สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Fed อีกสักที

Fed อีกสักที

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผ่านช่วงอภิมหาวันหยุดในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องต้นเดือนพ.ค.นี้ หลายๆ ท่านคงจะมีความสุขกับการพักผ่อนมาเป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทย หรือเมืองนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ที่หลายท่านบ่นให้ผมฟังว่า เหมือนเดินอยู่กรุงเทพฯ เลย ในช่วงวันหยุดนั้นๆ

หากท่านเป็นผู้ที่ติดตามตลาดการเงิน อาจจะรู้สึกเหมือนผมที่ว่า ดูเหมือนจะทำอะไรกับตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดFX ตลาดหุ้น (ไทยและเทศ) ตลาดตราสารหนี้ มันจะ "สะดุด”ไปหมด การตีค่า (Mark-to-Market) ของมูลค่าทรัพย์สินในportfolio ก็มักจะหาราคาได้บ้างไม่ได้บ้าง ดูเหมือนว่าการ "สะดุด”ดังกล่าวน่าจะเป็นมากขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของสินทรัพย์ทางการเงิน (financial assets) ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในตลาดที่ข้ามพรมแดน (Cross Border)

ดังนั้นนักลงทุนต้องทำตัวให้เป็น "สากล”ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันตัวเองจากการเป็นเหยื่อของการไม่ "ทันสมัย”นะครับ

ในเดือนก่อนผมได้เขียนบทความนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ในเรื่องคำถาม อมตะ มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งโทรมาหาบอกว่าถูกใจเพราะ "แรง”ดี และ "ตรง”ดี ผมก็ขอขอบคุณที่กรุณาชอบและถูกใจ แต่ในที่สุด ผมจะดีใจมากหากความ "มัน” นั่นมันสามารถทำให้ portfolio ของท่านปลอดภัยในยามผันผวน และทำกำไรในตลาดที่ร้อนแรงนะครับ

ผมก็ยังยืนยันความแรง และความตรงของเรื่องคำถามอมตะนะครับ และจะมั่นใจขึ้นไปอีกเมื่อได้ทราบจากการติดตามว่า เศรษฐกิจของอเมริกาน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และจะทำให้พวกเราไม่ตกรถไฟในการเดินทาง (journey) ครั้งนี้นะครับ

ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้เรียนเสนอท่านผู้อ่านเรื่องของ Fed ซึ่งหมายรวมถึงเป้าหมายของ Fed (เงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน) และการถอนตัวออกจากการอุ้มเศรษฐกิจสหรัฐ (QE Tapering) ผมก็อยากจะติดตามในเรื่องนี้อีกทีหนึ่งนะครับ

Fed Statement เดือนล่าสุดออกมาเมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุชัดเจนว่า ระบบเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว และขยายตัวในอัตราปานกลาง และก็ยังทำการลดลงของการทำ QE ลงมาในขนาดที่เคยกล่าวไว้คือ หนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ และยังตบท้ายว่า หากเป้าเงินเฟ้อ (2%) และอัตราการว่างงาน (ไม่มากกว่า 6.5%) สามารถทำได้อย่างยั่งยืน Fed ก็คงจะลดการทำ QE ลงมาได้อีก (มากกว่าเดือนละหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์)

ต่อมาในวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) ออกมาดีกว่าที่คาด และอัตราการว่างงานประกาศออกมาที่ 6.3% หากเราจะต้องติดตามบริบทของ Fed ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะบ่งชี้ว่า Fed จะลงมือเพิ่มขนาดการลด QE ก็น่าจะเป็นตัวเลขทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค,ดัชนีราคาผู้ผลิต

ขอได้โปรดติดตามตัวเลขทั้งสองนี้ให้ดี หากมีการประกาศออกมา และมากกว่าที่คาดการณ์ ก็จะทำให้ตลาดมีปฏิกิริยาทันที กลไกก็จะเป็นอย่างที่เคยเรียนไว้คือ ก่อนการประชุมFedในครั้งต่อไป (17-18 มิ.ย.) ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการเล่นข่าวเรื่อง QE Tapering ตลาดหุ้นก็จะตกลงมาในช่วงเวลาดังกล่าวนะครับ เผอิญว่าในเดือนพ.ค.นี้ ไม่มีการประชุม ผมก็คาดเอาไว้ว่า sentiment ของตลาด น่าจะดี ภาวะกระทิงน่าจะผลักดันให้ทั้ง Dow Jones และ S&P500 ทำ "นิวไฮ” ได้อีก จนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่ผมได้เรียนไว้ข้างต้น

เรื่องที่เรียนไว้หลายท่าน อาจจะดูว่าไกลตัว จะบอกว่าไกลก็ไม่ใช่ น่าจะเป็น "ไม่ไกล” มากกว่า อย่างที่เรียนไว้ตอนต้น สินทรัพย์ทางการเงิน นับวันจะมีความสลับซับซ้อน และได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากขึ้นทุกวัน สิ่งที่เคยเรียนในเดือนที่แล้ว ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ต้องมีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศบ้างถึงพอควร อาศัยที่บาทยังคงไม่อ่อนค่าไปมากนัก และการดำเนินนโยบายผ่อนคลายยังไม่เปลี่ยนแปลง น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี

ปัจจัยอื่นๆ เช่นการเมือง (ทั้งไทยและเทศ) ปัจจัยเรื่องวิกฤตการณ์ในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ หรือปัจจัยอื่นๆ หากส่งผลกระทบในทางลบ คือทำให้ราคาสินทรัพย์ที่สนใจตกลง ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไป “ช้อน” นะครับ ผมเชื่อว่าอเมริกาจะเป็นตัวนำ ทำให้มีการโยกเงินกลับไป ถึงแม้จะมีบางท่านแย้งว่า มันดีขึ้น และสูงขึ้นมามากแล้วก็ตาม

ผมเชื่อว่ามันจะไปต่อ ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งได้เคยเรียนไปแล้วว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์ น่าจะมาเร็วมากกว่ามาช้า (Sooner not Later)

ผมก็คงต้องติดตามตลาดอย่างใกล้ชิดต่อไป มันอยู่ในสายเลือดแล้วล่ะครับ แล้วจะได้นำมาเรียนท่านผู้อ่านที่รักต่อไป ท้ายสุดความเห็นทั้งหมดเป็นความเห็นส่วนตัวของผม และโปรดใช้วิจารณญาณในการรับรู้ด้วยนะครับ สวัสดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Fed อีกสักที

view