สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๙! ...จะเอานภามาแทนกระดาษ ประกาศพระคุณไม่พอ!!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: โรม บุนนาค

แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๙
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ ว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในการครองราชย์ที่ยาวนานถึง ๗๐ ปี ๑๒๖ วัน จนทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกนั้น ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อประโยชน์สุขจองอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ประกอบด้วย

ทาน คือการเป็น “ผู้ให้” มาตลอด ทรงให้ปัญญาความรู้ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกย่างก้าวพระบาทไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใด ทรงบำเพ็ญทานบารมีทั้งธรรมทาน อามิสทาน รวมทั้งอภัยทาน คือการให้อภัยผู้ที่ควรได้รับอภัย อย่างสม่ำเสมอ 

ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ ทรงเป็นแบบอย่างและสนับสนุนศาสนิกชนไม่ว่าศาสนาใด ให้ยึดมั่นในศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ เพราะกฎหมายควบคุมได้แต่กาย แต่หลักศีลธรรมทางศาสนาช่วยควบคุมจิตใจ

บริจาค คือการเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม พระราชกรณียกิจต่างๆที่ทรงตรากตรำพระวรกาย จนเป็นพระมหากษัตริย์ที่พสกนิการได้มีโอกาสเห็นหยดพระสาโท ย่อมยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

อาชชวะ คือความซื่อตรง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติด้วยความซื่อตรง ทั้งซื่อตรงต่อพระองค์เอง ซื่อตรงต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อประเทศชาติ และซื่อตรงต่อประชาชนมาโดยตลอด

มัททวะ คือความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน ทั้งทางพระวรกาย ทางพระวาจา และทางพระราชหฤทัย ภาพประทับใจเหล่านี้ปรากฏอยู่ตลอดมาเมื่อทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎร

ตบะ คือความเพียร ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการช่วยราษฎรพ้นทุกข์ ความเพียรต่อการทุ่มเทพระราชหฤทัยในด้านนี้ ทำให้ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริออกมามากมาย 

อักโกธะ คือความไม่โกรธ ไม่เคยทรงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ทรงมีแต่พระเมตตา ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้มีเหตุก็ทรงเตือนด้วยเหตุผลและพระราชกุศโลบายที่แยบคาย

อวิสิงหา คือความไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องแสดงออก ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในพระราชอัธยาศัย จะเห็นได้จากทรงส่งเสริมคุณธรรมที่ให้สามัคคีรักใคร่ปรองดองกันเพื่อความผาสุกของสังคม

ขันติ คือความอดทน การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ย่อมมีปัญหานานัปการ แต่ทรงมีพระขันติธรรมอย่างสูงยิ่ง จึงทรงเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายนั้นได้ สร้างความผาสุกให้ราษฎรได้ทั่วแผ่นดิน

อวิโรธนะ คือการวางตนหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหรือหวั่นไหว ทรงสถิตมั่นในธรรมคือแบบแผนและหลักการ โดยไม่มีข้อบกพร่องให้เสื่อมเสียพระเกียรติ นับเป็นบุญมหาศาลของประชาชนชาวไทย ที่เกิดมาอยู่ใต้ร่มพระบารมีของกษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงไม่ประพฤติผิดในธรรม

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ครองราชย์สมบัติ ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยเพื่อความผาสุกของมหาชนชาวสยามอย่างไม่ทรงย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความผาสุกของคนไทยทั้งชาติมาอย่างยาว สม่ำเสมอ และด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อประชาชนทุกระดับชั้นมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดประโยชน์สุขเฉพาะชาวไทย แต่หลายประเทศในโลกที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม ก็นำไปเป็นแม่แบบแก้ปัญหาในประเทศของตนด้วย

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ ไม่ใช่ทรงวาดฝันขึ้นในพระราชวัง แล้วส่งให้หน่วยงานต่างๆไปดำเนินการ แต่ก่อนจะวางโครงการ ทรงบากบั่นตรากตรำเข้าไปศึกษาปัญหาด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุรกันดาร ต้องบุกน้ำลุยโคลน หรือพื้นที่เสี่ยงต่อความปลอดปลอดภัย ก็ทรงเชื่อมั่นในความจริงใจของพระองค์ เมื่อททรงทราบว่าที่ใดมีปัญหา ไม่ว่าในเมืองหลวงหรือชนบทไกล จะเสด็จฯไปที่นั่นเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที จนเป็นที่กล่าวกันว่า “ในประเทศนี้ อะไรๆก็ต้องในหลวง” อย่างเช่น

มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระบรมราชินี ได้เสด็จไปที่ห้วยมงคล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกิดโครงการพระราชดำริโครงการแรกขึ้นที่นั่น

เรื่องเปิดเผยเมื่อมีรถจิ๊ปคันหนึ่งมาตกหล่มหน้าบ้านลุงรวย งามขำ ที่ห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารยังไม่มีถนนไปถึง มีทหารตำรวจราว ๑๐ นายกำลังช่วยกันเข็น ลุงรวยผู้รวยน้ำใจจึงเข้าช่วยอีกแรง เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้วลุงรวยจึงรู้ว่าเป็นรถพระที่นั่ง และผู้ที่อยู่ในรถก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนั่นเอง

พระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งถามถึงความเป็นอยู่และปัญหาของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งลุงรวยได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ก็คือถนน เพราะอยู่ห่างตลาดหัวหินไม่เท่าไหร่ แต่ต้องเดินแบกผลผลิตทางการเกษตร หรือใส่ท้ายรถจักรยานไป ใช้เวลาเดินทางไปกลับทั้งวัน

ก่อนกลับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินให้ลุงรวย ๓๖ บาท เป็น “เงินก้นถุง” ซึ่งลุงรวยได้นำไปบูชาไว้เป็นมงคล

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งนำรถไถบุกเบิกเป็นถนนเข้ามาและใช้เวลาตกแต่งไม่ถึงเดือนก็เสร็จ ทำให้สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปถึงตลาดหัวหินได้ภายในเวลาเพียง ๒๐ นาที ไม่ต้องเดินแบกหรือใช้จักรยานอย่างแต่ก่อน

ถนนห้วยมงคล นับเป็นถนนพระราชทานเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของราษฎรสายแรก ก่อนที่จะมีโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการตามมา

อีกเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนอยู่ที่หมู่บ้านเสรีย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี ๒๕๒๖ ที่น้ำท่วมหนัก การจราจรย่านนั้นต้องใช้เรือเท่านั้น และเป็นเช่นนี้มาก่อนหน้านั้นทุกปีที่มีฝนตกหนัก จนย่านนี้เป็นที่เลื่องลือในเรื่องน้ำท่วม เป็นฝันร้ายที่หลายรายต้องย้ายบ้านหนี แต่น้ำที่ท่วมบริเวณนั้น แม้จะท่วมอยู่นานถึง ๔-๕ เดือนก็ไม่เน่า กลับไหลแรงอยู่ตลอดเวลา เป็นเช่นนี้ซ้ำซากอยู่หลายปี แล้วก็ต้องในหลวงอีกเหมือนกัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินออกตรวจพื้นที่ถึง ๖ ครั้ง บางครั้งก็ทรงลุยน้ำเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร จากการศึกษาพื้นที่ ทรงทราบว่าย่านนี้เป็นเหมือนแอ่งกระทะ จะสูบน้ำที่ท่วมให้แห้งได้ ก็ต้องสูบน้ำทั้งทุ่งรังสิตให้แห้งก่อน มิฉะนั้นน้ำนั้นก็จะไหลลงมาในแอ่งนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมทางหลวงและการรถไฟ สร้างคันดินเลียบถนนนิมิตใหม่ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว เป็นระยะทาง ๗๒ กิโลเมตร เพื่อกันน้ำจากทุ่งทางเหนือขึ้นไปไม่ให้ไหลลงมาในแอ่งกระทะ พร้อมทั้งขุดลอกคลองในย่านนั้น ระบายน้ำที่ไหลมาจากทุ่งรังสิตให้ไปลงทะเล เมื่อฝนตกลงมาในแอ่งกระทะ ไม่ว่าจะหนักแค่ไหน กำลังเครื่องสูบน้ำของ กทม.ก็สามารถสูบให้แห้งได้อย่างรวดเร็ว 

จากปีนั้นเป็นต้นมา ปัญหาน้ำท่วมเขตตะวันออกของกรุงเทพฯก็หมดไป ตามคำกล่าวที่ว่า “พระบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข”

