สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

IOT เรารออยู่

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์กระบี่ไร้สาย โดย วิเชียร เมฆตระการ

ตั้งแต่ Retire กลายเป็นว่าผมได้มีโอกาสหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าตอนเป็น CEO เยอะ อาจเป็นเพราะสมัยนั้นเวลาส่วนใหญ่ต้อง Focus ที่การบริหาร ดังนั้น การสัมผัสเทคโนโลยีบางทีจึงกลายเป็นสิ่งที่เขาเลือกมาให้เราได้สัมผัสซะ มากกว่า !

ออกตัวขนาดนี้ก็เป็นเพราะเดี๋ยวท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เอาแต่พูดเรื่องเทคนิคอยู่ได้...ก็ทั้งหมดเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อยู่ในกระแส ผมเองก็อยากรู้ด้วย ในขณะเดียวกัน บางทีเรื่องที่อยากพูดก็มิควรพูด ดังนั้น เราเลือกคุยกันในกระแสที่ควรจะพูดกันดีกว่า...จริงมั้ยครับ

ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงแต่ "IOT Internet of Things-อินเทอร์เน็ตของสิ่งของ" ฟังแล้วดูงง ๆ แต่ว่ามันก็แปลตามที่เขียนล่ะครับ มันคืออินเทอร์เน็ตของสิ่งของจริง ๆ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีของการเชื่อมต่อ IOT จึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งของเข้าด้วยกัน โดยผ่านเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ต (ตรงตัวไปหน่อยนะครับ) เพื่ออะไร ? ก็เพื่อให้สิ่งของต่าง ๆ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ และนำการติดต่อนั้นมาอำนวยความสะดวกกับชีวิตการทำงาน การใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ของเรา


ภาพจาก : http://scoop.jdsupra.com


IOT จะเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องใช้ ยานพาหนะต่าง ๆ อุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพา ฯลฯ เข้าด้วยกัน โดยใช้ความสามารถของซอฟต์แวร์เพื่อให้การทำงานร่วมกันนั้นส่งผลลัพธ์ที่เราต้องการออกมา เช่น มือถือเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ และระบบไฟฟ้าในบ้าน ใช้มือถือเป็นรีโมตคอนโทรล (ง่ายไปหน่อย !) ใช้มือถือเชื่อมต่อกับระบบในรถยนต์ของเรา

เมื่อเวลาซ่อมบำรุงหรือ เปลี่ยนอะไหล่มาถึง มือถือเราก็จะส่งข้อมูลไปหาอู่ประจำแจ้งเข้ารับบริการจัดคิวเวลาที่เราว่าง เพราะมือถือมีตารางเวลาของเราอยู่แล้ว เมื่อเชื่อมเข้ากับระบบของอู่ที่มีคอมพิวเตอร์เชื่อมกับระบบจัดเก็บอะไหล่ ว่ามีชิ้นที่รถของเราต้องใช้หรือไม่อย่างไรถ้าไม่มีระบบก็จะสั่งอะไหล่มาให้ พร้อมรับแจ้งวันเวลาส่งอะไหล่มาที่อู่ เพื่อนัดหมายเราให้นำรถเข้าไปรับบริการได้ตรงตามเวลาที่อะไหล่มาถึง

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์และสิ่งของทั้งสิ้น ลองคิดดูครับ ถ้าต้องทำกันแบบปกติทั่วไปที่เคยชินกันมา เช่น เราทราบจากระบบควบคุมของรถว่า ถึงเวลาซ่อมบำรุงเปลี่ยนอะไหล่ จากนั้นเราต้องหาเวลาไปที่อู่เพื่อนัดหมายหรือโทร.ไปนัด แต่ก็ไม่รู้อีกว่าอะไหล่อะไร เลขที่เท่าไร กว่าจะได้ผลก็เสียเวลาเสียอารมณ์ไปพอประมาณ

แต่ IOT จะส่งผลสรุปให้เราเลยว่า ควรต้องเอารถเข้าอู่เมื่อไร โดยที่เราไม่ต้องยกโทรศัพท์ขึ้นโทร.เลย ตัวอย่างนี้อาจจะยังง่าย ๆ เพราะอยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจพื้นฐาน หลังจากนี้ ความซับซ้อนของการทำงานและระบบเชื่อมต่อเป็นเรื่องที่เราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเทคโนโลยีไป เรารับแต่ผลสรุปของมันเป็นพอ

อุปกรณ์ทั้งหลายจะเชื่อมต่อกันได้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องพัฒนาอุปกรณ์ที่ต้องใส่เข้าไปในเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งเรา ๆ ก็รู้จักกันดีคือ ตัวไมโครชิป ซึ่งบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ก็เริ่มลงทุนทำการผลิตกันอย่างขะมักเขม้นอยู่แล้ว ใครจะแย่งชิงเป็นที่หนึ่ง เป็นผู้นำในด้านใดอีกไม่นานเราคงได้รับทราบทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือจากสื่อต่าง ๆ

