สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Super Cow ไอเดียธุรกิจ ผลิตยกกำลัง 2

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แกนหลักของแผน ธุรกิจ อยู่ที่การคิดขยายพันธุ์ซูเปอร์ คาว โดยนำน้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์มาผสมเทียมแล้วฝากเลี้ยงในวัวพันธุ์พื้นเมือง ทั่วไป

     นมวัว อาหารที่ให้สารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย

     มูลค่าตลาดนมพร้อมดื่ม นับเฉพาะกลุ่มยูเอชที มีมูลค่าตลาดสูงถึงหมื่นล้านบาท และเป็นตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากคู่แข่งรายใหญ่ อย่าง โฟร์โมสต์ ดัชมิลล์ ซีพี-เมจิ หนองโพ และไทย-เดนมาร์ก ส่งผลให้ตลาดนี้มีอัตราการเติบโตเป็นสองหลักอย่างต่อเนื่องทุกปี

     โดยตัวเลขที่ ซีพี-เมจิ ออกมาเปิดเผยเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยดื่มนม 13 ลิตรต่อคนต่อปี ต่างจากสิงคโปร์ที่ดื่ม 50 ลิตรต่อคนต่อปี หรือ มาเลเซีย อยู่ที่ 20 ลิตรต่อคนต่อปี

     แม้คนไทยจะดื่มนมน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่การผลิตน้ำนมวัวของเกษตรกรไทย ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

     ในปี 2552 ที่ผ่านมา นมวัว ขาดตลาด 4 แสนตัน

      เมื่อความต้องการดื่ม (Demand) สวนทางกับการผลิต (Supply) บวกกับนมผงนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูก จากกรณีการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้นมผงจากประเทศ ทนแทนน้ำนมวัวในประเทศ

      "นมพร้อมดื่มรสชาติต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้นมผงในการผลิต เพราะน้ำนมวัว ที่ผลิตในประเทศนั้นไม่เพียงพอ"

       ปัญหาวัวผลิตน้ำนมได้น้อย เกิดขึ้นจากอากาศร้อน ทำให้วัวเครียด และให้น้ำนมน้อยในที่สุด รศ.ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงใช้ระยะเวลา 18 ปี ในการพัฒนาวัวนมสายพันธุ์ที่สามารถให้น้ำนมเยอะและทนร้อนขึ้นสำเร็จ ภายใต้ชื่อ "โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น" (KKU101)

       นุชวี กิตติตระกูล นักศึกษาปริญญาโท โครงการบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้นำโปรเจคดังกล่าวมาต่อยอดเป็นแผนธุรกิจ ภายใต้ชื่อทีม Mega Milk Dairies  จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โครงการประกวดแผนธุรกิจ ธรรมศาสตร์ เอเชีย มูท คอร์ป 2010 (Thammasat Asia Moot Corp 2010)

       เธอ บอกว่า จุดเริ่มต้นของแผนธุรกิจ เกิดจากเป็นวิชาหนึ่งในชั้นเรียน เพื่อนๆ ในทีมได้ลงความเห็นที่จะนำ "โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น" มาพัฒนาต่อยอดเป็นแผนธุรกิจ เพราะมีความเป็นไปได้จริง ในการต่อยอดเป็นธุรกิจ และขนานนามวัวนมพันธุ์ใหม่นี้ว่า "ซูเปอร์คาว" (Super Cow) 

      ซูเปอร์คาว ถูกพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้เป็นโคนมที่เหมาะกับการเลี้ยงในพื้นที่ภาคอีสาน มีลักษณะเด่น คือ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อน ชื้น และสภาพการเลี้ยงแบบไทย  ซึ่งมีคุณภาพอาหารค่อนข้างต่ำกว่าในต่างประเทศ แต่ยังให้ผลผลิตน้ำนมสูง

