สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

น้ำมัน-เบียร์ขายดีดันเก็บภาษีพุ่ง สรรพสามิตแจงสูงกว่าปีก่อนเกือบ 30%

น้ำมัน-เบียร์ขายดีดันเก็บภาษีพุ่ง สรรพสามิตแจงสูงกว่าปีก่อนเกือบ 30%

จากประชาชาติธุรกิจ

สรรพสามิตเผยจัดเก็บภาษี พ.ย.สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 30% เหตุ ศก.เริ่มกระเตื้องคนกล้าจับจ่าย อานิสงส์หนาวคนขับรถเที่ยว เบียร์ขายดี กังวลภาษีรถใหม่แห่ซื้อรถเพิ่ม แต่ยอด 2 เดือนปีงบ"59 ยังต่ำเป้าเล็กน้อย

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นเดือนที่ 2 ของปีงบประมาณ 2559 พบว่าสามารถจัดเก็บได้ 42,089 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.95% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.15% ซึ่งการจัดเก็บภาษีเดือนนี้เริ่มปรับสูงขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้คนหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

นายสมชายกล่าวว่า ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก ดีเซลและเบนซินลดลงมาอยู่ระดับกว่า 20 บาทต่อลิตร ทำให้คนขับรถเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงขึ้นมาก และยังได้รับผลดีจากการปรับขึ้นภาษีน้ำมันก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีในน้ำมันสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 7,264 ล้านบาท คิดเป็น 141% เทียบกับประมาณการสูงกว่า 43.95 ล้านบาท คิดเป็น 0.36%

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ภาษีที่เพิ่มขึ้นสูงมากในเดือนพฤศจิกายน คือภาษีเบียร์ที่สูงกว่าประมาณการ 1,546 ล้านบาท คิดเป็น 22.17% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 1,479 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.01% ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลจากช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและเข้าสู่ช่วงหนาวทำให้การบริโภคเบียร์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีเบียร์นี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส่วนภาษีรถยนต์มีการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 1,612 ล้านบาท คิดเป็น 23.27% และปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการ 653 ล้านบาท ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากความกังวลว่าโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะประกาศใช้ 1 มกราคม 2559 ทำให้ราคารถยนต์บางรุ่นเพิ่มสูงขึ้น อีกส่วนเป็นเพราะคนเริ่มมั่นใจภาวะเศรษฐกิจทำให้ตัดสินใจซื้อรถยนต์มากกว่าปีที่ผ่านมา

นายสมชายกล่าวว่า หากดูผลการจัดเก็บภาษี 2 เดือนแรกปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2558) พบว่าจัดเก็บภาษีได้ 80,543 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 14,019 ล้านบาท คิดเป็น 21.07% แต่ยังต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย 13.73 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ภาษีที่เก็บเกินกว่าประมาณการคือภาษีเบียร์ 2,093 ล้านบาท คิดเป็น 15.51% ภาษีรถยนต์ 641 ล้านบาท คิดเป็น 4.0% ส่วนภาษีที่เก็บได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ คือ ภาษีสุรา ต่ำกว่าประมาณการและต่ำกว่าปีที่ผ่านมากว่า 800 ล้านบาท คิดเป็นกว่า 7% ส่วนภาษียาสูบต่ำกว่าประมาณการ 1,128 ล้านบาท คิดเป็น 10.23% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2,941 ล้านบาท คิดเป็น 22.91% เป็นผลจากการเก็บเงินเข้ากองทุนกีฬาทำให้ราคาของสินค้าทั้ง 2 ชนิดปรับสูงขึ้น การบริโภคจึงลดลง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก




ที่มา : นสพ.มติชน


‘อีโค สติ๊กเกอร์’ สะท้อนโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่

จาก โพสต์ทูเดย์

‘อีโค สติ๊กเกอร์’ สะท้อนโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะเข้าสู่โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ยึดเอาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) เป็นเครื่องชี้วัดในการจัดเก็บภาษีแทนการจัดเก็บตามปริมาณความจุกระบอกสูบ และในวันที่ 1 ม.ค. 2559 เช่นกันที่รถยนต์ใหม่ทุกคันจะต้องติดอีโคสติ๊กเกอร์ (ECO Sticker) เพื่อแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตัวรถอย่างเป็นทางการ

อีโคสติ๊กเกอร์จะมีส่วนเกี่ยวพันที่ทำให้เห็นค่า Co2 ของรถคันนั้นๆ พร้อมกับข้อมูลสำคัญ 4 ส่วน ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ซื้อรถ ประกอบด้วย 1.ข้อมูลผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ และเว็บไซต์ 2.ข้อมูลของรถยนต์ ได้แก่ ชื่อรุ่น แบบ โครงรถ เครื่องยนต์ เกียร์ ขนาดยางล้อ จำนวนที่นั่งน้ำหนักรถ เชื้อเพลิงที่สามารถใช้ได้ และโรงงานที่ผลิตรถยนต์

3.รายการอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน ได้แก่ อุปกรณ์ที่มีสาระสำคัญในการประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ที่มีสาระสำคัญด้านความปลอดภัย และรายการอุปกรณ์อื่นๆ และ 4.การทดสอบตามมาตรฐานอ้างอิง ได้แก่ อัตราการใช้น้ำมัน (หน่วยลิตรต่อ 100 กม.) ใน 3 รูปแบบการใช้งาน คือ สภาวะรวม สภาวะในเมือง และสภาวะนอกเมือง และแถบแสดงอัตราการใช้น้ำมันอ้างอิงในสภาวะรวม ซึ่งทดสอบโดยใช้น้ำมันตามสเปก