การเสด็จฯไปหาข้อมูลเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปถึงต้นตอของปัญหา แม้จะเป็นสถานที่เปลี่ยวและในเวลามืดค่ำก็ไม่ทรงหวั่นเกรงภัยใดๆ พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้ง เป็นผู้ให้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาของคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย อย่างกรณีของ “พระสหายแห่งสายบุรี” จะเห็นการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯได้เป็นอย่างดี

ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้เสด็จฯไปทรงงานในโครงการพัฒนาพรุแฆแฆ ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดนราธิวาส มีพระราชดำริให้ศึกษาหาวิธีระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ในวันนั้นได้กำหนดจุดในการเสด็จพระราชดำเนินไว้ ๔ จุด

ณ จุดหมายที่ ๑ บ้านเจาะใบ ตำบลแป้น ได้ทอดพระเนตรพรุแฆแฆด้านตะวันตกและมีพระราชดำรัสกับชาวบ้านเป็นเวลานาน ทรงทราบข้อมูลใหม่ว่า ใกล้ๆกับพรุนี้มีคลองน้ำจืดอยู่ หากกักเก็บน้ำในคลองนี้ไว้ได้ ก็จะเป็นอ่างเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี ทรงตัดสินพระทัยที่จะเปลี่ยนหมายกำหนดการไปทอดพระเนตรคลองนั้นทันที เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯทุกฝ่ายต่างกราบบังคมทูลว่า เสด็จฯไปไม่ได้ เพราะทางทุรกันดาร รถยนต์เข้าไปไม่ถึง ทั้งยังเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว แต่ไม่ว่าใครจะกราบบังคมทูลอย่างไร พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสว่า “ไปได้”

ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนไปตามเส้นทางที่ฝุ่นตลบ จนคันหลังเกือบมองไม่เห็นคันหน้า และเมื่อเส้นทางรถสิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินต่อด้วยพระบาทไปตามทางเท้าแคบๆที่สองข้างรกชัฏ จนกระทั่งถึงชายคลองน้ำจืดเมื่อแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ลับฟ้าพอดี ทรงใช้ไฟฉายส่องดูแผนที่และพระราชทานพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่อีกเป็นเวลานาน ท่ามกลางความมืดและความเครียดของฝ่ายถวายความปลอดภัย

อีกครู่ใหญ่จึงมีเสียงฝีเท้าเหยียบใบไม้กรอบแกรบอยู่รอบด้าน เริ่มมีเงาตะคุ่มของผู้คนปรากฏเป็นวงรอบด้านเข้ามา เมื่อชาวบ้านแห่งทุ่งเค็จซึ่งเป็นชาวมุสลิมทราบว่าผู้มาเยือนในยามวิกาลก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมาเฝ้ารับเสด็จฯ ในจำนวนนี้มีชายวัย ๗๐ ชื่อ วาเด็ง ปูเต๊ะ นุ่งโสร่งตัวเดียวไม่ใส่เสื้อรวมอยู่ด้วย ลุงวาเด็งดีใจมากเมื่อรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาแก้ปัญหาน้ำให้ จึงเข้ามาเฝ้าทั้งชุดนั้น และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสถามถึงภูมิประเทศ ลุงวาเด็งก็กราบทูลด้วยความคล่องแคล่วอย่างผู้ชำนาญพื้นที่ 

ราษฎรทั่วทุกหัวระแหงบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด จึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเป็นร่มเกล้า ให้ความผาสุกร่มเย็นแก่แผ่นดิน

โครงการพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการนี้ ครอบคลุมไปถึง การจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ การเกษตร การประมง พลังงานทดแทน เศรษฐกิจพอเพียง การจราจรในกรุงเทพฯ และยังทรงแก้ปัญหาวิกฤติของชาติในทางการเมือง 

หากจะให้นำพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงตรากตรำทำงานเพื่อชาติและประชาชนในตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีนี้ จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า “เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก” มาบรรยาย ก็ไม่มีใครสามารถจะทำได้ คงต้องอาศัยเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ ชาลี อินทรวิจิตร มาเปรียบให้เห็นภาพ คือ

“จะเอาโลกมาทำปากกา จะเอานภามาแทนกระดาษ เอาน้ำในมหาสมุทรเป็นหมึกวาด ประกาศพระคุณไม่พอ”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะจารึกอยู่ในหัวใจและประวัติศาสตร์ชาติไทยไปชั่วนิรันดร


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แนวพระราชดำริรัชกาลที่ ๙! ...จะเอานภามาแทนกระดาษ ประกาศพระคุณไม่พอ!!

view