สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โค้งอันตรายทีวีดิจิทัลปี 2 : SLC กับพวก ซื้อหุ้นคู่แข่ง NMG

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คิดใหม่ วันอาทิตย์

อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ



ผมไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง กับตรรกะของทุนนิยมแบบตามตัวอักษร ที่บอกว่า

"หุ้นของคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ใครๆก็มีสิทธิ์ซื้อได้ เดือดร้อนทำไม"

แต่ขออธิบายสั้นๆ ว่า คู่แข่งขันกันในทางธุรกิจ" แอบ "ซื้อหุ้น"คู่แข่ง" จนกลายเป็น "ผู้ถือหุ้นใหญ่"

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของคนที่มีสติปัญญาปกติๆ โดยไม่ต้องไปเกี่ยวกับว่าจะอยู่ในตลาดหุ้นหรืออยู่ในเกณฑ์ต้องห้ามรายเดียวกันถือทีวีดิจิทัลเกินกว่า 1 ช่องในประเภทเดียวกันก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ถือเป็นการกระทำที่ไร้จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

พูดจาแบบนักเลงๆหยาบคายๆ พวกนี้มัน"ไม่ใช่ลูกผู้ชาย" พอทำธุรกิจแข่งตามกติกาปกติไม่ได้ก็เอาเงินไปทุ่มซื้อกิจการของคู่แข่ง ซึ่งได้รับรู้ปูมหลังของกลุ่มผู้ถือหุ้นแล้วต้อนรับเข้าบ้านไม่ได้จริงๆ แล้วอ้างว่าซื้อลงทุนระยะยาวไม่เข้ามายุ่งแทรกแซงการบริหาร แต่อีกแว่บเดียวเห็นเที่ยวไปทาบทามทีมใหม่จะเข้ามาบริหารงานแทนชุดเดิม

ลองคิดดู คุณประวิทย์ มาลีนนท์และตระกูลมาลีนนท์ที่ถือหุ้นใหญ่บริษัท BEC ที่อยู่ในตลาดหุ้น แล้ว"กฤตย์ รัตนรักษ์" และบริษัทในเครือข่ายเข้าไปซื้อหุ้นใน BEC สัก 15-20 % แล้วบอกว่าสามารถซื้อหุ้นได้ตามปกติ อยากจะลงทุนระยะยาว ลองไปถามคุณประวิทย์จะคิดยังไง ระแวงคุณกฤตย์ที่มีเงินเยอะมากๆจะเข้ามาล้วงความลับหรือไม่

ถามกลับว่า ทำไมพวกท่านไม่เอาเงินที่ระดมมาได้หลายพันล้านบาทอย่างทุลักทุเล ไปปรับปรุงกิจการมาแข่งขันกันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคน่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ บอกตรงๆว่า พวกเราไม่ต้อนรับพวกคุณ อย่าดันทุรังเลย

ทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ม.ค. ผมต้องเป็นตัวแทนบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล ประเภทข่าวสารและสาระ ในชื่อช่อง Nation TV ไปยื่นเอกสารให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ 5 ท่าน เรื่องการเข้าครอบงำกิจการ

ประเด็นหลักมาจากการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท.) ช่วงก่อนปีใหม่มีความเห็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า กรณีบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์(1998) จำกัด(มหาชน)หรือ SLC ที่เป็นผู้ถือหุ้น 100% บริษัท สปริงส์นิวส์ จำกัด ผู้ถือใบอนุญาติทีวีดิจิทัลช่องข่าว Springnews เข้าซื้อหุ้น 12.27 % ในบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ที่ถือหุ้น 71% ในบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่มีบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องข่าว Nation TV

ข้อพิจารณาจะผิดเงื่อนไข"ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน" ที่มีอยู่ข้อหนึ่งช่วงประมูล คือหมายถึงผู้ที่ถือหุ้นร่วมกันเกินกว่า 10% , เกี่ยวพันกันทางสายเลือด, คนละบริษัทแต่ผู้บริหารชุดเดียวกัน ฯลฯเข้าประมูลทีวีดิจิทัลเกินกว่า 1 ช่องในประเภทเดียวกัน

ผลประชุมยังไม่มีข้อยุติเพราะคะแนนเสียงแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มจาก 5 คน

กลุ่มแรกมีความเห็นโดยแทบไม่ต้องตีความมากนักว่า"ผิดแน่นอน" เพราะกสทช.มีหน้าที่จะต้องกำกับและดูแลสถานะของผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไปตลอด 15 ปีของอายุใบอนุญาต เพื่อให้ยังเกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี มิเช่นนั้นจะกลับไปผูกขาดอีก กรรมการกสท. 2 ท่านที่มีความเห็นว่า"ผิดแน่นอน"คือดร.ธวัชชัย จิตรภาษนันท์กับอาจารย์สุภิญญา กลางณรงค์

กลุ่มที่สองมีความเห็นว่า "ไม่ผิดแน่นอน" เพราะหลักเกณฑ์การประมูลข้อนั้นกำหนดขึ้นเฉพาะการประมูลเพื่อป้องกันการฮั้วประมูลไม่ต้องใช้แล้วหลังประมูล กรรมการรกสท. 2 ท่านดังกล่าวคือ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. และพ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า

กลุ่มที่สามยังไม่ให้ความเห็นเพราะยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูล กรรมการกสท.ท่านนี้คือพลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ

ข้อสรุปของคณะกรรมการกสท. ช่วงก่อนปีใหม่คือส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการด้านกฏหมาย ของกสท.ไปวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อนำเสนอกลับมายังกสท.อีกครั้งคาดว่าน่าจะนำเสนอกลับมาในวันจันทร์ที่ 19 ม.ค.นี้่

