงเรื่องการดำเนินการจรรยาบรรณในอนาคต

เบื้องต้น "เอ็มมานูแอล ลูแลง" เล่าให้ฟังว่า...จรรยาบรรณของลอรีอัลเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ส่วนอื่น ๆ ที่แตกออกมาจึงเปรียบเสมือนกฎหมายย่อย ๆ

"อย่างเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถามว่าเราทำอะไรบ้าง ผมยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่งอย่างเรามี Third Party Supply ที่เขาจ้างอีกที่เพื่อทำการตรวจสอบพาร์ตเนอร์ทุก ๆ รายที่ทำงานกับเรา พาร์ตเนอร์รายใหญ่ หรือพาร์ตเนอร์รายย่อยที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง จะต้องมั่นใจว่าทุกคนที่ทำงานกับเราให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชนกับทุก ๆ คนที่ทำงานด้วย"

ถึงตรงนี้จึงเกิดคำถามตามมาว่า เนื่องจากลอรีอัล กรุ๊ป มีสาขาอยู่หลายประเทศทั่วโลก และแต่ละประเทศมีความหลากหลายในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี และการดำเนินชีวิตที่แตกต่าง ดังนั้นเรื่องของจรรยาบรรณจะนำมาปรับใช้อย่างไรในองค์กร

"เอ็มมานูแอล ลูแลง" จึงอธิบายให้ฟังว่า...จริง ๆ แล้วเรื่องของความแตกต่างหลากหลายเป็นคำที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก และเมื่อมองลงไปในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันจริง ๆ

"แต่กระนั้นในเรื่องของความหลากหลาย เรานำมาใช้เป็นคำบวกแทนคำลบคือการกีดกัน ซึ่งแทนที่ลอรีอัลจะต่อต้านการกีดกัน แต่เรากลับมุมมองใหม่ เป็นการยอมรับกับความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นแทน ยกตัวอย่าง บางแห่งมีการกีดกันเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา หรืออายุ เพศ แต่เราจะนำเรื่องเหล่านี้มาสร้างเป็นโปรแกรม ที่จะสร้างจิตวิญญาณของลอรีอัล เพื่อลบความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นกับองค์กร"

"โดยให้ความสำคัญต่อการเลือกคู่ค้า และซัพพลายเออร์ อย่างเช่นเรามีบางโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยชุมชนเล็ก ๆ ที่ห่างไกล หรือช่วยทำการตลาดของลอรีอัลที่อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย"

"ถ้าสังเกตโฆษณาของลอรีอัล เราพยายามโปรโมตความงามในรูปแบบที่แตกต่าง เพราะเราเชื่อเสมอว่าความงามไม่ได้มีรูปแบบเดียว ดังนั้นโฆษณาของลอรีอัล จึงมีคนเอเชีย คนตะวันตก หรือแอฟริกัน เพราะฉะนั้น นโยบายที่ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2014 หรือที่เราเรียกว่า โปรแกรมการให้โอกาสชุมชนเล็ก ๆ จึงเป็นโปรแกรมที่เราได้แรงบันดาลใจมาจากบอดี้ ช็อป ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ของลอรีอัล"

"โปรแกรมนี้ทำให้เราเข้าถึงหน่วยงาน องค์กร หรือซัพพลายเออร์รายเล็ก ๆ ที่ปกติแล้วไม่ได้อยู่ในวงโคจรของบริษัทใหญ่ ๆ และจากการเซตอัพโครงการนี้ทำให้เรารู้จักกับซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้นอีก 1,400 ราย ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์ที่ซีอีโอของเรา (ฌอง พอล แอง) ประกาศพันธสัญญาเรื่อง Sharing Beauty With All ที่มีมิติหนึ่งที่เขาพูดว่า เราจะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้ามามีงานทำอยู่บนลำแข้งอีก 1 แสนคน ภายในปี 2020"

นอกจากนั้น "เอ็มมานูแอล ลูแลง" ยังเล่าให้ฟังถึงความสนใจขององค์กรในเอเชียที่อยากจะนำเรื่องของจรรยาบรรณมาประยุกต์ใช้ในองค์กร

"เรื่องนี้เป็นมิติใหม่ของโลกธุรกิจ แต่จริง ๆ เราทำเรื่องนี้มานานมากแล้ว เพราะเกิดจากการถกเถียงกันในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของลอรีอัล ฝรั่งเศส จนที่สุดจึงออกมาเป็นหลักจรรยาบรรณ 4 ประการ คือ เคารพ, ซื่อสัตย์, กล้าหาญ และโปร่งใส"

