สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริง

ผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในยุคหลังนี้ เสียงเรียกร้องให้มีผู้นำที่มีจริยธรรมดังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก

สังคมต้องการผู้นำที่มีจริยธรรม เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ผู้นำที่ขาดจริยธรรมนำพาประเทศหรือองค์กรไปสู่ความอ่อนแอ ความแตกแยก ความไร้ระบบ ความไม่มีประสิทธิภาพ

ผู้นำที่ไร้จริยธรรมคิดถึงตนเองเป็นหลัก วางตนเองเป็นศูนย์กลางขององค์กร ของสังคม คนไทยชินกับผู้นำลักษณะนี้เป็นอย่างดี เพราะพบเห็นมานาน ต้องทนอยู่ด้วย เพราะอยู่ในสังคมเดียวกัน

เวลาพูดหรือนึกถึงผู้นำที่มีจริยธรรม ถ้าเป็นผู้นำในไทย เราจะนึกถึงผู้นำที่สุจริต ไม่คอร์รัปชัน เป็นผู้ที่ทำเพื่อสังคม คิดถึงสังคมก่อนคิดถึงตนเอง ถ้ามีผู้นำแบบนี้ เราเชื่อกันว่าสังคมน่าจะเป็นสังคมที่มีความสุข

จริยธรรมของผู้นำที่เรานึกถึงดังกล่าวสอดคล้องกับความหมายของจริยธรรม ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า จริยธรรมแปลว่า สิ่งที่พึงประพฤติ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือ ความประพฤติตามค่านิยมที่พึงประสงค์ ย้อนกลับไปสมัยก่อน มีการใช้คำว่า “คุณธรรม” (virtue) เพื่อแสดงถึงความดีงามของบุคคล นักปรัชญาตะวันตกสมัยก่อน อาทิ เพลโตมีทัศนะที่ว่า คุณธรรมมิใช่ความพอใจของแต่ละคน คุณธรรมกับความรู้ต้องสัมพันธ์กันเสมอ ความรู้จะเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายถ้าเป้าหมายไม่มีคุณธรรม การกระทำที่ถูกต้องอันเกิดจากความเข้าใจอันมีจริงด้วยปัญญาเท่านั้นจึงถือว่าเป็นคุณธรรม นอกจากนี้ เพลโตยังกล่าวว่า “มาตรวัดคน อยู่ที่เขาทำอะไรกับอำนาจ”

อริสโตเติลมีทัศนะว่า ความดีเกิดจากคุณธรรม และความสุขคือความดีสูงสุด ความสุขที่อริสโตเติลกล่าวถึงนั้น มีผู้ตีความหมายว่าไม่ได้หมายถึงเพียงมีความดีงามเพียงภายในตน แต่ได้แสดงความดีงามนั้นต่อผู้อื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เน้นคำนึงถึงผู้อื่นก่อน

นักปราชญ์โบราณของจีน อาทิ ขงจื๊อแนะผู้นำให้นำด้วยคุณธรรม ดังคำกล่าวว่า “นำผู้คนโดยใช้มาตรการของรัฐและปกครองผู้คนด้วยกฎหมายและการลงโทษ ผู้คนจะหลีกเลี่ยงการกระทำผิด แต่จะไร้ซึ่งสำนึกของเกียรติและความละอาย นำผู้คนด้วยคุณความดีและปกครองคนด้วยกฎแห่งคุณธรรม ผู้คนจึงจะมีสำนึกแห่งความละอาย และจะปรับตนให้ประพฤติถูกต้อง”

ในทางพุทธศาสนา เอาแค่หลักสังคหวัตถุ 4 ก็น่าจะพอสำหรับผู้นำ สังคหวัตถุ 4 เป็นคุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจผู้คน มีประโยชน์คือทำให้ผู้คนรักใคร่ นับถือ ประกอบด้วย 1) ทาน - การแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 2) ปิยวาจา - พูดจาน่ารัก น่านิยม 3) อัตถจริยา - บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น 4) สมานัตตา - ความมีตนเสมอ ไม่ถือตัว

จากแนวคิดของนักปราชญ์ คำสอนของศาสนา มาถึงแวดวงวิชาการ งานวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำที่มีจริยธรรมพบว่าคุณสมบัติประการหนึ่งที่สำคัญคือ ไม่เห็นแก่ตน (altruistic) หรือ คำนึงถึงผู้อื่น (concern for others) ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าวมาก่อนหน้า เมื่อไรที่ผู้คนรอบข้างเห็นว่า ผู้นำทำเพื่อตนเองเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเพื่อส่วนรวม ผู้นำนั้นจะถูกลงความเห็นว่า เป็นผู้นำที่มีจริยธรรมต่ำ

ความไม่เห็นแก่ตน (altruism) ของผู้นำนี้ แสดงออกด้วยพฤติกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงความกรุณาเอื้อเฟื้อ การคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ความสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยการให้เกียรติ ความสมถะถ่อมตน เป็นต้น ผู้นำที่มีลักษณะนี้พบว่าจะ "ได้ใจ" ผู้ที่เกี่ยวข้อง และทำให้ผู้เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ร่วมงานตั้งใจปฏิบัติงาน ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น

ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตจากงานวิจัยที่ผ่านมาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำที่มีจริยธรรม คือ งานวิจัยวัดได้แต่พฤติกรรมภายนอก แต่ยังไม่ได้วัดถึงคุณธรรมภายใน (internal virtue) ดังนั้น ถ้าผู้นำมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการกระทำเพื่อผู้อื่น แต่พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้แสดงออกมาจากคุณธรรมหรือความดีงามภายใน เป็นเพียงการเสแสร้ง อันนี้จัดว่า ผู้นำไม่มีจริยธรรมที่แท้จริง เป็นพฤติกรรมฉาบหน้าหรือหลอกลวง

ผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริงต้องมีความดีงามภายใน พฤติกรรมที่แสดงออกก็สอดรับกันกับความดีงามของจิตใจ จริยธรรมไม่ใช่การเสแสร้งว่ามีจริยธรรม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับไม่มีจริยธรรมตั้งแต่ต้น

ผู้นำที่มีจริยธรรมมีความสำคัญ เพราะจะมีอิทธิพลต่อผู้คนรอบข้าง และเป็นแบบอย่างให้คนรอบข้างประพฤติปฎิบัติตาม อย่างไรก็ตาม จริยธรรมไม่ใช่ว่ามีแต่ผู้นำก็เพียงพอ ผู้คนทุกระดับก็ควรมีจริยธรรมเป็นคุณสมบัติของตน ทั้งนี้ตามหลักของอริสโตเติล คุณธรรม ความดี ความสุข ไปด้วยกัน

ถ้ายกตัวอย่างผู้คนทั่วไปที่มีจริยธรรม ขอยกตัวอย่างจากหนังจะเห็นง่ายกว่า เป็นหนังทีวีเร็วๆ นี้เรื่อง “รากบุญ” ไม่ได้จะพูดถึงพระเอก “ไมค์” นะคะ แต่จะพูดถึงนางเอกในเรื่องชื่อ เจติยา ที่มีอาชีพแต่งหน้าศพ และเป็นผู้ที่มีคุณธรรม โดยช่วยเหลือวิญญาณต่างๆ ที่มาขอความช่วยเหลือเพื่อให้วิญญาณดังกล่าวหมดห่วง จะได้ไปเกิดต่อได้ เจติยาไม่ได้ทำเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อผู้อื่นเป็นหลัก และไม่ยอมให้ความชั่วเข้ามามีอำนาจเหนือความดีงามภายใน กสิณหรือปีศาจจึงไม่อาจทำอันตรายได้ เจติยาต้องอดทนต่อสิ่งยั่วเย้าต่างๆ โดยยึดมั่นในหลักการ จะไม่ยอมให้สร้างกล่อง “รากบุญ” ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็คือกล่องแห่งกิเลสนั่นเอง

ประเด็นจากหนังที่โยงมายังชีวิตจริงก็คือ ผู้นำและบุคคลทั่วไปจะต้องเผชิญกับสิ่งยั่วเย้าต่างๆ ยิ่งเป็นผู้นำ ยิ่งมีสิ่งยั่วเย้ามาก ผู้นำที่มีอำนาจ ยิ่งมีช่องว่างให้กิเลสเข้ามา เป็นความยึดติดหลงในอำนาจ ในคำสรรเสริญป้อยอ ในตำแหน่งที่มี ยิ่งมีมากก็จะถูกยั่วเย้าให้รู้สึกยังไม่เพียงพอต่อสิ่งที่มี ผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริงต้องฝ่าฟันสิ่งยั่วเย้าต่างๆ ได้ต่อเนื่อง ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมภายใน นับเป็นสิ่งที่ทำไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะถ้าบุคคลรอบข้างยังอ่อนด้อยในจริยธรรม อนึ่ง จริยธรรมสำหรับผู้นำที่เป็นปุถุชนไม่สามารถมีในระดับสูงสุดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้มีในระดับที่มากเพียงพอ ให้คิดถึงและทำเพื่อผู้อื่นให้มากกว่าตัวเองเป็นหลัก แม้จะมีวอกแวกบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ ขอให้ใช้คุณธรรมภายในเป็นตัวดึงให้ประพฤติอย่างมีจริยธรรม

ประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศไทยปัจจุบัน ต้องการผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริงเพื่อปกครอง เพื่อบริหาร และเพื่อเป็นตัวอย่าง ผู้เขียนได้แต่หวังว่าจะมีวันที่ผู้นำทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศ ลงมาถึงระดับองค์กร จะเป็นหรือมุ่งสู่ความเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมอย่างแท้จริง และมีผู้คนที่เป็นมือรองของท่านจนถึงผู้ปฏิบัติงานที่มีจริยธรรมแท้จริงเช่นกัน

ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ จึงจะเป็นการคืนหรือสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับสังคม ให้กับประชาชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้นำที่มีจริยธรรมแท้จริง

view