จุดประสงค์ในการยื่นจดหมายถึงกสท. 5 ท่านเมื่อวันที่ 12 ม.ค.เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณาที่น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างกรณีแรก หลังประมูลทีวีดิจิทัลผ่านพ้นไปได้ประมาณ 1 ปีที่สภาพการณ์ต่างๆยังไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 17 บริษัท 24 ช่องเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังซึมๆมาตั้งแต่ปีที่แล้ว,การแจกคูปองเพื่อแลกกล่องภาคพื้นดินยังเดินไปช้า แล้วยังเกิดปัญหาการเบิกเงินค่ากล่องรับสัญญาณที่ยังขลุกขลักมากๆ ฯลฯ

การวินิจฉัยกรณีบริษัทแม่ของ Springnews เข้าถือหุ้นในบริษัทแม่ของ Nation TV ที่เป็นช่องข่าวประเภทเดียวกัน จะเป็นเสมือนดัชนีชี้อนาคตของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ว่าจะเดินหน้าต่อไปแบบไหน

หากยึดตามความเห็นของกสท.กลุ่มแรกคือหลักเกณฑ์การประมูลเรื่อง"ผู้มีประโยชน์ร่วมกัน"ยังต้องบังคับใช้ไปจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต การเปลี่ยนมือหรือผู้ถือหุ้นจะทำได้ยากขึ้น ป้องกันการผูกขาดครอบงำกิจการจาก"ทุนใหญ่"ในธุรกิจทีวีฮุบกิจการ"ทุนเล็ก"ที่เป็นเจ้าของใบอนุญาติได้

แต่ถ้าหากยึดตามความเห็นของกลุ่มที่สองคือหลักเกณฑ์"ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน" ใช้เฉพาะช่วงประมูลเท่านั้น แต่หลังประมูลไม่สามารรถบังคับใช้อีก สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือทุนใหญ่ในธุรกิจทีวีจะเข้าซื้อกิจการของช่องเล็กๆเพื่อลดคู่แข่งขัน สุดท้ายอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัลของไทย จะกลับไปสู่วงจรกึ่งผูกขาดของทีวีระบบอะนาล็อกที่เกิดขึ้นยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ทำนายอนาคตไว้ได้เลยไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่จะเหลือไม่เกิน 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะทุ่มเงินถือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไว้ในมือในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะยังแยกบริษัทแต่มีบริษัทโฮลดิ้งถืออยู่รวมกัน 5-6 ช่องต่อกลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะตั้งอกตั้งใจบริหารทั้ง 5 ช่อง กลยุทธ์ทางธุรกิจแบบนี้คือซื้อไปดองไว้ไม่ให้เติบโตแข่งขันกวนตลาดกันเอง

ข้อมูลเพิ่มเติมที่กลุ่มเนชั่นส่งให้กับกสท.คือ ไม่เพียงแต่ SLC ถือหุ้น 12.27% ใน NMG จากการตรวจสอบพบว่ายังมีบริษัทอื่นที่มีความเกี่ยวพันกันกับ SLC คือบริษัท วธน แคปิตัล จำกัด( WAT )ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และผู้ถือหุ้นรายบุคคลที่เข้ามาถือหุ้นใน NMG ช่วงก่อนหน้านั้นอีกรวมกันประมาณ 20% แยกเป็นในนามบริษัท WAT 7.57% และในนามบุคคลอื่นๆที่มีหุ้นใน SLC และ WAT รวมกันน่าจะประมาณ 12-15% รวมกันแล้วน่าจะมากถึง 30-35% ที่ในตลาดหลักทรัพย์ถือว่ามีอำนาจควบคุมกิจการได้

ความซับซ้อนของ Money Game ในตลาดหุ้น ทำให้กสท.ไม่น่าจะตามทันการถือหุ้นไขว้กันไปมาจนยากต่อการตรวจสอบให้ตีความว่าเป็น"ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน"หากไม่มีความร่วมมือกันระหว่างกสท.,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.

แม้ยังไม่นับ WAT และบุคคลเข้าเป็นพวกเดียวกันกับ SLC ก็ถือได้ว่า SLC ที่มีหุ้นใน NMG 12.27 %น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน NMG แล้ว มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อกรรมการเข้าร่วมในการบริหารงาน NMG ได้ นั่นหมายถึงการเข้าถึงระดับชั้นความลับทางธุรกิจของบริษัทลูก NBC แปละบริษัท NNV ที่ถือใบอนุญาตช่อง nation TV

นอกจากนี้แล้ วร่างประกาศเพิ่มเติมของกสท. ว่าด้วยการถือหุ้นระหว่างกัน,การครอบงำกิจการ,การมีอำนาจเหนือตลาด ฯลฯที่ผ่านการประชาพิจารณ์ไปแล้ว ยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมกสท.อีกครั้่งเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในการกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ดูเหมือนไม่มีวี่แวววว่าจะออกมาบังคับใช้ในเร็ววัน

กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เป็นโค้งอันตราย ของการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์ระบบอนาล็อก สู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่เพิ่งเริ่มต้นมาได้แค่ 1 ปี แต่เสี่ยงอย่างยิ่งจะหักศอกโค้งอันตรายร่วงหล่นไปจากอุตสาหกรรมนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โค้งอันตราย ทีวีดิจิทัลปี 2 SLC ซื้อหุ้นคู่แข่ง NMG

view