สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

SLCทุนฉงน-ซ่อนกลฮุบ NMG (3) Acting In Concert ผิดกฎ ?

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



หากหลังจากวันที่ 27 ส.ค. 2557 เมื่อบริษัทมาบุญครอง (MBK) ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมด 13.67%

ที่ทยอยถือในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ NMGมาตั้งแต่กลางเม.ย. 2557 ให้กับบริษัท วธน แคปปิตัล จำกัดหรือ WAT สัดส่วน 7.57%และ “ศิร์วสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง” 6.1%

แล้วได้เกิดกรณีบริษัท โซลูชั่นคอนเนอร์ 1988 จำกัดหรือ SLC มาแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2557 ว่าได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ NMG ในระหว่างวันที่ 15-17ธ.ค. รวม 12.27% และซื้อวอร์แรนท์ NMG-W3 อีกประมาณ 6% รวมเป็นเงินที่ใช้ไปทั้งสิ้น

1,042 ล้านบาท

ถือว่าไม่เป็น “เรื่องผิดปกติ” ของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ย่อมมีการซื้อหุ้นของทุกบริษัท ยิ่งบริษัทที่มีผลประกอบการดีอย่างเครือเนชั่น ย่อมจะยิ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อหวังลงทุนระยะยาวหรือได้กำไรจากราคาหุ้นในอนาคต

แต่กรณีนี้กลับมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นมากมายนับจากวันที่ 27 ส.ค.เป็นต้นมาจนถึง 18 ธ.ค.ที่ “เหล่าไอ้โม่ง” ที่ทยอยไล่เก็บหุ้น NMG มาตลอด 3-4 เดือนเป็นใครกันแน่ ท่ามกลาง “ข่าวลือ” ในตลาดหุ้นที่บอกว่า NMG เป็นบริษัทสื่อที่อยู่ในเป้าหมายการครอบครองกิจการหรือ Takeover จากอีกสื่อหนึ่งที่อยู่ในตลาดหุ้นเพื่อสร้าง “อาณาจักรสื่อ” ในรูปแบบของ Holding Company เพื่อครอบครองสื่อหลากหลายที่สุด

วันที่ 15 ธ.ค.เป็นวันโลกาวินาศของตลาดหุ้นไทยที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ที่มีอยู่ช่วงหนึ่งดัชนีตลาดหุ้นทรุดลงไปมากกว่า 130 จุดจากข่าวลืออัปมงคล แต่หุ้น NMG และหุ้นในเครือ

อีก 2 บริษัทกลับแข็งแกร่งมาก ราคาเป็นบวกและมีวอลุ่มการซื้อขายสูงมากๆ ต่อเนื่องไปอีกวันที่ 16-17 ธ.ค. วันละร่วม 400-500 ล้านบาท โดยในช่วงเดือนพ.ย.ในหลายๆ วันก็มีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างสูงเช่นกัน

นับจากวันที่ 27 ส.ค.เป็นต้นมา WAT กับ SLC มีความเคลื่อนไหวเพิ่มทุนแบบคู่ขนานสลับกันไปมาอย่างน่าฉงนมากช่างบังเอิญเหลือเกิน การทยอยประกาศจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบแปลกๆ ด้วยสัดส่วนหุ้นเดิมกับหุ้นใหม่ที่เสมือนบีบบังคับให้ “นักลงทุนรายย่อย” ต้องจำยอมจ่ายเงินเพิ่มทุน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นถูก Dilute ราคาหุ้นลงทันที

แล้วสักพักจะตามมาด้วยการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงหรือ Private Placement ที่มีชื่อนักลงทุนซ้ำๆ กันสลับกันไปมา พร้อมกับ “เรื่องราว” หรือ Story ที่ทำให้ภาพใหญ่ๆ ใช้เงินเยอะๆ เพื่อให้ “สมเหตุสมผล” ในการเพิ่มทุนบ่อยๆ โดยบริษัทพวกนี้จะจดทะเบียนเพิ่มทุนรอไว้เลยเป็นหลักหลายหมื่นล้านถึงแสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง อาจจะมีธุรกิจหลักอยู่บ้างที่เป็นธุรกิจดั้งเดิม แต่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ภาวะขาดทุนสะสมจำนวนมากๆ เป็นหลักพันล้านบาท

กลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่เจ็บปวดกับบริษัทพวกนี้ที่ไม่ได้ทำธุรกิจจริงจังเล่าให้ฟังว่าบริษัทพวกนี้ทำ “ธุรกิจเพิ่มทุน” เพื่อทำกำไรจากราคาหุ้นมากกว่าเป็น Real Business ด้วยการล่อแมงเม่านักลงทุนรายย่อยมักหลงเชื่อถูกลากขึ้นไป “ติดดอย” ด้วยราคาหุ้นชนเพดานหรือ Ceiling 4-5 วันติดต่อกันเมื่อได้เงินเพิ่มทุนจากรายย่อยแล้วจะ “กระทืบ” ราคาลงพื้นหรือ Floor ติดต่อกันอีกสัก 3-4 วัน

ไม่อยากจะกล่าวหาบริษัทใดบริษัทหนึ่งว่ามีพฤติกรรมแบบนี้ แต่อยากให้ตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.เอาใจใส่อย่างจริงจัง กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยได้เคยร้องเรียนไปหลายครั้งถึงพฤติกรรมการเพิ่มทุนแปลกๆ แต่กลับไม่เคยได้รับการสนองตอบจากตลาดหลักทรัพย์และก.ล.ต.สักเท่าไหร่

บริษัทที่มีราคาหุ้นซื้อขายกันเป็น “เศษสตางค์” ที่น่าจับตามองว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ เช่น AQUA, MIDA, SLC, WAT, ML, TH, GEL ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่มีเสียงเล่าขานถึงชื่อ “นายฉาย บุนนาค” กับพวกพ้อง เข้าไปเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งแบบยากจะหาร่องรอยได้ชัดๆ แล้วหุ้นเหล่านี้เคยถูกก.ล.ต.กล่าวโทษส่งเรื่องไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่ส่วนใหญ่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

รายชื่อ “ขาหุ้น” แบบเฉพาะเจาะจง (PP) ที่ถือเป็น “ขาใหญ่” มีใช้บริการชื่อซ้ำๆ กันหลายๆ รอบ เช่น ศิร์วสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง (SLC,TH), ปาณกาจ สุธาธรรม (SLC,WAT), อรอร อัครเศรณี (ลูกสาวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี SLC, AQUA),

วรณัณ เลิศกุลธรรม (SLC,GEL), ตรีขนิษฐ์ มากรักษา (SLC,GEL), ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร (SLC,KMC), ภานุรักษ์ แสงอร่าม (SLC,GEL), ชัยณรงค์ แสงอร่าม (WAT), กำพล วีระเทพ

สุภรณ์ (KMC, AQUA) สุมาลี อ่องจริต (TH,AQUA,KMC), กรรณิกา ตั้งกิจตรงเจริญ (WAT,KMC), สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล (SLC,WAT), ยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์ (SLC,AQUA), เอกวิชช์ กมลเทพา (TH,GEL) ฯลฯ

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายแรกของ NMG เมื่อสิ้นปี 2557 คือ SLC 12.27% , ศิร์วสิษฐ์ สายน้ำผึ้ง 9.14%( เพิ่มจาก 6.1%) รวมกันประมาณ 28-29% แล้ว กรณีแบบนี้ถ้าเป็นรายเดียวเกิน 25% จะเข้าข่ายกฎของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องทำการรับซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ (Tender Offer) ในราคาเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่าที่ซื้อมา ถ้าต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จะใช้เงินไม่น้อยกว่าอีก 5,000-6,000 ล้านบาทที่กลุ่มฉายบุนนาคคงหาทางหลีกเลี่ยงแน่ๆ

ตรวจสอบลงไปอีกในรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มฉาย บุนนาคและพวก น่าจะอีกประมาณ 15-20 คนที่ใช้บัญชีซื้อขายหุ้นแยกกระจัดกระจายกันเข้าซื้อหุ้น NMG อีก

