สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง...Water Cluster

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย พัชรีย์ ถาวรเจริญพงศ์ TEAM GROUP

สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเริ่มแพร่ กระจายเข้าคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายจังหวัดของประเทศใน ขณะนี้และเกิดขึ้นซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าแน่นอนปัญหาภัยแล้งย่อมส่งผล กระทบอย่างกว้างขวางต่อหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะต่อ พื้นที่การเกษตร การผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่มี หน้าที่รับผิดชอบจัดหาน้ำสะอาดให้บริการแก่ประชาชนอย่างพอเพียงและทั่วถึงใน พื้นที่ได้แก่การประปาส่วนภูมิภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็หนีไม่พ้นจาก ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

การแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ปีต่อปี เพื่อให้ความเดือดร้อนบรรเทาเบาบางลงไปเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถจัดหา "แหล่งน้ำ"ที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาได้ตลอดทั้งปี








ดังนั้น แนวคิดการพัฒนาระบบประปาแบบรวมศูนย์กลางที่จุดเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในฤดูแล้งจึงเริ่มมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น

หากจะถามว่า ระบบประปาแบบบูรณาการ (Water Cluster) มีความหมายอย่างไร ?

คำถามนี้สามารถตอบในเชิงวิชาการได้ว่า เป็นแนวคิดในการบริหารจัดการระบบประปาแบบรวมศูนย์กลางแหล่งเดียว ณ จุดที่มีศักยภาพด้านแหล่งน้ำดิบ

โดยจะมี สถานีผลิตน้ำขนาดใหญ่เพื่อผลิตน้ำประปา แล้วส่งจ่ายบริการให้แก่พื้นที่เป้าหมายที่แนวท่อส่ง-จ่ายน้ำผ่านเพื่อแก้ไขปัญหาที่สถานีผลิตน้ำต่าง ๆ ขาดแคลนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาในฤดูแล้งอย่างถาวร

ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน แนวคิดระบบประปาแบบบูรณาการเกิดขึ้นมานานมากกว่า 60 ปีแล้ว โดยเป็นการร่วมมือกันขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง ที่เรียกว่า BWV (Bodensee-Wasserversorgung) โดยจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อบริหารจัดการระบบผลิต ระบบท่อส่งน้ำประปาแบบบูรณาการ และเพื่อจัดสรรน้ำแก่ประชาชนทุกพื้นที่ให้บริการ

ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรัฐบาเดิน-เวิอร์ทเทมแบร์ก (Baden-Wurttemberg) กว่า 320 เมือง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการอุปโภคบริโภค มีกำลังผลิตสูงสุดประมาณ 125 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ปริมาณการใช้น้ำ ณ ปัจจุบัน ประมาณ 345,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีถังพักน้ำรวมกว่า 29 แห่งรวมความจุประมาณ 470,600 ลูกบาศก์เมตร โดยมีสถานีสูบส่งที่มีกำลังไฟฟ้าขนาด 96,000 กิโลวัตต์ แหล่งน้ำดิบต้นทุนที่ใช้ในการผลิตมาจากทะเลสาบคอนสแตนซ์ หลังจากผ่านกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงแล้วสูบส่งผ่านระบบโครงข่ายเส้นท่อที่มีความยาวรวมกว่า 1,700 กิโลเมตร เพื่อจัดส่งน้ำประปาไปยังผู้ใช้น้ำของ BWV

สำหรับประเทศไทยแนวคิดการพัฒนาระบบประปาแบบบูรณาการ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาครัฐที่รับผิดชอบในการจัดหาน้ำสะอาดให้บริการกับประชาชน ในการนำแนวคิดนี้ไปต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบในฤดูแล้ง จะมีก็เพียงแต่การศึกษาความเหมาะสมเท่านั้น

ได้แก่ โครงการลงทุนตามโครงการวางท่อส่งน้ำดิบจากเขื่อนรัชชประภาไปเกาะภูเก็ต เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบจากภัยแล้งอย่างยั่งยืน ปัจจุบันศึกษาจบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับและเสียประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ยังไม่ได้ลงทุนก่อสร้างจริง

ถ้าโครงการสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้จริง ก็เชื่อได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยและประชาชนอีกส่วนหนึ่งในภาคใต้ จะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคตลอดปีและตลอดไปซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภาคใต้ดี ขึ้นตามไปด้วย

แต่ถ้าพิจารณากันให้ดีๆแล้วพบว่าบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EAST WATER ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการบูรณาการบริหารจัดการ และจัดสรรน้ำดิบจากแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกผ่านท่อโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาวกว่า 350 กิโลเมตร ให้กับภาคอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มากว่า 20 ปีแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มแนวท่อน้ำดิบไปอีกเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ความต้องการน้ำยังไม่มีที่สิ้นสุด

บทสรุป Water Cluster เกิดหรือไม่เกิด ?

ในอนาคต ระบบประปาแบบบูรณาการจะพัฒนาเป็นรูปธรรมชัดเจน สามารถผลิตน้ำประปาเพื่อให้บริการประชาชนได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ผนวกกับการกำหนดนโยบายของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างระบบประปาดังกล่าว

เพื่อให้มีน้ำดิบต้นทุน นำมาผลิตน้ำประปาได้อย่างพอเพียงและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำดิบเนื่องจากภัยแล้งแบบถาวรและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อคนไทยทั้งประเทศ จะได้ไม่ขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคจาก "วิกฤตภัยแล้ง" อีกต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง Water Cluster

view