แน่นอนที่สุด การสร้างไมโครชิปเพื่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งมีผลิตภัณฑ์ออกมาเร็วเท่าไรหมายถึงโอกาสที่จะสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น นั่นหมายถึงสถานภาพของผู้นำที่จะนำมาทั้งชื่อเสียงและรายได้อันมหาศาลจากการเปิดตลาดใหม่

ปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรฐานสากลของIOT แต่มีผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้รวมตัวจับมือกันเพื่อสร้างและพัฒนาระบบทั้ง ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ทำงานร่วมกันอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดตัวอย่างของ กลุ่มผู้พัฒนา ได้แก่ กูเกิล ซึ่งเราท่านต่างรู้ดีว่ามีศักยภาพเพียงใด กูเกิลเรียกกลุ่มตัวเองว่า Open Web of Things โดยกูเกิลเชื่อว่ามาตรฐานของ IOT ต้องเปิดและสามารถเชื่อมต่อได้เหมือนกัน มาตรฐาน WWW ที่ได้เคยสร้างมาตรฐานให้กับการเชื่อมต่อเว็บจนเจริญเติบโตมาได้ถึงทุก วันนี้ ซึ่งมาตรฐาน IOT ก็ควรเป็นไปในทางเดียวกัน

แต่การเชื่อมต่อเข้า WWW นั้น ใช้อุปกรณ์ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเชื่อมผ่าน WiFi ในบ้านเรือนของเราที่มีอุปกรณ์เชื่อม WiFi อยู่เพียงไม่กี่จุด โดยมีอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่มาก แต่ในอนาคตถ้าเรามีอุปกรณ์เป็นสิบหรือเป็นร้อยชิ้นในบ้าน และมันต้องเชื่อมต่อสื่อสารกันเราจะจัดระเบียบอย่างไร

Industrial Internet Consortium กลุ่มนี้มีสมาชิกร่วมร้อย ล้วนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น GE, IBM, AT&T, Cisco, Huawei, HP และอื่น ๆ อีกมากที่จะร่วมกันใช้ Software ซึ่งพัฒนาโดย GE

โดยกลุ่ม Open Interconnect Consortium นี้แม้จะมีสมาชิกจำนวนไม่มากนัก หากแต่สมาชิกที่มีอยู่ถือได้ว่ามีศักยภาพยิ่ง เช่น Intel, Cisco, Samsung, Dell, HP เป็นต้น จะเห็นว่ามีชื่อบริษัทใหญ่ ๆ ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเหมือนแทงกั๊กไว้ว่ายังไง ๆ ถ้ากลุ่มไหนโตได้ ฉันก็มีส่วนด้วยแน่ ๆ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม IPSO Alliance, AllSeen Alliance, mbed, wot.io. ซึ่งผู้เขียนยังไม่ขอลงรายละเอียดมากนัก

วันนี้ทุกกลุ่มกำลังทุ่มเทเวลา และแน่นอนเงินทุนจำนวนมากในการเร่งพัฒนาให้ IOT ของกลุ่มตนออกมาสู่ตลาดให้มาก และกลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ได้ ชื่อเสียงและรายได้มหาศาลรออยู่ และแน่นอนเมื่อใช้เงินลงทุนมาก ก็จำเป็นที่จะต้องหานักลงทุนมาลงขันร่วม เพื่อหาเงินทุนและกระจายความเสี่ยง

และสิ่งที่ตามมา นอกจากร่วมกลุ่มพัฒนาและหาเงินทุนแล้ว คือการควบรวมกิจการและการเข้าควบคุมกิจการอื่น ๆ ที่อยู่ในแกนเดียวกัน เพื่อความแข็งแกร่งและลดทอนคู่แข่งไปในตัว มีนับเป็นร้อย ๆ ที่กำลังทำหรืออยู่ในขั้นตอนทำการควบรวมหรือเข้าควบคุม ตัวอย่างเช่น Intel จะเข้าซื้อ Lantiq, Samsung Electronic ซื้อ SmartThings, Google เข้าซื้อ Nest Labs และ Waze, Verizon เข้าซื้อ Hughes Telematics เป็นต้น

การเชื่อมต่อย่อมต้องอาศัยโครงข่ายโทรคมฯ ปัจจุบันทั่วโลกมีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า M2M (Machine to Machine) มากกว่า 247 ล้าน (ข้อมูลปี 2014) เติบโตจากปี 2013 ที่มีอยู่ 195 ล้าน เพิ่มขึ้น 27% ซึ่งการเชื่อมต่อโดยโครงข่ายโทรคมฯนั้นใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง ข้อมูลของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Morgan Stanley บอกว่า 60% ยังใช้ GPRS หรือ 2G อยู่ อีก 25% ใช้ HSPA (2.5G) จำนวน 4% ใช้ EDGE (2.75G) และ 10% ใช้ WCDMA (3G) มีเพียง 1% เท่านั้นที่ใช้ 4G

