สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โรดแมปปฏิรูปปลัดยธ.ถึงเวลานักการเมืองต้องเสียสละ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว

เป็นข้าราชการระดับสูงที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ยกคณะมวลมหาประชาชนมาเข้าพบ และเป็นคนแรกที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ท่ามกลางคำถามทำไม กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นตัวเลือกแรกของการหารือ ในจังหวะที่เขามีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันวาระปฏิรูปประเทศ

กิตติพงษ์ เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในฐานะนักปฏิรูป มองการขยับของอภิสิทธิ์เป็นประโยชน์ที่ทำให้การปฏิรูปในความขัดแย้งได้จริง ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับอภิสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งอยู่ด้วย ทำให้เครือข่ายปฏิรูปของผมต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยความระมัดระวัง สิ่งที่อภิสิทธิ์ทำเรามองเชิงบวก และไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์เท่านั้น เรายังพบว่า นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ส่งสัญญาณเชิงบวกในวิถีทางประชาธิปไตย แค่ต้องมาปรับกันอย่างไรเท่านั้นเอง

เพราะกิตติพงษ์เป็นหัวเรือสำคัญในเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป อีกทั้งเป็นมือกฎหมายที่เชื่อมต่อถึงคนในรัฐบาล ล่าสุดกับถ้อยแถลงของอภิสิทธิ์ที่ต้องการให้วุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรีฟอร์มรัฐบาลเฉพาะกิจให้เครือข่ายปฏิรูปเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับ กปปส. ทำกรอบปฏิรูป หลังจากนั้นทำประชามติ จึงทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ต่างฝ่ายต่างยึดแนวทางของตนอย่างเหนียวแน่น ระหว่างปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งแล้วปฏิรูป กิตติพงษ์ ให้ความเห็นว่า แม้การเลือกตั้งเป็นหลักการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้งไม่ใช่คำตอบ เพราะเมื่อเราเห็นจุดอ่อน ประชาธิปไตยของไทยซึ่งพรรคการเมืองอาจถูกครอบงำได้โดยกลไกของทุนนิยมในสถานการณ์ขณะนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมีประชาชนออกมาเดินขบวนเต็มไปหมด แต่เราทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วเลือกตั้งตามปกติ เชื่อว่าเป็นปัญหาแน่นอน แม้แต่การกำหนดวันเลือกตั้ง คนไปหาเสียงอย่างปลอดภัยหรือไม่ เลือกตั้งจัดได้วันเดียวทั่วประเทศได้หรือไม่ ก็ยังเป็นปัญหา

“ขณะเดียวกัน ที่พูดกันว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีคำถามต่อไปว่า การปฏิรูปเป็นประเด็นร่วมกันของทุกฝ่ายหรือยัง ก็ยัง และทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่าการปฏิรูปจะเป็นประเด็นร่วมกันที่เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ไม่ใช่ประเด็นของกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าตรงนี้เป็นโจทย์ ก็ต้องปฏิรูปแน่ รวมถึงต้องหาหลักประกันที่มั่นใจได้ว่าการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นเป็นการปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง”

“คำตอบอาจไม่ใช่เลือกตั้งอย่างเดียว ต้องปฏิรูปก่อนจึงมีการเลือกตั้ง ต้องมาดูว่าที่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ข้อกังวลคืออะไร ผมมองว่าอย่ามองแต่เป็นการหาทางออก ต้องมองร่วมกัน โจทย์ความต้องการร่วมกันคืออะไร มาไล่จากตรงนั้นแล้วมาคุยกันมีวิธีการอะไรที่เป็นที่ยอมรับ”

ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลักประกันที่มั่นใจว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นแน่นอนมี 3 ข้อ 1.หลังการเลือกตั้ง 2.ปฏิรูปในประเด็นที่เห็นร่วมกันของคู่ขัดแย้งหลายฝ่าย 3.วิธีดำเนินการบนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย

“ผมเสนอเป็นระบบว่า ถ้าให้รัฐบาลหน้าทำการปฏิรูปจะเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อระยะเวลาเพื่อการปฏิรูปมีจำกัด ย่อมทำให้การแข่งขันทางการเมืองลดลง และคาดหวังคนที่เข้ามาแข่งขันตรงนี้อาจไม่ต้องแข่งขันเหมือนการเมืองปกติ กล่าวคือ เข้ามาไม่นานเพื่อการปฏิรูป ความขัดแย้งตรงนี้ขอความเสียสละหน่อยได้ไหม ไม่ใช่นักการเมืองทุกคน หลักประกันข้อที่หนึ่งเป็นเพียงเฉพาะกิจระยะสั้น ส่วนระยะเวลาไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่อาจขอให้มีสัตยาบันร่วมกันได้หรือไม่ เป็นสัญญาประชาคมชัดเจนว่าทุกฝ่ายต้องดำเนินการ”

การจัดทำประชามติจะเกิดขึ้นเมื่อไร กิตติพงษ์ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าหลักประกันเพียงพอไหมที่ทำให้มั่นใจว่าปฏิรูปเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าพรรคการเมืองทุกพรรคลงสัตยาบันเห็นตรงกันว่าหน้าตาการปฏิรูปเป็นแบบนี้ก็ไม่ต้องทำประชามติ แต่ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็ต้องไปถามประชาชนได้ กลไกที่ผูกพันประชาธิปไตยได้ดีที่สุดในทางสากล คือ ประชามติ ประชามติตามกติกา 90 วันบวก ตกลงเรื่ององค์กรปฏิรูป ที่มา มีใครบ้าง มีความสัมพันธ์กับองค์กรใช้อำนาจนิติบัญญัติอย่างไร ก็ทำเป็นกรอบไปถามประชาชนเอาแบบนี้ไหม เอาหรือไม่เอา

กิตติพงษ์ ขมวดปมว่า ทั้งหลายทั้งปวงมาสู่ที่การสร้างหลักประกันให้มั่นใจว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นจริงหลังการเลือกตั้ง ถ้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าแค่นี้พอแล้วก็ไม่เป็นไร ส่วนประเด็นร่วมกันของปฏิรูปคืออะไรบ้าง มีการบ้านทำกันไว้เยอะ ทั้ง คอป. สถาบันพระปกเกล้า เครือข่ายของ นพ.ประเวศ วะสี คุณอานันท์ ปันยารชุน ตรงนี้เราสามารถช่วยสังเคราะห์ได้ จากนั้นพรรคการเมืองมาดูว่าใช่ไหม และต้องเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ถ้าเริ่มต้นจากการพูดคุยนำไปสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น บวกกับประชาธิปไตยทางตรง ผมมองว่าไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งก็น่าจะตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง

โอกาสแต่ละฝ่ายตกลงกันได้มีมากไหม? “ผมและกลุ่มพยายามชี้ให้เห็นถึงโอกาส คนที่อยู่ในปัญหาไม่ค่อยเห็น แต่เราชี้ถึงความเป็นไปได้ หวังว่าเมื่อถึงจุดที่คนไทยทุกคนรู้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายมหาศาล ก็น่าเตรียมหาทางออกกัน”

“ผมเสนอในกรอบ ถ้ากรอบนี้คุยกันได้น่าไปได้ และไม่ได้เสนอตัวเป็นคนกลางด้วยซ้ำ แต่เราแชร์ประสบการณ์ที่มีอยู่ ในแง่ คอป. เครือข่ายปฏิรูป ไม่อยากให้บ้านเมืองเป็นอย่างนั้น ในฐานะคนไทยหวังว่าไม่อยากให้ไปสู่จุดชั่วร้ายอย่างนั้น” กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

"คุณสุเทพเจตนาดีแต่..."