รวมกันทั้งหมดแล้ว ล่าสุดของ NMG กลุ่มฉาย บุนนาคและพวกน่าจะถือหุ้นใน NMG มากกว่า 28-29 % เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2557 ที่เริ่มเข้ามาด้วยการซื้อหุ้นจาก MBK รวมกันแค่ประมาณ 13-14 % เท่านั้นที่ไม่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่อาจจะสร้างปัญหาการเทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตร

อยากให้ลองไปอ่านกฎของก.ล.ต.ว่าด้วยพฤติกรรม Acting In Concert เช่น การอำพรางแยกซื้อหุ้นแบบพร้อมๆกันหลายคนในหลายๆ ช่วงเวลา , การใช้เงินจากแหล่งเดียวกัน , การตกลงเข้าซื้อหุ้นเดียวกัน ฯลฯ เพื่อครอบครองกิจการของผู้ถือหุ้นเดิม พฤติกรรมข้างต้นของกลุ่มฉาย บุนนาคและพวกในการเข้าซื้อหุ้น NMG จนถึง 40% จะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดหรือไม่

ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ควรจะลงไปสอบสวนเชิงลึกอย่างจริงจังเสียที รวมไปถึงพฤติกรรมการวิธีการเพิ่มทุนและซื้อขายหุ้นแบบแปลกๆ ที่ใช้หุ้นบริษัทขนาดเล็กๆ ราคาเศษสตางค์ที่ “ก๊วนปั่นหุ้น” ก๊วนใหญ่เหล่านี้ ยึดครองตลาดหุ้นอยู่ในปัจจุบัน ได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ถึงเวลากวาดล้างให้ตลาดหุ้นสะอาดเสียทีเถอะ


'เสริมสิน'ฟ้องคอลัมนิสต์

"เสริมสิน สมะลาภา" รองประธานและผู้ถือหุ้นเนชั่น ฟ้องคอลัมนิสต์ดังฐานหมิ่นประมาท

"เสริมสิน สมะลาภา" รองประธานและผู้ถือหุ้นเนชั่น ฟ้องคอลัมน์นิสต์ดังฐานหมิ่นประมาท พร้อมเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง 50 ล้านบาทกรณีโพสต์เฟซบุ๊คกล่าวหาเป็นผู้ขายหุ้นเนชั่นให้เอสแอลซี โยงอดีตนายกฯ "คนทางไกล" ขณะที่เพจ "ธนา ทุมมานนท์" ยังเงียบ โชว์ภาพคัฟเวอร์เชียร์เนชั่นสู้กลุ่มทุน ด้าน "สมเกียรติ" ระบุ โซลูชั่น คอนเนอร์ฯ ไม่มีความตั้งใจปั้นสถานีข่าว

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทนายความของ นายเสริมสิน สมะลาภา รองประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นเอ็มจี ได้เป็นตัวแทนยื่นฟ้อง นายธนา ทุมมานนท์ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรณีเขียนบทความลงในเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า "Tana Toommanon (Baypalace)" ระหว่างวันที่ 19-22 ธ.ค.2557 กล่าวหานายเสริมสินให้ได้รับความเสียหายกรณีการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ เอสแอลซี

คำฟ้องระบุว่า บทความของนายธนามีเนื้อหาระบุว่า กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พยายามครอบงำบริษัทสื่อต่างๆและทีวีดิจิทัลอีกหลายช่อง ในส่วนของ บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ฯ ซึ่งนายธนาอ้างว่าเป็นนอมินีของกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้เข้ามาซื้อสื่อในกลุ่มเนชั่นนั้น นายธนาได้ลงข้อความพาดพิงถึงนายเสริมสินว่า เอสแอลซี เข้าซื้อสื่อในกลุ่มเนชั่น โดยนำหุ้นในมือของนายเสริมสินมารวบรวมขายต่อให้เอสแอลซี