เหตุใด M2M ยังใช้เทคโนโลยีเก่า ผมว่ามาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคถูกพัฒนามานานแล้ว และการใช้งานก็รับ/ส่งข้อมูลไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น ตู้เอทีเอ็มไร้สาย (โทรศัพท์) ที่ใช้อุปกรณ์ไร้สายเชื่อมต่อ จึงเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้สะดวก โดยตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่นั้นรับ-ส่งข้อมูลเป็นช่วง ๆ สั้น ๆ ซึ่งส่งกลับไปกลับมาไม่กี่เที่ยวก็จบการทำงาน ถือได้ว่าข้อมูลไม่มาก ใช้เทคโนโลยี 2G ก็เหลือเฟือ

ดังนั้น การเดินหน้าต่อในอนาคตของบริการประเภทนี้ก็อยู่ที่ว่า เมื่อไรที่ราคาโมดูลของ 3G หรือ 4G ถูกลงมากเพียงพอที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ความคุ้มค่า ผู้ประกอบการก็คงมีความชัดเจนที่จะเปลี่ยนจาก 2G มาใช้เทคโนโลยีใหม่แน่ ๆ

หันกลับมาดูผู้ประกอบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแน่นอนว่าการเชื่อมต่อ M2M ยังใช้ 2G อยู่เป็นส่วนใหญ่ ในยุโรปและอเมริกากำลังทยอยเปลี่ยนอุปกรณ์และเทคโนโลยี เพราะ 2G ถึงจะยังใช้งานได้อยู่แต่ 2G ไม่ใช่ IP คือไม่ใช่มาตรฐานอินเทอร์เน็ต การใช้คลื่นความถี่ให้บริการ 2G จึงถือว่าขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น การนำความถี่เดิมมาให้บริการ 3G หรือ 4G จะคุ้มค่ากว่ามากมาย ดังนั้น ปัญหาทุกวันนี้คงเป็นเพียงเรื่องของต้นทุนมากกว่าอย่างอื่น ๆ

แล้ว 4G เป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ยังไม่ใช่ครับ เพราะการออกแบบ 4G ตั้งแต่เริ่มแรกนั้นไม่ได้นำเรื่องการเชื่อมต่ออุปกรณ์ หรือ M2M มาไว้ในแนวทางพัฒนาด้วย ดังนั้น การใช้ 4G เพื่อทำ IOT ยังดูไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากพอ ข่าวที่ออกมาจากแวดวงอุตสาหกรรม IOT ว่าอาจต้องรอถึง 5G การใช้ IOT จึงจะมีประสิทธิภาพและสร้างความสำเร็จได้

การทดสอบทางอุตสาหกรรมของ IOT จะเริ่มในปี 2018 อีก 3 ปีจากนี้ และจะใช้เทคโนโลยี 5G (อุแม่เจ้า 4G ในบ้านเรายังเป็นวุ้นอยู่เลย) แล้ว 5G จะเป็นอย่างไร เหล่าผู้ประกอบการและผู้ให้บริการทั้งหลาย ณ วันนี้ยังเห็นตรงกันว่า 5G ไม่น่าจะเป็นอะไรที่แตกต่างจาก 4G มากนัก (คงไม่เหมือน 4G ที่ต่างกับ 3G เรื่องความเร็ว) โดยความแตกต่างคงเป็นที่ความสามารถของ 5G ในการควบคุมการส่งข้อมูลออกมาในจำนวนและปริมาณที่เหมาะกับช่วงความถี่ที่ใช้งาน ตลอดจนสามารถกระจายการใช้งานให้ทั่วถึง ด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับปริมาณจำนวนอุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่ออยู่กับโครงข่ายในขณะใดขณะหนึ่ง

พูดง่าย ๆ คือ 5G มีสมองในการดูแลการให้บริการได้มากกว่า 4G ที่ใครเชื่อมต่อเข้ามาก็จะใช้ได้ และถ้าคนใช้น้อยระบบก็จะให้ความเร็วที่มาก คนใช้มากก็จะช้าลงอะไรประมาณนั้น หลายคนอาจถามว่าแล้วมีไปทำไม 4G หรือ 5G แน่นอนครับความช้าใน 4G ย่อมเร็วกว่าความเร็วใน 3G และความช้าของ 5G ก็ย่อมเร็วกว่า 3G หลายเท่าตัวอย่างแน่นอน

จากนี้ไปเราคงได้ยินศัพท์เรื่อง IOT บ่อยขึ้น สำหรับผมเรื่อง Device ไม่เคยห่วง เพราะเหล่าผู้ผลิต Active สุด ๆ อยู่แล้ว แต่เรื่องที่น่าสนใจและต้องให้ความสำคัญ คือ การบริหารจัดการมาตรฐานการเชื่อมต่อผ่านโครงข่าย เป็นเรื่องที่ต้องทั้งจัดระเบียบและให้ความรู้อีกพอสมควร

รอลุ้นครับ อยากให้บ้านเราหมุนวงล้อเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรมสักที...


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : IOT เรารออยู่

view