สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้นำขั้นวิกฤติ

จากกรุงเทพธุรกิจ

หัวใจสำคัญในการผ่านวิกฤติคือ “ผู้นำ” ว่าจะพารอดหรือพาร่วง จะพาเราผ่านวิกฤติหรือผู้นำจะกลายเป็นวิกฤติไปซะเอง

ช่วงนี้ยิ่งกว่าวิกฤติโรคระบาด ก็วิกฤติทางโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผู้นำนี่แหละค่ะ

แน่นอนที่สุดว่าหัวใจสำคัญในการผ่านวิกฤติคือ “ผู้นำ” ว่าจะพารอดหรือพาร่วง จะพาเราผ่านวิกฤติหรือผู้นำจะกลายเป็นวิกฤติไปซะเอง

ยิ่งเวลาผ่านไป “วัฒนธรรม” การวิพากวิจารณ์ “ผู้นำ” ประเทศเราถึงความไม่มีประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้นทุกวัน

เมื่อพูดถึง “ผู้นำ” กับ “วัฒนธรรม” อะไรเกิดก่อนกัน?

ผู้นำเป็นคนสร้างวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมเป็นตัวสร้างคุณลักษณะของผู้นำกันแน่

เพราะมีผู้นำไม่มีประสิทธิภาพเลยทำให้เกิดวัฒนธรรมชอบวิพากวิจารณ์ หรือ เพราะเรามีวัฒนธรรมชอบวิพากวิจารณ์ เลยทำให้ผู้นำดูไม่มีประสิทธิภาพ

ย่อภาพลงมาจากระดับชาติมาสู่ระดับองค์กร ผู้นำประเทศก็เหมือนผู้นำองค์กร ส่วนวัฒนธรรมประเทศก็เหมือนวัฒนธรรมองค์กร ผลการศึกษาจาก The Leader’s Guide to Corporate Culture ซึ่งตีพิมพ์ใน Harvard Business Review แบ่งวัฒนธรรมองค์กรกับผู้นำออกเป็น 8 ประเภทด้วยกัน โดยดูจากองค์ประกอบ 2 มิติคือ

มิติแรกคือ คนตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เน้นความยืดหยุ่น (Flexibility) หรือเน้นความมีเสถียรภาพมั่นคง (Stability)

มิติที่สองคือ คนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำงานเป็นอิสระจากกัน (Independence) หรือต้องพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

วัฒนธรรมและการนำทั้ง 8 แบบ ไม่มีแบบไหนดีกว่าแบบไหน ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนมันเวิร์คกว่ากันในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

แน่นอนภาวะวิกฤติเช่นนี้ ผู้นำองค์กรทั้งหลายก็เผชิญความท้าทายไม่แพ้ผู้นำประเทศ ดิฉันเป็นผู้บริหารบริษัทมาหลายสิบปี เจอความท้าทายทั้งภายในภายนอกมานับครั้งไม่ถ้วน เพิ่งผ่านศึกดิสรัปชั่นมาสดๆ ร้อนๆ ยังไม่ทันไรมาเจอวิกฤติโรคระบาดนี้อีก ของก็ต้องขาย ตัวเลขก็ต้องทำ แต่ตลาดไม่มีอารมณ์ บริหารตัวเลขก็ยากแล้ว ณ จุดนี้ต้องบริหารความคาดหวังของผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียทางธุรกิจและสังคมภายใต้อนาคตที่เราเองก็คาดเดาไม่ได้

วันนี้สิ่งที่ผู้นำทำได้ดีที่สุดคือ 1) สร้างองค์กรที่ยืดหยุ่น (Flexibility) ทำองค์กรให้ลีน เบาแต่แข็งแรง วิ่งผ่านช่วงที่บรรยากาศมันล้าไปได้ไกลและนานที่สุด พนักงานปรับตัวเร็วไม่ยึดติด 2) ยิ่งวิกฤติทีมงานยิ่งต้องช่วยกันประสานความร่วมมือทั่วทั้งองค์กร ไม่มีแผนกฉันแผนกเธอ (Interdependence)

จากการศึกษาของ The Leader’s Guide to Corporate Culture พบว่าในภาวะที่คนต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงแบบยืดหยุ่น (Flexibility) และต้องประสานร่วมมือกัน (Interdependence) ผู้นำควรสร้างวัฒนธรรม 2 แบบคือ

1. วัฒนธรรมแบบเน้นความใส่ใจ (Caring) เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจ ประสานร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คนมีความจงรักภักดีต่อองค์กรต่อผู้นำ ผู้นำนำองค์กรด้วยความจริงใจ เน้นการสร้างทีมที่เข้มแข็ง

2. วัฒนธรรมแบบเน้นอุดมการณ์ (Purpose) เน้นให้คนพยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อเป้าหมายระยะยาวและอนาคตของสังคมของโลกที่เราอาศัยอยู่ สร้างความยั่งยืน ผู้นำนำองค์กรด้วยอุดมการณ์ เน้นการทำดีและแบ่งปันเพื่อสังคม

วันนี้เราต่างมีเป้าหมายเดียวกันในการก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ แต่คำถามคือ เราอยากจะผ่านมันไปด้วยพลังบวกหรือพลังลบ? วัฒนธรรมเป็นตัวบอกบรรยากาศ ถึงเป้าหมายเหมือนกัน แต่จะไปถึงด้วยบรรยากาศแบบไหน

หากผู้นำและวัฒนธรรมช่วยส่งเสริมกัน ผู้นำปรับวิธีการนำให้เหมาะกับสถานการณ์ สร้างให้เกิดเป้าหมายร่วมกัน นำการเปลี่ยนแปลงด้วยอุดมการณ์ สร้างทีมที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีมเดียวกัน ก็จะส่งเสริมบรรยากาศการมีวัฒนธรรมแบบศรัทธา ไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความร่วมมือ ซึ่งมันน่าจะช่วยให้เราผ่านช่วงความยากลำบากนี้ไปด้วยพลังบวกๆ

เราจะผ่านมันไปด้วยกันค่ะ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #ผู้นำขั้นวิกฤติ  #สำนักงานสอบบัญชี  #สำนักงานบัญชี  #ที่ปรึกษา  #สอบบัญชี  #ทำบัญชี  #วางระบบบัญชี  #วางแผนภาษี  #108acc

view