“คุณสุเทพมาหาผมในฐานะเป็นปลัดกระทรวง คงคาดหวังว่าปลัดกระทรวงทุกคนสนับสนุนคุณสุเทพ เพราะว่าน่ามีความชอบธรรมสนับสนุนคุณสุเทพมากกว่าสนับสนุนรัฐบาล ผมได้มีโอกาสฟังคุณสุเทพ รู้ว่ามีเจตนาดี สิ่งที่คุณสุเทพยกประเด็นขึ้นมาช่วยสร้างทางลัดให้การเมืองไทยได้เยอะมากเลยนะครับ ถ้านำไปสู่เป้าหมายได้แบบสมบูรณ์ คุณสุเทพอยากให้การเมืองดีขึ้น ไม่ใช่การเมืองที่ครอบงำเหมือนบริษัทสั่งการได้ กดปุ่มได้ ระบอบประชาธิปไตยพรรคการเมืองต่างๆ ต้องสนองตอบประชาชนอย่างแท้จริง ตรงนี้ประเด็นปฏิรูปยากๆ ที่คุณสุเทพอยากให้เกิดมันต้องมาคุยกันว่าประเด็นการปฏิรูปที่ต้องการร่วมกันคืออะไร ไม่ใช่เรื่องบอกลอยๆ ว่า ให้มีรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้แล้วก็จบ มันไม่จบเพราะไม่รู้ว่าปฏิรูปอะไร ไม่รู้ประชาชนจะได้อะไร”

“สิ่งที่น่าเป็นประโยชน์ ซึ่งผมไม่รู้ใช่หรือไม่ แต่ถ้าดูเจตนาดีของ กปปส. ถ้าเราสามารถให้หลักประกันคุณสุเทพได้ว่าสิ่งที่ต้องการ คือ การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ มันก็น่าช่วยได้ คำถามคือ ข้อเสนอของพรรคการเมืองต่างๆ ทิศทางส่วนใหญ่จะไปด้วยกัน ถามว่า แล้วปฏิรูปด้วยกันจริงๆ คืออะไร มันไม่ชัด ดังนั้น ถ้าปฏิรูปด้วยกันจริงๆ นักการเมืองอาจไม่ค่อยพอใจนัก เช่น ปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่พอ อาจลงลึกถึงคุณสมบัติความเป็นตัวแทนประชาชนด้วย ก็ต้องมาดูและอาจต้องเสียสละ”

“การเสียสละไม่ใช่ชนะได้หมดแพ้เสียหมด ต้องวินวิน คุณได้บ้าง เขาได้บ้าง คนที่มองเลือกตั้ง เลือกตั้งตามปกติกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ต้องถามว่าทำได้หรือในสถานการณ์แบบนี้ ท่านที่บอกว่าปฏิรูปเสร็จสมบูรณ์แล้วค่อยเลือกตั้ง ก็มาคิดอีกทีในความเป็นจริงทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ถอยบ้าง ส่วนนักการเมืองไม่ต้องลงเลือกตั้งอันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง”

“ถ้าถอยเป็นรูปธรรม ผมพยายามไล่ว่าถอยอย่างไร ต้องการปฏิรูปร่วมกันจริงใช่ไหม การปฏิรูปในความขัดแย้งต้องเป็นประเด็นร่วมกันใช่ไหม คำถามเหล่านี้เป็นรูปธรรม ประชามตินักการเมืองลงหรือไม่ลงเป็นส่วนย่อยลงไป หลักประกันคือให้รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้รัฐบาลอายุสั้น ไม่ใช่การแข่งขันปกติ ต้องยอมรับสภาพการแข่งขัน คุณเสียสละได้ไหมไม่ใช่ทุกคน” ปลัดยุติธรรม ให้ข้อคิดถึงบรรดาผู้เล่นในสมรภูมิความขัดแย้งขณะนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โรดแมปปฏิรูป ปลัดยธ. ถึงเวลา นักการเมือง ต้องเสียสละ

view