สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อวสาน มือถือ คิน บทเรียนธุรกิจ ไมโครซอฟท์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Click World




แทบจะไม่ ใช่เรื่องประหลาดใจเลย เมื่อยักษ์ใหญ่ซอฟต์แวร์ "ไมโครซอฟท์" ประกาศยุติการจำหน่ายมือถือกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ก "คิน (Kin)" หลังจากเปิดตัวได้ไม่ถึง 2 เดือน นับเป็นสัญญาณเตือนว่า ไมโครซอฟท์กำลังเผชิญศึกในสังเวียนธุรกิจมือถือหนักมากกว่าเดิม

เด อะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานแถลงการณ์ของไมโครซอฟท์ว่า บริษัทได้ตัดสินใจจะโฟกัสการเปิดตัว "วินโดวส์โฟน 7" และหยุดการจัดส่งคิน เข้าสู่ตลาดยุโรปช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ตามแผนที่เคยวางไว้ แต่กระนั้นบริษัท ยังคงทำงานใกล้ชิดกับตัวแทนจำหน่าย "เวอไรซอนไวร์เลส" เพื่อจำหน่ายคินที่ค้างเหลืออยู่ในสหรัฐ ขณะที่ทีมงานผู้ดูแลโปรเจ็กต์คินจะนำมารวมกับทีมงานผู้ดูแลวินโดวส์ 7 ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดต่อไป

ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า บริษัทวางแผนจะรวมไอเดียที่มีคุณค่าผสมผสานกับเทคโนโลยีของ "คิน" เพื่อพัฒนาเป็นวินโดวส์โฟนในอนาคตโดยปัจจุบันมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ หลายแบรนด์ตอบตกลงผลิตมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวแล้ว อาทิ Qualcomm, Samsung, LG, HTC, HP, Dell, Sony Ericsson Toshiba และ Garmin-Asus

ก่อนหน้านี้ไมโครซอฟท์พยายามที่จะสร้างธุรกิจมือถือให้ กลับคืนมาอยู่ในลำดับต้น ๆ อีกครั้ง โดยชิมลางตลาดด้วยการผลิตมือถือฮาร์ดแวร์ของตัวเอง เป็นครั้งแรก แต่การโบกมืออำลา"คิน" ของไมโครซอฟท์ส่งผลให้การเสนอสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นและผู้เริ่มต้นทำ งานได้รับการกระทบกระเทือน โดยเฉพาะฟีเจอร์ประเภทเครือข่ายสังคมที่ไมโครซอฟท์ใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูด เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เพื่อแชร์รูปภาพและอัพเดตสถานะไม่ประสบความสำเร็จ

"ไมโครซอฟท์" ไม่ได้บอกเหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเหตุใดจึงยุติการจำหน่ายสินค้า แต่ผู้ทำงานใกล้ชิดกล่าวว่า สาเหตุน่าจะเป็นเพราะคินไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่หวังไว้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไมโครซอฟท์จะไม่ยอมเปิดเผยจำนวนยอดขาย แต่สื่อหลายสำนักต่างประเมินว่ายอดขายของคินน่าจะไม่ถึง 1 หมื่นเครื่อง ตรงข้ามกับ "ไอโฟน" ที่ทุบสถิติ 1.7 ล้านเครื่องภายใน 3 วัน

"คิน" ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักตามบล็อกแก็ดเจตต่าง ๆ ว่าขาดความสามารถบางประการ เช่น ความสามารถ ในการดาวน์โหลด และรองรับซอฟต์แวร์ ที่ผลิตจากนักพัฒนาอิสระผ่านร้านค้าแอปพลิเคชั่นออนไลน์อีกด้วย รวมถึง ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่แต่เดิม รุ่น Kin one ราคา 49 เหรียญสหรัฐ และ Kin Two ราคา 99 เหรียญสหรัฐ พร้อมสัญญาการใช้งาน 2 ปี ถือเป็นราคาที่สูงเกินไป จนท้ายสุด "เวอไรซอนไวร์เลส" ต้องปรับราคาใหม่ เหลือเพียง 29 และ 49 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

ด้านเว็บไซต์ ChannelWeb รายงานว่า ไมโครซอฟท์จำเป็นต้องมีมือถือระดับ "คิลเลอร์" (killer) หากต้องการมุ่งหน้าสู้ศึกตลาดมือถือด้วยวินโดวส์โฟน 7 ระบบปฏิบัติการ บนมือถือใหม่ล่าสุดของไมโครซอฟท์ ที่เตรียมตัวเข้าสู่ตลาดช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ไม่มีมือถือเรือธงมาต่อกรกับคู่แข่งอย่างไอโฟน หรือกูเกิลที่โหมกระตุ้นตลาดด้วยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เลย

อะไร คือปัจจัยที่ทำให้คินไม่ประสบความสำเร็จ ?

"ChannelWeb" ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวอไรซอนกำหนดแพ็กเกจราคาเริ่มต้นที่ 30 เหรียญสหรัฐ ต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่น ๆ ที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน แต่ "คิน" กลับไม่สามารถรองรับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้มากนัก จึงมีลูกค้าน้อยรายที่ให้ความสนใจ

แม้ว่าทางเวอไรซอนและ ไมโครซอฟท์ จะโต้เถียงว่าราคา 30 เหรียญสหรัฐนั้นเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะคินมีกล้องถ่ายวิดีโอและภาพความละเอียดสูงและมีการจัดเก็บข้อมูลบนระบบ คลาวด์ก็ตาม

"ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะบอกว่า บริษัทจะสนับสนุนแอปพลิเคชั่นจากบุคคลภายนอกทีหลัง เพราะวัยรุ่นต้องการใช้เดี๋ยวนี้ และการที่คินไม่สามารถเชื่อมต่อกับแหล่งรวมแอปพลิเคชั่นมือถือ หรือมาร์เก็ตเพลซจากที่อื่น ๆ ได้ ถือเป็นความผิดมหันต์โดยเฉพาะเมื่อคินเข้าสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกับ App Store ของแอปเปิลได้รับความสนใจอย่างสูง"

และไม่ว่าคุณภาพของแอ ปพลิเคชั่น หรือยอดขายบน App Store จะเป็นเช่นไรก็ตาม แต่สำหรับมาร์เก็ตเพลซ ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจ มือถือเสียแล้ว โดยเฉพาะหากมือถือนั้น เน้นการใช้งานบนเครือข่ายสังคม ยิ่งจำเป็นต้องหาทางเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้มากที่สุด

ยัง ไม่นับถึงว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ทำการบ้าน หรือวิจัยเพื่อทำตลาดเจาะ กลุ่มวัยทีนมากเพียงพอ แม้จะโฆษณาโปรโมต "คิน" อย่างหนักผ่านเว็บไซต์และตามเมืองใหญ่ในสหรัฐ เพื่อสื่อสารกับ กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น แต่เนื้อหากลับดูเอาจริงเอาจังอย่างมากทำให้วัยรุ่น ไม่รู้สึกโดน หรืออยากได้สินค้า

การพัฒนาสินค้าที่เกิดความล่าช้า นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับ "คิน" เช่นกัน โดยการพัฒนาสินค้าในช่วงแรก ภายใต้รหัส "พิงก์ (Pink)" พบว่าเกิด ความล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ถึง 18 เดือน ส่งผลกระทบกับการพัฒนาสินค้า เหตุผลเพราะบริษัทขาดการบริหารจัดการที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมือถือ

Tags : อวสาน มือถือคิน บทเรียนธุรกิจ ไมโครซอฟท์

view