สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยถูกบี้ค่าผ่านประตูแลกเข้าTPP 12ประเทศรุมเจรจาขอผลประโยชน์

จากประชาชาติธุรกิจ

เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ TPP ไม่หมู ชาติสมาชิกออกกฎกีดกัน ต้องจ่าย "ค่าผ่านประตู" เจรจาให้ประโยชน์ 12 ประเทศพอใจ-ขอแก้ข้อตกลงเดิมไม่ได้ คณะกรรมการพัฒนาการค้าฯ ตั้ง "อภิรดี" รมต.พาณิชย์เป็นประธานศึกษาความพร้อม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องเกี่ยวกับการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ครั้งที่ 1/2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยพัฒนาการล่าสุดของความตกลงฉบับนี้ก็คือ มีการเผยแพร่ข้อบทความตกลง (Full Text) จำนวน 30 ข้อบทออกสู่สาธารณชนแล้ว และทั้ง 12 ประเทศสมาชิกมีกำหนดการจะลงนามในความตกลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประเทศนิวซีแลนด์

ทั้งนี้ ข้อบทความตกลง (Full Text) TPP ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากข้อบทก็คือ ผลการเจรจาของข้อตกลงการค้าฉบับนี้

สำหรับ ขั้นตอนต่อไปภายหลังการลงนามในความตกลงแล้ว ประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศจะต้องให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลง TPP มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 กรณีคือ 1) สมาชิก TPP ทุกประเทศให้สัตยาบันและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน หลังจากที่สมาชิกได้แจ้งการให้สัตยาบันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประเทศ นิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับมอบสัตยาบันสารและเป็นผู้ เก็บรักษาสนธิสัญญา (Depositary)

2) กรณีที่ประเทศสมาชิก TPP ไม่สามารถให้สัตยาบันได้ภายใน 2 ปี แต่จะต้องมีประเทศสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ และมี GDP รวมกันเกินกว่า 85% ของ GDP สมาชิกทั้งหมด ความตกลงฉบับนี้จึงจะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ครบกำหนดการลงนามในความตกลง 2 ปี และ 3) ในกรณีที่สมาชิก TPP ยังให้สัตยาบันไม่ครบ 6 ประเทศ และ GDP รวมกันไม่ถึง 85% ภายในระยะเวลา 2 ปี กับอีก 60 วัน จะต้องรอจนกว่าจะมีสมาชิก TPP อย่างน้อย 6 ประเทศ และมี GDP รวมกันเกินกว่า 85% โดยความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประเทศสมาชิกประเทศที่ 6 แจ้งการให้สัตยาบันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเป็นเวลา 60 วัน

ส่วน การสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของความตกลง TPP ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่า สมควรที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือไม่อย่างไร โดยมอบหมายให้สถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการ พัฒนาทำการศึกษา มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมกราคม 2559 นั้น เบื้องต้นพบว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะประเทศสมาชิกใหม่จะต้องทำเงื่อนไข 4 ประการด้วยกันคือ

1) จะต้องเป็นสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) หรือจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก TPP เสียก่อน 2) จะต้องยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประเทศนิวซีแลนด์ในฐานะที่ นิวซีแลนด์เป็น De-positary 3) จะต้องทำการเจรจาแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิก TPP เพื่อจ่ายสิ่งที่เรียกกันว่า

"ค่าผ่านประตู" ให้กับประเทศสมาชิก TPP ตามแต่ละประเทศจะเรียกร้องผลประโยชน์ (การค้า-การลงทุน-การเปิดตลาด) เอาจากประเทศไทย และเมื่อจ่ายผลประโยชน์จากการเจรจาต่อรองนี้แล้ว ประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศจะต้องมีฉันทามติยอมรับการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และ 4) ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ ไม่สามารถเจรจาต่อรองแก้ไขปรับแต่งข้อบททั้ง 30 ข้อบทในความตกลง TPP ที่ได้ลงนามกันไปแล้ว

"ประเด็นสำคัญไม่ได้ อยู่ที่ว่า ประเทศไทยอยากเข้าเป็นสมาชิก TPP ก็เดินเข้าไปเลย นอกจากเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก TPP ในปัจจุบัน อย่างกรณีประเทศญี่ปุ่น ที่คณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพิ่งไปขอเสียงสนับสนุนมาเมื่อเดือนที่แล้ว เราจะต้องเผชิญกับการเปิดเจรจาให้ผลประโยชน์กับประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศด้วย ซึ่งตรงนี้หากไทยเข้าร่วมก็ยังไม่รู้ว่าจะถูกเรียกร้องผลประโยชน์มากน้อยแค่ ไหน จากเหตุที่ไทยไม่เข้าร่วมเจรจา TPP มาตั้งแต่ต้น ดังนั้นที่ประชุม พกค.จึงได้มอบหมายให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าร่วม TPP ต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดในวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ของทุกภาคส่วน โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงกระบวนการสมัครเข้าร่วมข้อตกลง TPP โดยประเทศไทยจะต้องเปิดการเจรจาทวิภาคีกับสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศเป็นรายประเทศ เพื่อขอรับเสียงสนับสนุนในการเข้าร่วม ซึ่งฝ่ายไทยอาจต้องแลกเปลี่ยนด้วย

"ข้อเสนอ" ที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นค่าผ่านประตูให้กับสมาชิกแลกเปลี่ยนกับเสียงสนับสนุนให้เข้าร่วม TPP

"แม้ ว่าประเทศไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง TPP ก็คงจะเริ่มเจรจากับประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศได้ไม่ทันในสมัยรัฐบาลชุดนี้ เพราะ 1) ตามกระบวนการของไทยจะต้องรอผลสรุปการศึกษาความเป็นไปได้ของสถาบันปัญญา ภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเข้าร่วม 2) ต้องดำเนินการขอสมัครตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ 3) เปิดการเจรจาทวิภาคีเป็นรายประเทศ และเจรจาแล้วต้องกลับมาขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน ซึ่งจะใช้เวลายาวนานมาก แต่ไม่ควรเกินกว่า 2 ปีตามกรอบระยะเวลาการให้สัตยาบันของสมาชิก TPP ชุดปัจจุบัน"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทยถูกบี้ ค่าผ่านประตู แลกเข้าTPP ประเทศรุมเจรจา ขอผลประโยชน์

view