นอกจากนี้ อีโคสติ๊กเกอร์ยังมีคิวอาร์โค้ด สำหรับให้ผู้ซื้อรถยนต์หรือประชาชนทั่วไป ดาวน์โหลดอีโคสติ๊กเกอร์เพื่อรับข้อมูลรายละเอียดของรถยนต์คันนั้นได้อีกด้วย

แน่นอนว่าการแสดงค่าการปล่อย Co2 บนอีโคสติ๊กเกอร์จะช่วยให้ผู้ซื้อรถรู้ว่ารถคันนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันก็จะรู้ด้วยว่ารถคันนั้นจะเสียภาษีเท่าไหร่ โดยเอาไปเทียบกับพิกัดภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่กำลังจัดอยู่ในขณะนี้ ค่ายรถหลายค่ายก็เริ่มเอาอีโคสติ๊กเกอร์มาติดให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค

ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า การใช้อีโคสติ๊กเกอร์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเปรียบเทียบตัวผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากภายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้นำมาติดตั้งที่ตัวรถ เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบและความจริงใจที่มีต่อสังคมในการเปิดเผยข้อมูลที่ตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินในเบื้องต้นจากการปล่อย Co2 ว่า รถคันนั้นๆ จะปรับราคาขึ้นเท่าไรตามโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ซึ่งจากการสำรวจของ “โพสต์ทูเดย์” พบว่าจากการประเมินจาก Co2 บนอีโคสติ๊กเกอร์ รถยนต์ส่วนใหญ่จะต้องปรับราคาขึ้นตามภาษีใหม่ที่แตกต่างกันออกไปตามค่า Co2  โดยเฉพาะรถยอดนิยมของผู้ขับขี่มีการปรับภาษีเพิ่มจากภาษีที่เสียอยู่เดิมตั้งแต่ 3% ไปจนถึง 10%  แต่บางรุ่นก็คงอัตราภาษีเท่าเดิม มีเพียงบางรุ่นที่เก็บภาษีรถลง

ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้า วีออส หากคำนวณจาก Co2 บนอีโคสติ๊กเกอร์เทียบกับโครงสร้างภาษีใหม่ จะต้องเสียภาษีเพิ่มจาก 25% เป็น 35% โตโยต้า คัมรี ไฮบริด จากเดิมเสีย 10% เป็น 20% ฮอนด้า แจ๊ซ ฮอนด้าซิตี้ เดิมเสีย 22% เป็น 25% ฮอนด้า ซีวิค และฮอนด้า เอชอาร์-วี จาก 22% เป็น 30% มาสด้า ซีเอ็กซ์ 3 รุ่นล่าสุด เพิ่มจาก 22% เป็น 25% เป็นต้น

แม้ว่าค่ายรถจะยังไม่ได้ประกาศราคาที่ชัดเจนของรถแต่ละรุ่น แต่ก็มีบ้างที่ออกมาประกาศราคาใหม่ โดยภาพรวม เช่น ฟอร์ด เอเวอร์เรสต์ ปรับขึ้นอีก 10%  นิสสันปรับขึ้น 2-10% มิตซูบิชิมิราจ แม้จะได้สิทธิประโยชน์จากภาษีที่ลดลง 3% แต่ได้มีการเพิ่มอุปกรณ์ ซึ่งเมื่อมาหักลบกับภาษีที่ลดลงทำให้ปรับราคาขึ้น 1.5 หมื่นบาท เป็นต้น

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ถือเป็นทิศทางที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม แต่การที่รถยนต์โดยส่วนใหญ่จะมีราคาแพงขึ้นนั้นมาจากการที่กรมสรรพสามิตขีดเส้นแบ่งมาตรฐานการปล่อย Co2 ไว้แค่ 3 เส้นเท่านั้น คือ 100 กรัม/กม. 150 กรัม/กม. และ 200 กรัม/กม. ซึ่งมีช่องว่างห่างกันเกินไป

ดังนั้น จึงมีรถหลายรุ่นที่ไม่สามารถเข้ารับภาษีในเกณฑ์ที่ต่ำลงได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการลดค่า Co2 แต่กรัมนั้นมีขั้นตอนละเอียดซับซ้อน ซึ่งมีหลายรุ่นที่ห่างเกณฑ์แต่ละเส้นมากเกินไปทำให้ต้องขึ้นราคา

“มองว่าหากมีความละเอียดของเส้นแบ่งมาตรฐานการปล่อยค่า Co2 ให้มีความถี่ขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุก 10 กรัม/กม. หรือทุก 20 กรัม/กม. น่าจะจูงใจให้หลายรุ่นพยายามลดการปล่อย Co2 เพื่อให้เข้าเกณฑ์ภาษี” พิทักษ์ กล่าว

วัฏจักรดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้รถยนต์ที่ได้รับกระทบจากการปรับขึ้นภาษี Co2 จะมียอดขายลดลงและจะไปเติบโตในรุ่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา ซึ่งหากเส้นแบ่งมาตรฐานมีความถี่ขึ้น จะทำให้สามารถเฉลี่ยการขายได้

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์นั้น เป็นการชี้นำเทคโนโลยีซึ่งประเทศไทยไม่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งถ้าหากยังไม่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ไม่ทันต่อเทคโนโลยี จึงหวังว่าในอนาคตจะมีการพิจารณาให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันนี้ยังมีชื่อของเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดในการคำนวณภาษีอยู่

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : น้ำมัน เบียร์ ขายดี ดันเก็บภาษีพุ่ง สรรพสามิต แจงสูงกว่าปีก่อน

view