      จุดเด่นของซูเปอร์คาว คือสามารถผลิตน้ำนมได้มากกว่าวัวทั่วไปถึง 2 เท่า หรือประมาณ 18 ลิตรต่อวัน จากโคนมทั่วไปประมาณ 9-10 ลิตรต่อวัน

      แกนหลักของแผนธุรกิจ อยู่ที่การคิดขยายพันธุ์ซูเปอร์ คาว โดยนำน้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์มาผสมเทียบแล้วฟากเลี้ยงในวัวพันธุ์พื้นเมือง ทั่วไป และเน้นการผลิตน้ำนมสำหรับป้อนโรงงานเป็นหลัก

      "เราพัฒนาแผนธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากจำนวนวัวพ่อแม่พันธุ์ของอาจารย์วิโรจน์ โดยคิดจากจำนวนวัว 200 ตัว ซึ่งปกติจะใช้เวลา 2 ปี ซูเปอร์คาวจะสามารถให้นมได้เป็นครั้งแรก จึงมองเห็นว่าหากจะใช้พ่อแม่พันธุ์ ซูเปอร์คาว ในการขยายพันธุ์รุ่นต่อๆ ไปจะใช้เวลานาน ทางทีมจึงคิดใช้วิธีผสมเทียม และฝากท้องกับวัวพื้นเมือง ทำให้ได้วัวซูเปอร์คาวเร็วขึ้น ซึ่งหากใช้แม่วัวฝากเลี้ยง 600 ตัว จะทำให้มีวัวซูเปอร์คาว ประมาณ 3 พันตัวในปีที่ 5 ซึ่งสามารถผลิตน้ำนมได้มากถึง 30 ตันต่อวัน"

       เธอ บอกว่า จุดเด่นของแผนธุรกิจ อยู่ที่วัตถุดิบหรือซูเปอร์คาวนั้นเอง เพราะมีต้นทุนการเลี้ยงเท่ากับวัวนมทั่วๆ ไป ซึ่งต้นทุนหลักอยู่ที่ค่าอาหาร คิดเป็น 70% ของต้นทุนการเลี้ยงวัวทั้งหมด  โดยอาหารแบ่งออกเป็น อาหารหยาบ เช่น หญ้า และอาหารข้น เป็นการผสมระหว่างโปรตีน ถั่วเหลือง และข้าวโพด

      แต่ ซูเปอร์คาว ให้ผลผลิตมากกว่าวัวนมทั่วไปเป็นเท่าตัว ทำให้ได้กำไรเยอะกว่า

      อีกทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องคู่แข่ง เพราะผลิตมาเท่าไหร่ก็ไม่พอ โดยปัจจุบันผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ ประมาณ 70-80% เป็นเกษตรกรรายย่อย มีวัวประมาณ 5-10 ตัว ส่วนที่เป็นรายใหญ่ มีน้อยราย เช่น ฟาร์มโชคชัย หรือน้ำฝนฟาร์ม ในจังหวัดนครราชสีมา

      นุชวี บอกอีกว่า ตอนนี้ทีม Mega Milk Dairies กำลังเตรียมตัว เพื่อแข่งขัน  โกลบอล มูท คอร์ป (Global Moot Corp) ในระดับโลก ที่มหาวิทยาลัยเทกซัส เมืองออสติน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการเพิ่มเติมรายละเอียดของแผนธุรกิจเพิ่มเติม เช่น จำนวนวัว จำนวนคนงาน เพื่อให้เห็นภาพของการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น 

      ทางด้าน รศ.เกศินี วิฑูรชาติ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  บอกว่า มหาวิทยาลัยสนับสนุนให้นักศึกษาร่วมแข่งขันประกวดแผนธุรกิจ เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้ฝึกทำงานจริง และสามารถเชื่อมโยงแนวคิดทางธุรกิจ ให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน  

      ต่อยอดแผนงานวิจัย ความพยายามของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ ที่หวังจะแปรบทบาท "วิจัยบนหิ้ง" ให้โลดแล่นได้จริงในโลกธุรกิจ

view