"แต่สำหรับองค์กรในเอเชีย ผมเริ่มเห็นเทรนด์เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เพราะเขาส่ง Ethics Officer เข้ามาประชุมนานาชาติมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่เห็นบ่อย ๆ คืออุตสาหกรรมทางด้านไฟฟ้า, เหมืองแร่ และเทเลคอม ก็จะมี Ethics Officer เข้ามาประชุม แสดงว่าเป็นเทรนด์ที่องค์กรเหล่านี้เริ่มให้ความสำคัญกับการมีหน่วยงาน มีบุคลากร และการให้ความสำคัญต่อการอบรม"

แต่กระนั้น การที่จะทำให้วัฒนธรรมแห่งจรรยาบรรณประสบความสำเร็จ "เอ็มมานูแอล ลูแลง" บอกว่าจะต้องสร้างวัฒนธรรมของการกล้าพูดเสียก่อน

"เหมือนอย่างที่ลอรีอัล เรามีวันจรรยาบรรณประจำปี โดยการจัดกิจกรรม Ethics Day ซึ่งจัดทุกปีพร้อมกันทั่วโลก ประมาณกลางเดือนตุลาคม การจัด Ethics Day ทำให้พนักงานลอรีอัล กรุ๊ป กว่า 77,000 คน สามารถถามคำถามสดผ่านเว็บแชตกับซีอีโอของบริษัทโดยตรง เราจะฟิกซ์เวลากันว่าถ้าคุณเข้าไปในอินเทอร์เน็ตช่วงนี้ คุณจะเจอกับซีอีโอ โดยมีผมนั่งอยู่ด้วย"

"พนักงานจะส่งคำถามสด ๆ มาให้ซีอีโอกับผมตอบ ปีที่แล้วมีการถามคำถาม 3,200 คำถามจากทั่วโลก ตรงนี้เป็นการฝึกความกล้าหาญ ยิ่งถามเยอะแค่ไหน ผู้บริหารก็จะตอบคำถามมากเท่านั้น เหมือนเป็นการสร้างวัฒนธรรมความไว้เนื้อเชื่อใจกัน"

"นอกจากนั้นยังมีการถามคำถามสดผ่านเว็บแชตกับผู้จัดการประจำประเทศต่าง ๆ กว่า 65 ประเทศโดยตรงอีกด้วย จะโชว์ชื่อจริง หรือไม่โชว์ก็ได้ เพราะเราอยากให้พนักงานมั่นใจว่า เขาจะได้ไม่เสี่ยงต่อการตั้งคำถามแบบนี้ หรืออาจจะถูกรังแก ทั้งนั้นเพราะเราต้องการที่จะสร้างวัฒนธรรมของการกล้าพูดขึ้น ซึ่งผ่านมาต้องบอกว่าเทรนด์ของคำถามเริ่มเปลี่ยนไป"

"เมื่อก่อนจะเป็นคำถามเกี่ยวกับตัวเองเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคำถามที่เกี่ยวกับองค์กรมากขึ้น ตรงนี้เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นถึงการพัฒนาบุคลากรในอนาคต นอกจากนั้นก็เป็นคำถามเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมขององค์กร"

ถึงตรงนี้จึงอดที่จะถาม "เอ็มมานูแอล ลูแลง" ถึงเส้นทางจรรยาบรรณของลอรีอัล กรุ๊ป ในปี 2020 ไม่ได้ เขาจึงบอกว่า...แน่นอนวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องของจรรยาบรรณจะต้องแข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันวิธีการทำงานของเราจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลของการทำงาน

"ดังนั้นประเด็นต่าง ๆ จะมีความสำคัญมากขึ้นในปี 2020 เช่น เรื่องของสิทธิมนุษยชน, จรรยาบรรณในการโฆษณา, ผลกระทบในการผลิต หรือเรื่องขององค์กรในการบริหารจัดการความขัดแย้ง หรือผลประโยชน์ และผมมีความหวังว่าคอร์รัปชั่นจะมีค่าเป็นศูนย์ภายในปี 2020"

อันเป็นสิ่งที่เขามุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ต่อไปในอนาคต

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จรรยาบรรณ ลอรีอัล จิตวิญญาณ การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

view