คำฟ้องระบุด้วยว่า นอกจากนี้นายธนายังพยายามทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่า นายเสริมสินให้ความร่วมมือกับกลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการครอบงำสื่อ ซึ่งข้อความดังกล่าวทำให้นายเสริมสินเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกมองว่าไม่มีอุดมการณ์ หักหลังเพื่อนร่วมงานที่บริษัทเนชั่นฯ ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ว่าร่วมมือกับกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ ในการครอบงำสื่อ ทำให้นายเสริมสินได้รับความเสียหายจากการสูญเสียความน่าเชื่อถือในการระดมทุนเพื่อใช้ในการลงทุนด้วย

นายวิรัตน์ ระบุว่า ได้พูดคุยกับนายเสริมสินและตรวจสอบเอกสารต่างๆ แล้วพบว่า ข้อความเหล่านี้เป็นเท็จทั้งสิ้น พร้อมชี้แจงว่า เอสแอลซี ซื้อหุ้นบริษัทเนชั่นฯจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยนายเสริมสินไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และไม่เคยรู้จักหรือสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับผู้บริหารของ เอสแอลซี รวมทั้งนายเสริมสินไม่ได้ให้ความร่วมมือและอยู่เบื้องหลังการครอบงำสื่อของกลุ่ม พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่นายธนากล่าวอ้าง

ดังนั้น นายเสริมสินจึงให้ตนดำเนินการฟ้องร้องนายธนาในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา, ข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับ และหลังจากนั้นจะไปยื่นฟ้องนายธนาเป็นจำเลยในคดีแพ่งเรื่องเดียวกันนี้ด้วย ในข้อหาละเมิด ทำให้นายเสริมสินได้รับความเสียหาย สูญเสียความน่าเชื่อถือในการระดมทุนเพื่อใช้ในการลงทุน และเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 50 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบเฟซบุ๊คของนายธนาที่ใช้ชื่อว่า "Tana Toommanon (Baypalace)" ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปชมเนื้อหาข้างในได้ เพราะตั้งค่าให้เข้าชมได้เฉพาะผู้ที่ได้รับการตอบรับเป็นเพื่อนเท่านั้น แต่หน้าเพจเฟซบุ๊คของนายธนา ได้เปลี่ยนภาพคัฟเวอร์เป็น Friend of Nation และ "เนชั่นต้องสู้" ซึ่งเป็นภาพรณรงค์ของสื่อเครือเนชั่นในการต่อต้านการเข้าครอบงำกิจการของกลุ่มทุนเพราะเกรงว่าจะกระทบกับความอิสระในการรายงานข่าวสาร

ด้าน นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเคยเคลื่อนไหวเรื่องเสรีภาพสื่ออย่างเข้มข้น ให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" ผ่านการตอบคำถามทางอีเมล์เกี่ยวกับกรณี เอสแอลซี เข้าซื้อหุ้นกลุ่มเนชั่น ในขณะที่เข้าถือหุ้นในสปริงนิวส์ และแกรมมี่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลว่า ส่วนตัวไม่รู้อะไรนัก เพราะออกจากสปริงนิวส์มากว่า 1 ปีแล้ว ไม่รู้ลึกเรื่องภายใน

อย่างไรก็ดี คิดว่า บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ฯ ไม่มีความตั้งใจทำให้สปริงนิวส์เป็นสถานีข่าวจริงจังอะไร นอกจากอยู่คู่ใจไปกับบริษัท โซลูชั่นคอนเนอร์ฯ

ส่วนประเด็นการซื้อหุ้นข้ามสื่อ นายสมเกียรติ มองว่า เหมือนกรณีบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) แอบซื้อหุ้นมติชนเมื่อหลายปีก่อนซึ่งก็เป็นสิทธิในการทำธุรกิจปกติ ผู้ถือหุ้นใหญ่คงรู้ล่วงหน้าตลอดเวลา แต่เด็กๆ รายย่อยไม่รู้

"สื่อสารมวลชนเป็นธุรกิจครับ" นายสมเกียรติระบุทิ้งท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.

Tags : SLC ทุนฉงน ซ่อนกลฮุบ NMG  Acting In Concert ผิดกฎ

view