สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรับผิดชอบต่อสังคม ของเอสเอ็มอี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เรวัติ ตันตยานนท์

เรวัติ ตันตยานนท์



ธุรกิจเอสเอ็มอี คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องระบบการบริหารจัดการธุรกิจ ที่เอสเอ็มอี มักจะมีความคล่องตัวและมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานน้อยกว่า

และด้วยความเป็นระบบหรือความมีมาตรฐานในวิธีการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ เอสเอ็มอี จึงมักมีมุมมองต่อ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ที่แตกต่างกันออกไปด้วย

ในขณะที่ธุรกิจใหญ่หรือธุรกิจข้ามชาติที่มีฐานธุรกิจในประเทศไทย ต่างอ้างอิงแนวทางการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานของธุรกิจในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งในปัจจุบัน ได้พัฒนาแนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมแบบเดิม ไปสู่แนวคิดของการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน ด้วยการนำเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมพิจารณาควบคู่ไปกับทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ

โดยมีวัตถุประสงค์ที่ว่า เมื่อธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดี สังคมและชุมชน ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าโดยตรงของธุรกิจ ก็ย่อมให้ความสนับสนุนการดำเนินธุรกิจไปอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอี จะมีความคล่องตัวในเรื่องของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่หลากหลายมากกว่า

มีผู้จัดลำดับของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ระดับ 0 - เป็นธุรกิจที่ไม่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือยังไม่คิดที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม คงก้มหน้าก้มตาทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่สนใจว่า จะมีอะไร หรือมีใคร ที่จะได้รับผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการดำเนินธุรกิจ

ธุรกิจในระดับ 0 นี้ อาจเป็นธุรกิจเริ่มใหม่ที่พื้นฐานทางด้านการเงินยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะให้ความสนใจต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรืออาจเป็นธุรกิจเก่าที่ตั้งตัวได้แล้ว แต่เจ้าของหรือผู้บริหาร ไม่ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องของสังคม หรือผู้เกี่ยวข้องภายนอก รวมถึงเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรต่างๆ ของโลกด้วย

ระดับ 1 - เป็นระดับที่ธุรกิจ จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นธุรกิจ “ใจดี” หรือธุรกิจที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารที่ “ใจดี” เห็นว่า เมื่อธุรกิจสามารถตั้งตัวได้ มีผลตอบแทนจากธุรกิจมากพอจำนวนหนึ่งแล้ว จึงคิดที่จะบริจาคทรัพย์ หรือสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าส่วนหนึ่งของธุรกิจ หรือ เป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย ให้กับสังคม เป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสต่างๆ หรือทำเป็นประจำ

ลักษณะของธุรกิจระดับ1 นี้ ถือได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในระยะแรกๆ ซึ่งจะพบเห็นได้มากในธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ที่มักจะมีการบริจาค ทำบุญทำกุศล ช่วยเหลือสังคม ด้วยเงินที่ได้กำไรหรือเป็นผลส่วนเกินที่ได้มาจากการทำธุรกิจ

นอกจากการบริจาคเป็นเงินและสิ่งของแล้ว ก็เกิดการขยายตัวต่อมา เป็นการ “ลงแรง” ด้วย เช่น การสนับสนุนความร่วมมือร่วมใจของพนักงานในบริษัทในการออกไปพัฒนาชุมชน ปลูกป่า หรือ ทำความสะอาดสถานที่สำคัญในชุมชน ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมที่ทำชั่วครั้งชั่วคราว หรือ ทำเป็นประจำ ตามแต่ความมุ่งมั่นที่มีต่อสังคม

ระดับ 2 - เป็นแนวความคิดแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจที่มองเห็นความสำคัญและมีความมุ่งมั่นที่สูงขึ้น และต้องการแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่อง หรือ การกระทำที่เป็นเพียงครั้งคราว ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น

ธุรกิจในระดับที่ 2 นี้ จึงพยายามที่จะผนวกเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับการดำเนินธุรกิจที่ทำอยู่เป็นประจำ โดยเริ่มต้นไปที่บุคคลที่มีความใกล้ชิดต่อธุรกิจก่อน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนรอบข้าง และสังคมในวงกว้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพนักงาน ที่ถือว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สุดกับธุรกิจ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญที่จะนำความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ ไปเผยแพร่ให้กับบุคคลอื่นทั่วไปได้รับทราบ

การพัฒนาบุคลากร การทำให้บุคลากรของบริษัท มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ถือได้ว่า เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทำได้ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจประจำวัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจที่มีจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ก็จะส่งผลกระทบที่ดีต่อสังคมโดยรวมได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

ระดับ 3 - ธุรกิจที่สามารถผนวกเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมได้ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจแล้ว จะสามารถขยับระดับความเข้มข้นของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ด้วยการพยายามทำให้เกิดประโยชน์หรือสร้างคุณค่าร่วมเผื่อแผ่ออกไปยังผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดกับบริษัท ทำให้ทุกคนในสังคม รวมทั้งธุรกิจ เกิดประโยชน์ที่ร่วมกัน

เช่น การนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่แม้ว่าอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ธุรกิจก็จะยอมรับไว้ หรือหากต้องมีราคาขายที่สูงขึ้น ลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ยินดีที่จะเข้ามาช่วยรับภาระได้ ในลักษณะที่ช่วยเหลือกันทำให้โลกโดยรวมดีขึ้น

ระดับ 4 - เป็นระดับสูงสุดในปัจจุบันที่บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก กำลังตั้งเป้าไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่แนวคิดของการบริหารธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยการให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จใน 3 ด้าน คือ ความสำเร็จด้านธุรกิจ ความสำเร็จด้านสังคม และความสำเร็จด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ยังยืน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะจะเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ มีการตอบแทนและดูแลสังคมด้วยความจริงใจ และให้ความสนใจดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้กับทุกคนในโลกที่เป็นเจ้าของร่วมกัน

แม้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอี อาจจะมีขอบข่ายการทำธุรกิจที่ไม่ใหญ่นัก ผลกำไรที่เกิดขึ้นก็ไม่มากตาม ดังนั้น ความตั้งใจที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ ก็จะสามารถประยุกต์ใช้แนวทางต่างๆ ได้ตั้งแต่ระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 4 ได้ตามความถนัด ความคล่องตัว และลักษณะของธุรกิจ ได้โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ

มีแต่จะเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยการสนับสนุนจากสังคมและผู้เกี่ยวข้องโดยรอบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความรับผิดชอบต่อสังคม เอสเอ็มอี

view