สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไม่ต้องงงแล้ว! รวมมาตรการเยียวยาด้านการเงินและรายได้จากรัฐบาล ฝ่าวิกฤต โควิด-19

จาก moneyguru.co.th

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 กระทรวงการคลัง ได้แถลงมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ เฟส 2 โดยเป็นมติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินแก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิ-19 ทำให้บางส่วนต้องขาดรายได้ ว่างงาน ดังนั้นมาตรการเเยียวยาภาครัฐเหล่านี้จึงหวังจะบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของประชาชนได้ โดยแอดมินได้รวมมาตรการเยียวยาด้านการเงินและรายได้จากรัฐบาล ฝ่าวิกฤต โควิด-19 มาไว้ที่นี่แล้ว 

ไม่ต้องงงแล้ว! รวมมาตรการเยียวยาด้านการเงินและรายได้จากรัฐบาล ฝ่าวิกฤต โควิด-19

มาตรการเยียวยาจากรัฐบาล โควิด-19

มาตรการเยียวยาลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 

มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงาน และลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดประกอบกิจการของสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่รวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ไม่รวมข้าราชการและข้าราชการบำนาญ และไม่รวมเกษตรกร

ทางรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายนถึงมิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติ และการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน โอนเข้าบัญชีธนาคาร กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนวิธีการขอรับความช่วยเหลือจะเป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด

สำหรับแรงงานที่อยู่ในข้อกำหนดสามารถลงทะเบียนผ่าน http://www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยธนาคารกรุงไทยเป็นตัวกลางในการจ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียนผ่านบัญชีธนาคาร หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

อ่านเพิ่มเติม : วิธีรับเงิน 5,000 บาท แบบออนไลน์ กรณี ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

มาตรการเยียวยาด้านประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนมาตรา 39 หากท่านมีอาการเจ็บป่วยท่านสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่ท่านเลือก โดยท่านจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉินให้เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดสำนักงานฯ จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบการติดเชื้อโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับเงินค่าทดแทนการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (วันละ 80 บาท)

ผู้ประกันตนมาตรา 40 หากท่านมีอาการเจ็บป่วยขอให้ท่านเข้ารักษาโดยใช้สิทธิ์ สปสช.และหากพบว่าท่านป่วยต้องหยุดพัก ท่านจะได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้สูงสุดวันละ 300 บาท และได้รับไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้ ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 นั้น มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทนการขาดรายได้ หากท่านเจ็บป่วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้

ในกรณีมีข้อสงสัยขอให้สอบถามที่ศูนย์ฮอตไลน์เพื่อประสานการใช้สิทธิ์ระหว่างผู้ประกันตนและสถานพยาบาล โทร. 02-956-2513 -4 ในวันเวลาราชการ และเบอร์สายด่วน 1506 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง 

มาตรการเยียวยาด้านภาษี 

กรมสรรพากรได้ขยายเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด 90 และ ภงด 91) จากเดิมที่ขยายถึง 30 มิถุนายน 2563 เป็น 31 สิงหาคม 2563

ให้สิทธิ์หักภาษีลดหย่อนสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากเดิมจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท  เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อนำมารวมหัก ลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ 

(1) ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากโควิด-19 

(2) ค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563

มาตรการเยียวยาด้านสินเชื่อ

สำหรับมาตรการเยียวยาด้านสินเชื่อของรัฐบาลนั้นมีเพิ่มเติมจากที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ออกมาตรการช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลจะให้การช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ดังนี้

สินเชื่อฉุกเฉิน

มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นผู้สนับสนุนวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท 

สินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม

โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม มีขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำ) คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

อ่านเพิ่มเติม : มัดรวมมาให้แล้ว อัพเดทมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จาก Covid-19 ทุกธนาคาร

มาตรการเสริมความรู้

มาตรการเสริมความรู้ พิจารณาดำเนินการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)

มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ

  1. ให้สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลในวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท
  2. ขยายระยะเวลาในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป เช่น ภ.ง.ด. จากเดิมภายในเดือน พ.ค. ไปเป็นภายใน 31 ส.ค. 2563 และ ภ.ง.ด. 51 จากเดิมในเดือน ส.ค. ขยายออกไปภายใน 30 ก.ย. 2563
  3. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
  4. เลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภทเป็นระยะเวลา 1 เดือน
  5. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ใช้รักษาโรคและป้องกันโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึงช่วงก.ย. 2563
  6. เลื่อนการยื่นแบบภาษีและชำระภาษีสถานบริการออกไปอีก 3 เดือน ตังแต่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2563 โดยให้เสียภาษี 15 ก.ค. 2563 แทน
  7. ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

อ่านเพิ่มเติม : 7 มาตรการดูแลและเยียวยา ผู้ประกอบจากการผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ที่มา : The Standard, ประชาชาติธุรกิจ 


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #ไม่ต้องงง #มาตรการเยียวยาด้านการเงินและรายได้ #รัฐบาล #ฝ่าวิกฤต #โควิด-19

view